วัดดอกคำ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๑ ถนนมูลเมือง ตำบลศรีภูมิ เขต ๒ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
มีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๔๓๒๗๖
อาณาเขต ทิศเหนือ ๔๓.๙๐ เมตร
ทิศใต้ ๔๒.๘๕ เมตร
ทิศตะวันออก ๓๖.๖๓ เมตร
ทิศตะวันตก ๓๔.๓๑ เมตร
ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๗ เขตวิสูงคามสีมากว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร
ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพระเจ้ากาวิละครองนครเชียงใหม่ เป็นยุคที่ต้องการฟื้นฟูบ้านเมือง พระเจ้ากาวิละได้ทรงขยายอาณาเขตที่เรียกกันว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” มีการต้อนผู้คนจากบ้านเมืองต่างๆ ให้ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ในจำนวนนั้นมี เมืองปัน เมืองตองกายรวมอยู่ด้วย ต่อมาชุมชนนี้ได้มีการร่วมกันสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชนตั้งชื่อว่า วัดดอกคำ ( จากหนังสือวัดสำคัญของนครเชียงใหม่ เล่ม ๒ สอดคล้องกับคำจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปไม้ สูงขนาด 34 ซม " สักราชได้ 1173 ตัว รวงเมด มูลสัทธาแสนเทพและนางแก้ว ขนานกัปปินและนาง...ลูกหลานทั้งหลายจุคนพร้อมเพรียงกันส้างแปงยังพระพุทธรูปเจ้าไม้จันทน์ 4 องค์ไว้ค้ำชูโจตกสาสนาพระโคดมเจ้า หื้อเป๋นที่ไหว้สาคารวะแก่คนและเทวดาทั้งหลายต่อเต๊า 5 พันพระวัสสาแต๊ดีหลี ขอจุ่งหื้อเป๋นปัจจัยข้าทั้งหลายแต๊เต๊อะ ส่วนบุญทานทั้งหลายจุ่งไปจุจอดรอดเถิง พ่อ แม่ ข้าเต๊อะ " คำว่า “ แสน ” เป็นตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านของชนชาวไทใหญ่ จากคำบอกเล่าพ่อหนานชาวไทใหญ่ )
จากคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปไม้ ปางมารวิชัย สูง ๒๙ ซม. ของวัดดอกคำ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ได้จารึกไว้ดังนี้
“ จ.ศ. ๑๑๔๕ ( พ.ศ.๒๓๒๖ ) กัมโพชมิคสิรบุญมี จัทรวาไถง ภาษาไท ว่า ปลีก่าเหม้า เดือนยี่เพง มอญวัน ๒ ไทวันกาบสัน สัทธาท้าวบุญเรืองและภริยา บุตร ธิดา ญาติพี่น้องทุกคน ได้ส้างพระพุทธรูปไว้โชตกะพระสาสนา ๕๐๐๐ วัสสา” ( ๑)
จากคำจารึกดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า วัดดอกคำได้มีการก่อสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๓๒๖ แต่ไม่ทราบพ.ศ.ที่แน่นอน วัดอาจจะอยู่ในสภาพทรุดโทรม ต่อมาในสมัยของพญาธัมมลังการได้มีการบูรณะใหม่ภายใต้การอุปถัมภ์ของเจ้าผู้ครองนคร ดังที่ปรากฏในตำนานเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงามเมืองเชียงใหม่ จ.ศ.๑๒๑๖ ผูกที่ ๘ ดังนี้
“สักกราชได้ ๑๑๘๑ ตัว ( พ.ศ. ๒๓๖๒ ) ปลีกัดเหม้า เดือน ๘ เพง วันเมง ๕ เจ้ามหาเทพตนเป็นราชนัดดา เปนปถม มหามูลสัทธาก็ได้ยกปกยังวิหาร วัดพันอ้น พระเปนเจ้า เปนมหาสัทธาก็ได้ปกวิหารวัดวัดป้านปิง วัดดอกคำ วัดเชียงยืน สาลาเทส วิหารวัดบุพพารามหลังวันออกในวันเดียวกัน” ( ๒ )
อีกบันทึกหนึ่งที่กล่าวถึงวัดดอกคำ คือ “ จุฬสักกราชได้ ๑๑๘๑ ตัว เดือน ๖ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พญาเชียงใหม่ก็มีการฉลองวัดอุโมงค์ วัดดวงดี วัดสะเพา วัดพันเต่า ในงานนี้มีการฉลองกันอย่างเอิกเกริก และในปีนี้ เดือน ๘ ของปีนี้ พญาธัมมลังกา พระยาเชียงใหม่ ก็ได้ยกเสาวิหาร วัดป้านปิง วัดดอกคำ วัดเชียงยืน วัดบุพพาราม ”(๓)
ช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๕ พระยาตำได้เข้าบูรณะวัดดอกคำให้กลับมาเจริญอีกครั้ง เอาลูกหลานมาบวชเรียน โดยเฉพาะ พระอธิการตั๋น เป็นพระนักเทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกมีชื่อเสียงมากยังได้มีการเทศน์บันทึกแผ่นเสียงอีกด้ว
ความหมายของชื่อวัด
วัดดอกคำเดิมชื่อว่า “ วัดช่างดอกฅำ” หมายถึง วัดที่ช่างทำดอกไม้คำรวมกลุ่มกันสร้างขึ้นเพื่อบอกถึงอาชีพหรือความถนัดของกลุ่มตน เช่น วัดช่างแต้ม เป็นวัดของกลุ่มผู้มีฝีมือในการเขียนภาพ, วัดช่างเคี่ยน วัดของกลุ่มช่างกลึงไม้ เป็นต้น
จากหลักฐานที่พบ คือ คำจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปไม้ ขนาดกว้าง ๖.๕ ซม. สูง ๑๗.๕ ซม. ปางมารวิชัย มีใจความว่า “ จ.ศ.๑๑๖๓ ตัว ( พ.ศ.๒๓๔๔ ) ปลีรวงเร้า เดือนยี่เพง มีการทำพิธีเบิกยังพระพุทธรูปเจ้าองนี้ ณ วัดช่างดอกฅำ ปู่ทิพย์พร้อมทั้งภริยา ชื่อ นางจ้อย แลลูกเต้าจุคน ได้ส้างพระพุทธรูปเจ้าองค์นี้ ขอหื้อเปนปัจจัยรอดเถิงพระนิพพาน” ( ๔ )
จากคำจารึกดังกล่าว ทำให้ทราบชื่อเดิมของวัด มีการเปลี่ยนมาใช้ชื่อวัดดอกคำ เมื่อไหร่นั้นไม่ทราบแน่ชัด ในคำจารึกไม้ปัญชัก ซึ่งเขียนกำกับคัมภีร์ใบลานได้กล่าวถึงชื่อวัดดอกคำ ว่า “ จุฬสักกได้ ๑๒๕๐ ตัว ( พ.ศ. ๒๔๓๑ ) ปีไทยว่า ปีเปิกไจ้ เดือน ๔ เพง เมงวัน ๔ ยามเที่ยงได้หื้อทานวันนั้นแล ปถมสมณสัทธาและมูลสัทธาทั้งภายในและภายนอก ภายในหมายมีธุหลวงอภิไช เปนเคล้าพร้อมกับลูกศิษจุคน ภายนอกหมายมี แม่สา แม่ของ เปนเคล้าพร้อมกับลูกหลานเหลนจุคน ก็มีเจตนาสัทธาส้างธรรมชื่อว่า ปิฏกทั้ง ๓ ไว้ค้ำจูสาสนาพระเจ้า นิพพาน ปจฺจโย โหนตุ โน นิจฺจํ ธุวํ ธุวํ สุทินนํ วตเมทานํ นิพพานํ ปรมํ สุขํ / ธรรมวัดดอกคำ ” ( ๕ )
จากหลักฐานดังกล่าว วัดช่างดอกฅำ ถูกเรียกให้สั้นลงเหลือเพียง วัดดอกคำ ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๒๕๐ ( พ.ศ.๒๔๓๑ ) เป็นต้นมา
ลำดับเจ้าอาวาส
รายนามเจ้าอาวาส ไม่สามารถระบุจำนวนและลำดับที่แน่นอนได้ จากหลักฐานที่ปรากฏในใบลาน จารึกข้างหีดธรรม จารึกฐานพระพุทธรูป พอสรุปได้ดังนี้
๑. ธุหลวงนา
๒. ธุหลวงอภิไชย
๓. พระอธิการอภิรมณ์
๔. พระอธิการตั๋น พ.ศ. ๒๔๕๕ - พ.ศ. ๒๔๗๑
๕. ครูบาจันทร์แก้ว ขตฺติโย พ.ศ. ๒๔๗๓ - พ.ศ. ๒๕๐๔
๖. พระครูกิตติปัญญาธร (ประวิทย์ กิตฺติปญฺโญ) พ.ศ. ๒๕๐๕ - พ.ศ. ๒๕๓๙
๗. พระครูวิภาตปัญญาคุณ (ประทวน จิตฺตปญฺโญ) พ.ศ. ๒๕๔๐ - ปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2326
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2527