ประวัติความเป็นมา
วัดอินทขีลสะดือเมืองมีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ เดิมทีเป็นวัดร้างและเคยเป็นที่ประดิษฐานเสาอินทขีล (เสาหลักเมือง) ของเมืองเชียงใหม่ สร้างโดยพระญามังรายมหาราชผู้ก่อตั้งนครเชียงใหม่ เมือประมาณปี พ.ศ.1839 ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ คำว่า อินทขีล มาจากคำว่า อินทขีละ ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า เสาเขื่อน,เสาหิน,หรือเสาหลักเมือง ส่วนคำว่า สะดือเมือง นั้นเนื่องจากวัดตั้งอยู่ใจกลางของเมืองเชียงใหม่ผู้คนทั้งหลายจึงนิยมเรียกกันติดปากว่า วัดสะดือเมือง ดังนั้นทางวัดจึงตั้งชื่อว่า วัดอินทขีลสะดือเมือง มีพระพุทธรูปที่สำคัญที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาเป็นเวลานาน ซึ่งพุทธศาสนิกชนรู้จักกันคือ หลวงพ่อขาว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบล้านนา มีพระพักตร์อิ่มเอิบ ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา ทำให้ผู้ที่มากราบไหว้บูชาได้รับความสุขใจ และสงบใจ และทำให้เกิดความรู้สึกที่มั่นใจและมีความหวัง ที่จะประกอบการงานใดเป็นประดุจหนึ่งว่า "ท่านจงทำดีเถิด ทำงานเถิด แล้วจะประสบผลสำเร็จ สมความปรารถนาทุกประการ" และวัดนี้เดิมทีเป็นพระราชวังหลวงซึ่งเป็นกราบไหว้สักการะของพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในสมัยนั้น และมีเนื้อที่กว้างขวาง ปัจจุบันนี้ถ้าท่านได้มากราบไหว้องค์หลวงพ่อขาว ในวิหารทรงล้านนาที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง จะสังเกตุเห็นว่าวิหารหลวงพ่อขาวนั้นสร้างออกไปกลางถนนเล็กน้อย ที่จริงนั้นเดิมทีถนนไม่ได้ผ่านบริเวณนี้แต่พอวัดร้างไปทางราชการจึงสร้างถนนผ่าน
สมัยพญามังรายได้ทรงสร้างวัดสะดือขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมือง หรือเสาอินทขิล ซึ่งตามตำนานพื้นเมืองเหนือกล่าวถึงการบูชาเสาอินทขิลไว้ว่า พระอินทร์ได้ประทานให้ลัวะในสมัยการสร้างเวียงนพบุรี โดยเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล พระฤาษีให้กุมภัณฑ์ 2 ตน เอาเสาอินทขิลใส่สาแหรกหามนำไปประดิษฐานไว้ ณ แท่นกลางเมืองนพบุรี ให้ชาวเมืองของลัวะสักการะบูชาก่อนที่จะกลายเป็นเมืองร้าง
กระทั่งพญามังราย ได้สุบินนิมิตรไล่ตามกวางเผือกจนมาพบชัยภูมิที่ดี จึงมีดำริจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ พ.ศ.1835 ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ พญามังรายได้มาสำรวจพื้นที่บริเวณเมืองนพบุรีร้าง ได้พบซากเสาอินทขิลและรูปกุมภัณฑ์ ณ ที่กลางเมืองนั้น จึงมีบัญชา ให้เสนาชื่อ สรีกรชัย แต่งเครื่องบรรณาการไปหาพญาลัวะบนดอยสุเทพ พญาลัวะจึงแนะนำว่า หากเจ้าพญามังรายจะสร้างเมือง ขึ้นใหม่ให้อยู่เย็นเป็นสุขก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล เมื่อพญามังรายสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แล้ว จึงโปรดให้ยกรูปกุมภัณฑ์และเสาอินทขิลที่ประดิษฐานใน บริเวณสะดือเมืองขึ้นมาเพื่อให้คนสักการะกราบไหว้ตามคำแนะนำของพญาลัวะ ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดอินทขิล แต่เนื่องจากว่าวัดนี้ตั้งอยู่บริเวณสะดือเมือง ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดสะดือเมือง ในตลอดรัชสมัยของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายวัดสะดือเมืองได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ก่อนที่จะเป็นวัดร้างภายหลังล้านนาถูกพม่าเข้าปกครอง จนถึงปี พ.ศ.2343 พระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์แรก ได้ขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาและได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้น ได้ย้ายเสาอินทขิลจากวัดอินทขิลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง พร้อมกับบูรณะฟื้นฟูวัดอินทขิล โดยได้สร้างวิหารคล่อมฐานเดิม อัญเชิญพระอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) มาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหาร
วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณสะดือเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดสะดือเมือง ในตลอดรัชสมัยของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายวัดสะดือเมืองได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ
สันนิษฐานว่ากลุ่มโบราณสถานสะดือเมือง หรือวัดอินทขีล จะเป็นเจดีย์ ที่บรรจุอัฐิของพญามังราย ซึ่งปรากฏความตรงกันใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนกว่า พญามังรายถูกฟ้าผ่าตายกลางตลาดและพระยาไชยสงคราม และราชโอรสให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้กลาง ตลาดนั้น
ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น
หลวงพ่อขาว อายุกว่า 700 ปี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบล้านนา มีพระพักตร์อิ่มเอิบ ตั้งอยู่ภายในวิหารทรงล้านนาที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง
กลุ่มโบราณสถานวัดสะดือเมืองประกอบด้วย
1. เจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีฐานบัวคว่ำ บัวหงายแปดเหลี่ยม รองรับองค์เรือนธาตุแปดเหลี่ยม มีซุ้มอยู่โดย รอบ 8 ซุ้ม ถัดองค์เรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้น มาลัยเถาแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรับองค์ระฆัง ไม่มีบัลลังก์ รองรับปล้องไฉน
2. เจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานลี่เหลี่ยม 3 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นชั้นลูกแก้วย่อเก็จ มีเส้นลวดคาด 2 เส้นแล้วจึง ขึ้นชั้นมาลัย เถา 3 ชั้น มีชั้นกลม 3 ชั้นรองรับองค์ระฆัง มีบัลลังก์เป็นแบบย่อมุมรองรับปล้องไฉน เจดีย์องค์นี้ มีร่องรอยว่าก่อทับของเดิมที่มีเรือนธาตุสี่เหลี่ยม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายใน
3. วิหาร สร้างขึ้นใหม่บนรากฐานของเดิม มี พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในวิหารด้วย ชาวเชียงใหม่ เรียกว่า หลวงพ่อขาว
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและ กำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 97 ตอนที่ 41 ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2523