ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดพระเจ้าเม็งราย
- ชื่อวัด: วัดพระเจ้าเม็งราย
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 7 รูป
- สามเณร: 20 รูป
- ที่ตั้ง: ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
- เนื้อที่: ๔ ไร่ ๓ งาน ๓ ตารางวา
- โทร: ๐๕๓-๒๗๘-๗๘๘
ประวัติความเป็นมา
วัดพระเจ้าเม็งรายแห่งนี้เดิมชื่อ วัดคานคอด คงจะเพี้ยนมาจากคำว่า กำละก้อด ตามจารึกผอบเงินฝังอยู่ใต้ฐานพระประธานในวิหาร พบครั้งเมื่อซ่อมแซมวิหาร พ.ศ.๒๕๑๐ จารึกด้วยอักษรไทยยวน(พื้นเมือง) มีข้อความว่า ครูบาอุบาละ ได้สร้างผอบเงินแก่นนี้ ผจุไว้สารึรธาตุ พระเจ้าเงิน แก้ว คำ ทอง นาค ผจุไว้ในวัดการกฏะ ตราบเสี้ยง ๕๐๐๐ พระวัสสา นิพฺพานปัจฺจโย โหตุ โน นิจฺจัง ตามอดีตพระอธิการกุย ทสฺสนีโย เจ้าอาวาสอธิบายว่า วัดพระเจ้าเม็งรายนี้นอกจากจะเรียกว่าวัดกำละก้อดแล้ว ยังเรียกซื่อว่า วัดศรีสร้อยท้าแจ่ง โดยความจริงแล้วดั้งเดิมจะเรียกชื่อ อะไรยังไม่ทราบ
วัดกำละก้อดเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเจ้าเม็งรายเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง แม้จะเปลี่ยนชื่อใหม่ก็ผิดหลัก ที่ถูกควรจะเรียกว่า วัดพระยามังรายเจ้าหลวง จะไม่มีใครท้วงว่าเรียกผิด อย่างไรก็ตามในวัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปปางลีลาห้ามญาติ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูงประมาณ ๔๕๐ เซนติเมตร คนทั่วไปเรียกว่า พระเจ้าค่าคิงพระยามังราย เกี่ยวกับพระองค์นี้มีตำนานเล่าว่า ครั้งนั้นมีพระมหาเถรเจ้าองค์หนึ่งนามว่ากัสสปะ เป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมีลูกศิษย์ร่วมเดินทาง ๕ รูป มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเมืองหริภุญชัย พญามังรายทรงทราบแล้วเสด็จไปนมัสการพระมหาเถรเจ้า ทรงไต่ถามความสุขสบาย และพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า พระมหาเถรเจ้าก็ให้อรรถาธิบาย จนเป็นที่พอพระหฤทัย และ ทรงเลื่อมใสในศีลาธิคุณ ปัญญาธิคุณ แห่งพระมหาเถรเจ้ายิ่งนัก พระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นแห่งหนึ่งถวายเป็นที่อยู่พระเถระ และทรงหล่อพระพุทธปฏิมากรด้วยทองสัมฤทธิ์ ๕ องค์ มีพระวรกายเท่ากับพระพุทธเจ้าที่เสด็จโปรดโลกมาแล้ว และองค์ที่จะมาโปรดภายหน้าคือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้าโคตรมะ พระอริยเมตไตย และต่อมาทรงหล่อพระพุทธรูปนั่ง ๔ องค์ และประทับยืนอีก ๑ องค์ กล่าวว่าพระพุทธรูปที่ทรงหล่อครั้งนั้น มีขนาดเท่ากับพระวรกายของพระองค์ทั้งหมดประดิษฐานไว้ ณ พระอารามที่สร้างถวายพระมหากัสสปะ
เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙-๑๘๔๐ พระองค์สร้างเวียงขึ้นอีกแห่งหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเวียงกุมกาม คือ เวียงเชียงใหม่ ทีแรกพระองค์ทรงสร้างหอนอนอยู่ในบริเวณเวียงร้าง ช่วงระยะสร้างเวียงใหม่ เมื่อสร้างเวียงเสร็จแล้ว ทรงสร้างเจดีย์ขึ้นตรงหอนอนของพระองค์พร้อมกับบริเวณโดยรอบ ยกถวายสร้างให้เป็นวัดตั้งนามว่า วัดเชียงหมั้น” มาตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อสร้างเวียงเสร็จแล้ว ก็ทรงดำริที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปที่หล่อไว้นั้นมาประดิษฐานในพระอุโบสถของวัดเชียงหมั้นในเวียงใหม่ จึงให้ข้าราชการบริพารไปหามเอาพระพุทธรูปยืนองค์นี้ จากเวียงกุมกามมาตามเส้นทางถึงบริเวณวัดกำละก้อด ไม้คานที่ใช้หามนั้นหักคอดลง พวกราชบริพารจึงนำความไปกราบบังคมทูลพญามังรายทรงทราบ พระองค์ถือเป็นบุพพนิมิตอันดีว่า องค์พระพุทธรูปทรงมีความปรารถนาจะประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้น จึงโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้นมาตราบเท่าทุกวันนี้
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๑๙-๒๐๓๑ เป็นรัชกาลของพระเจ้าติโลกราชครองเชียงใหม่ล้านนาปรากฏว่า มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยวัชรสาสน์ สูง ๑๓๔ ซม. ประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วในวิหารแห่งนี้มีข้อความจารึกที่ฐาน เมื่อ พ.ศ.๒๐๑๒ ซึ่งเป็นระหว่างรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช ตามข้อความจารึกไม่ปรากฏว่าสร้างหล่อขึ้น ณ ที่ใด อาจจะมีผู้นำจากที่อื่นเชิญมาประดิษฐานในวัดกำละก้อดสืบมาตราบถึงกาลบัดนี้
นอกว่านั้น ยังมีพระพุทธรูปโลหะอีกหลายองค์ที่จารึกข้อความไว้ไม่ปรากฏชื่อของวัดกำละก้อดเลย คงจะมีผู้สนใจค้นคว้าที่จะวิจารณ์ได้ว่า วัดกำละก้อดแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตาม วัดกำละก้อดเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในบรรดาวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณกำแพงเวียงชั้นใน ของนครเชียงใหม่
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 1839
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 1839
ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555
พระมหารวีวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าเม็งราย
พระมหารวีวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน
ปัจจุบันอายุ 43 ปี
บวชมาแล้ว 33 พรรษา
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าเม็งราย
ประวัติด้านการศึกษาของพระมหารวีวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน
พระมหารวีวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าเม็งราย
จบการศึกษาศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) จากสถานบันการศึกษาโรงเรียนบ้านป่างิ้วสามัคคีวิทยา
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าเม็งราย
พระ อธิการอุบาละ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการโพธา |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการกันทา |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการอุ่น |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการเสาร์คำ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการปินตา |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการสุธรรม |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการเต่า |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการบุญศรีโสภโณ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ อธิการกุย ทสฺสนีโย |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ เจ้าอธิการดวงทิพย์ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระ มหารวีวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |