พื้นที่ของวัด
วัดพันอ้นตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีพื้นที่ปรากฏตาม โฉนดที่ดิน เลขที่ 3526 มีเนื้อที่ทั้งหมด 3 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา ซึ่งมีเนื้อที่ติดกับสถานที่ต่างๆ ดังนี้
ทิศเหนือ จรดถนนราชดำเนิน
ทิศใต้ จรดกับคริสต์จักรสามัคคีธรรม และ บ้านพักคลังจังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันออก จรดถนนราชดำเนินซอย 4
ทิศตะวันตก จรดถนนราชภาคินัย
ประวัติความเป็นมา
วัดพันอ้นสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2044 ใน รัชสมัยของพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พญาแก้วหรือพระเมืองแก้ว) กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 13 ในสมัยที่ล้านนาไทยยังเป็นอิสระอยู่ในราชวงค์มังรายมหาราช (ซึ่งเสวยราชย์สมบัติปี พ.ศ. 2038 – ปี พ.ศ. 2068 เป็นเวลา 30 ปี)
ซึ่งตรงกับแผ่นดินกรุงศรีอยุธยายุคที่ 2 ในแผ่นดินของสมเด็จพระรามาธิปดีที่ 2 (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) ซึ่งเสวยราชปี พ.ศ. 2034 – พ.ศ. 2072 (เป็น ระยะเวลา 38 ปี)
ความหมายของชื่อวัด
คำว่า “พันอ้น” นั้น สันนิษฐานได้ว่าเป็นชื่อผู้สร้างวัดที่ถวายไว้กับพระพุทธศาสนาผู้สร้างเป็นทหารหรือขุนนางที่มีบรรศักดิ์เป็น “พัน” เพราะคนในสมัยนั้นเมื่อตนเองประสบความสำเร็จในชีวิตมักจะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ และนำชื่อของตนเองเป็นชื่อวัดที่ตนเองสร้างขึ้นด้วย และท่านคงมีนามว่า “อ้น” เมื่อสร้างวัดแห่งนี้เสร็จจึงให้นามว่า “วัดพ้นอ้น” ตามบรรดาศักดิ์และชื่อของท่าน ซึ่งปรากฏมีวัดจำนวนมากในตัวเมืองเชียงใหม่ที่นิยมใช้ชื่อผู้สร้างวัดเป็นชื่อของวัดอยู่ด้วยเช่น
วัดหมื่นสาร เป็นวัดที่หมื่น หนังสือวิมลกิตติสิงหลมนตรี สังฆการี ซึ่งมีหน้าที่ส่งข่าวสารบ้านเมืองในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ท่านได้สร้างวัดนี้ในราว พ.ศ. 1985 – พ.ศ. 2024 ท่านได้สร้างวัดนี้แล้ว วัดนี้จึงปรากฏชื่อว่า วัดหมื่นสาร
วัดหมื่นล้าน เป็นวัดที่หมื่นดังนครหรือหมื่นโลกสามล้านทหารเอกของพระเจ้าติโลกราช สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ 1985 – พ.ศ. 2030 จึงได้ชื่อว่า วัดหมื่นล้าน
ประวัติการรวมวัด 2 วัด วันพันอ้นและวัดเจดีย์ควัน
บริเวณที่ตั้งวัดพันอ้นนั้นแต่เดิมนั้นมีวัดอยู่ 2 วัดคือวัดพันอ้น และมีวัดข้างเคียงวัดหนึ่งชื่อว่า วัดเจดีย์ควัน เป็นวัดเล็กๆ อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพันอ้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันและก็เป็นวัดที่มีขนาดแล็กทั้งคู่ และบวกกับระยะนั้นเป็นยุคที่ล้านนารุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่ง มีการสร้างวัดวาอารามขึ้นมากมายในสมัยพระเมืองแก้วนี้ ต่อมาทั้งสองวัดได้รวมเป็นวัดเดียวกันคือ วัดเจดีย์ควันพันอ้น แต่คนทั่วไปมักจะเรียกง่าย ๆ ว่า วัดพันอ้น
จนถึงปี พ.ศ. 2474 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินและสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 (องค์สุดท้าย) คณะสงฆ์ สมัยนั้น คือหลวงพ่อพระอภัยสารทะ วัดทุงยู เป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิจารณาเห็นว่า วัดพันอ้น เป็นศูนย์กลางเหมาะสมที่จะตั้งเป็นสำนักเรียนประจำจังหวัดเชียงใหม่ แต่พื้นที่ไม่กว้างขวางและค่อนข้างคับแคบ จึงได้ขยายบริเวณวัดออกไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ของวัดเจดีย์ควันซึ่งตอนนั้นเป็นวัดร้าง ส่วนเจดีย์ควัน ปัจจุบันนี้สภาพของเจดีย์ไม่ปรากฏให้เห็น เพราะในปี พ.ศ. 2498 หลวงพ่อพระครูศรีปริยัตยานุรักษ์ ได้รื้อเจดีย์ออกแล้วสร้างศาลาการเปรียญแทนซึ่งปัจจุบันปรากฏให้เห็นเพียงหลุมเจดีย์เท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์วัดพันอ้น
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2044
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2514