๑ . พระอภัยสารทะ ( โสภณมหาเถระ)
เจ้าคุณพระอภัยสารทะ ( ครูบาฝายหิน) ปฐมสงฆราชาของล้านนาไทย พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์ ฉายา โสภโณ อายุ ๘๓ ปี พรรษา ๖๑ เป็นพระมหาเถระผู้ทรงความรู้ในภาษาบาลี เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และการปฏิบัติ ทั้งในฝ่าย สมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นเจ้าอาวาสวัดฝายหิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
พื้นเพ
ประวัติโดยย่อ จากหนังสือ " อนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศล ฉลองชนมายุครบ ๖ รอบ และสมโภชสมณศักดิ์ พระเทพวิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๘" ( หน้า ๓๔- ๓๖) มีดังต่อไปนี้
เด็กชายควาย หรืออีกชื่อหนึ่งว่า อุ่นเรือน เป็นผู้มีบรรพบุรุษมาจากเชียงแสน เกิดที่เชียงใหม่ เมื่อวันอังคาร ขึ้นหนึ่งค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ พ . ศ. ๒๓๗๔ บิดาชื่อ นายหนานอินต๊ะ มารดาชื่อ นางซอน ( ในสมัยนั้นยังไม่ได้มีการตั้งนามสกุล) มีถิ่นฐานอยู่ที่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเด็กที่มีบุคลิกลักษณะดี ล่ำสันแข็งแรงมาแต่เล็ก
บวช
พออายุ ๑๐ ปี บิดามารดา จึงนำเด็กชายควายไปมอบเป็นศิษย์ของ ครูบาหลวงมารวิชัย อารามฝายหิน จนกระทั่งอายุครบ ๑๕ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ . ศ. ๒๓๘๘ ณ. วัดฝายหิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีครูบาหลวงมารวิชัย วัดฝายหิน เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ใน พ. ศ. ๒๓๙๕ ณ วัดฝายหิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีพระมหาสวามี สิริวํโส วัดป่าแดง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสาธุเถรอินต๊ะ วัดป่าแพ่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระสาธุเถรมารวิชัย ( ครูบาหลวงมารวิชัย) วัดฝายหิน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
๒.วิทยฐานะ
วิชาสามัญ เทียบเท่าประถมปีที่ ๑ ณ โรงเรียนฝึกอบรม วัดฝายหิน เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ได้รับการศึกษา อักขระสมัย และพระไตรปิฎกในสำนักครูบาหลวงมารวิชัย เข้าใจในอักษรศาสตร์ และพระไตรปิฎก พระธรรมวินัย เรียนบาลีมูลกัจจายน์ สัททะศาสตร์จนเชี่ยวชาญ ได้รับยกย่องว่า หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย และบาลีมูลกัจจายน์ เป็นต้น เพิ่มเติมใน สำนักพระมหาสวามี สิริวํโส วัดป่าแดงหลวง
๓.งานปกครอง
พ . ศ. 2396 เป็นเจ้าอาวาสวัดฝายหิน
พ . ศ. 2438 เป็นปฐมสังฆราช ที่ ๑ สมัยรัตนโกสินทร์
พ . ศ. 2439 รักษาการเจ้าอาวาส วัดเชียงยืน
พ . ศ. 2449 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ที่ " พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์" และได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
๔.งานพิเศษ
เมื่อเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ได้จัดตั้งการศึกษา สอนอักขระ ภาษาบาลี คัมภีร์มูลกัจจายน์ สมัญญาภิธาน ( นาม) ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า " สัทท ๘ มัด" ปัจจุบันเรียก " ไวทยากรณ์" จนแพร่หลายออกไปถึงต่างจังหวัด เช่น ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย และ เชียงตุง มารับการศึกษาอบรมด้วย
๕.งานเผยแผ่
ได้ปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย สมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน ด้วยอาการปลูกฝัง ตั้งศรัทธาจิตอย่างแรงกล้า มักน้อยสันโดษเป็นกิจวัตร ชอบทางวิเวก เช่น เงื้อมผา ห่างจากวัดฝายหินทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒๐๐ เมตรอันเป็นสถานที่สงัดเงียบ ท่านก็ได้เข้าไปบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นประจำ จึงปรากฏเป็นที่นิยมนับถือ สักการะบูชา แก่สาธุชนในภาคเหนือสืบมา รวมความว่าท่านปฏิบัติเป็นผู้นำมากกว่าผู้แนะ จึงเป็นเหตุให้ดึงดูดติดใจสาธุชน เกิดศรัทธาปสาทะ และทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นที่เจริญรุ่งเรืองตลอดมา จนถึงอวสานแห่งชีวิตท่าน
๖.งานสาธารณูปการ
เมื่อมีหน้าที่ปกครองวัด และปกครองคณะสงฆ์ ส่วนรวม ในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ได้เป็นประธานเสริมสร้างวัดวาอาราม เช่น กุฏิวิหาร และถาวรวัตถุต่างๆ ทั้งในวัด และต่างวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรม ให้เป็นที่เจริญสืบมาตามสมควรแก่กาลสมัย
๗.มรณภาพ
จนลุในวันที่ ๒๑ เมษายน พ . ศ. ๒๔๕๗ ท่านก็ได้อาพาธด้วยโรคชรา และมรณะภาพไป พระเถรานุเถระและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ ณ วัดฝายหินตราบทุกวันนี้
วัดฝายหิน
วัดฝายหินเป็นวัดโบราณ เคยเป็นที่สถิตของพระอภัยสารทะ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่รูปแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และปฐมสังฆราชาแห่งล้านนาไทย มีพื้นที่ มีพื้นที่ติดต่อกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านทิศตะวันตก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับวัดฝายหินเข้าอยู่ในความอุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมาและได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมในการพัฒนาวัดฝายหินมาโดยตลอด นอกจากนี้ วัดฝายหิน ยังเป็นศาสนาสถาน ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ใช้ในการประกอบพิธีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ของคณาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และพุทธศาสนิกชนทั่วไป เช่นการจัดงานทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬบูชาและวันเข้าพรรษาเป็นต้น
๑.ฐานะและที่ตั้งของวัด
วัดฝายหิน เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่บ้านเชิงดอย เลขที่ ๖๗ หมู่ที่ ๑ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ ๕๐๒๐๐ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๑ งาน ๓๖ ตารางวาเศษ ตำแหน่งที่ดิน ๑๓ ระวาง ๓ฏ เลขที่ดิน ๕๔ หน้าสำรวจ ๕๕๓๒ ตำบลสุเทพ ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๕๔๘๙๙ เล่มที่ ๕๔๙ หน้า ๙๙ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ออก ณ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙
วัดฝายหิน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๖ ได้รับพระราชทานวิสุง-คามสีมา เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร และได้ทำการประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐
๒.การสร้างวัด
วัดฝายหิน นับแต่โบราณมา (ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช พ.ศ.๑๙๘๕-๒๐๓๑) มีฐานะเป็นเพียงอารามสำนักสงฆ์สาขา ของ รตวนมหาวิหาร (วัดป่าแดงหลวง เชียงใหม่) ซึ่งเป็นฝ่ายอรัญญวาสี อยู่ทางทิศใต้ของอารามฝายหินไปประมาณ ๑ กิโลเมตร รตวนมหาวิหาร ในครั้งนั้นเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาบาลีและพระไตรปิฎก ของคณะสงฆ์ลัทธิสิงหลใหม่ คือ ฝ่ายป่าแดง ดังปรากฏในตำนานมูลศาสนาว่า ในครั้งนั้นมีพระมหาญาณคัมภีร์ ชาวนครพิงค์เชียงใหม่ เป็นประธานสงฆ์
๓.การศึกษา
รตวนมหาวิหารในยุคนั้น มีพระภิกษุชาวต่างประเทศเข้ามาศึกษาอบรมมากมาย เช่นพระภิกษุจาก ศรีลังกา เชียงรุ้ง เชียงตุง หงสาวดี ล้านช้าง เวียตนาม กัมพูชา และภิกษุจากหัวเมืองต่างๆ เช่น เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง
๔.สถานะของวัด
วัดฝายหิน วัดช่างเคี่ยน วัดโป่งน้อย วัดตโปตาราม (ร่ำเปิง) วัดเจ็ดยอด วัดป่ากล้วย วัดโพธิสุทธิ์ วัดหมู่บุ่น เป็นบริวารของวัดป่าแดงหลวง และเป็นฝ่ายอรัญญวาสีด้วยกัน
๕.ประวัติความเป็นมา
ประเทศล้านนา มีนครพิงค์เซียงใหม่เป็นราชธานี มาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๔๐ โดยมี พญามังรายหลวงเจ้า เป็นปฐมกษัตริย์ สืบราชสมบัติกันต่อๆ มาหลายรัชกาล จนถึง พ.ศ. ๒๑๐๑ ก็ตกเป็นอาณานิคมของประเทศพม่า ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสิน พร้อมทั้ง พญาจ่าบ้านบุญมา (พญามังรายวิเชียรปราการ กำแพงเพชร) ได้นำกองทัพไทยบดขยี้กองโจรพม่ารามัญ ไทยใหญ่ จนถึงขั้นประจัญบาน ดาบต่อดาบ หมัดต่อหมัด รบแบบสายฟ้าแลบห้าวหาญ พม่ารามัญเอาชีวิตมาสังเวยครั้งนั้นไม่ทราบจำนวน ที่เหลือก็หนีออกไปจนหมดสิ้น
อารามฝายหิน เป็นอรัญญวาสี สาขาของ รตวนมหาวิหาร คือวัดป่าแดงหลวง เชียงใหม่ ตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๓๑ เป็นต้นมา นับเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ อารามฝายหิน เป็นที่รู้จักทั่วไป สมัยรัชกาลที่ ๔ โดยมีครูบาหลวงมารวิชัย เป็นเจ้าอาราม และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในนาม "ครูบาฝายหิน รู้คำนกคำหนู" ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์" เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละ พร้อมไพร่ฟ้าข้าบริวาร อพยพจากเวียงป่าซาง มาสถิตย์อยู่ในเวียงร้าง คือเวียงเชียงใหม่ พระองค์ได้ปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งปรักหักพังให้มีสภาพปกติ เช่น ย้ายพระเจ้าแข้งคม จากวัดร้างในป่าตาลนอกกำแพงด้านแจ่งกู่เฮือง มาประดิษฐานในวิหารวัดศรีเกิด เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ เป็นต้น
สมัยรัชกาลที่ ๔ ปรากฏว่า มีพระภิกษุนามว่า ครูบาหลวงมารวิชัย เป็นพระเถระทรงความรู้แตกฉานภาษาบาลี ท่านเป็นเจ้าอารามฝายหิน ผลงานของท่านเท่าที่ได้สำรวจมาแล้ว มีหลายเรื่องใหญ่ ซึ่งท่านเป็นผู้จารลงในใบลาน เช่น มหาวิบากหลวง หนาถึง ๑๒ ผูก ฯลฯ และชิ้นสำคัญคือ ตำราเรียนภาษาบาลี เรียก "สัททพินทุ" คัมภีร์นี้ ท่านเจ้าคุณ พระสุวิมลธรรมาจารย์ คณะสลัก วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษธ์กรุงเทพฯ ได้ยืมไปแปลเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ตั้งแต่สมัยครูบาหลวงมารวิชัยเป็นเจ้าอาราม วัดฝายหินจึงค่อยๆ เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ต้องมีการอพยพผู้คนออกไปจากพื้นที่ จึงทำให้วัดฝายหินจึงอยู่ในความอุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
โดย...วรกิจฺโจ
แก้ไขล่าสุด ( วันอาทิตย์ที่ 09 มกราคม 2011 เวลา 06:18 น. )