พระเจ้าติโลกราช
กษัตริย์วงศ์มังราย ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ ๑๒ จ.ศ. ๘๐๔ มีพระราชโอรสอันประสูติจากพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว
คือ ท้าวศรีบุญเรือง เมื่อ ท้าวศรีบุญเรืองพระชนม์ได้ ๒๐ พรรษามีคนเพ็จทูลพระเจ้าติโลกราชว่า
ท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการจะคิดกบฏ ทำให้ทรงคลางแคลงพระทัย จึงทรงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงแสนและเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านในขณะนั้น
ณ เมืองเชียงรายนี้เอง ได้เป็นที่ประสูติของพระเจ้ายอดเชียงราย และโดยเหตุที่ประสูติ บนยอดเขาสูงในเชียงราย (ยอดดอกบัว ) ท้าวศรีบุญเรือง
จึงประทานนามพระโอรสว่า “ยอดเชียงราย” ต่อมา พระเจ้าติโลกราชถูกเพ็ดทูลจากนางหอมุข พระสนมเอกว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการก่อกบฏอีก
จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย และหลังจากนั้นทรงโปรดให้ราชนัดดา คือ พระเจ้ายอดเชียงราย ครองเมืองเชียงรายสืบต่อมา
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๓๐ พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคต ราษฎรได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระเจ้ายอดเชียงรายขึ้นครองเมืองเชียงใหม่
หลังจากที่จัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้วทรงดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่เป็นต้นเหตุยุแหย่ให้ท้าวศรีบุญเรือง
พระราชบิดาต้องสิ้นพระชนม์ จนทำให้พระรามารดาของพระองค์ ตรอมพระทัยถึงกับเสียพระสติ พระองค์ทรงกำหนดโทษให้ประหารชีวิตแก่ผู้ที่เป็นต้นเหตุ
แต่โดยที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่งภายหลังที่ได้สั่งให้สำเร็จโทษผู้กระทำผิดไปแล้วทรงเกรงจะเป็นเวรกรรมจึงทรงดำริที่จะหาทางผ่อนคลายมิให้เป็นบาปกรรมต่อกันสืบต่อไป
ครั้งนั้นมีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาจากต่างเมือง ได้ปักกลดอยู่ที่เชิงดอยคำตำบลสุเทพ ที่ตั้งวัดร่ำเปิงเวลานี้ได้ทูลพระเจ้ายอดเชียงรายว่า ณ ต้นมะเดื่อไม่ห่างจากที่ท่านปักกลดอยู่เท่าใดนักได้มีรัศมีพวยพุงขึ้นในยามราตรี สงสัยว่า จะมีพระธาตุประดิษฐานอยู่ ณที่ใดที่หนึ่ง พระเจ้ายอดเชียงรายจึงทรงช้างพระที่นั่ง อธิษฐานเสี่ยงทายว่า ถ้ามีพระบรมธาตุฝังอยู่จริง และพระองค์จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปแล้วก็ขอให้ช้างพระที่นั่งไปหยุด ณ ที่แห่งนั้น ทรงอธิษฐานแล้วก็ทรงช้างเสด็จไป ช้างนั้นก็ได้พาพระองค์มาหยุดอยู่ใต้ต้นมะเดื่อ พระองค์จึงให้ขุดรอบๆ ต้นมะเดื่อนั้นก็ทรงพบพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในผอบดินแบบเชียงแสน พระองค์จึงทรงทำพิธีสมโภช และอธิษฐานขอเห็นอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุนั้นจากนั้นจึงบรรจุลงในผอบทอง
แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น
พระองค์ได้จารึกประวัติการสร้างวัดนี้ลงในศิลาจารึก ซึ่งเรียกว่า สิลาฝักขาม (ตัวหนังสือฝักขาม) ดังมีใจความว่า “สองพันสามสิบห้าปีจุลศักราชได้แปดร้อยห้าสิบสี่ตัวในปีเต๋าใจ๊ (เหนือ) เดือนวิสาขะไทยว่าเดือนเจ็ดออก(ขึ้น) สามค่ำวันศุกร์ไทย ได้ฤกษ์อันถ้วนสอง ได้โยคะชื่ออายูสมะ ยามกลองหงายแล้วสองลูกนาที” ซึ่งแปลเป็นภาษาปัจจุบันว่า “วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด ปีชวด พุทธศักราชสองพันสามสิบหาปี เวลา ๐๘.๒๐ น. ได้ฤกษ์ภรณี (ดาวงอนไถ)
ได้โยคมหาอุจจ์” คือการก่อสร้างวัดได้ส่วนกันทั้งทางฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร โดยพระองค์ได้ทรงมีพระราชบัญชาให้พระมเหสีชื่อ พระนางอะตะปาเทวี
เป็นผู้ดำเนินการสร้าง พระนางอะตะปาเทวี ได้ประชุมแต่งตั้ง กรรมการดังต่อไปนี้
รายนามพระมหาเถระ
๑. พระมหาสามีญาณโพธเจ้า
๒. พระมหาเถระสุระสีมหาโพธิเจ้า
๓. พระมหาเถระธรรมเสนาปติเจ้า
๔. พระมหาเถระสัทธรรมฐิระประสาทเจ้า
๕. พระมหาเถระญาณสาครอารามิตรเจ้า
ในศิลาจารึกว่ามีประมาณ ๑๐๐ รูป แต่ปรากฏชื่อเพียง ๕ รูป
รายพระนามและนามผู้สร้างฝ่ายอาณาจักร
๑. พระนางอะตะปาเทวี ประธานกรรมการออกแบบดำเนินการสร้าง
๒. เจ้าเมืองญี่ เจ้าเมืองเชียงราย ผู้เป็นพระราชปิตุลา
๓. เจ้าอติวิสุทธ เจ้าหมื่นเมืองตินเชียง
๔. เจ้าหมื่นคำพร้ากลาง
๕. เจ้าหมื่นธรรมเสนาปติ เมืองจา
๖. เจ้าหมื่นหนังสือวิมลกิรติสิงหราชมนตรี
๗. เจ้าพันเชิงคดีรัตนปัญโญ
๘. เจ้าหมื่นโสม ราชัณฑ์คริก
ในประวัติไม่ได้บอกชัดว่าใช้เวลาสร้างนานเท่าใด กล่าวแต่ว่าสำเร็จแล้วทุกประการ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปเป็นประธาน และพระพุทธรูปตามซุ้มที่พระธาตุเจดีย์กับได้สร้างพระไตรปิฏกและพระราชทานทรัพย์ (นา) เงิน (เบี้ย) ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า“มีราชเตทั้งหลายอันกฎหมายไว้กับอารามนี้นาสามล้านห้าหมื่นพัน ไว้กับเจดีย์สี่ด้าน สี่แสนเบี้ยไว้กับพระเจ้า (พระประธาน)ในวิหารห้าแสนเบี้ยไว้กับอุโบสถ สี่แสนเบี้ยไว้เป็นจังหัน (ค่าภัตตาหาร) ล้านห้าแสนห้าหมื่นพันเบี้ยไว้ให้ผู้รักษากิน สองแสนเบี้ยให้ชาวบ้านยี่สิบครัวเรือนไว้เป็นผู้ดูแลและอุปัฏฐากรักษาวัด”
เนื่องจากประวัติการสร้างวัดร่ำเปิงหรือวัดตโปทารามนี้ รวบรวมมาจากหลายทางด้วยกันทำให้เข้าใจสับสนไปได้ในทัศนะแตกต่างกันโดยเฉพาะเกี่ยวกับชื่อ
วัดร่ำเปิง วัดตโปทาราม และพระนามมเหสีของพระเจ้ายอดเชียงราย คือในสิลาจารึกปรากฏพระนามว่า พระนางอะตะปาเทวี แต่ไม่ปรากฏพระนามว่า
พระนางโปร่งน้อยซึ่งในหนังสือพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ปรากฏพระนามว่าพระนางโปร่งน้อยไม่ปรากฏพระนาม อะตะปาเทวี
นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างกันเกี่ยวกับบุคคลผู้ร่วมในการสร้างวัด ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า “จุลศักราช ๘๔๕ (พ.ศ.๒๐๓๕) ปีชวดจัตวาสก พระเจ้ายอดเชียงรายเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ให้สถาปนาพระอารามแห่งหนึ่งชื่อว่า ตะโปทาราม ให้ขุดรื้อนิมิตสีมาของเก่าที่พระญาณมงคลเถรผูกไว้นั้นขึ้นชำระผูกพัทธสีมาใหม่ มีพระ มหาเวฬุวันมหาเถระ พระสัทธรรมสัณฐิเถระ พระญาณโพธิเถระ พระสุริสิงห็เถระ พระนารถเถระ พระสัทธรรมสัณฐิเถระ กับภิกษุหลายรูปจัดการผูกพัทธสีมาใหม่ให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ
จากการพิจารณาข้อความที่ปรากฏในสิลาจารึกและจากหนังสือประวัติวัดร่ำเปิง ซึ่งพิมพ์แจกในงานกฐินสามัคคีทอด ณ วัดร่ำเปิง วันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ โดยมีผู้เขียน ๒ ท่าน คือ ท่านอาจารย์มุกดา อัยยเสน ที่อ้างว่าเขียนจาก คำบอกเล่าของพระยาประชากิจกรจักร์กับหนังประวัติวัดร่ำเปิง พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๑๔ ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๑๗ และพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๑๙ เรียบเรียงโดย นายปวงคำ ตุ้ยเขียว ซึ่งอ้างว่าอาศัยหลักศิลาจารึก
และหนังสือคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารโยก และหนังตำนานเมืองเหนือแล้ว ก็อาจจะประมวลเค้าความให้ต่อเนื่องอยู่ในแนวเดียวกันไว้ว่า
แต่เดิมนั้นเป็นวัดเก่าอยู่ก่อนแล้ว และคงมีชื่อว่า ตะโปทารามเพราะพระเจ้ายอดเชียงราย มีพระมเหสีทรงพระนามว่า โปร่งน้อย มีความดีความชอบ
รับหน้าที่เป็นประธานดำเนินการสร้างวัดตะโปทารามขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงทรงตั้งพระนามเป็นเกียรติแก่พระนางโปร่งน้อยว่า “พระนางอะตะปาเทวี”
โดยแปลงรูปคำจาก ตะโป ชื่อวัดเดิม ซึ่งเป็นภาษาบาลีแปลว่า เครื่องเผา ความร้อย ความเพียร ความสำรวม อันหมายถึงธรรมเครื่องเผาบาปให้สิ้น แต่พระองค์คงจะทรงเห็นว่าตะโป หรือตะปามีความหมายไปในทางให้ความร้อย จึงเติม คำว่า “อะ” ลงข้างหน้าให้มีความหมายในทางความเย็นแทน
ซึ่งก็ปรากฏว่าพระมเหสีของพระเจ้ายอดเชียงราย มีพระนามเป็นภาษาไทยว่า “พระนางสิริยศวดี” ดังมีปรากฏในหนังสือประวัติวัดร่ำเปิงพิมพ์ครั้งที่ ๑ บทเนื้อเรื่องพิเศษว่า “พระศรีสัทธรรมมหาบรมจักรพรรดิธรรมราชบพิตร” (หมายถึง พระเจ้ายอดเชียงราย )มีอัครมเหสี ชื่อ อะตะโปเทวี พระราชโอรสชื่อ ปนัดดา หรือพิลกปนัดดาธิราช หรือพ่อท้าวเมืองแก้วหรือพระยาตาธิปราชพระชนนีของพระองค์ ชื่อพระนางสิริยศวดี หรือพระนางโปร่งน้อย จึงให้สันนิษฐานว่า
หลังจากพระเมืองแก้วได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้ายอดเชียงรายผู้เป็นราชบิดาแล้วได้ทรงตั้งพระนามให้พระราชชนนีใหม่ว่าพระนางสิริยศวดี ก็ย่อมเป็นได้
สำหรับชื่อวัดร่ำเปิงนั้น ตามข้อความของอาจารย์มุกดา อัยยาเสน ที่กล่าวถึงคำปรากฏของพระเจ้ายอดเชียงราย ว่า “ ในขณะที่สร้างวัดพระองค์ทรงรำพึงถึงพระราชบิดา และพระราชมารดาอยากจะให้ทั้งสองพระองค์มีพระชนม์อยู่จะได้ร่วมทำบุญในครั้งนี้ด้วย และเพื่อให้เป็นที่บูชาคุณของทั้งสองพระองค์พระเจ้ายอดเชียงราย จึงทรงตกลงพระทัยให้ชื่อวัดที่สถาปนาขึ้นใหม่นี้ว้า “วัดร่ำเปิง” ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ และตรงกับคำว่า”รำพึง ในภาษากลางอันมีความหมายว่า “คร่ำคราญ ระลึกถึง คะนึงหา”
วัดร่ำเปิงหรือวัดตโปทาราม ได้อยู่ในสภาพวัดร้างมาหลายยุคหลายสมัยและเมืองสงครามโลกครั้งที่สอง กองทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาครอบครองใช้เป็นที่ปฏิบัติการ
ปรากฏว่าได้มีผู้ลักลอบขุดพระธาตุเจดีย์ได้นำเอาพระพุทธรูปและวัตถุโบราณต่าง ไปอุโบสถ และวิหารที่พระเจ้ายอดเชียงรายและพระมเหสีทรงสร้างขึ้นพร้อมกับวัดได้ชำรุดทรุดโทรมแตกปรักหักพังจนสภาพต่าง ๆ แทบไม่หลงเหลืออยู่เลย
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงแล้ว พวกชาวบ้านที่อพยพหลบภัยไปอยู่ที่อื่น ก็ทยอยกันกลับมา สภาพวัดก็ก็ยังขาดการบำรุงรักษาบางครั้งขาดพระจำพรรษา หรือถ้ามีก็เพียงรูปเดียว ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๔ เริ่มมีการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่แล้ว จึงได้อาราธนาพระภิกษุชาวบ้านร่ำเปิงรูปหนึ่งชื่อ หลวงปู่จันทร์สม หรือ ครูบาสมมาปกครองดูแลวัดได้ระยะหนึ่งทำให้วิหารแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ต่อมา ท่านถึงแก่มรณภาพ วัดก็ขาดพระจำพรรษาไปจนถึงปลายปี พ.ศ.๒๕๑๗
ส่วนวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้ประโยชน์ได้ต่อไปและมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป แผ่นศิลาจารึกได้จมดินอยู่ในวิหาร ครั้งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ประชุมตกลงกันให้อัญเชิญพระประธานไปประดิษฐานไว้ ณ ด้านหลังพระวิหารวัดพระสิงห์ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และได้ร่วมกับกรรมการวัดทั้งผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ทำการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕
อุโบสถที่มีอยู่ในเลานี้ได้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ โดยมีผู้มีจิตศรัทธาช่วยซ่อมให้ได้ใช้ในการปฏิบัติ สังฆกรรมมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับพระพุทธรูปพระประธานนั้นเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่มีอายุประมาณ ๗๐๐-๘๐ ปี เป็นศิลาขนาดหน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว สูง ๔๗ นิ้วโดย จ.ส.ต ประยุทธ
ไตรเพียร และคณะ ได้นำถวายไว้เป็นสมบัติของวัดร่ำเปิง เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘ และมีชื่อว่า หลวงพ่อศรีอโยธยา
พระครูพิพัฒน์คณาภิบาล (ทอง สิริมงคโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองมางและเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระประจำสำนักวัดเมืองมางได้ธุดงค์วัตรมาปักกลดอยู่บริเวณวัดร่ำเปิงนี้ ได้เล็งเห็นว่าสถานที่เป็นสัปปายะเหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงได้วางโครงการที่จะขยายงานวิปัสสนากรรมฐานขึ้นอีกแห่งหนึ่งจึงได้มาจำพรรษาอยู่ทีวัดร่ำเปิง(ตโปทาราม)แห่งนี้ แล้วชักชวนชาวบ้านในท้องถิ่น ตลอดถึงผู้ใจบุญทั้งหลาย ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ฟื้นฟูขึ้น
และได้เปิดป้ายสำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดร่ำเปิง เมื่อวันที่ ๑๕ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยท่านพระครูพิพัฒน์คณาภิบาล (ทองสิริมงคโล) รักษาการเจ้าอาวาส วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ได้อัญเชิญพระประธาน (หลวงพ่อตะโปพระประธานในพระวิหารนั้นได้อาราธนาจากวัดพระสิงห์กลับสู่วัดตโปทาราม) เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๑๑ ค่ำ ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี
พ.ศ.๒๕๓๑ และได้พัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุ ตลอดจนซ่อมแซมบูรณะถาวรวัตถุภายในวัดให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จากพระครูชั้นพิเศษเป็นพระราชคณะที่ราชทินนาม “พระสุพรหมยานเถร” และในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ปีถัดมาท่านเจ้าพระคุณพระสุพรหมยานเถรได้รับบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ณ วัด พระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)จึงได้เจ้าอาวาสองค์ใหม่เป็นผู้ดูแลสืบต่อมา โดยท่านเจ้าอาวาสรูปใหม่ “พระครูภาวนวิรัช” ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านเจ้าคุณฯพระอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสทุกประการพร้อมทั้งได้ก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ๓ ชั้น
เพื่อส่งเสริมในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรมอีกทางหนึ่งด้วย และยังได้สร้าง อาคาร “๘๐ ปี พระราชพรหมาจารย์” เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 4 ชั้น เป็นที่รองรับการเข้ามาปฏิบัติธรรมเป็นหมู่คณะของ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 30 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2035
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 30 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2035