ประวัติวัดดอยปุยวิโรจนาราม
แต่เดิมนั้น บริเวณที่ตั้งที่พักสงฆ์ดอยปุยเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งขาว ซึ่งปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยเป็นอาชีพหลัก จนพื้นดินเสื่อมสภาพลงไม่สามารถเพาะปลูกให้ได้ผลต่อไปแล้ว ประกอบกับช่วงนั้นมีชาวบ้านได้เสียชีวิตลงในระยะเวลาใกล้เคียงกันถึงสามคน ชาวม้งซึ่งนับถือผีเป็นศาสนาหลัก เชื่อว่าเกิดสิ่งอัปมงคลขึ้นกับหมู่บ้าน จึงพากันละทิ้งถิ่นฐานและอพยพไปตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ ซึ่งห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๗ กิโลเมตร ชื่อว่า “บ้านช่างเคี่ยน”ในปัจจุบัน หมู่บ้านเดิมจึงร้างผู้คนลง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ มีพระธุดงค์กัมมัฏฐาน ๒ รูป จากภาคอีสาน ได้แก่พระอาจารย์ไพโรจน์ วิโรจโน และพระมหาถวิล ชมรโส เดินธุดงค์มาถึงหมู่บ้านร้างของเผ่าม้งขาวนี้ จึงหยุดพักและได้ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติภาวนา โดยก่อนหน้านั้นท่านทั้งสองได้อาศัยอยู่บริเวณถ้ำเล็กๆใกล้กับหมู่บ้านมาช่วงหนึ่งก่อนแล้ว
จากการที่ได้บิณฑบาตในบริเวณนี้ และในพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ซึ่งอยู่ห่างประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นประจำนั้น ทำให้รู้จักคุ้นเคยกับคุณเชิด สัทยาศรัยวิสุทธ์ ผู้ดูแลพระตำหนักฯซึ่งให้ความอุปการะช่วยเหลือสิ่งต่างๆโดยตลอด คุณเชิดฯก็ประสงค์ที่จะให้มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ใกล้กับพระตำหนักฯเพื่อให้เจ้าหน้าที่และพนักงานรวมถึงญาติโยมได้ทำบุญใส่บาตร เข้าวัดอบรมศีลธรรม ให้มีความเข้าใจและใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น จึงได้นิมนต์พระอาจารย์ไพโรจน์และพระมหาถวิล ให้อยู่จำพรรษา ณ ที่แห่งนี้เรื่อยมา
ในส่วนของกรมป่าไม้โดย คุณเฉลียว หอมหวน หัวหน้าสำนักงานอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ในขณะนั้น ก็มีความประสงค์เดียวกับคุณเชิด โดยต้องการให้มีพระสงฆ์อยู่ช่วยอบรมชาวเขาเผ่าม้ง ให้หยุดทำลายป่าหันมาช่วยอนุรักษ์ต้นน้ำให้คงสภาพเดิม จึงให้ความสนับสนุนในการสร้างที่พักสงฆ์ดอยปุยตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
ปี พ.ศ.๒๕๑๒ คณะเจ้าหน้าที่และพนักงานพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ได้ร่วมกันจัดทอดผ้าป่าถวายเพื่อหาทุนในการสร้างศาลาหอฉัน ซึ่งเป็นศาลาหลังแรกของที่พักสงฆ์แห่งนี้ ต่อมามีผู้มีจิตศรัทธาจากตัวเมืองเชียงใหม่ กรุงเทพฯและจากจังหวัดต่างๆรวมถึงชาวบ้านดอยปุย ชาวบ้านภูพิงค์ และพระตำหนักฯได้ร่วมทำบุญสร้างกุฏิและเสนาสนะต่างๆตามลำดับ มีพระภิกษุสามเณร จำพรรษาปฏิบัติภาวนามาตลอดมิได้ขาด
ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ก่อนที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับ จะทรงนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช และพระที่เป็นครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐาน ที่ทรงให้ความเคารพเลื่อมใส มาทำบุญและสนทนาธรรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์เป็นประจำ การจัดที่ประทับถวายแด่องค์สมเด็จพระสังฆราชในตัวเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นการไม่สะดวกที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินขึ้น-ลง
ปี พ.ศ.๒๕๑๖ ทางพระตำหนักฯจึงได้สร้างตำหนักที่ประทับถวายแด่องค์สมเด็จพระสังฆราชในบริเวณที่พักสงฆ์ดอยปุยจำนวน ๑ หลัง
ปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้จัดสร้างตำหนักที่ประทับถวายอีก ๑ หลัง โดยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดสร้างครั้งนั้น เป็นจำนวน ๒,๓๐๐,๐๐๐.-บาท ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเสด็จประทับ ณ ตำหนักที่ประทับที่พักสงฆ์ดอยปุยเป็นประจำทุกครั้งที่เสด็จ ยกเว้นเฉพาะบางปีที่ประชวรหรือมีพระราชกิจ ซึ่งบางครั้งประทับนานถึง ๗๘ วัน (ปี พ.ศ.๒๕๑๙) โดยขณะประทับอยู่ ได้ทรงให้ความอุปการะแก่ที่พักสงฆ์ดอยปุยเสมอมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่พักสงฆ์ดอยปุย ตั้งขึ้นมาเป็นเวลา ๔๙ ปีแล้ว มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่ประจำมิได้ขาด จากเดิมซึ่งเป็นป่าที่เสื่อมโทรม ถูกแผ้วถางทำลายป่ามีไฟป่าเป็นประจำ ปัจจุบันกลายสภาพมาเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเขียวชอุ่มของต้นไม้ โดยทางที่พักสงฆ์ดอยปุยได้ร่วมมือกับชาวบ้านดอยปุยและอุทยานแห่งชาติ ในการป้องกันไฟป่าได้ผลเป็นอย่างดี นอกจากเหมาะที่จะใช้เป็นที่ปฏิบัติภาวนาแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรแล้ว ประชาชนทั่วไปที่สนใจในการปฏิบัติธรรมก็สามารถใช้สถานที่นี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักสงฆ์ดอยปุย เป็นสถานที่สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยใช้เป็นสถานที่ออกศึกษาภาคปฏิบัติ ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
ประโยชน์ที่ได้จากการมีที่พักสงฆ์ดอยปุย
๑. ชาวบ้านพระตำหนักภูพิงค์ฯและชาวบ้านดอยปุย ได้มีสถานที่ทำบุญให้ทานและรักษาศีล
๒. ที่พักสงฆ์กับชาวบ้านได้ร่วมมือกันป้องกันรักษาป่า และอนุรักษ์สัตว์ป่า
๓. โครงการป่ารักษ์น้ำ ๑,๐๐๐ไร่ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ
๔. ส่งเสริมเด็กชาวเขาให้ได้รับการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา
๕. ส่งเสริมให้เด็กชาวเขาบวชเณร และส่งเสริมให้เรียนแผนกนักธรรม และภาษาบาลี
๖. ตั้งกองทุนอาหารกลางวัน สำหรับนักเรียนโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ๑ ซึ่งในปัจจุบัน มีทุนทั้งสิ้น ๒,๐๐๐,๐๐๐.-บาท
๗. ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น และแนะนำส่งเสริมอาชีพสุจริต
๘. ตั้งกองทุนมูลนิธิสงฆ์อาพาธสำหรับคณะสงฆ์ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ธรรมยุต จำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐.-บาท
โครงการในอนาคต
๑. ทำแนวกันไฟป่าในเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่
๒. ปลูกป่าในบริเวณเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่
๓. สร้างระบบน้ำประปาภูเขาให้แก่ชาวบ้านดอยปุย
๔. เพิ่มทุนสงเคราะห์อาหารกลางวันที่มีอยู่แล้ว
๕. ส่งเสริมการศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลก
สถานที่ตั้ง
ที่พักสงฆ์ดอยปุยมีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๕ ไร่ สภาพพื้นที่เป็นภูเขา ตั้งอยู่ใกล้เขตพระราชฐาน พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และหมู่บ้านดอยปุย เป็นสถานที่สงบวิเวก เหมาะแก่การเจริญสมถภาวนาของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสผู้ใคร่ธรรม มีถนน รพช. ราดยางจากพระตำหนักภูพิงค์ฯ เข้าถึงที่พักสงฆ์ ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร ทิศตะวันออกจรดภูเขา, ทิศตะวันตกจรดบ้านดอยปุย,ทิศเหนือ จรดภูเขา, ทิศใต้ จรดภูเขา ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่มาทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ห่างจากพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ๔ กิโลเมตร ห่างจากบ้านดอยปุย ๓๐๐ เมตรและห่างจากบ้านม้งขาว (บ้านช่างเคี่ยน) ๗ กิโลเมตร
เสนาสนะ
๑. ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช จำนวน ๒ หลัง
๒. โบสถ์และศาลาปฏิบัติธรรม จำนวน ๑ หลัง
๓. วิหารพระพุทธบวรมงคลเทพบรรพต จำนวน ๑ หลัง
๔. ศาลาประดิษฐานพระกัจจายนะ และเจ้าแม่กวนอิม จำนวน ๒ หลัง
๕. ศาลาหอฉัน จำนวน ๑ หลัง
๖. กุฏิพระสงฆ์ จำนวน ๑๑ หลัง
๗. โรงครัว จำนวน ๑ หลัง ๘. ห้องสุขา จำนวน ๑๖ หลัง
๙. กุฏิรับรอง สำหรับพระอาคันตุกะ จำนวน ๒ หลัง
๑๐. บ้านพักผู้ปฏิบ้ติติธรรม จำนวน ๘ หลัง ๑๑. โรงต้มน้ำร้อน จำนวน ๑ หลัง
สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดที่จะเสด็จประทับ ณ ที่พักสงฆ์ดอยปุย เพื่อประกอบพระกรณีกิจบำเพ็ญสมณธรรม ในขณะที่ประทับ ณ ที่พักสงฆ์ดอยปุย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และทรงสดับพระธรรมเทศนาเป็นประจำนับ ๑๐ ครั้ง และทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงที่พักสงฆ์ทุกครั้งที่ทรงเสด็จ
รายนาม หัวหน้าที่พักสงฆ์
พระครูวิทิตศาสนกิจ (หลวงปู่ไพโรจน์ วิโรจโน) ดำรงตำแหน่ง 2510-2556
พระกิตติวิมล (อัมพร กตปุญฺโญ) ดำรงตำแหน่ง 2556-2556
พระครูวิมลธรรมรัต (ศรีนวล วิมโล) ดำรงตำแหน่ง 2556-2564
รายนาม เจ้าอาวาส
พระมหาจุลชีพ เขมชีโว (จุลชีพ เขมชีโว) ดำรงตำเเหน่ง 2564 -ปัจจุบัน
การศึกษา
- นักธรรมเอก (น.ธ. เอก) เปรียญธรรม 3 ประโยค ป.ธ. 3)
- ปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ (ศน.บ.) จาก มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2543
- ปริญญาโท คณะวรรณคดีอังกฤษ M.A English จาก Kurukshetra University India พุทธศักราช 2547
ปรับปรุงเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564
• วัดพัฒนาดีเด่น เมื่อวันที่ 24 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2552
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 31 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2564