ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดพระธาตุดอยคำ
- ชื่อวัด: วัดพระธาตุดอยคำ
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- ที่ตั้ง: เลขที่ หมู่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปษณีย์
ประวัติความเป็นมา
วัดพระธาตุดอยคำ เป็นวัดที่มีความสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บริเวณดอยคำ ด้านหลังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร
วัดพระธาตุดอยคำสร้างในสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญชัย โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 1230 ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์ และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ"
พ.ศ. 2509 ขณะนั้นวัดดอยคำเป็นวัดร้าง ต่อมากรุแตกชาวบ้านพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระรอดหลวง พระหินทรายปิดทององค์ใหญ่ พระสามหมอ (เนื้อดิน) ซึ่งนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระธาตุดอยคำ พระธาตุดอยคำนอกจากจะเป็นที่สักการบูชาของคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของการบินไทยที่ใช้กำหนดพื้นที่ทางสายตา ก่อนที่จะนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่
ประวัติความเป็นมา
ประวัติ พระธาตุดอยคำมีอยู่หลายตำนาน ต่างก็เขียนไว้แตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะขอเสนอตำนานต่าง ๆ อย่างคร่าว ๆ เพื่อให้พอเห็นภาพและความเกี่ยวข้องกัน ของดอยคำ พระธาตุ และ บุคคลต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน
ตำนานพระเจ้าเลียบโลก
ตำนานพระเจ้าเลียบโลกล่าวว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จไปพักประทับนอนที่ภูเขาลูกเล็กลูกหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตก พระองค์ประทับอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งใหญ่ประมาณ ๘ กำ สูง ๑๕ ศอก ทรงประทับอยู่เมตตาในที่นั้นตลอดราตรี ในกลางคืนนั้นเทพยดาทั้งหลายก็โสมนัสยินดี จึงบันดาลให้ฝนเงิน ฝนทองคำตกลงมาบูชาพระพุทธองค์ ครั้นสว่างขึ้นมา แก้ว เงิน ทองคำ เหล่านั้นก็หายเข้าไป สู่ใต้ภูเขาลูกเล็กนั้นสิ้น เป็นไปเพราะพุทธานุภาพ เหตุนั้นภูเขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ดอยเขาคำหลวง”
ตำนานปู่แสะ-ย่าแสะ
ตำนานพระธาตุดอยคำ กล่าวว่า บริเวณดอยคำเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์จิกคำและยักษ์ตาเขียว (คู่ยักษ์ผัวเมีย) ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ปู่แสะ-ย่าแสะ ซึ่งมีลูก 1 คนชื่อว่า วาสุเทพ เหตุที่ได้ชื่อว่าดอยคำ เนื่องจากศุภนิมิตที่ยักษ์ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า เกิดฝนตกหนักหลายวัน ทำให้น้ำฝนเซาะและพัดพาแร่ทองคำบนไหล่เขา และลำห้วยไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก จึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “ดอยคำ” ปู่แสะย่าแสะ จึงได้สร้างสถูป และเก็บพระเกศาธาตุไว้ในสถูปบนดอยคำ
ตำนานอีกหลายฉบับ
กล่าวว่า เทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะ นำขึ้นมาฝังและก่อสถูปไว้บนดอยแห่งนี้ และต่อมาในปี พ.ศ. ๑๒๓๐ เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ ๒ พระโอรสแฝดของพระนางจามเทวี แห่งหริภุญชัยนครได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศานั้นไว้ นอกจากนี้ ตำนานพระบาทสี่รอย กล่าวว่า บริเวณนี้(ดอยคว่ำหล้อง ทางเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่) เป็นที่อยู่อาศัยของปู่แสะและย่าแสะบรพบุรุษของลัวะ (กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของเชียงใหม่) ซึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดลัวะทั้งสองผัวเมียให้เลิกกินมนุษย์เป็นอาหาร เมื่อพระพุทธเจ้ามาโปรดนั้นวาสุเทพได้อุปสมบท ต่อมาลาสิกขาบทมาถือเป็นเพศฤๅษีบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่งต่อมาจึงเรียกกว่า ดอยสุเทพ ต่อมา ยักษ์ผู้เป็นพ่อปู่แสะได้ไปดำรงชีพอยู่บริเวณวัดฝายหินเชิงดอยสุเทพ ส่วนย่าแสะได้ดูแลพระเกศาธาตุจนสิ้นชีวิต
ตำนานมุขปาฐะพื้นบ้าน
ตำนานมุขปาฐะพื้นบ้านแห่งหนึ่ง เล่าถึงฤๅษีวาสุเทพ และพระนางจามเทวีว่า พระนางเป็นธิดาของคหบดีชาวหริภุญชัยซึ่งมีเชื้อสายชาวเม็ง (ตำนานเรียกว่า เมงคบุตร) อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูฯพระนางจามเทวีเมื่อแรกประสูติไว้ว่าตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง พ.ศ. 1176 เวลาจวนจะค่ำ ขณะเมื่อพระนางยังมีพระชนม์ได้ 3 เดือนนั้น มีนกยักษ์ตัวหนึ่งโฉบเอาพระนางขึ้นไปบนฟ้า เมื่อนกนั้นบินผ่านหน้าฤๅษีวาสุเทพ ซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ ณ เขาอุจฉุตบรรพต (แปลว่าเขาไร่อ้อย เชื่อว่าคือดอยสุเทพในปัจจุบัน) ท่านจึงได้แผ่เมตตาจิตให้นกนั้นปล่อยทารกน้อยลงมา แล้วรับเอาเด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมทั้งตั้งชื่อให้ว่า นางวี ด้วยถือเอานิมิตที่พระฤๅษีใช้พัด (ภาษาถิ่นเรียกว่า "วี") รองรับพระนางเนื่องจากพระฤๅษีอยู่ในสมณเพศ ไม่อาจถูกตัวสตรีได้ ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า เมื่อฤๅษีวาสุเทพสร้างเมืองหริกุญไชยเสร็จแล้ว ได้อันเชิญพระนางจามเทวีจากเมืองละโว้(ลพบุรี) ให้มาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองหริกุญไชย ดังนั้นการที่ วัดพระธาตุดอยคำ สร้างในสมัยพระนางจามเทวี โดยพระโอรสฝาแฝด เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ ก็จะละความสัมพันธ์ ของฤๅษีวาสุเทพ และพระนางจามเทวี เสียไม่ได้ เพราะมีความใกล้ชิดกันตามตำนาน ต่าง ๆ อย่างน่าสนใจมีเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งปรากฏใน จามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึง พระนางจามเทวี และขุนหลวงวิลังคะ กษัตริย์ลัวะที่ปกครองเมืองอยู่บริเวณดอยสุเทพ ประสงค์จะได้พระนางจามเทวีเป็นพระมเหสีของตน แต่พระนางปฏิเสธ ขุนหลวงวิลังคะจึงได้ทำสงครามกับพระนางจามเทวีแล้วก็พ่ายแพ้ไป
ตำนานเมืองเชียงตุง
ตำนานเมืองเชียงตุงกล่าวตรงกับนิทานพื้นบ้านล้านนาว่า ขุนหลวงหลงรักพระนางจามเทวีและไม่สมหวัง ขุนหลวงมีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถพุ่งสะเหน้า(หอก) จากดอยสุเทพไปตกนอกกำแพงเมืองหริกุญไชยได้ พระนางมีความกลัวในอิทธิฤทธิ์มาก จึงทำอุบายส่งของไปบรรณาการคือหมวกและผ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งแทรกพระภูษาเครื่องทรงชั้นในของพระนางแล้วตกแต่งด้วยอัญมณีสวยงาม เมื่อขุนหลวงเอาหมวกมาใส่อิทธิฤทธิ์จึงได้เสื่อมลงไป เมื่อขุนหลวงเสื่อมอิทธิฤทธิ์พระนางจึงปฏิเสธการแต่งงานของขุนหลวง ขุนหลวงไม่พอใจจึงยกทัพไปหริกุญไชยและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 1230
สถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดวัดพระธาตุดอยคำ
จุดชมวิว
ออกนอกระเบียงคตไปทางจุดชมวิว มีวิมานองค์อำมรินทร์ เทพผู้ประธานพร โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ ถวายโดย คุณทรงพล ชัชวาลย์พันธ์ เมื่อวันที่ 10ตุลาคม พ.ศ. 2551
งานประเพณีของวัด
ปกติจะจัดในวันเเรม ๗-๘ ค่ำเดือน ๘ ของทุกปี โดยงานประเพณีนี้จะมีการอนุรักษ์ดั้งเดิมของท้องถื่นไว้ เช่น เดินขึ้นคำ สวดมนต์ เวียนเทียน โดยมีกำหนดการดังนี้
แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ เวลากลางคืน ประชาชนจากหมู่บ้านต่างๆพากันเดินขึ้น ดอยคำ(เหมือนกับประเพณีเตียวขึ้นดอยสุเทพ) เพื่อทำวัตสวดมนต์ฟังเทศน์และเวียนเทียนตลอดคืน
แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ช่วงเช้าทำพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวีจากนั้นเจริญพระพุทธมนต์ถวายภัตตาหารเพลงแด่พระสงฆ์ และเริ่มทำพิธีสรงน้ำพระธาตุตลอดทั้งวัน กลางคืนมีการจุดบอกไม้เพิลงงถวายเป็นพุทธบูชา
วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ประเพณีเลี้ยงดง หมายถึงการเลี้ยงผีปู่แสะและย่าแสะ
การเลี้ยงดง ผีปู่แสะ-ย่าแสะ
การเลี้ยงผีประจำปีในเดือนเก้าเหนือ ก็คือผีปู่แสะย่าแสะตำนานมีอยู่ว่า...."
ในอดีตมีเมืองหนึ่งชื่อ บุพพนคร เป็นเมืองชนเผ่าลัวะ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง ชาวบ้านแห่งนี้อยู่กันแบบไม่เป็นสุขเพราะถูกยักษ์ ๓ ตน ยักษ์พ่อแม่ลูก จับเอาชาวเมืองไปกินทุกวันๆ จนชาวเมืองต้องหนีออกจากเมืองเนื่องจากกลัวะยักษ์ ต่อมาพระพุทธเจ้า รับรู้ความเดือดร้อนของชาวเมืองลัวะ จึงได้เสด็จมาโปรดและแสดงอภินิหาร แสดงธรรม ให้ยักษ์สามตนได้เห็น จนยักษ์สามตนนั้นเกิดความเลื่อมใส และให้ยักษ์ทั้งสามตนสมาทานศีลห้าสืบไป ต่อมายักษ์ทั้งสามตนนึกได้ว่าพวกตนเป็นยักษ์ต้องประทังชีวิตด้วยการกินเนื้อ จึงได้ขอพระพุทธเจ้ากินควายปีละ ๑ ตัว พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ ให้ไปถามเจ้าเมืองเอา ว่าแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จออกจากดอยคำหั้นไป ยักษ์ทั้งสามตนจึงได้ไปขอกับเจ้าเมืองลัวะ ซึ่งทางเจ้าเมืองก็ได้นำควายมาถวายให้ปีละ ๑ ตัว และยักษ์ก็จะดูแลชาวบ้านชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป ยักษ์ตัวพ่อชื่อปู่แสะ ยักษ์ตัวแม่ชื่อย่าแสะ หลังสิ้นสมัยปู่แสะย่าแสะแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองก็ยังเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์อยู่และหวังให้ปู่แสะย่าแสะ ช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา พร้อมช่วยกันดูแลชาวบ้านชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงได้มีพิธีเซ่นดวงวิญญานที่เรียกกันว่า เลี้ยงดง ต่อนั้นมาทุกๆ ปีเมื่อเถิงเดือนเก้าออกของเมืองล้านนา ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องจะเอาผืนผ้ามาแต้มเป็นรูปพระบฏให้ดูเหมือนพระพุทธเจ้า เสด็จมาร่วมพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ หรือชาวบ้านเรียกผืนผ้ากันว่า ตุงพระบฏ มาแขวนให้แกว่งไปมาเหมือนดั่งภาพมีชีวิต ส่วนเครื่องพลีกรรมผีปู่แสะย่าแสะ ที่สำคัญคือควายกีบเผิ้ง (ควายหนุ่มที่มีกีบเท้าสีเหลือง เขาควายยาวเท่าหู แต่ปัจจุบันบางครั้งก็ใช้ควายตัวโต) พร้อมกับเครื่องพลีกรรมอื่นๆ กล้วย อ้อย ของหวาน สถานที่คือดงหลวงใกล้ๆกับดอยคำ ทิศใต้ของดอยสุเทพ นครเชียงใหม่
ความน่าสนใจภายในวัดพระธาตุดอยคำ
การบูรณะ
วัดพระธาตุดอยคำบูรณะมาหลายต่อหลายครั้ง สามารถแบ่งช่วงการบูรณะได้ดังนี้
1. บูรณะโดยพระพม่า ชื่อ อูหม่องภาสิน ในปีพ.ศ. 2181
2. บูรณะโดยพระพม่า ไม่ทราบชื่อ ในปีพ.ศ. 2366
3. บูรณะโดยพระและชาวบ้านจากตำบลหนองควาย ในปีพ.ศ. 2385
4. บูรณะโดย ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปีพ.ศ. 2466
5. บูรณะโดย พระปลัดพิณ กิตติวัณโณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555