ประวัติวัดบ้านแปะ
วัดบ้านแปะ ตั้งอยู่เลขที่ ๘๓ บ้านแปะ หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๑ งาน ๖๔ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๗๗๑๓ อาณาเขตทิศเหนือจดลำเหมืองสาธารณะ ทิศใต้จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกจดลำเหมือง ทิศตะวันตกจดหมู่บ้าน
มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๓ แปลง
แปลงที่ ๑ โฉนดที่ดินเลขที่ ๖๖๔๐ เนื้อที่ประมาณ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา
แปลงที่ ๒ โฉนดที่ดินเลขที่ ๔๒๘๙๑ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๕๒ ตารางวา
แปลงที่ ๓ โฉนดที่ดินเลขที่ ๔๒๘๙๒ เนื้อที่ประมาณ ๒ งาน ๑๙ ตารางวา
อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร เจดีย์ ศาลาการเปรียญ ศาลาเอนกประสงค์
กุฎิสงฆ์ หอสรงน้ำพระธาตุ หอพระไตร หอฉัน หอระฆัง ฯ
ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ และของมีค่าที่บรรจุไว้ในเจดีย์
วัดบ้านแปะ ตามประวัติวัดแจ้งว่า สร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๑๑๐ มีชื่อเรียกแต่เดิมอีกชื่อหนึ่งว่า วัดราชวิสุทธาราม ผู้สถาปนาวัดราชวิสุทธาราม(วัดบ้านแปะ) ก็คือ พระนางวิสุทธเทวี มหากษัตริย์แห่งล้านนาไทยเชียงใหม่ ทรงโปรดเกล้า ฯ สร้างพลับพลาใกล้กับเวียงหิน ที่ประทับ เสด็จไปและกลับกรุงหงสาวดี และได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านนี้ชื่อว่า วัดราชวิสุทธาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๐ ซึ่งมีบันทึกในใบลานอักษรแบบสุโขทัย เมื่อปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๙๒๙ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๑๐) เดือน ๙ เหนือขึ้น ๑๕ ค่ำ ว่าได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำตราหลวงหลาบเงินนี้ไว้เพื่อคุ้มครองชาวบ้านแปะ อมขูด ฮากฮาน กองกูน ป่ารวก ทั้งคนลัวะ คนไทย ให้เขาเหล่านั้นเป็นข้าทาสวัด และได้ทรงหลั่งน้ำพระราชทานไว้ให้เฝ้าดูแลวัดราชวิสุทธารามให้เจริญมั่นคงสืบต่อไป พร้อมกับทรงสร้างหน้าจีตราชลัญจกร และสังฆราชลัญจกร เพื่อพระราชทานแก่ชาววัดราชวิสุทธาราม(บ้านแปะ) เพื่อไม่ให้เดือดร้อนและเป็นข้าทาสวัดได้อย่างสมบูรณ์ วัดราชวิสุทธาราม(บ้านแปะ) แห่งนี้ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๔๙
วัดบ้านแปะในปัจจุบัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร
การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม ดังนี้ คือ
รูปที่ ๑ พระไชย รูปที่ ๒ พระครูบากันทา รูปที่ ๓ พระเกว๋ละ รูปที่ ๔ พระตัสสนะ
รูปที่ ๕ พระตะนะ รูปที่ ๖ พระชัยมงคล รูปที่ ๗ พระคัมภีระ รูปที่ ๘ พระมหาวรรณ
รูปที่ ๙ พระคำ รูปที่ ๑๐ พระเตบิน รูปที่ ๑๑ พระไจย รูปที่ ๑๒ พระอุตตมะ
รูปที่ ๑๓ พระดวงคำ รูปที่ ๑๔ พระเสาร์ รูปที่ ๑๕ พระทองคำ รูปที่ ๑๖ พระอินตายศ
รูปที่ ๑๗ พระแก้ว รูปที่ ๑๘ พระเป็ง รูปที่ ๑๙ พระจันทร์ รูปที่ ๒๐ พระดวงตา ยาวิไชย
รูปที่ ๒๑ พระกันทะวัง รูปที่ ๒๒ พระจันทร์ รูปที่ ๒๓ พระติ๊บ รูปที่ ๒๔ พระต๋า
รูปที่ ๒๕ พระตั๋น รูปที่ ๒๖ พระบุญเป็ง รูปที่ ๒๗ พระจอม ขนฺติโก พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๙
รูปที่ ๒๘ พระดวงตา ฐานิสฺสโร รูปที่ ๒๙ พระชุมพล โชติโก
รูปที่ ๓๐ พระณรงค์ สุวโจ รูปที่ ๓๑ พระนพดล สนฺตจิตฺโต พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๓
รูปที่ ๓๒ พระสุรินทร์ วชิรญาโณ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๘
รูปที่ ๓๓ พระสุธรรม สุธมฺโม พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๐ รูปที่ ๓๔ พระนิกร จิตฺตปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๓๐ -ปัจจุบัน
( ปัจจุบันได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรในราชทินนาม
“ พระครูสุจิตปัญญารัตน์ ” เจ้าคณะตำบลชั้นโท เมื่อ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะตำบลชั้นเอก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ในราชทินนามเดิม)
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2450
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2514