ประวัติวัดวังธาร
เลขที่ 153 หมู่ 8 ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ. 2491 ได้มีราษฎรหมู่บ้านผาแตก และหมู่บ้านวังธารได้ร่วมแรงกายแรงใจสร้างวิหารขึ้นมาหลังหนึ่ง นำโดย พ่ออุ้ยหน้อย แม่อุ้ยทา สุปินตา ปลูกสร้างด้วยไม้ มุงด้วยหญ้าคา กว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตรอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยลอง แล้วได้ไปกราบนิมนต์หลวงพ่อทา (ฉายา ไม่ได้ปรากฏ ) และหลวงพ่อพรหม พรมจาโร ทั้งสองท่านเป็นสหธรรมิกกัน จากสำนักวัดโพธิ์ทองเจริญ (ป่าตึง) มาจำพรรษาสถานที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดดอยลอง” เป็นเวลา 1 ปี
ในปี พ.ศ. 2492 ได้ย้ายมาปลูกสร้างใหม่อีกครั้ง อยู่ทางทิศใต้ของดอยลอง เหตุที่ย้ายมาก็เพื่อให้วัดตั้งอยู่ศูนย์กลางระหว่างหมู่บ้านผาแตกและบ้านวังธาร เพราะทั้งสองหมู่บ้านยังไม่มีวัดที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 หลวงพ่อทา ท่านก็ได้มรณภาพลง เหลือแต่หลวงพ่อพรหม พรมจาโรจำพรรษาเพียงลำพัง เป็นระยะเวลา 3 ปี
ในปี พ.ศ. 2495 ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ดได้ว่างลง ซึ่งในขณะนั้นมีพระครูสังฆกิจจารักษ์(พ่อหนานสม สุทธคำ) อาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งในขณะนั้นมี พ่อแสง ก้อนยะ พ่อสม คำยอดใจ และพ่อน้อยนวล สุนันตา ได้ทำเรื่องถึงพระครูสังฆกิจจารักษ์ รักษาการเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด ขอย้ายวัดดอยลอง มาตั้งอยู่ในหมู่บ้านวังธารแห่งนี้ สาเหตุที่ย้ายมาจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค เพราะเป็นที่เนิ่นสูงทำให้ยากแก่การจัดหาแหล่งน้ำได้ ต่อมาพระครูสังฆกิจจารักษ์ จึงได้เดินทางมาสำรวจยังพื้นที่ที่จะตั้งวัด ท่านเห็นว่าเหมาะสมแก่การสร้างวัด ต่อไปข้างหน้าจะต้องมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน โดยมีผู้ถวายที่ดินที่จะสร้างวัดด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า คือ พ่อแสง ก้อนยะ พ่อสม คำยอดใจ และพ่อหลวงมูล สหัสแปง ต่อมาพระครูสังฆกิจจารักษ์อนุญาตให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ และท่านก็ได้รายงานไปยังกรมการศาสนา สำนักสงฆ์แห่งนี้ได้ชื่อว่า “สำนักสงฆ์วังธาร” และได้ขึ้นอยู่กับกองทะเบียนกรมการศาสนาในปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2500 หลวงพ่อพรหม ท่านขอย้ายไปยังเวียงป่าเป้า บ้านเดิมของท่าน จังหวัดเชียงราย และในปีเดียวกันนั้น พ่อแสงได้กราบนิมนต์หลวงพ่อหมื่น ญาณรังสี วัดบ้านน้อยสันกำแพง อำเภอสันกำแพงมาเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาปี พ.ศ. 2503 ท่านได้ร่วมกับคณะศรัทธาได้สร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่ง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2507 ใช้ระยะเวลา โดยประมาณ 4 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ทางกรมการศาสนาได้ยกวัดที่เป็นสำนักสงฆ์ให้เป็นวัดราษฎร์ ทั้งหมดทั่วประเทศมี 12 แห่ง สำนักสงฆ์วังธาร ก็เป็น 1 ใน 12 แห่งนั้นด้วย จากนั้นปี พ.ศ. 2511 หลวงพ่อหมื่น ญาณรังสี ได้ขอย้ายไปอยู่ยังวัดน้อยสันกำแพงดังเดิม(ไม่ปรากฏสาเหตุการย้าย) แล้วตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวังธารก็ว่างลงอีกครั้ง ไปจนถึงปี พ.ศ. 2521
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 จนถึง 2521 มีพระภิกษุมาจำพรรษาวัดวังธารดังต่อไปนี้
1. พระอธิการพรหมา
2. พระอธิการคำแสน
3. พระเชี่ยวชาญ ปัญญาวุฑฺโฒ
4. พระประสงค์ เมธีวุฒิกร
5. พระวิสูตร
ในปี พ.ศ. 2521 เจ้าคณะได้แต่งตั้งให้พระคำปัน กิตติโสภโณ เป็นรักษาเจ้าอาวาส
ในปี พ.ศ. 2528 ได้สร้างอุโบสถหลังหนึ่ง โดยคุณอำไพ บัวเย็น เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2532
ในปี พ.ศ. 2535 คณะศรัทธาได้ร่วมกันสร้างกุฏิหลังหนึ่ง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538 โดยได้ชื่อกุฏิว่า “กิตติโสภโณ” เพราะเป็นปีเดียวกันที่พระคำปัน กิตฺติโสภโณ ได้มรณภาพพอดี เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านด้วย
ในปี พ.ศ. 2538 พระอธิการคำปัน กิตฺติโสภโณ ได้มรณภาพลง (ด้วยโรคลมปัจจุบันหรือเส้นเลือดในสมองแตก) จากนั้นได้กราบนิมนต์พระกนิษฐ์ คนฺธสีโล เป็นรองเจ้าอาวาสวัดขุมยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาเป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาส จากนั้นในปี พ.ศ. 2541 เจ้าคณะตำบลได้แต่งตั้งให้พระกนิษฐ์ คนฺธสีโล เป็นเจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. 2551 ได้รื้อถอนวิหารหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม แล้วได้วางศิลาฤกษ์ ในปีเดียวกัน
ลำดับเจ้าอาวาส
๑. หลวงพ่อพรหม ผู้ก่อตั้งวัด พ.ศ. ๒๔๙๖
๒. พระอธิการหมื่น ญาณรํสี พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๒
๓. พระอธิการคำปัน กิตฺติโสภโณ พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๓๘
๔. พระอธิการกนิษฐ์ คนฺธสีโล พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๒
๕. พระอธิการอุทัย อุทโย พ.ศ. ๒๕๕๒
๖. พระการุณย์ จารุโภ พ.ศ. ๒๕๕๓
๗. พระบุญทอง วชิรญาณพาที พ.ศ. ๒๕๕๔
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2525
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 15 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2510