วัดท่าข้าม ชื่อทางกรมศาสนา คือ “วัดสุปัตตนาราม” เป็นวัดโบราณขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2525 ภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างไทยใหญ่เป็นเรื่องพุทธ-ประวัติและชาดกพื้นบ้านชาดกนอกนิบาตร เรื่อง แสงเมืองมาหลงถ้ำ และยังมีพุทธประวัติตอนปราบท้าวมหาชมพู คาดว่าเขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24
วิหารวัดท่าข้าม เป็นวิหารทรงพื้นเมือง ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง อายุสมัยของการก่อสร้างสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 177 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2524 วิหารหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงลักษณะการขยายสัดส่วน โดยการลดชั้นหลังคาแบบล้านนา ที่มีความสวยงามและเป็นแบบฉบับของลักษณะสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ การลดชั้นหลังคาแบบล้านนาไปทางด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 3 ชั้น โดยเฉพาะด้านหน้ามีหลังคาลดชั้นคลุมบันไดทางขึ้นสองข้าง เชิงบันไดมีนาคอยู่ด้านข้างเป็นศิลปะสมัยล้านนา ช่วงบนเป็นหัวนาค ช่วงล่างเป็นมังกร คือเป็นลักษณะของมังกรคาบนาคซึ่งเป็นความเชื่อของคนรุ่นก่อน นอกจากนี้ยังมีหลังคามุกคลุมบันไดทางขึ้นด้านข้าง 2 ข้าง (ทิศเหนือและทิศใต้) ลด 2 ชั้น รับกับวิหาร อันเป็นทางที่สำหรับพระสงฆ์ขึ้นไปทำพิธีกรรมในพระวิหาร
แหล่งที่มา: องค์การบริหารส่วนตำบลสบเปิง (http://www.sobperng.go.th)