วัดหัวดงสามัคคีธรรม ตั้งอยู่ที่บ้านหัวดง ต.ริมเหนือ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย บริเวณที่ตั้งวัดในอดีต ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่า คนแก่ ที่อาศัยอยู่ที่บ้านหัวดงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้เล่าไว้ว่า ในอดีตบริเวณนี้เป็นป่าดง ติดกับป่าช้า มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย แสงแดดจะส่องไม่ถึงพื้นดิน ทำให้บริเวณนั้นชื้นแฉะ บรรยากาศวังเวง และในอาณาบริเวณยังมีเนินดินขนาดย่อมตั้งอยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ชาวบ้านหัวดงต้องการตั้งวัดประจำหมู่บ้านซึ่งแยกมาจากวัดทรายมูล เพราะการสัญจรไปทำบุญ ปฏิบัติกิจทางศาสนาในฤดูฝนเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงเห็นพ้องต้องกันว่าบริเวณที่เป็นป่าดงติดป่าช้าเหมาะสมสำหรับการตั้งวัดเป็นอย่างยิ่ง จึงทำการก่อสร้างศาลาบำเพ็ญบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาจำพรรษา และขอบริจาคที่ดินบริเวณใกล้เคียงจากชาวบ้านซึ่งมีผู้บริจาค ดังนี้
๑. พ่ออุ้ยปั๋น พงษ์ดง จำนวน ๑ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา
๒. แม่อุ้ยสิงห์ ปันแก้ว จำนวน ๓ งาน ๗๕ ตารางวา
๓. พ่ออุ้ยปวน บัวเงิน จำนวน ๓ งาน ๗๐ ตารางวา
๔. พ่อทอง สิงห์แดง จำนวน ๓ งาน ๑๘ ตารางวา
๕. พ่อหลาน ถามดี จำนวน ๒ งาน ๗๙ ตารางวา
๖. แม่ต๋าคำ วรรณเลิศ จำนวน ๒ งาน ๖๐ ตารางวา
๗. พ่อปัน อินต๊ะ จำนวน ๒ งาน ๓๕ ตารางวา
๘. แม่อุ้ยคำ โพธิ จำนวน ๖๕ ตารางวา
๙. พ่อแก้ว ปันติ๊บ จำนวน ๓๒ ตารางวา
๑๐. พ่อตั๋น พงษ์ดง จำนวน ๓๑ ตารางวา
๑๑. แม่แก้วดี ถามดี จำนวน ๒๘ ตารางวา
๑๒. แม่ต๋า คอทอง จำนวน ๒๖ ตารางวา
๑๓. พ่ออ้าย สุกัณทา จำนวน ๒๑ ตารางวา
พอได้ที่ดินตามจำนวนที่ทางราชการกำหนดแล้ว จึงได้ขอตั้งวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อ วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ปัจจุบันมีเนื้อที่ตามโฉนดที่ดิน จำนวน ๕ ไร่ ๒ งาน ๘๓ ตารางวา และมีเจ้าอาวาสปกครองติดต่อกันดังต่อไปนี้
พระดวงชื่น ฐิตสาโร พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๓๑
พระอินทร อภิวฒฺฑโณ พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒
พระครูใบฎีกาสมศักดิ์ ปิยวณฺโณ พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๔๓
พระอธิการสุชาติ กลฺยาโณ พ.ศ. ๒๕๔๓ - ๒๕๕๑
พระอธิการฐิติกร ฐิตวํโส พ.ศ. ๒๕๕๑ – ปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตให้สร้าง เมื่อวันที่ 12 เดือน เมษายน พ.ศ. 2528
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 13 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2529
ประวัติ พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง วัดหัวดงสามัคคีธรรม
พระธาตุอินทร์แขวนเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนแห่งพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันมีพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ชั้นนี้ โดยพระมหาจุฬามณีเจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระเกศโมฬี ( มวยผม ) และเขี้ยวแก้วเบื้องขวาของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระธาตุอินทร์แขวนสร้างโดยพระอินทร์ซึ่งได้นำหินก้อนใหญ่คล้ายศีรษะฤาษี นำมาวางไว้บนยอดเนินหน้าผาบนภูเขาสูง บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าแล้วสร้างพระเจดีย์ครอบไว้ เพื่อให้ผู้คนได้สักการบูชา แทนพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ จึงถือเป็นเสมือนว่าพระอินทร์ได้แขวนพระธาตุเจดีย์นี้เอาไว้ ไม่ให้ตกจากยอดภูเขาบนหน้าผา อันเป็นที่มาของนามพระธาตุอินทร์แขวน
ในอดีตมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า พระธาตุอินทร์แขวน ลอยอยู่ไม่ติดพื้น สามารถเอาเส้นด้ายดึงปลายทั้งสองข้างสามารถลอดผ่านพื้นด้านล่างได้ และให้เฉพาะบุรุษเพศเท่านั้นที่ปิดทองบูชาได้อย่างใกล้ชิด ส่วนสตรีเพศให้บูชาด้านล่าง พระธาตุอินทร์แขวนตั้งอยู่ในป่าบนหน้าผาสูง ต้องข้ามภูเขาไปหลายลูกระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ในประเทศพม่า เมืองไจ้โถ่ รัฐมอญ รัฐเดียวกับความรักอมตะระหว่างเจ้าชายเมืองเชียงใหม่ นามเจ้าน้อยศุขเกษม กับหญิงสาวชาวมอญ นามมะเมี๊ยะ เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ ซึ่งในอดีตนั้นการเดินทางไปสักการบูชา ยากแก่การที่จะเข้าไปสักการะได้โดยง่าย ต้องเดินขึ้นเท่านั้น
ชาวล้านนาถือกันว่า พระธาตุอินทร์แขวน เป็นพระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนิกชนทั่วไปแล้ว ยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์แทนแห่งพระเกศแก้วจุฬามณีอีกด้วย เจ้าอาวาส คณะกรรมการและคณะศรัทธาจึงมีมติที่จะก่อสร้างพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. เพื่อเป็นที่สักการบูชา สัญลักษณ์แทนแห่งพระเกศแก้วจุฬามณี ตามความเชื่อของชาวล้านนา
๓. เพื่อเป็นการสะดวกแก่พุทธศาสนิกชน ที่ไม่สามารถเดินทางไปสักการบูชาพระธาตุอินทร์แขวนถึง รัฐมอญ ประเทศพม่าได้
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างตามแบบแปลน คือ สร้างจำลองเป็นหน้าผาให้ใกล้เคียงกับองค์จริงมากที่สุด กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สูง ๑๘ เมตร โดยมีองค์พระเจดีย์อินทร์แขวนประดิษฐานอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นห้องโถงกว้าง ประดิษฐานพระมหามัยมุนี จำลองเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญกุศลของพุทธศาสนิกชนทั่วไป