วัดต้นรุง
ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดต้นรุง
- ชื่อวัด: วัดต้นรุง
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 4 รูป
- สามเณร: 1 รูป
- ที่ตั้ง: เลขที่ 449 หมู่ 3 บ้านหนองอึ่ง พระนางสามผิว ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปษณีย์ 50110
- เนื้อที่: ประมาณ 4 ไร่
- โทร: 053451674
ประวัติความเป็นมา
ชื่อเจ้าอาวาส ดร.พระสมุห์สุคำ ถิรจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดต้นรุง ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๑๐
การศึกษา นักธรรมเอก
ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
ปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ปริญญาเอก มหาลัยมคธ ประเทศอินเดีย
ตำแหน่งทางการปกครอง
เจ้าอาวาสวัดต้นรุง (จองตก)
ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลเวียงเขต ๑
เลขานุการเจ้าคณะอำเภอฝาง ๑
สถานที่ติดต่อ วัดต้นรุง (จองตก) ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๑๐
โทรศัพท์ ๐๕๓ – ๔๕๑๖๗๔ , มือถือ ๐๘๗ – ๐๙๒๑๘๓๖
E-mail sukam_p2@hotmail.com
ประวัติความเป็นมาของวัดต้นรุง (จองตก
วัดต้นรุง (จองตก) ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๖๖ โดยรูปแบบการออกแบบเป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ ซึ่งมีศิลปะที่สวยสดงดงามบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ มีการแกะสลักตามรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต คำว่า วัดต้นรุง (จองตก) นั้น ได้เรียกขานเอาตามต้นไม้ที่โดดเด่นยืนตระหง่านที่หน้าวัด ต้นรุง เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว ตามภาษาไทยใหญ่เรียกว่า ต้นฮุง ส่วนคำว่า จองตก หมายถึง จอง แปลว่า วัด ตก หมายถึงอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดจองออก วัดต้นรุง นั้น ได้สร้างขึ้นมาใหม่แทนวัดเก่าที่ได้เกิดอัคคีไฟ เมื่อ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๔ โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๓๖ สร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๙ และฉลองสมโพชสิ่งก่อสร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยสิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างงบประมาณ จำนวน ๑๗ กว่าล้านบาท โดยมีอดีตเจ้าอาวาส พระครูสุเมธคุณาธาร (มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔) สิ่งก่อสร้างศาสนวัตถุภายในวัดประกอบไปด้วย วิหารหรือวัด ศาลาการเปรียญจำนวน ๓ หลัง เป็นศิลปะแบบชาวไทยใหญ่ อุโบสถ (ภาษาไทยใหญ่เรียกว่า สิ่ม สำหรับทำสังฆกรรมของพระภิกษุ) วิหารที่สรงน้ำพระประจำวันเกิด (ภาษาไทยใหญ่เรียกว่า กุงซอล) สำหรับสรงน้ำพระตามเทศกาลสงกรานต์ ศาลารองรับพระอาคันตุกะและญาติโยม จำนวน ๑๕ ห้อง และในวัดต้นรุงง (จองตก) นั้นยังมีพระพุทธรูปทีสำคัญคือ พระพุทธรูปทรงเครื่อง (พระเจ้าระแข่ง) พระพุทธรูปพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ การจัดงานของวัดวัดต้นรุง (จองตก) จะมีขึ้นในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่น งานเข้าพรรษา วันออกพรรษา (ปอยเหลินสิบเอ็ด) จัดขึ้นหลังจากออกพรรษาในช่วงเดือน ๑๑ ถ้านอกเหนือจากนั้นไม่เรียกว่างานปอยเหลินสิบเอ็ด การจัดงานปอยส่างลอง (บวชลูกแก้ว) จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมและเมษายน ของทุกปี
วัดต้นรุง (จองตก) ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๔๙ หมู่ ๓ ถนนพระบาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่โดยประมาณดังนี้คือ เนื้อที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๑๒ ตารางวา วัดต้นรุง (จองตก) ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สวยงามมากที่สุดตามแบบศิลปะชาวไทยใหญ่ในอำเภอฝาง และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเพื่อจรรโลงรักษาไว้สืบต่อไป
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2512
ความน่าสนใจภายในวัดต้นรุง
พระพุทธรูปทรงเครื่อง หรือที่เรียกว่า พระเจ้าระแข่ง ที่สำคัญของวัดต้นรุง (จองตก)
พระพุทธรูปพระเจ้าทรงเครื่อง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระเจ้าระแข่งที่ประดิษฐาน ณ วัดต้นรุง (จองตก) ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปที่ตกแต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนพระมหากษัตริย์ที่ทรงเครื่องแก้วแหวนเงินทอง เป็นแบบศิลปะแบบไทยใหญ่มีพระพักต์ที่เอิบอิ่มไปด้วยรอยยิ้ม มีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นพระประธานที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนที่มากราบไหว้บูชา ตกแต่งข้างองค์ด้วยลายดอกไม้ที่ทำแกะสลักจากไม้สักให้เข้ากับสถาปัตกรรมแบบไทยใหญ่และเป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชนชาวไทยใหญ่นิยมมากราบไหว้และเข้ามาทำบุญที่วัดต้นรุง (จองตก)พระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นพระพุทธรูปที่ฉลองพระองค์ทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์ เช่น สวมมงกุฎ กรองศอทับทรวง ฉลองพระบาท ฯลฯ เกี่ยวกับคติความเชื่อในการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องนี้ มีข้อสันนิษฐานไว้หลายประการด้วยกัน คือ ประการแรกสร้างตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธ ลัทธิเถรวาท สร้างตามพระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระมหาชมภู ซึ่งเป็นเรื่องราวการอธิบายทางประติมานวิทยาของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ตามเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในมหาชมภูบดีสูตรว่า "พระมหาชมภู เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีบุญญาธิการและมีฤทธานุภาพมาก ไม่ยอมรับนับถือพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตพระองค์เป็นอย่างพระมหาจักรพรรดิ ทรงแสดงธรรมโปรดจนพระมหาชมภูลดทิฐิมานะ หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา"ประการที่สอง หมายถึง คติที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะเทวราชา ผสมผสานกับพุทธราชา ตามลัทธิเทวราช และอีกประการหนึ่ง ตามคติพุทธศาสนามหายาน อาจจะหมายถึง อนาคตพุทธเจ้า พระ พุทธรูปทรงเครื่องเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓) ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔) พระพุทธรูปทรงเครื่องแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบทรงเครื่องใหญ่ และแบบทรงเครื่องน้อย นอกจากนี้แล้วยังนิยมทำพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนประทานอภัย ๓ แบบ คือ ๑.ประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ เรียก ปางห้ามสมุทร ๒.ประทานอภัยพระหัตถ์ขวา เรียก ปางห้ามญาติ และ ๓.ประทานอภัยพระหัตถ์ซ้าย เรียก ปางห้ามพระแก่นจันทน์ ส่วนพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับนั่ง นิยมทำปางมารวิชัย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรือง ได้ทรงสร้าง พระพุทธรูปจำนวนมาก เช่น พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระเสรฐตมมุนี พระพุทธไตร รัตนายก (หลวงพ่อโต) พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นพระนอนที่มีความงดงามโดยเฉพาะที่ฝ่าพระบาท ทำเป็นลายประดับมุกภาพมงคลร้อยแปด และพระองค์ยังทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปางห้ามสมุทรถือเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปทรงเครื่องใน สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเป็นพุทธลักษณะทรงเครื่องใหญ่เต็มยศ ประดับกระจกหรือเนาวรัตน์ทั้งองค์
พระพุทธรูปทรงเครื่องในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนมากนิยมทำปางห้ามสมุทร พระพักตร์ดูเรียบเฉยเหมือนหน้าหุ่นตัวพระของโขน ยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ประทับอยู่บนฐานที่ลดหลั่นกันหลายชั้น ลวดลายละเอียด งดงาม มีผ้าทิพย์ประกอบดูรับกับองค์พระทรงเครื่องทั้งยังมีฉัตรประกอบทุกองค์ แม้แต่พระสาวกส่วนบัวที่อยู่ชั้นในสุดมีการทำลวดลายอย่างละเอียด เชื่อว่าได้แรงบันดาลจากพระแก้วมรกตในเครื่องทรงชุดประจำฤดูร้อน ยังมีปรากฏพระพุทธรูป แบบจีวรดอก คือลวดลายดอกดวงที่จีวร เชื่อว่าได้รับอิธิพลมาจากพระแก้วมรกตในเครื่องทรงชุดประจำฤดูฝน สำหรับ ประพุทธรูปทรงเครื่องอันเป็นที่รู้จักทั่วโลก คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว นอกจากนี้แล้วยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องอันเป็นที่รู้จักของชาวไทย เช่น พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานในอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถื่อเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ หลวงพ่อพุกกะยาภรณ์มณีศรีปทุม พระพุทธรูปในวิหาร วัดพระธาตุจอมศีล ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ในขณะที่พระพุทธไสยาสน์ทรงเครื่อง หรือพระนอน ซึ่งเข้าใจว่ามีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทยคือ พระพุทธรูปทรงเครื่องโนรา วัดพระทอง หรือวัดพระผุด จ.ภูเก็ต และพระทรงเครื่องในอุโบสถวัดนางนอง เขต บางขุนเทียน กทม.สร้างโดยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้น ส่วนสถานที่จัดพระพุทธรูปทรงเครื่องมากที่สุดคือ ในพิพิธภัณฑ์วัดบุปผาราม กทม. ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระพุทธรูปสำคัญของวัดต้นรุง (จองตก) พระเจ้าทันใจซึ่งประดิษฐาน ณ วัดต้นรุง (จองตก) ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอำเภอฝางอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 150 กิโลเมตร เส้นทางในการเดินทางตามถนนเส้นที่ 107 ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง ไชยปราการ และในตัวอำเภอฝาง ในการสร้างพระพุทธรูปพระเจ้าใจนั้น ทางวัดโดยมีผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 เป็นพระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ สมัยเชียงแสน เรียกว่าพระพุทธรูปสิงห์ 1 มีหน้าตักกว้าง 29 นิ้วสูงประมาณ 39 นิ้ว โดยประมาณ ปิดทองทั้งองค์สิ้นทุนทรัพย์ในการสร้างประมาณ 200,000กว่าบาท มีการตกแต่งสถาปัตตยากรรมแบบไทยใหญ่ ในการปั้นนั้นใช้ระยะเวลา 14 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีพิธีการบรรจุหัวใจพระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ
ในวัดสำคัญทางภาคเหนือ นิยมสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “พระเจ้าทันใจ” ซึ่งหมายถึง พระพุทธรูปที่ใช้เวลาสร้างได้สำเร็จภายใน 1 วัน กล่าวคือ จะเริ่มพิธีตั้งแต่หลังหกทุ่มเป็นต้นไป จนสามารถสร้างองค์พระได้สำเร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดิน (ก่อนเวลา 18.00 น.) ของวันถัดไป ถ้าสร้างไม่เสร็จถือเป็นพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้ในเย็นอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปนั้น มักจะมีขั้นตอน และพิธีกรรมที่ละเอียดซับซ้อน การสร้างพระพุทธรูป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้สำเร็จภายใน 1 วัน จึงถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ จึงเชื่อกันว่าเป็นเพราะพระพุทธานุภาพ และอานุภาพแห่งเทพยดาที่บันดาลให้พิธีกรรมสำเร็จโดยปราศจากอุปสรรค ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่จะบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้อธิษฐานขอพรได้อย่างทันอกทันใจการสร้างพระเจ้าทันใจนั้น มีลักษณะที่แปลกกว่าการสร้างพระพุทธรูปอื่นๆ กล่าวคือจะมีการบรรจุหัวใจพระเจ้า คล้ายกับหัวใจของมนุษย์ ตลอดจนการบรรจุวัตถุมงคลสิ่งของมีค่าไว้ในองค์พระพุทธรูปด้วย และในช่วงระยะเวลาที่กำลังปั้น จะต้งมีการเจริญพระพุทธมนต์ของพระสงฆ์ตลอดทั้งคืนจนสว่างด้วย พระเจ้าทันใจ หมายถึงพระพุทธรูปที่สามารถสร้างเสร็จภายใน 1 วัน พุทธศาสนิกชนจึงเชื่อว่ามีพระพุทธานุภาพ ที่จะสามารถบันดาลให้เกิดโชคลาภ และความสมปรารถนาได้ทันอกทันใจเมื่ออธิษฐานขอพร
คำไหว้พระเจ้าทันใจ
ตะมะหัง ขิปปะ จิตตะ พุทธัง อะภิปูชะ ยามิ
ตะมะหัง ขิปปะจิตตะ พุทธัง เม สิรสา อะภิปูชะ ยามิ
ขิปปะจิตตะ พุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เม
ขิปปะจิตตะ พุทธานุภาเวนะ สะทา มะหาลาโภ ภะวันตุ เม
ขิปปะจิตตะ พุทธานุภาเวนะ สะทา มะหายะโส ภะวันตุ เม
พระพุทธรูปพระแก้วมรกตที่สำคัญของวัดต้นรุง
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า "พระแก้วมรกต" ซึ่งสถิตย์เป็นพระประธานคู่บ้านคู่เมือง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร สถิตย์เป็นองค์ประธาน ณ พระอุโบสถ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ตามโบราณจารย์ประเพณีถือว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร "พระแก้วมรกต" เป็นพระพุทธรูปที่พระอินทร์ และพระวิษณุกรรม จัดหาลูกแก้วมาสร้างองค์ เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๗ พระองค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และเป็นพระประธานสำคัญในการอัญเชิญประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ของประเทศไทย
ตำนานโดยสังเขปกล่าวว่า เมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๕๐๐ ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งนามพระนาคเสนเถรเจ้า จำพรรษาอยู่ที่วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร พระพุทธศาสนากำลังเจริญเต็มที่ในยุคนั้น พระนาคเสนได้รำพึงและประสงค์จะจัดสร้างพระพุทธปฏิมากรไว้สำหรับเป็นองค์อนุสรณ์ แทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ให้ผู้สืบอายุพระพุทธศาสนาไว้สักการะ บูชาแก่เทพยดาและมวลมนุษย์ จึงได้เสี่ยงทายว่า จะสร้างด้วยทองคำ หรือเงิน ก็เกรงว่าพวกมิจฉาชีพจะนำไปทำลายเสีย จะมิยั่งยืนตลอดไป ครั้นจะสร้างด้วยแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ให้เหมาะสมกับ พุทธรัตนะ ก็ยังมิทราบว่าจะหาลูกแก้วสมดังปณิธานเสี่ยงทายได้ที่ไหน และด้วยทิพยจักษ์โสตร้อนอาสน์ถึงพระอิศวร ทรงทราบความปรารถนาแห่งพระนาคเสนเถรเจ้า ที่จะสร้างพระแก้วมรกตนี้ จึงเสด็จลงมาพร้อมด้วยวิษณุกรรม และจัดนำลูกแก้วมณีโชติ ซึ่งเป็นแก้วชนิดหนึ่งซึ่งมีรัศมีรุ่งโรจน์ ที่ภูเขาวิปุละ ซึ่งกั้นเขตแดนมคธ และอยู่ด้านหนึ่งของ กรุงราชคฤห์ ประกอบด้วย
๑. แก้วมณีโชติ มีบริวารแวดล้อมอยู่ ๓,๐๐๐ ดวง เฉพาะแก้วมณีโชติ มีขนาดใหญ่ถึงหนึ่งอ้อมเต็ม
๒. แก้วไพฑูรย์ มีบริวารแวดล้อมอยู่ ๒,๐๐๐ ดวง
๓. แก้วมรกต มีบริวารแวดล้อมอยู่ ๑,๐๐๐ ดวง เฉพาะแก้วมรกตนี้ มีขนาดใหญ่ ๔ กำมือ ๓ นิ้ว
แก้ววิเศษนี้ มีพวกกุมภัณฑ์ คนธรรพ์ ยักษ์มาร และเทพยดารักษาอยู่มาก พระวิษณุกรรมมิอาจที่จะไปนำลูกแก้วดังกล่าวนี้คนเดียวมาได้ จึงได้ทูลเชิญพระอิศวรเจ้าเสด็จร่วมไปด้วย เมื่อถึงเขาวิปุลบรรพตแล้ว พระอิศวรจึงแจ้งให้พวกกุมภัณฑ์ คนธรรพ์ และยักษ์ที่รักษาลูกแก้ว ทราบถึงความประสงค์ของพระนาคเสนเถรเจ้า ที่จะนำแก้วมณีโชตินี้ไปสร้างพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นอนุสรณ์แทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่พวกกุมภัณฑ์ คนธรรพ์ และยักษ์ทูลว่า เฉพาะลูกแก้วมณีโชตินั้นมีอิทธิฤทธิ์มาก เป็นของคู่ควรสำหรับพระมหาจักรพรรดิ์ไว้ปราบยุคเข็ญของโลกเท่านั้น ในเมื่อโลกเกิดจลาจลวุ่นวาย ซึ่งมนุษย์ในสมัยนั้นจะหมดความเคารพยำเกรงซึ่งกันและกัน ก่อการวุ่นวายขึ้น พระมหาจักรพรรดิ์จะได้ใช้แก้วมณีโชตินี้ไว้ปราบยุคเข็ญต่อไป แต่ว่าเพื่อมิให้เสียความตั้งใจและเสื่อมศรัทธา จึงขอมอบถวายลูกแก้วอีกลูกหนึ่ง ซึ่งเป็น "แก้วมรกต" รัศมีสวยงามผุดผ่อง ถวายให้ไปจัดสร้างแทน และพระอิศวรและพระวิษณุกรรม ก็นำแก้วมรกตนี้ไปถวายพระนาคเสนเถรเจ้า แล้วก็เสด็จกลับวิมาน
พระนาคเสนเถรเจ้า เมื่อได้รับลูกแก้วมรกตแล้ว ก็รำพึงถึงช่างที่จะมาทำการสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วสีมรกต ให้มีพุทธลักษณะสวยงามประณีต วิษณุกรรมซึ่งเป็นนายช่างธรรมดาทราบความดำริของพระนาคเสน จึงแปลงกายเป็นมนุษย์เข้าไปหาพระนาคเสน รับอาสาสร้างพระพุทธรูปตามประสงค์ของพระนาคเสนเถรเจ้า เมื่อได้รับอนุญาตจากพระนาคเสนแล้ว วิษณุกรรมจึงลงมือสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วมรกตสำเร็จลงด้วยอิทธิฤทธิ์ สำเร็จภายใน ๗ วัน เนรมิตพระวิหารและเครื่องประดับ สำหรับประดิษฐานรองรับพระพุทธรูปแก้วมรกต วิษณุกรรมก็กลับไปสู่เทวโลก และพระพุทธรูปแก้วมรกตที่สร้างสำเร็จโดยช่างวิษณุกรรมนี้ มีพุทธลักษณะอันสวยงาม มีรัศมีออกเป็นสีต่างๆ หลายสีหลายชนิด ฉัพพรรณรังษีพวยพุ่งออกจากพระวรกาย เทพบุตร เทพธิดา
ท้าวพระยาสามนตราช พระอรหันตขีณาสพ สมณะ ชีพราหมณ์ ตลอดประชาชนทั่วไปเมื่อได้เห็นพุทธลักษณะพระแก้วมรกตแล้ว ต่างก็พากันแซ่ซ้องถวายสักการะ บูชา พระนาคเสนเถรเจ้าพร้อมด้วยพวกเทพยดา นาค ครุฑ มนุษย์ กุมภัณฑ์ พากันตั้งสัตยาอธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เข้าประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกตรวม ๗ พระองค์ คือ ในพระโมฬีพระองค์หนึ่ง, ในพระนลาตพระองค์หนึ่ง, ในพระอุระพระองค์หนึ่ง, ในพระอังสาทั้งสองข้างสองพระองค์ และในพระชานุทั้งสองข้างสองพระองค์ เมื่อพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งเจ็ดพระองค์ เข้าไปประดิษฐานเรียบร้อยทั้ง ๗ แห่ง เนื้อแก้วมรกตแล้ว เนื้อแก้วก็ปิดสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีรอยแผลและช่องพลันก็เกิดปาฏิหาริย์ แผ่นดินไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พระพุทธรูปแก้วได้ยกฝ่าพระบาทดุจดังเสด็จลงจากแท่นประดิษฐาน เมื่อเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นดังนี้ พระนาคเสนเถระทำนายว่า พระแก้วมรกตนี้จะมิได้ประดิษฐานในเมืองปาฏลีบุตรแน่ ต้องเสด็จเที่ยวโปรดเวไนยสัตว์ในประเทศ ๕ คือ
๑. ลังกาทวีป ๒. ศรีอยุธยา ๓. โยนก ๔. สุวรรณภูมิ ๕. ปะมะหล
เมื่อพระนาคเสนเถรเจ้าดับขันธ์แล้ว พระแก้วมรกตนี้ คงได้รับการปกปักรักษา สักการะ บูชาเป็นเวลาต่อมาอีก ๓๐๐ ปี เมืองปาฏลีบุตรสมัยพระสิริกิติราชดำรงเป็นประมุข เกิดจลาจลวุ่นวาย เกิดสงครามมิได้ขาด ข้าศึกต่างเมืองยกมารบกวน เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ ก่อการกบฏ ราษฎร์วานิชเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า สุดที่จะทนทาน ประชาชนวานิช พร้อมใจกันพาพระแก้วมรกตพร้อมด้วยพระไตรปิฎก ลงสำเภาหนีออกจากเมืองปาฏลีบุตรไปสู่ลังกาทวีป พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานประมาณ ๒๐๐ ปี (พระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๑,๐๐๐ ปี)
ครั้นถึงสมัยเจ้าอนุรุธราชาธิราช กษัตริย์ของพุกามประเทศ (พม่า) กับพระภิกษุรูปหนึ่งลงสำเภาไปสู่ลังกาทวีป พร้อมด้วยพระสงฆ์พุกามอีก ๙ รูป อำมาตย์พุกาม ๒ คน ของพุกาม ได้ขอบรรพชาต่อพระสังฆราชลังกาทวีป พระภิกษุรูปที่เป็นหัวหน้าของพุกามชื่อพระศีลขัณฑ์ ร่วมมือกันสังคายนาพระไตรปิฎกและคัมภีร์สัธทาวิเศษเป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะกลับพุกาม ได้ทูลขอ "พระแก้วมรกต" ต่อประมุขของกรุงลังกาทวีป พระองค์จนพระทัย จึงต้องมอบพระแก้วมรกตให้กับกษัตริย์กรุงพุกามไป ทำความเศร้าโศกเสียใจให้กับชาวเมืองปาฏลีบุตรทั่วลังกาทวีป
เมื่อกษัตริย์กรุงพุกามได้รับพระแก้วมรกตเรียบร้อยแล้ว จึงจัดขบวนเรือสำเภาอัญเชิญพระแก้วมรกตลงสำเภาสองลำ แต่เมื่อสำเภาแล่นมาในทะเล สำเภาที่อัญเชิญพระแก้วมรกต เกิดพลัดหลงทางไปสู่เมืองอินทปัตถ์พร้อมทั้งพระไตรปิฎก พระเจ้ากรุงพุกามเสียพระทัยมาก เพราะตั้งพระทัยไว้ว่า จะจัดเฉลิมฉลองสมโภชเป็นการใหญ่ในกรุงพุกาม เมื่อเหตุการณ์กลับกลายไป จึงปลอมพระองค์เป็นราษฎรสามัญไปสู่กรุงอินทปัตถ์ เพื่อสืบหาเรือสำเภาที่อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎก และขอพระแก้วมรกตคืนจากพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์ พระเจ้ากรุงอินทปัตถ์ก็ไม่ยอมคืนให้ เพราะถือว่าเป็นบุญญาธิการของพระองค์ ที่พระแก้วมรกตได้เสด็จมาสู่กรุงอินทปัตถ์ พระเจ้ากรุงพุกามทรงพิโรธมาก ดำริจะปลงพระชนม์พระเจ้ากรุงอินทปัตถ์ ก็เกรงว่าบาปกรรมจะติดตามตัวต่อไปภายภาคหน้า จึงแสดงอภินิหาริย์ให้ชาวอินทปัตถ์เห็น โดยเอาไม้มาทำเป็นดาบ ทาด้วยฝุ่นดำแล้วก็เหาะขึ้นไปในอากาศวนรอบเมืองอินทปัตถ์ ๓ ครั้ง สะกดพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์และคนหลับทั้งเมือง แล้วเสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เอาดาบที่ทำด้วยไม้ขีดไว้ที่พระศอของพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์และมเหสี ตลอดจนเสนาบดีผู้ใหญ่ และตรัสขู่ว่า หากไม่คืนสำเภาที่อัญเชิญพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกตให้แล้ว วันรุ่งขึ้นจะบั่นเศียรให้หมดทุกคน พระเจ้ากรุงอินทปัตถ์และมเหสีทรงทราบเรื่อง และพิสูจน์รอยฝุ่นดำที่พระศอ ก็พบว่ามีรอยฝุ่นดำจริงตามดำรัสของพระเจ้ากรุงพุกาม มีความหวั่นเกรงต่อชีวิตของพระองค์และราชบริพารเป็นอันมาก ให้อำมาตย์ ๒ คน กราบทูลพระเจ้ากรุงพุกามทราบว่า หากเป็นสำเภาอัญเชิญพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกตของพุกามจริง ก็จะจัดถวายส่งคืนให้ ขอให้พระเจ้ากรุงพุกามเสด็จกลับยังกรุงพุกามก่อน พระเจ้ากรุงพุกามก็ยินยอม
กาลต่อมา เมื่อสำเภาลำที่หายไปก็มาถึงกรุงพุกาม ตรวจสอบแล้วมีแต่พระไตรปิฎกอย่างเดียว หามีพระแก้วมรกตไม่ พระเจ้ากรุงพุกามทรงทราบดีว่า พระเจ้ากรุงอินทปัตถ์มีพระประสงค์จะได้พระแก้วมรกตไว้สักการะ บูชาในกรุงอินทปัตถ์ พระเจ้ากรุงพุกามก็มิได้คิดอะไรอีก พระแก้วมรกตนี้ได้ตกอยู่
ในกรุงอินทปัตถ์มาช้านานจนรัชสมัยพระเจ้าเสนกราช พระองค์มีพระราชโอรสองค์หนึ่ง สนพระทัยเที่ยวจับแมลงวันหัวเขียวมาเลี้ยงไว้ และบุตรชายของปุโรหิตคนหนึ่งชอบเล่นแมลงวันหัวเสือ ต่อมาแมลงวันหัวเสือของบุตรชายปุโรหิตกัดแมลงวันหัวเขียวของราชโอรสตาย พระราชโอรสเสียพระทัยและฟ้องพระเจ้าเสนกราชผู้บิดา จนมีรับสั่งให้นำบุตรชายของปุโรหิตไปผูกให้จมน้ำตาย ปุโรหิตผู้พ่อพร้อมด้วยภรรยาพาบุตรชายหนีออกจากเมือง เพราะเห็นว่าพระเจ้าเสนกราชปราศจากความยุติธรรม เอาแต่พระทัยตนเอง พญานาคราชก็โกรธพระเจ้าเสนกราชที่อยุติธรรม ที่สั่งให้เอาบุตรปุโรหิตไปผูกมัดเพื่อให้จมน้ำตาย จึงบันดาลให้น้ำท่วมเมืองอินทปัตถ์ เป็นที่ระส่ำระสายแก่ประชาราษฎร์ยิ่งนัก มีพระเถระรูปหนึ่งไม่ปรากฏนาม ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมด้วยคนรักษา หนีภัยแล่นเรือไปทางทิศเหนือของเมืองอินทปัตถ์
ในราชอาณาจักรไทยขณะนั้น กรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงพระนามว่า พระเจ้าอาทิตยราช เมื่อทรงทราบว่ากรุงอินทปัตถ์เกิดกุลียุค น้ำท่วมบ้านเมืองเสียหาย ผู้คนล้มตายมาก ทรงพระวิตกถึงพระแก้วมรกตจะอันตรธานสูญหายไป จึงจัดทัพไปรับพระแก้วมรกตอัญเชิญลงสำเภา พร้อมกับคนรักษากลับสู่กรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานในมหาเวชยันต์ปราสาท ประดับตกแต่งด้วยเครื่องสักการะอันประณีต จัดการฉลองสมโภชเป็นการใหญ่ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาและประชาราษฎร์ได้ถวายสักการะพระแก้วมรกตตลอดมา และต่อมา พระยากำแพงเพชรได้ลงมากรุงศรีอยุธยา กราบทูลขอพระแก้วมรกตไปสักการะ ณ เมืองกำแพงเพชร ต่อมาโอรสพระองค์หนึ่งมีชนมายุเจริญวัย โปรดให้ไปครองกรุงละโว้ ระลึกถึงพระแก้วมรกตได้ ปรารถนาอยากได้พระแก้วมรกตไว้สักการะ บูชา จึงทูลขอต่อพระมารดา พระมารดามีความรักพระโอรสขัดไม่ได้ จึงทูลขอต่อพระสามี ก็ได้รับอนุญาตให้อัญเชิญไปได้ แต่ให้ไปเลือกเอาเอง เพราะประดิษฐานรวมกับพระแก้วองค์อื่นๆ อีกหลายองค์ พระมารดาและโอรสไม่ทราบว่าพระแก้วมรกตองค์ไหนเป็นองค์ที่แท้จริง จึงให้ไปหาคนเฝ้าประตูรับสั่งคนเฝ้าประตูและให้สินบนช่วยชี้แจง คนเฝ้าประตูรับว่า จะนำดอกไม้สีแดงไปวางไว้บนพระหัตถ์พระแก้วมรกตองค์ที่แท้จริงให้ พระโอรสได้พระแก้วมรกตสักการะ บูชาไว้ ณ เมืองละโว้ เป็นเวลา ๑ ปี ๙ เดือน ก็ต้องอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับเมืองกำแพงเพชรตามข้อตกลง
ในขณะนั้น พ.ศ.๑๙๗๗ พระเจ้าพรหมทัตเจ้าเมืองเชียงราย ทรงทราบว่า พระยากำแพงเพชรผู้ทรงเป็นสหายมีพระแก้วไว้สักการะ บูชา ก็ปรารถนาอยากได้สักการะ บูชาบ้าง จึงจัดขบวนรี้พลสู่เมืองกำแพงเพชร พระปิยะสหาย ทูลขออาราธนาพระแก้วมรกตสู่เมืองเชียงราย เมื่อได้แล้วก็ดีพระทัย จัดขบวนเดินทางกลับไปสมโภช ณ เมืองเชียงรายเป็นนิจ ต่อมาเจ้าเมืองเชียงรายเกรงว่าเมื่อเกิดสงครามขึ้น จะเป็นอันตรายต่อพระแก้วมรกต หวังจะซ่อนเร้นมิให้ศัตรูปัจจามิตรทราบ จึงสั่งให้เอาปูนทาลงรักปิดทองบรรจุเสียมิดชิด ดูประดุจพระพุทธรูปศิลาสามัญ
ลำดับต่อมา พระสถูปเจดีย์ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตถูกอสุนีบาตพังทลายลง ชาวเมืองจึงอัญเชิญไปประดิษฐานยังวิหารวัดแห่งหนึ่ง ครั้นต่อมาปูนที่พอกไว้ตรงพระนาสิกกะเทาะออก เห็นแก้วสีเขียว เจ้าอธิการและพระสงฆ์ในวัดนั้น จึงกะเทาะเอาปูนออกเห็นเป็นพระแก้วทึบทั้งองค์ บริสุทธิ์ดี มีรัศมีสุกใสสกาวไม่มีรอยบุบสลายเลย ราษฎรเมืองเชียงรายและหัวเมืองใกล้เคียง จึงพากันไปถวายสักการะมิได้ขาดสาย ความได้ทราบถึงพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ จัดขบวนรี้พลช้างม้าเดินทางไปอัญเชิญพระแก้วมรกตสู่นครเชียงใหม่ ครั้นขบวนแห่อัญเชิญมาถึงทางแยกที่จะไปนครลำปางช้างที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ก็พาพระแก้วมรกตวิ่งเตลิดไปทางนครลำปาง ควาญช้างได้ปลอบโยนให้หายจากความตื่น ช้างเชือกนั้นก็วิ่งเตลิดพาพระแก้วมรกต กลับหลังวิ่งไปทางนครลำปางอีก ควาญช้างได้พยายามเปลี่ยนช้างเชือกใหม่อีก ช้างตัวใหม่ก็วิ่งไปทางนครลำปางอีก ควาญช้างได้พยายามเล้าโลมเอาอกเอาใจอย่างไร เพื่อจะให้ช้างเดินทางไปนครเชียงใหม่ก็ไม่สำเร็จอีก ท้าวพระยาตลอดจนประชาชนในขบวนแห่พระแก้วมรกต เห็นประสบเหตุการณ์เช่นนั้น จึงส่งใบบอกไปยังพระเจ้าสามแกนเจ้านครเชียงใหม่ให้ทรงทราบ พระเจ้าเชียงใหม่มีความเลื่อมใสพระแก้วมรกตมาก แต่ก็กริ่งเกรงในพุทธานุภาพพระแก้วมรกต และถือโชคลาง เพราะที่ช้างไม่ยอมเดินทางไปนครเชียงใหม่นั้น คงเป็นด้วยพุทธานุภาพของพระแก้วมรกตไม่ยอมเสด็จมาอยู่เชียงใหม่ จึงอนุโลมให้พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ ณ นครลำปาง
ต่อมา พ.ศ.๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราช เจ้านครเชียงใหม่ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงอานุภาพมาก ทรงพิจารณาว่า พระแก้วมรกตเป็นสมบัติอันล้ำค่า ไม่สมควรที่จะประดิษฐานอยู่ที่นครลำปางอีกต่อไป จึงได้อาราธนาอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังนครเชียงใหม่ แล้วจัดสร้างพระอารามราชกูฏเจดีย์ถวาย พระเจ้าเชียงใหม่สร้างวิหารให้เป็นปราสาทมียอด แต่ก็หาสมปรารถนาไม่ เพราะอสุนีบาตทำลายหลายครั้งและพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ ณ นครเชียงใหม่นานถึง ๘๔ ปี
ครั้นพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเป็นพระราชบิดานางหอสูง เสด็จสวรรคต เมืองเชียงใหม่ไม่มีกษัตริย์จะครองราชย์ ท้าวพระยาเสนาบดีและสมณะ ชีพราหมณ์ จึงพร้อมกันแต่งตั้งราชฑูต พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการไปขอเจ้าราชโอรส อันเกิดจากนางหอสูง มาครองราชสมบัติแทนพระอัยกาต่อไป พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทรงทราบ จึงโปรดให้เสนาบดีแต่งจตุรงคเสนาพาเจ้าไชยเชษฐา ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ขึ้นไปกระทำพิธีราชาภิเษกตามประเพณี ครองราชสมบัติ ณ นครเชียงใหม่ ทรงนามว่าพระเจ้าศรีไชยเชษฐาธิราช เจ้านครเชียงใหม่ เมื่อเสร็จการราชพิธีราชาภิเษกแล้ว พระเจ้าโพธิสารก็เสด็จกลับคืนมายังกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ ๓ ปี ก็สวรรคต เสนาบดีพฤฒามาตย์ผู้ใหญ่ ตลอดจนสมณะ ชีพราหมณ์เห็นว่า ถ้าให้ราชโอรสองค์อื่นครองราชสมบัติ ก็คงจะเกิดแก่งแย่งสมบัติกันขึ้น จึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชสมบัติอีกเมืองหนึ่ง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงเสด็จมาประทับยังกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาด้วย เพื่อให้พระราชวงศ์และประชาราษฎร์ได้กราบไหว้นมัสการ บางโอกาสเสด็จมาประทับกรุงศรีสัตนาคนหุตเป็นเวลาช้านาน ทำให้ชาวเมืองเชียงใหม่คิดว่า พระองค์คงจะไม่เสด็จกลับไปครองเมืองเชียงใหม่ จึงได้อัญเชิญเชื้อพระวงศ์ขึ้นครองราชย์แทน ทำให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงพระพิโรธมาก กรีฑาทัพยกไปจะตีเมืองเชียงใหม่ แต่พระเจ้าสุทธิวงศ์ทรงทราบข่าวศึกเกรงพระเดชานุภาพ จึงแต่งพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการ พร้อมด้วยสาวพรหมจารี ๑๒ คน เลือกเฟ้นเอาที่มีสิริโฉมงดงาม ส่งไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ ขอกองทัพพม่ารักษาเมือง พระเจ้ากรุงอังวะได้โปรดให้ยกกองทัพไปช่วยเมืองเชียงใหม่ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่า จะทำศึกกับเชียงใหม่ ก็เหมือนกับทำศึกกับพม่า จะทำให้เสียไพร่พลตลอดจนเสบียงอาหาร ไม่ชอบด้วยทศพิธราชธรรม และเกรงว่าจะสู้ทัพข้าศึกมิได้ จึงสั่งให้ถอยทัพ พร้อมด้วยอัญเชิญพระแก้วมรกตมาอยู่ในเมืองหลวงพระบาง ๑๒ ปี
ลุถึง พ.ศ.๒๑๐๗ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เจ้าเมืองมอญ กำลังเรืองอำนาจ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่าจะสู้มอญไม่ได้ จึงมีดำรัสแก่อนุชาทั้งสองและอำมาตย์แสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงว่า ที่ตั้งกรุงศรีสัตนาคนหุตนี้ เป็นถิ่นที่ดอนใกล้ภูเขาใหญ่ ชัยภูมิไม่เหมาะสมจะเป็นราชธานีของพระมหากษัตริย์ เห็นควรอพยพครอบครัวไปสร้างพระนครใหม่ อยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ อันเป็นชัยภูมิอันสมบูรณ์ด้วยภักษาผลาหาร ใกล้กับฝั่งแม่น้ำยิ่งกว่ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อดำริต้องกันทั้งสามพระองค์แล้ว จึงได้สร้างเมืองเวียงจันทน์ขึ้นใหม่ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เองในเมืองเวียงจันทน์ และได้อาราธนาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานไว้ในปราสาท แต่นั้นต่อมาอีก ๒๑๔ ปี
ครั้นถึง พ.ศ.๒๓๒๑ พระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา ให้รวบรวมไพร่พลที่เหลือจากพม่าโจมตี ตั้งตัวเป็นมหากษัตริย์สืบวงศ์สยาม ตั้งกรุงธนบุรีหัวเมืองชายทะเลขึ้นเป็นพระมหานคร ได้ยกทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เพื่อประสงค์จะแผ่พระเกียรติยศให้ยิ่งใหญ่ไพศาล และขยายขอบเขตขันธเสมาอาณาจักรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต
เมื่อได้เมืองเวียงจันทน์แล้วได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต กับพระบาง ขึ้นคานหามมายับยั้งอยู่เมืองสระบุรี แล้วแจ้งข้อราชการมีชัยชนะศึก ตลอดจนได้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกตนั่ง และพระพุทธปฏิมากรยืนชื่อพระบางมาด้วย เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทราบ ทรงเลื่อมใสศรัทธาปสาทะ ให้ราชบุรุษอาราธนาพระสังฆราชและพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญทั้งปวง จัดกำลังเรือและฝีพายให้ขึ้นไปรับพระแก้วมรกตและพระบางมายังกรุงธนบุรี โดยให้เรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือพระรับพระแก้วมรกต และเรือที่นั่งกราบรับพระบาง พร้อมด้วยเรือชัยต่างๆ เรือตั้งกัน ๑๖ คู่ เรือรูปสัตว์ ๑๐ คู่ มีเรือเครื่องสูงเศวตฉัตรกลองชนะมโหระทึก ดนตรีประจำทุกลำ แห่ล่องมาเป็นขบวนพยุหยาตรานาวาจนถึงกรุงธนบุรี เชิญพระแก้วมรกตและพระบางประดิษฐานไว้ในโรงภายในพระราชวัง ซึ่งปลูกไว้ริมพระอุโบสถวัดแจ้ง ตั้งเครื่องสักการะ บูชา เป็นมโหฬารดิเรกด้วยเงิน ทอง แก้ว บูชาพระไตรยาธิคุณ และโปรดให้มีการถวายพระพุทธสมโภช มีมหกรรมมหรสพฉลอง เวลากลางคืนจุดดอกไม้เพลิงทุกคืนตลอด ๗ วัน ๗ คืน
ครั้นสิ้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ โปรดให้สร้างพระอารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
ครั้นพระอุโบสถสร้างเสร็จแล้วจึงให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗
ดร.พระสมุห์สุคำ ถิรจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดต้นรุง
ดร.พระสมุห์สุคำ ถิรจิตฺโต ปัจจุบันอายุ 36 ปี บวชมาแล้ว 13 พรรษา มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น ฐานานุกรมเจ้าคณะอำเภอฝาง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดต้นรุง และยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการ เจ้าคณะตำบล
ประวัติด้านการศึกษาของดร.พระสมุห์สุคำ ถิรจิตฺโต
ดร.พระสมุห์สุคำ ถิรจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดต้นรุง จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาเอก / ph.d. จากสถานบันการศึกษาmagath university indai เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2555
อดีตเจ้าอาวาสวัดต้นรุง
พระจองคำ | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2466 ถึงปี พ.ศ.2486 |
พระระแข่ง | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2488 ถึงปี พ.ศ.2489 |
พระอูปิ่งหย่า | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 ถึงปี พ.ศ.2510 |
พระครูสุเมธคุณาธาร (ชานอ่อง สุเมโธ) | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ถึงปี พ.ศ.2554 |
ดร.พระสมุห์สุคำ ถิรจิตฺโต | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ถึงปัจจุบัน |
การจัดการศึกษาภายในวัดต้นรุง
- ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
- ศูนย์อบรมประชาชนประจำตำบล
- สถานที่อบรมธรรม
- เจ้าอาวาสเป็นผู้สอนนักธรรม
- ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
- ศูนย์วัฒนธรรม
แผนที่ตำแหน่งที่ตั้งวัดต้นรุงอ้างอิงจาก Google Map