ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดสันติวนาราม
- ชื่อวัด: วัดสันติวนาราม
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: ธรรมยุต
- พระภิกษุ: 10 รูป
- ลูกศิษย์วัด: 10 คน
- ที่ตั้ง: เลขที่ 212 หมู่ 2 สันป่าก่อ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปษณีย์ 50110
- เนื้อที่: 47 ไร่ 3 งาน
- โทร: 0898504606
ประวัติความเป็นมา
วัดสันติวนาราม เดิมชื่อว่า วัดหนองผักหนาม เมื่อครั้งอดีตเป็นวัดร้างไม่มีถาวรวัตถุใด ๆ ปรากฏเป็นหลักฐานและไม่มีปรากฏปีที่สร้าง ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ พุทธศาสนิกชนบ้านสันป่าก่อ ( บ่อน้ำมันฝาง ) หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปรารถนาจะมีวัดไว้ประจำหมู่บ้าน เพื่อบำเพ็ญศาสนกุศล จึงได้กราบเรียนพระราชวินยาภรณ์ ( จันทร์ กุสโล )[1] ท่านได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดที่พักสงฆ์ กับคณะพระสังฆาธิการจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับการถวายที่ดินกับชาวบ้านสันป่าก่อ โดยที่พระเดชพระคุณท่านได้มอบหมายให้ พระอาจารย์ศรีกุย นาถกโร เป็นประธานสงฆ์ และเรียกนามที่พักสงฆ์ขณะนั้นว่า ที่พักสงฆ์สันติวนาราม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๓
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ( วาสน์ วาสนมหาเถร ) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้เสด็จเยี่ยมที่พักสงฆ์แห่งนี้ พระองค์ได้ประทานนามที่พักสงฆ์แห่งนี้ว่า วัดสันติวนาราม
วัดสันติวนาราม ได้รับการถวายที่ดินจากชาวบ้านสันป่าก่อ ต่อมาได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมขยายออกไปอีก จึงมีที่ดินทั้งหมดจำนวน ๔๗ ไร่ โดยประมาณ ปัจจุบันที่ดินมีโฉนดแล้ว โดย พระครูสุเมธปัญญาคุณ ( สุเมธ สุเมโธ ) เจ้าคณะอำเภอฝาง – พร้าว – เชียงดาว ( ธรรมยุต )[2] ดำเนินการติดต่อประสานงานส่วนราชการ
สำนักสงฆ์สันติวนาราม ได้รับการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยมีชื่อตามวัดร้างเก่าว่า “ วัดหนองผักหนาม ” ต่อมาได้มีการขอเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ตามที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ( วาสน์ วาสนมหาเถร ) เพื่อให้ตรงตามชื่อที่ประทานให้และด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีมติที่ ๓๘๖/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยให้เปลี่ยนชื่อ “ วัดหนองผักหนาม ” เป็น “ วัดสันติวนาราม ”
ลำดับเจ้าอาวาสวัดสันติวนาราม มีดังนี้
๑. พระอาจารย์ศรีกุย นาถกโร พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๒๕
๒. พระอาจารย์ศักดิ์สิทธิ์ ธมฺมรกฺขิโต พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๓๐
๓. พระอาจารย์ทองคำ เตชปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๑
๔. พระอาจารย์นิพนธ์ ชิตํกโร พ.ศ. ๒๕๓๑ – ๒๕๓๕
๕. พระครูสุเมธปัญญาคุณ (สุเมธ สุเมโธ) พ.ศ. ๒๕๓๕ – ปัจจุบัน
ที่มา คัดจากหนังสือประวัติการสร้างพระพุทธรูป และ ล้านนา เวียงไชยปราการ ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา ตัดลูกนิมิต และสมโภชพระบรมธาตุสันติเจดีย์ วัดสันติวนาราม บันสันป่าก่อ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ หน้า ๓ – ๔
[1] ปัจจุบัน พระพุทธพจนนวราภรณ์ ( จันทร์ กุสโล)
[2]พระครูสุเมธปัญญาคุณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอฝาง – แม่อาย – ไชยปราการ (ข้อมูล ปี ๒๕๕๗)
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 24 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2530
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 17 เดือน มกราคม พ.ศ. 2541
สถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดวัดสันติวนาราม
พระบรมธาตุสันติเจดีย์เป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญเหมาะสำหรับการมาเที่ยวเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวและผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ความเป็นมาการสร้างอุโบสถ[1]
เนื่องจากวัดคณะสงฆ์ธรรมยุต อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับอนุญาตให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคมล่วงมาหลายปี จึงมีความคิดว่าน่าจะสร้างอุโบสถขึ้น เมื่อมีพิธีกรรม บรรพชา อุปสมบท ไม่ต้องไปไกลถึงจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ปรึกษาคณะสงฆ์และศรัทธาชาวบ้าน ต่างก็มีความเห็นเป้นอย่างเดียวกันว่าควรจะสร้างเพื่อมีไว้เป็นศาสนสถานอันมั่นคงของวัดสืบไป อุโบสถหลังนี้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓ การก่อสร้างก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งทางคณะสงฆ์และคณะศรัทธาโดยทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณการก่อสร้างได้รับการสนับสนุนด้วยดี ต่อมาจึงได้สร้างพระบรมธาตุสันติเจดีย์ขึ้นอีก ๑ องค์ ซึ่งเป็นแบบประเพณีโบราณทางล้านนา เมื่อสร้างวิหารหรืออุโบสถ จึงนิยมสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้ด้านหลังอุโบสถเสมอไป อุโบสถหลังนี้กว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๑ เมตร ทรงศิลปะแบบล้านนาไทย โดยมี นายช่างรุ่ง จันตาบุญ เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา ๔ ปี จึงสำเร็จ สิ้นเงินงบประมาณ ๖,๙๔๙,๙๐๐ บาท ( หกล้านเก้าแสนสี่หมื่นเก้าพันเก้าร้อยบาทถ้วน )
เมื่อแบบอย่างล้านนาเก่า ๆ นิยมสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้หลังวิหาร หรืออุโบสถ จึงมีความคิดน่าจะสร้างพระบรมธาตุสันติเจดีย์ เพื่อไว้กราบไหว้สักการะบูชา และเป็นศาสนสถานอันมั่นคงของวัด จึงได้สร้างพระบรมาตุสันติเจดีย์ที่ นายช่างรุ่ง จันตาบุญ ผู้ออกแบบ เป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสนผสมเชียงใหม่ ส่วนล่างไปถึงคอระฆังเป็นศิลปะเชียงใหม่ ถัดจากนั้นไปจนถึงที่สุดยอดเป็นศิลปะแบบเชียงแสน
พระบรมธาตุสันติเจดีย์ มีพระพุทธรูปประดิษฐาน อยู่ที่ซุ้มจรนำทั้ง ๔ องค์ แต่ละองค์จะมีพุทธลักษณะของปางที่แตกแต่งกัน ดังนี้
๑. ปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ( ยมกปาฏิหาริย์ )
๒. ปางพุทธลีลา ( เสด็จลงมาจากสวรรค์ )
๓. ปางประทานพร ( ประทานแก่นางวิสาขา )
๔. ปางห้ามพยาธิ ( ห้ามโรคาพยาธิ )
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระญาณสังวร ( เจริญ สุวฑฺฒโน ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุ ให้เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อบรรจุไว้ในพระบรมธาตุสันติเจดีย์ วัดสันติวนาราม ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และมีชื่อว่า “ พระบรมธาตุสันติเจดีย์ ” มีความกว้าง ๙ เมตร ทั้ง ๔ ด้าน ความสูง ๒๙ เมตร ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง ๔ ปี งบประมาณการก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น ๒,๔๙๙,๐๐๐ บาท ( สองล้านสี่แสนเก้าหมื่นเก้าพันบาทถ้วน )
ที่มา คัดจากหนังสือประวัติการสร้างพระพุทธรูป และ ล้านนา เวียงไชยปราการ ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา ตัดลูกนิมิต และสมโภชพระบรมธาตุสันติเจดีย์ วัดสันติวนาราม บันสันป่าก่อ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ หน้า ๑๒ – ๑๕
[1] มีพระพุทธสันติกาญจนา เป็นพระพุทธปฏิมากรประธาน ภายในอุโบสถ วัดสันติวนาราม สร้างเมื่อปี ๒๕๓๙
ความน่าสนใจภายในวัดสันติวนาราม
ปัจจุบัน มีพระครูสุเมธปัญญาคุณ ( สุเมธ สุเมโธ ) อายุ ๔๙ ปี พรรษา ๒๙ พรรษา[1] เจ้าคณะอำเภอฝาง – พร้าว – เชียงดาว ( ธรรมยุต ) เป็นเจ้าอาวาส โดยมีนายแหวน หน่อใจ เป็นไวยาวัจกร มีการจัดการบริหารวัดโดยจัดระบบงานไว้ ๔ ฝ่าย ดังนี้
๑. งานปกครอง
๑.๑ มีภิกษุจำพรรษา ๑๕ รูป สามเณร ๕ รูป ศิษย์วัด ๓ คน อารามิกชน ๑ คน
๑.๒ มีการทำวัตรสวดมนต์ เช้า – เย็น ตลอดทั้งปี
๑.๓ มีการทำอุโบสถกรรม ( สวดปาติโมกข์ ) ทุกกึ่งเดือน ตามปักข์
๑.๔ มีพระภิกษุสวดปาติโมกข์ได้ จำนวน ๒ รูป
๑.๕ มีระเบียบการปกครองวัด คือ กฎระเบียบว่าด้วยการบริหารวัด โดยมีเจ้าอาวาสเป็นประธาน มีกรรมการบริหารวัด และอนุกรรมการสงฆ์ของวัด มีกรรมการสามเณร กรรมการทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์
๑.๖ มีกติกาของวัด คือ กฎระเบียบว่าด้วยบทลงโทษการขาดทำวัตรเกินกำหนด ขาดโรงเรียน การลงทัณฑกรรมแก่พระภิกษุและสามเณรที่ทำผิดกติกาของวัด โดยมีเจ้าอาวาสพร้อมด้วยกรรมการสงฆ์พิจารณาลงโทษตามโทษานุโทษนั้น ๆ ใน
ระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีอธิกรณ์เกิดขึ้นในวัด
๒. งานการศึกษา
๒.๑ มีการเปิดทำการเรียนการสอนทั้ง ๒ แผนก คือ แผนกธรรม/ธรรมศึกษา และแผนกบาลี
๒.๒ การส่งเสริมการศึกษา อบรมให้ความรู้นักเรียนนักศึกษาตามสถาบันต่าง ๆ
๓. งานการเผยแผ่
๓.๑ มีวิทยากรคณะพระธรรมทูตสัญจรในนามของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่
๓.๒ มีการทำพิธีวันมาฆบูชา เป็นประจำทุก ๆ ปี มีผู้มาร่วมประชุมทำพิธีมีพระภิกษุสามเณรจำนวน ๑๘ รูป และประชาชนจำนวน ๑๐๐ คน ๓.๓ มีการทำพิธีวันวิสาขบูชา เป็นประจำทุก ๆ ปี มีผู้มาร่วมประชุมทำพิธีมีพระภิกษุสามเณรจำนวน ๒๐ รูป และประชาชนจำนวน ๕๐๐ คน ๓.๔ มีการทำพิธีวันอัฏฐมีบูชา เป็นประจำทุก ๆ ปี มีผู้มาร่วมประชุมทำพิธีมีพระภิกษุสามเณรจำนวน ๒๐ รูป และประชาชนจำนวน ๑๐๐ คน ๓.๕ มีการทำพิธีวันอาสาฬหบูชา เป็นประจำทุก ๆ ปี มีผู้มาร่วมประชุมทำพิธีมีพระภิกษุสามเณรจำนวน ๒๐ รูป และประชาชนจำนวน ๑๐๐ คน ๓.๖ มีการอบรมพระภิกษุสามเณร หลังเลิกทำวัตรเช้า – เย็น ทุกวัน
๓.๗ มีการอบรมศีลธรรม ทุกวันธรรมสวนะ และวันอาทิตย์ เป็นประจำ
๓.๘ มีผู้รักษาศีลฟังธรรมตลอดปี ทุกวันธรรมสวนะ จำนวน ๕๐ คน
๓.๙ มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแผ่ มีวิยาการพิเศษ ให้ข้อมูลแนะนำด้านโบราณวัตถุและโบราณสถานแก่นักเรียน – นักศึกษา และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย/ต่างประเทศ
๓.๑๐ มีความร่วมมือกับคณะสงฆ์ ร่วมประชุมกับคณะสงฆ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดทั้งส่วนราชการอื่น ๆ
๓.๑๑ มีผู้มาทำบุญที่วัดเป็นประจำ จำนวนประมาณ ๒๐ – ๕๐ คน
๔. งานการสาธารณูปการ
๔.๑ มีคณะกรรมการดำเนินการการก่อสร้างอุโบสถ กุฏิ ถนน ประตูวัด แท็งก์น้ำ และประปา
๔.๒ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ มอบอุปกรณ์เครื่องกันหนาวแก่ชาวเขา อุปกรณ์การศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่ยากจน มอบทุนการศึกษาเป็นประจำทุกปี
๔.๓ การพัฒนาวัด มีคณะกรรมการดำเนินงานการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะวัด
ที่มา คัดจากหนังสือประวัติการสร้างพระพุทธรูป และ ล้านนา เวียงไชยปราการ ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา ตัดลูกนิมิต และสมโภชพระบรมธาตุสันติเจดีย์ วัดสันติวนาราม บันสันป่าก่อ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ หน้า ๗ – ๑๒
[1] ปัจจุบันปี ๒๕๕๗ อายุ ๖๐ ปี พรรษา ๔๐ พรรษา
ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557
การจัดการศึกษาภายในวัดสันติวนาราม
การจัดการศึกษาภายในวัดสันติวนารามนั้น จะประกอบไปด้วย