วัดสันต้นดู่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 โดยเริ่มแรกทางวัดได้รับการบริจาคที่ดินจาก พ่อเฒ่าอ้วน คำภิรา , พ่อเฒ่าแก้ว โสภา, พ่อมัง , ครูประสิทธิ์ นันตา มีพื้นที่ ทั้งหมด 10 ไร่ 3 งาน 77 ตารางวา และภายหลังได้รับการบริจาคที่ดินจาก แม่แสงระวี มั่นนุช เพิ่มอีก 1 ไร่ และครอบครัวพ่อชาญ แม่ฟองคำ แก้วสำเภา อีก 9 ไร่ ปัจจุบันวัดต้นดู่ มีพื้นที่ธรณีสงฆ์เพิ่มอีก 10 ไร่
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2556
กิจกรรมตั้งธรรมหลวงฟังเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก
ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมาภูมิพลอดุลยเดช
วันที่ 6 ธันวาคม เป็นประจำทุกปี
ประเพณี ตั้งธัมม์หลวง หมายถึงการฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ เพราะธรรมหลวงที่ใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาประสูติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา มีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ คำว่า “ตั้ง” แปลว่าเริ่มต้น การตั้งธรรมหลวง ก็อาจแปลว่าการสดับพระธรรมเทศนาจากคัมภีร์ที่จารขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกด้วย ประเพณีนี้ตรงกับงานประเพณีฟังเทศน์มหาชาติของภาคกลาง การตั้งธรรมหลวงนี้ จะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนยี่ มีการเตรียมงานนับตั้งแต่การเตรียมสถานที่ในการเทศน์และการเตรียมตัวของผู้จะมาฟังเทศน์ ถือเป็นพิธีใหญ่คู่งานทานสลากภัตต์ ดังนั้น จึงมีคตินิยมว่า ในวัดหนึ่งนั้นปีใดที่จัดงานทานสลากภัตต์ก็จะไม่จัดงานตั้งธรรมหลวง และปีใดที่จัดงานตั้งธรรมหลวงก็จะไม่จัดงานทานสลากภัต เพราะสองงานนี้ต้องใช้ความเสียสละความร่วมมือจากศรัทธาชาวบ้านอย่างมาก (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๒๕๔; อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๒๓๔๐-๒๓๔๑)
“ตั้งธรรมหลวง” นอกจากเทศน์มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกแล้ว ธรรมหรือคัมภีร์ที่นำมาเทศน์ในงานตั้งธรรมหลวงนี้ อาจเป็นคัมภีร์ขนาดยาวเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ ซึ่งทางวัดและคณะศรัทธาจะช่วยกันพิจารณา โดยอาจเป็นเรื่องในหมวด ทศชาติชาดกปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาตเรื่องอื่น แต่ที่นิยมกันมากคือเรื่อง มหาชาติ หรือ เวสสันดรชาดก (เวสสันตระ)ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จะไปเกิดในแผ่นดินยุคพระศรีอาริยะเมตไตรยในอนาคต และได้พละนิสงส์ดังปรากฏในพระธรรมเทศนาอานิสงส์แห่งการสร้างหรือฟังมหาเวสสันดรชาดกไว้ว่า
สังคายนาจารย์เจ้าทั้งหลายกล่าวดั่งนี้แล้ว ก็กล่าวคาถามาว่า ปูชา ปาเก เตชยนติ ทุคคติ เตน ปุญญสส ปาเก ดังนี้ว่า อันว่าคนทั้งหลายฝูงใด ได้บูชามหาเวสสันดรชาตกะ ผู้นั้นก็จะได้เป็นเจ้าพระยาในเมืองคน ยศประวารบ่จนมีมาก ช้างม้าหากเนืองนันต์ มีกลองนันทเภรีเก้าพันลูก เปี๊ยะพิณผูกเก้าพันเสียง สัททะสำเนียงชมชื่น สนุกต้องตื่นทุกรวายตรีทิวา ทาสีทาสามีมาก พร้อมอยู่แวดล้อมเฝ้าปฏิบัติ ทิพพสัมปัตติล้ำเลิศ ก็กลับเกิดมีตาม เล้มเงินเล้มคำและเสื้อผ้า ทั้งช้างม้าและข้าวเปลือกเข้าสาร ก็จักมีตามปรารถนาทุกเมื่อ จำเริญเชื่อมงคล ยถา ในกาลเมื่อใดพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสประยาและปัญญา เป็นพระพายหน้าบุญแก่กล้าก็จักได้หันหน้าท่านบ่สงสัย เหตุได้เป็นปาเถยยะกับธัมม์เวสสันตระชาตกะ อันยกมาที่นี้แล้ว ก็จักเถิงเซิ้งเวียงแก้วยอดมหาเนรพาน บ่อย่าชะแล”
ในคัมภีร์มาลัยสูตร กล่าวเป็นใจความว่า เมื่อครั้งมหาเถรขึ้นไปนมัสการพระเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์นั้น ได้พบพระอริยเมตไตรยเทพบุตร ท่านก็ได้สั่งมหาเถรเจ้ามาว่า “ให้คนทั้งหลายฟังธรรมมหาชาติให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวคืนเดียว แล้วจะได้ร่วมกับศาสนาของเรา” ดังนี้ เมื่อพระมหาเถรเทพมาลัยกลับจากสวรรค์แล้ว ก็นำเรื่องนี้มาบอกกับชาวโลกคนทั้งหลายได้ฟังก็เลยพากันฟังเทศน์มหาชาติจนถือเป็นประเพณีสืบมา
หากเป็นธรรมที่มีใช่เรื่องมหาชาติแล้วก็มักจะฟังกันไม่เกิน ๓ วัน แต่หากเป็นเวสสันดรชาดกหรือมหาชาติแล้วอาจมีการฟังเทศน์ต่อเนื่องกันไปถึง ๗ วัน โดยแบ่งการเทศน์เป็นวันแรกเทศน์ธรรมวัตร วันที่สองเทศน์คาถาพัน ก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย ๆ พอถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ มาลัยต้น มาลัยปลาย และอานิสงส์มหาชาติ รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรเรื่อยไป จนครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งมักจะไปเสร็ฐเอาในเวลาทุ่มเศษ แล้วจะมีการเทศนธรรมพุทธาภิเษกปฐมสมโพธิ สวดมนต์เจ็ดตำนานย่อ ธัมมจักกัปปวัดตสูตร และสวดพุทธาภิเษก ปัจจุบันนิยมเทศน์จบภายในวันเดียว
เจ้าของกัณฑ์จะนิมนต์พระที่เทศน์เฉพาะกัณฑ์นั้นๆมาเทศน์ เรียกว่า เทศน์กินกัณฑ์ ทำนองที่ใช้เทศน์แบบพื้นเมืองเรียกตามแบบลานนาว่า ระบำ การเรียกชื่อกัณฑ์ ทางภาษาเหนือเรียกว่า ผูก ด้วยเหตุที่เทศน์มหาชาติเป็นที่นิยม จึงมีนักปราชญ์ฉบับล้านนาแต่งธรรมเป็นจำนวนถึงประมาณ ๑๕๐ ฉบับหรือสำนวน เช่นฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง วิงวอนดอนกลาง หิ่งแก้วมโนวอน ท่าแป้น ริมฅง สร้อยสังกร ล้านช้างเวียงจันทร์ พุกาม พระงาม แม่กุ เมืองหาง พระสิงห์ โคมคำ เชียงของ น้ำดั้นท่อ ไผ่แจ้เรียวแดง พล้าวไกวใบ พล้าวหนุ่ม ชราเหลา อินทร์ลงเหลา ป่าซางเหลา สะเพาน้อย ฯลฯ และที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันได้แก่ฉบับ สร้อยสังกรณ์ แต่งโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อัตฺตสิโว) ได้รวมเอากัณฑ์ที่เด่นๆของฉบับต่างๆมารวมกัน เป็นฉบับใหม่ เป็นต้น ส่วนฉบับที่เป็นภาษาบาลีล้วนเรียกว่า คาถาพัน และฉบับที่แปลคาถาพันเรียกว่า จริยา
กิจกรรม สวดมนต์ข้ามปี
คืนวันที่ 31 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา ๒๐.๐๐ น.เป็นต้นไป