ประวัติวัดป่าตาล
วัดป่าตาล ตั้งอยู่เลขที่ 49 บ้านป่าตาล หมู่ที่ 4 ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ สังกัดคณะ สงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 37 ตารางวา อาณาเขตมีที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ 84 ตารางวา วัดป่าตาลสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2487 มีคณะศรัทธา 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านป่าตาล บ้านต้นดู่และบ้านแม่แต รวม 300 หลังคาเรือน
วัดป่าตาลเริ่มสร้างขึ้นในคราวที่ชนพม่าไตยยองได้อพยพมาจากเมืองสิบสองปันนาในปี พ.ศ.2348 มาอยู่เมืองลำพูนและ บางส่วนได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายแดนเมืองเชียงใหม่ด้านทิศใต้ เช่นตำบลบวกค้างในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้เป็นป่าไม้ไผ่และหญ้าคา ขณะนั้นมีสองตายายมาอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของวัดและปลูกฝักทองขึ้นปกคลุมขึ้นที่เป็นกู่ (เจดีย์ร้าง) จึงมองเห็นบริเวณนี้เป็นกู่คงเป็นวัดร้างมาก่อน สมควรจะเป็นวัดสืบต่อไปจึงได้ชักชวนกันแผ้วถางก่อสร้างวัดขึ้นมา และบริเวณที่เป็นกู่คือตรงที่พระประธานในวิหารของวัดทรงประทับอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้
วัดป่าตาล(นางเหลียว) เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 200 ปี มีประวัติการสร้างมายาวนานอีกวัดหนึ่งของชุมชนชาวยองในตำบลบวกค้าง ซึ่งภายในวัดยังมีพระพุทธรูปสิงห์ ๑ เก่าแก่ศักดิ์สิทธิคู่วัดมาช้านานคือ “องค์หลวงพ่อเมตตา” และมีพระพุทธรูปองค์ประธานในพระวิหารปูนปั้นที่งดงามยิ่ง สำหรับประวัติวัดป่าตาลเริ่มสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๕ เดิมเป็นวัดร้างมาจนถึงสมัยรวบรวมไพร่พลผู้คนเชื้อสายยองที่มาจาก เมืองยอง(เขตจังหวัดเชียงตุงประเทศพม่าในปัจจุบัน) ถูกกวาดต้อนมาอยู่เมืองเชียงใหม่ได้ตั้งหลักปักฐานเป็นชุมชนในตำบลบวกค้างปัจจุบัน ดังจะเห็นรองรอยของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภาษาพูดของชาวบ้านป่าตาลที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ บริเวณวัดป่าตาลเมื่อในอดีตมีสภาพเป็นกู่หรือมีซากสิ่งก่อสร้างอย่างเช่น พระธาตุเจดีย์ เมื่อมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นชุมชนจึงได้รับการบูรณะและสร้างเป็นวัดขึ้นใหม่
ยุครุ่งเรืองของวัดป่าตาลเมื่อในอดีต สมัยเจ้าอธิการคำอ้าย ปุญญทินโน เป็นเจ้าอาวาสท่านครองวัดนี้นานกว่า 60 ปี (พ.ศ.2450–2513) ได้ทำการสร้างถาวรภายในวัดให้รุ่งเรืองมีพระภิกษุเข้ามาบวชอยู่จำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมากจนขนาดที่ว่าวัดใกล้เคียงที่ขาดพระอยู่จำพรรษาต้องมาขอเอาพระจากวัดป่าตาลไปอยู่ อย่างเช่นวัดพญาชมพู อำเภอสารภี เมื่อในอดีตว่าเว้นเจ้าอาวาสศรัทธาชาวบ้านได้มานิมนต์เอาพระอธิการดวงดี สุมโน จากวัดป่าตาลไปเป็นเจ้าอาวาส พระครูรัตนถิราจาร(ครูบาอิ่นแก้ว กาวิโร) วัดศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก็บวชที่วัดป่าตาลแล้วได้ย้ายไปอยู่ที่เชียงแสนและเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดศรีดอนมูล ดังนั้นพอที่จะแสดงให้เห็นว่าวัดป่าตาลในสมัยก่อนมีความรุ่งเรืองมาตามลำดับ โดยมีเจ้าอาวาสครองวัดและมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาอยู่มิได้ขาดจนถึงปัจจุบัน
การเดินทางมา เมื่อท่านเดินทางมาจากตัวจังหวัด บนถนนสายเชียงใหม่-อำเภอแม่ออน สายตัดใหม่ (ถนนเส้นซุปเปอร์ดอนจั่น) ถึงบริเวณสี่แยกบ้านต้นดู่ ให้เลี้ยวขวา ก็จะเป็นหมู่บ้านต้นดู่และติดๆกันนั้นก็จะเป็นหมู่บ้านป่าตาล และวัดป่าตาล ภายในวัดก็จะมีถาวรวัตถุประกอบด้วยพระวิหาร มีพระประธานซึ่งก่อด้วยอิฐถือปูนที่มีพุทธลักษณะอันอ่อนช้อยงดงาม หมู่กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาบาตร ซุ้มประตูและกำแพง ปัจจุบันทางวัดได้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุเจ้าจอมยอง และวิหารเพื่อไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่คู่วัดขึ้น นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่จัดแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวยองเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับชุมชนและผู้ที่สนใจทั่วไปได้เยี่ยมชม
ปัจจุบันวัดป่าตาลมีพระอาจารย์สมุห์มงคล ฐิตมฺงคโล เป็นเจ้าอาวาส และเป็นผู้ที่ริเริ่มในการอนุรักษ์และเก็บร่วมรวมข้าวของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของคนยองมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้น ร่วมถึงเป็นผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมวัฒนธรรมและให้ลูกหลานชาวยองให้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวยองตลอดจนการพูดภาษายอง
ลำดับเจ้าอาวาสวัดป่าตาล
- 1. ครูบาคำ (มาจากเมืองแพร่ )
- 2. ครูบาจ๋อม
- 3. ครูบาปัน
- 4. เจ้าอธิการคำอ้าย ปุญญทินโน พ.ศ. 2450 -2513
- 5. พระอธิการบุญทา อินทเนตโต พ.ศ.2513 - 2515
- 6. พระอธิการจันตา อินทเนตโต พ.ศ.2515 - 2536
- 7. พระอธิการประเสริฐ ทพพชาติโก พ.ศ. 2536 – 2539
- 8. พระอธิการไพศาล พิมพสิริวณโณ พ.ศ.2539-2547
- 9. พระอธิการมงคล ฐิตมงฺคโล พ.ศ. 2547 - ถึงปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2325
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2487
• วัดพัฒนาตัวอย่าง ไม่ทราบวันเวลา
• วัดพัฒนาดีเด่น ไม่ทราบวันเวลา
พิพิธภัณฑ์จาวยองจัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี และเพื่อจัดแสดงเก็บรักษาศิลปวัตถุโบราณของจาวยอง ให้คงอยู่และให้เกิดความสามัคคี ความหวงแหนในบรรพชนวิถีชีวิตคนยอง ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิถีชีวิตและเอกลักษณ์เฉพาะของจาวยองในอดีต ซึ่งในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ และเครื่องมือทำมาหากินของคนยองในอดีตซึ่งชาวบ้านนำมาบริจาคและยังเป็นแหล่งการศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจาวยองในอดีต
พิพิธภัณฑ์ปั๊บสา – ใบลาน เป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมธรรมคัมภีร์ใบลานและปั๊บสาของวัดป่าตาลที่กระจัดกระจาย ขาดการดูแลรักษา ถูกทำลายจากหนู ปลวกและชำรุดตามกาลเวลา ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันต้องการที่จะนำเสนอองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวยองซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในแถบตำบลบวกค้างเป็นส่วนใหญ่ จึงได้เก็บรวบรวมเป็นหมวดหมู่ จัดเก็บให้มีความปลอดภัยจากการถูกทำลายและได้นำมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ปั๊บสาใบลานขึ้น ซึ่งปั๊บสา-ใบลานที่มีอยู่ อายุไม่ต่ำกว่า 80 ปีขึ้นไปจนถึงร้อยกว่าปี ซึ่งในคัมภีร์ใบลานส่วนมากจะบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ตำนาน วรรณกรรม ชาดก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบทสวด คาถา ตำรายาสมุนไพร เป็นต้น นำมาจัดแสดงให้คนรุ่นรุ่นหลังที่มีความสนใจได้มาเที่ยวชม เรียนรู้และศึกษาเพื่อเป็นการสืบสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวยอง สามารถมาเที่ยวชมได้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. ทุกวัน
ชมรมสมุนไพรจาวยองวัดป่าตาล เป็นสถานที่ให้ความรู้และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน กว่า หลายร้อยชนิด เพื่อให้เด็ก เยาวชน นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจ ได้มาศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับสมุนไพร สามารถมาเที่ยวชมและชื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. ทุกวัน