ประวัติหมู่บ้าน และตำนานการสร้างพระธาตุ
บ้านสบแฝก ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
...จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยังไม่ปรากฎชัดเจนนักในเรื่องราวความเป็นมาของบ้านสบแฝก แต่หลักฐานจากคำบอกเล่าของคนในหมู่บ้าน ถึงเรื่องราวการตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษ ก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน เช่นนั้นก็ตามยังเป็นส่วนน้อยในการที่จะศึกษาประวัติความเป็นมาให้ชัดเจนมากขึ้น บ้านสบแฝก หมู่ที่ 2 ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือเพียง 30 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกริมฝั่งแม่น้ำปิง จัดเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ประชาชนตั้งบ้านเรือนด้านทิศตะวันออกริมฝั่งแม่น้ำ เป็นแนวยาวตามเขตพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมการเพาะปลูก พื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกเป็นทุ่งนากว้าง มีอาณาเขตพื้นที่กว่า 300 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของนายทุน ซึ่งได้รับเป็นมรดกที่ดินของบรรพบุรุษในตระกูลนิมมานเหมินทร์ ตระกูลคหบดีเชียงใหม่ ซึ่งให้ชาวบ้านเช่าเป็นรายปีเอาไว้ใช้ทำการเกษตรเพาะปลูก พืชผลทางการเกษตรที่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าว มันฝรั่ง ข้าวโพด บวบ พริก มะเขือยาว ฟักญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น ปัจจุบันชาวบ้านบางส่วนประกอบธุรกิจขุดทรายแม่น้ำขาย จัดเป็นธุรกิจภายในครอบครัว และชุมชน มีชาวไทใหญ่จำนวนมากที่อพยพมาอยู่ ในพื้นที่เพื่อรับจ้างขุดทรายในแม่น้ำปิงขาย ประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ จัดเป็นชนพื้นถิ่นร้อยละ 90 ชาวไทชาติพันธุ์ร้อยละ 10 ใช้ภาษาพื้นเมืองท้องถิ่นในการพูดสื่อสารระดับกลาง และมีวัฒนธรรมท้องถิ่นตามแบบชนพื้นเมืองชาวเชียงใหม่โดยทั่วไป
...ประวัติหมู่บ้านสบแฝกและพระธาตุเจดีย์วัดสบแฝก มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาอย่างช้านาน แต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ หรือทางโบราณคดี เกี่ยวกับความเป็นมา ที่แน่ชัด คงจะมีแค่คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุ และพระสงฆ์อาวุโสบางรูปในเขตพื้นที่เท่านั้น โดยเล่าสืบต่อไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้รับรู้ แต่ด้วยเหตุนี้ก็ตามก็ยังมีความบางตอนในคำกล่าวที่น่าเชื่อถือได้ ประกับกับหลักฐานชิ้นสำคัญคือ องค์พระธาตุเจดีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณวัดสบแฝกในปัจจุบันโดยมีข้อสัณนิษฐานว่า กษัตริย์เชื้อสายพม่าเป็นผู้สร้างพระธาตุเจดีย์องค์นี้ บริเวณจุดตัดลำน้ำ(ห้วย)แม่แฝกกับแม่น้ำปิง ซึ่งแต่เดิมในอดีตบริเวณนี้เป็นที่โล่งกว้าง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมให้ความร่มรื่น สลับกับป่าแฝกหรือหญ้าแฝก ที่ขึ้นปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง ปราชญ์ชาวบ้านและนักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นตั้งข้อสันนิษฐานว่า บริเวณพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านปัจจุบัน ในอดีตน่าจะเป็นบริเวณพื้นที่ในการตั้งค่ายและพักแรมของกองทัพพม่าในยุคสมัยที่มีการทำศึกสงครามตามหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ บริเวณวัดได้กล่าวว่า พระธาตุเจดีย์นี้สร้างโดย เจ้าน้อยแสนเมืองมา (พม่า) ครั้นเสด็จทางชลมารคตามลำแม่น้ำปิงมากระทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งจากสภาพขององค์พระธาตุในปัจจุบันมีสภาพที่ทรุดโทรมมาก อันเนื่องมาจาก ขาดการบูรณะซ่อมแซม พระธาตุเจดีย์ดังกล่าวเป็นสถาปัตยกรรมแบบพุกาม ศิลปะในการสร้างจะเป็นแบบพม่าแทบทั้งสิ้น สังเกตจากนรสิงห์ที่ประดับองค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเช่นเดียวกับ เจดีย์ในแถบพุกามประเทศ (พม่า) และมีการตั้งสมมติฐานอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงชีวิตอ้าว เสด็จมาเกณฑ์ไพร่พลในบริเวณดังกล่าว โดยเสด็จจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาตามลำแม่น้ำปิง และผ่านบริเวณดังกล่าวที่มีการสร้างพระธาตุไว้ ทรงเกิดศรัทธาเลื่อมใสจึงทรงรับส่งให้มีการบูรณะซ่อมแซม จากนั้นเสด็จขึ้นไปทางเหนือบริเวณบ้านต้นขาม ทรงมีรับสั่งเทียบเรือพระที่นั่งและเสด็จขึ้นประทับที่พลับพลาชั่วคราวริมฝั่งน้ำปิงด้านทิศตะวันตก และทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำปิงนั้น เป็นพระสถูปเจดีย์องค์เล็ก โดยหมายพระทัยว่าเมื่อสิ้นพระชนม์ มีพระประสงค์จะเอาพระอัฐิมาบรรจุไว้ ณ เจดีย์ดังกล่าว ปัจจุบันมีการขุดพบเจดีย์บรรจุอัฐิองค์นี้ที่วัดป่าแง(สุรินทร์ราฎษร์) ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
...จากการบอกเล่าของชาวบ้านในละแวกดังกล่าวได้เล่าว่า แต่เดิมขณะที่ยังเป็นเด็ก บริเวณหมู่บ้านสบแฝกนี้ ยังไม่แยกออกมาเป็นหมู่บ้าน แต่ก่อนนั้นรวมเป็นบ้านเดียวกับบ้าน แม่แฝกหลวง พอมีคนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้นภายหลังจึงแยกออกเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้าน ในอดีตรุ่นปู่รุ่นย่าเคยเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านในแถบตำบลแม่แฝกใหม่นี้ เรียกว่า บ้านยางเปียง ตามคำบอกเล่าได้กล่าวไว้ว่า ชาวบ้านที่อพยพมากับพระเจ้ากาวิละ สมัยที่มีการเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ได้ลงหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว มีต้นไม้ขึ้นเป็นป่ารกเพราะเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้างจากสงครามพม่า และอยู่ภายใต้การปกครองพม่ามาเป็นเวลากว่า 200 ปี จึงทำให้พื้นที่มีความรกร้างและขาดการพัฒนา ชาวบ้านที่อพยพมาและพร้อมใจกันตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดังกล่าวนี้ เข้าใจว่าเป็นชาวเงี้ยวหรือไทใหญ่ และไทเขิน เมื่อครั้งที่จะตั้งบ้านเรือน ชาวบ้านได้ตัดต้นไม้ซึ่งเป็นต้นตองตึง (ต้นพลวง) มาสร้างบ้านเรือน ต้นตองตึงจึงถูกตัดจนเรียบเตียนเกิดที่โล่งกว้าง ชาวบ้านจึงหยุดตัดไม้แล้วเรียกชื่อที่แห่งนั้นว่า “หยั้งเปียง” (หยั้งเปียง เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง หยุดให้เท่า ๆ กัน หยุดให้เพียงกัน หยั้ง = หยุด เปียง = เพียง ราบเรียบเสมอกัน) จึงได้ชื่อว่าบ้านหยั้งเปียง ต่อมาภายหลังเพี้ยนเป็น ยางเปียง เมื่อเวลาผ่านไปมีผู้คนอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น จึงมีการแบ่งหมู่บ้านแยกออกไปเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านเรียกหมู่บ้านที่แยกออกไปว่า บ้านตึงงาม เพราะมีต้นตึงขึ้นอยู่มากในบริเวณนั้น จนภายหลังมาแยกออกเป็นอีกหลายหมู่บ้าน ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงได้ชื่อว่าตำบลแม่แฝก และแยกออกไปเป็นอีกหนึ่งตำบลคือตำบลแม่แฝกใหม่ ซึ่งกินพื้นที่บ้านยางเปียง และบ้านตึงงามในอดีต ปัจจุบันประกอบด้วย 14 หมู่บ้าน
...พ่อหมื่น ทองนาค ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ชื่อบ้านสบแฝกนี้เป็นชื่อหมู่บ้านแต่ดั้งเดิม คือใช้เรียกบริเวณจุดตัดลำห้วยแม่แฝกกับแม่น้ำปิง บริเวณที่เจ้าน้อยแสนเมืองมา สร้างพระธาตุเจดีย์ไว้ คำว่าสบแฝกนั้น เรียกมาจากชื้อน้ำห้วย ที่ไหลมาบรรจบกับลำน้ำปิง ชาวท้องถิ่นเรียกลักษณะน้ำที่ไหลมาบรรจบเป็นภาษาถิ่นว่า “สบ” ส่วนคำว่า “แฝก” นั้น เรียกตามชื่อลำห้วย และซึ่งบริเวณลำห้วยเป็นบริเวณที่มีหญ้าแฝกขึ้นปกคลุม
...ท่านพระครูสุธรรมวรวิมล อดีตเจ้าอาวาสวัดสบแฝกให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า แต่เดิมวัดสบแฝกไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณปัจจุบัน เดิมนั้นตั้งอยู่กลางทุ่งนาห่างจากจุดที่ตั้งปัจจุบันออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 1 กิโลเมตร ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า กู่แดง ซึ่งหมายถึงบริเวณที่เคยเป็นวัดร้างและผุพังไปตามกาลเวลาจนเหลือแต่ ซากอิฐ ซากดินเผา ที่ผุจนเห็นเป็นเนื้อดินสีแดง แต่เดิมทีชาวบ้านก็ใช้วัดที่เป็นบริเวณกู่แดงในปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง ภายหลังเกิดปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมบ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันย้ายวัดมาสร้างศาสนวัตถุ ที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุเจดีย์ ใกล้กับจุดตัดลำห้วยแม่แฝกกับแม่น้ำปิงดังกล่าว มีหลักฐานระบุถึงปีที่สร้างวัดไว้ว่า สร้างเมื่อพุทธศักราช 2403 ประมาณ 152 ปีที่ผ่านมาน่าจะตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของสยาม เมื่อคราวที่ย้ายวัดมาสร้างแต่แรกเรียกว่าวัดบ้านปิง เพราะสร้างติดริมฝั่งแม่น้ำปิง ส่วนสบแฝกนั้นเป็นชื่อวัดที่ได้ตามหมู่บ้านเมื่อครั้งที่แบ่งการปกครองหมู่บ้านออกเป็นหมู่ และเขตการปกครองเมื่อเข้าร่วมเป็นประเทศสยามในอดีต
แต่จากคำกล่าวของพ่ออุ้ยส่าห์ ขยันยิ่ง เล่าให้ฟังกล่าวว่าบรรพบุรุษของพ่ออุ้ยส่าห์เป็นชาวพม่าชื่อ หม่องโหย่ว์ เป็นผู้สร้างพระธาตุ ร่วมกับชาวบ้านโดยนำช่างศิลป์จากพม่า มาเป็น สล่าในการสร้าง ในคราวที่ย้ายวัดมาเพื่อสร้างวัดใหม่ โดยครั้งนั้นชาวบ้านได้รวบรวมทุนทรัพย์ในการสร้างครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งเป็นของ หม่องโหย่ว์ ชาวพม่า ในการสร้างวัดและถาวรวัตถุในที่แห่งนั้นจากคำให้การทั้งหมดนักวิชาการท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ความเห็นที่ตรงกันว่า คำบอกเล่าทั้งหมดมีมูลเหตุความจริง เนื่องจากชาวบ้านซาง ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ให้การว่าบรรพบุรุษของตนเป็นชาวเงี้ยว (ชาวไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่ หรือเรียกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไต ที่พูดภาษาตระกูลไท) และการออกเสียงสำเนียงภาษาถิ่นของชาวบ้านซางในบางคำ มีคำที่คล้ายกับภาษาไทยใหญ่ เช่นคำว่า ไฟฟ้า เป็น ไพพ้า เดือน เป็น เหลิน ตัว เป็น โต สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวบ้านรายอื่นดังกล่าวมาในข้างต้น
...อย่างไรก็ตามนักวิชาการท้องถิ่นยังไม่สรุปประเด็นทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้ได้ชัดเจนยิ่งนัก ถึงการมีอยู่จริงของตำนานและคำบอกเล่าดังกล่าว แต่พอจะสรุปเป็นสมมติฐานตามคำบอกเล่าข้างต้นว่า ตำนานการสร้างพระธาตุและประวัติบ้านสบแฝกนั้น จากคำบอกเล่ามีมูลเหตุความจริงอยู่บ้าง แต่เดิมชุมชนในละแวกใกล้เคียงอาจจะรวมกันอยู่เป็นชุมชนใหญ่เพียงชุมชนเดียว แต่พอนานไปภายหลังอาจมีการเพิ่มขึ้นของประชากรการปกครองจึงเป็นไปลำบากจึงแยกออกเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ส่วนตำนานการสร้างพระธาตุสันนิษฐานสรุปว่าน่าจะสร้างด้วยศิลปะพม่า โดยมีชาวพม่าเป็นผู้สร้าง แต่เดิมองค์พระธาตุอาจจะมีมาอยู่ก่อน แต่อาจจะผุพังไปตามการเวลา เมื่อชาวเงี้ยวอพยพเข้ามาอยู่ก็มาช่วยกันบูรณะซ่อมแซมในภายหลัง และทำการบูรณะครั้งใหญ่ หรือเรียกได้ว่าสร้างใหม่เมื่อครั้งที่มีการย้ายวัด ชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำต่างก็มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมกันจนเกิดการกลายเชื้อชาติ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หน้าจารึกประวัติศาสตร์บางสวนลบเลือนหายไป คงเหลือเพียงแต่การยืนยันจากคำบอกเล่าที่ยากจะหาผู้รู้จริงได้ในปัจจุบัน ประวัติหมู่บ้านและตำนานการสร้างพระธาตุ บ้านสบแฝก ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จึงถูกตราไว้เป็นเพียงตำนานที่บอกเล่าสืบต่อกันมา ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักและรู้จักที่จะศึกษาความจริงทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่านี้สืบไป...
เรียบเรียงโดย... หงสา สกุณชาติ
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 1 เดือน มกราคม พ.ศ. 2403
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 1 เดือน มกราคม พ.ศ. 2403
กิจกรรม สรงน้ำพระเจดีย์ ประจำปี วันที่เริ่ม ช่วงเดือนมิถุนายน แรม 15 ค่ำ เดือน 9
- มีการไหว้พระรับศีล เจริญพระพุทธมนต์ สรงน้ำพระเจดีย์ และมีงานมหรสพ
มีพระเจดีย์เก่าแก่อายุร้อยกว่าปี และพระพุทธรูปโบราณ ศิลปะพม่าที่สวยงาม และมีจุดชมวิวติดแม่น้ำปิง