ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดทุ่งอ้อ
- ชื่อวัด: วัดทุ่งอ้อ
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 1 รูป
- สามเณร: 3 รูป
- ที่ตั้ง: เลขที่ 30 หมู่ 3 บ้านทุ่งอ้อหลวง ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปษณีย์ 50230
- เนื้อที่: 1 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา
- โทร: 089-9555870
ประวัติความเป็นมา
วัดทุ่งอ้อ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดทุ่งอ้อหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 30 บ้านทุ่งอ้อหลวง หมู่ที่ 3ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา วัดนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 60 หลังคาเรือน นับถือศาสนาคริสต์ส่วนหนึ่ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีเจ้าอาวาสรวม 13 รูป วัดทุ่งอ้อเป็นวัดเล็กๆ และเป็นวัดโบราณที่มีอายุเก่าแก่ และยังไม่ทราบการสร้างที่แน่นอน เท่าที่มีการบันทึกว่ามีคณะสงฆ์เข้ามาปกครองคือเมื่อปี พ.ศ. 2350 แต่สันนิษฐานจากรูปแบบโครงสร้างของวิหาร วัดนี้น่าจะมีอายุประมาณ 600-700 ปี สิ่งที่ปรากฏชัดคือ หน้าวิหารจะมี หางวรรณ (หรือเรียกกันอีกอย่างว่าตัวเหงา) ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะโบราณยุคเดียวกับเมืองเชียงใหม่ พบได้ในสมัยเวียงกุมกาม เวียงท่ากาน เวียงมโน วัดทุ่งอ้อ เป็นศูนย์กลางร่วมสมัยในยุคของเวียงมโน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่กว่า 13 ปี วิหารของวัดทุ่งอ้อเป็นรูปแบบของศิลปะที่สืบทอดต่อจากเวียงกุมกาม ความโดดเนและความสวยงามของวิหารอยู่ที่การประกอบไม้สักโดยไม่ใช้ตะปู ก่ออิฐถือปูน และใช้ไม้สสักเกือบทั้งหลังสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งหาดูได้ยากตามวัดทั่วไป ดังนั้นตัววิหารของวัดทุ่งอ้อจึงมีขนาดเล็กกว่าวิหารทั่วไป คือ จุคนได้ประมาณ 50-60 คน ส่วนองค์พระประธานของวิหารนั้น เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างพม่าและล้านนา สันนิษฐานว่าในสมัยโบราณบริเวณแถบนี้ ได้มีการสู้รบกันระหว่างล้านนากับพม่า จึงทำให้บริเวณนี้ถูกพม่ายึดเอาอาณาเขตบริเวณพื้นที่โดยรวม พร้อมกับการสร้างวัดนี้ขึ้นมา จึงทำให้วัดนี้มีศิลปะของพม่าผสมอยู่ จึงพอสรุปได้ว่า รูปแบบของศิลปะต่างๆ นั้นสืบทอดมาจากเวียงกุมกาม ทำให้แน่ใจได้ว่าวัดแห่งนี้มีอายุไล่เลี่ยกับเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะวิหารของวัดทุ่งอ้อเพราะวิหารนั้นได้คงคู่กับกาลเวลามายาวนานหลายร้อยปี เก่าแก่และทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ดังนั้นอดีตท่านเจ้าอาวาส คือหลวงพ่อพระอธิการทองสุข สุทสฺสโน ท่านพระครูบาหล้า จึงได้ทำเรื่องถึงกรมศิลปากร ให้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์วิหารในปีพ.ศ. 2539 โดยกรมศิลปากรที่ 4 ได้อนุมัติเงินจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนบาท ในการบูรณะพระวิหาร เพื่อให้คงคู่อยู่กับวัฒนธรรมของเชียงใหม่ และเป็นตัวอย่างให้กับวัดอีกหลายแห่งที่ทำการบูรณะซ่อมแซมรื้อถอนวิหารออกไปทั้งหลัง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ศิลปะโบราณสูญหาย ในสมัยก่อนที่จะมีการบูรณะซ่อมแซมวิหารวัดทุ่งอ้อนั้น ชาวบ้านโดยทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อความเก่าแก่ และทรงคุณค่าของวิหารเท่าใดนัก แต่หลังจากที่กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมวิหารแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ตื่นตัวต่อการอนุรักษ์มากขึ้น ส่วนหนึ่งรู้สึกพอใจ แต่อีกส่วนหนึ่งไม่พอใจที่กรมศิลปากรซ่อมแซม โดยการนำศิลปะแบบใหม่เข้ามาเสริมแทน เช่น อิฐบริเวณด้านข้างพระวิหาร ได้ทุบอันเก่าออกไปและใช้อิฐแบบใหม่เข้ามาแทน รวมถึงการใช้สีแดงทาทั่วพระวิหาร ซึ่งดูแล้วเหมือนของใหม่ ทำให้หมดความขลัง แม้โครงสร้างเดิมทั้งหมดยังคงอยู่ แต่บางส่วนของวิหารได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นของใหม่ โดยเฉพาะช่อฟ้าและปั้นลม เนื่องจากของเก่าหักลงเหลือครึ่งเดียว แต่ก็ยังเป็นสมบัติที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้ทางเจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์ธนธรณ์ กนฺตวีโร ได้เล็งเห็นความสำคัญของวิหาร โดยเฉพาะอนุรักษ์และรักษาโบราณสถานนี้ ให้คงอยู่คู่กับวัฒนธรรมเชียงใหม่ไปตราบนานเท่านาน หรือนานยิ่งกว่านั้น เพื่อให้ลูกหลานชนรุ่นหลังได้กราบไหว้สักการบูชา พร้อมกับได้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าในด้านโบราณวัตถุ โบราณสถาน ด้านจิตใจ และหลักคำสอนหลักธรรมต่างๆ จะได้มีจิตใต้สำนึก ช่วยกันอนุรักษ์หวงแหน ปกป้องรักษาให้คงอยู่สืบไป และวัดทุ่งอ้อแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นสถานที่ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยโย นักบุญแห่งล้านนาไทย เคยเดินทางมาจาริกแสวงบุญประกาศพระพุทธศาสนา ณ วัดนี้ แล้วแวะพักดื่มน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้าวัดซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่ ข้อมูลนี้ได้มาจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ คนดั้งเดิมของทางวัด และปัจจุบันนี้ได้สร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้เคียงคู่วิหารโบราณ 700 ปี ของวัดทุ่งอ้อ ดังนั้น วิหารกับวัด วัดกับศรัทธา และพุทธบริษัททั้งสี่ จึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาแต่ครั้งโบราณ เนื่องจากวิหารเป็นสถานที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ของทั้งพระสงฆ์และฆราวาส นอกจากนั้นตามหมู่บ้านต่าง ๆ จะนิยมใช้วิหารของวัดเป็นสถานที่ประชุมและจัดกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านด้วยเช่นกัน วิหารของวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีความกว้างขวางใหญ่โต เพื่อสามารถรองรับผู้คนที่มาทำบุญได้จำนวนมาก แต่ยังมีวิหารอีกแห่งหนึ่งที่มีขนาดเล็กแต่ทรงคุณค่าด้านศิลปะและมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี นั่นคือ พระวิหารวัดทุ่งอ้อ
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตให้สร้าง พ.ศ. 2350
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2350
สถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดวัดทุ่งอ้อ
เป็นวัดเก่าแก่ที่เก็บรวบรวมโบราณสถาน โบราณวัตถุมากมาย ที่ได้สะท้อนถึงศิลปะวัฒนธรรมอันผสมผสานระหว่างศิลปะแบบพม่าร่วมกันกับศิลปะล้านนาไทยซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน
ความน่าสนใจภายในวัดทุ่งอ้อ
ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552
พระธนธรณ์ กนฺตวีโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งอ้อ
พระธนธรณ์ กนฺตวีโร
ปัจจุบันอายุ 29 ปี
บวชมาแล้ว 9 พรรษา
มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น นักธรรมเอก
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดทุ่งอ้อ
ประวัติด้านการศึกษาของพระธนธรณ์ กนฺตวีโร
พระธนธรณ์ กนฺตวีโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งอ้อ
จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถานบันการศึกษามหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา(มมล.) เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2550
อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งอ้อ
พระครูบาอินใจ |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2350 ถึงปี พ.ศ.2370 |
พระครูบาพรหม |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2370 ถึงปี พ.ศ.2392 |
พระครูบาจุมปู |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2392 ถึงปี พ.ศ.2412 |
พระครูบาเต๋จา |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2412 ถึงปี พ.ศ.2442 |
พระครูบาคำตั๋น |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 ถึงปี พ.ศ.2460 |
พระอธิการสม |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 ถึงปี พ.ศ.2480 |
พระอธิการเสาร์ |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 ถึงปี พ.ศ.2495 |
พระอธิการคำแสน |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 ถึงปี พ.ศ.2498 |
พระอธิการดวงแก้ว |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ถึงปี พ.ศ.2507 |
พระอธิการบุญชื่น |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 ถึงปี พ.ศ.2512 |
พระอธิการสุรพล |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ถึงปี พ.ศ.2528 |
พระอธิการทองสุข |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ถึงปี พ.ศ.2550 |
พระธนธรณ์ กนฺตวีโร |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ถึงปัจจุบัน |