ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดป่าไม้แดง
- ชื่อวัด: วัดป่าไม้แดง
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 5 รูป
- สามเณร: 9 รูป
- ที่ตั้ง: เลขที่ 119 หมู่ 9 บ้านป่าไม้แดง โชตนา ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปษณีย์ 50320
- เนื้อที่: 49 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา
- โทร: 053870735
- แฟกซ์: 053870735
- เว็บไซต์: www.watpamaidang.com
ประวัติความเป็นมา
วัดป่าไม้แดง (พระเจ้าพรหมมหาราช) ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๙ หมู่ ๙ บ้านป่าไม้แดง ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งบริเวณวัดมีเนื้อที่ ๔๙ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา มีอาณาเขตทิศเหนือจดถนนสาธารณะ ทิศใต้จดลำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันออกจดลำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันตกจดถนนสาธารณะ ภายในบริเวณวัดมีอาคารเสนาสนะประกอบด้วย วิหาร จตุรมุข, วิหารธรรมานุสติ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังประเพณีล้านนา ๑๒ เดือน, เจดีย์นวโลกุตตรสถิตศรีไชยปราการ, มีอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาสร้างเวียงไชยปราการ (เมืองไชยปราการ), มีอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาสร้างเมืองเชียงใหม่, มีวิหารพระคุ้มเสาหลักเมืองไชยปราการ, ศาลาบำเพ็ญบุญ, ศาลาราย, ศาลาอเนกประสงค์, กุฎิสงฆ์,อาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี และเผนกสามัญศึกษา, มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด, กุฎิพักรับรองสำหรับอาคันตุกะ,วัดป่าไม้แดง (พระเจ้าพรหมมหาราช) เดิมเป็นวัดร้าง ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๕๙๙ ในสมัยพระเจ้าพรหมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาสร้างเมืองไชยปราการ ซึ่งได้รกร้าง มีป่าไม้แดงขึ้นปกคลุมอยู่ แต่มีสภาพซากวัดเก่าปรักหักพัง คงเหลือแต่หลักฐานบางอย่างปรากฎอยู่ เช่นซากฐานก้อนอิฐที่จมอยู่ใต้พื้นดินต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระครูประดิษฐ์พรหมคุณ (หลวงพ่อบุญเย็น ฐานธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสุปัฎนาราม เจ้าคณะตำบลปงตำในขณะนั้น ไดันำคณะศรัทธาสาธุชนภายในหมู่บ้านป่าไม้แดง และหมู่บ้านใกล้เคียง เข้าพัฒนาสถานที่วัดร้างที่ปกคลุมด้วยป่าไม้แดง ได้สร้างราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราชขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่พระเจ้าพรหมมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาสร้างเมืองไชยปราการ และได้จัดตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์โดยใช้ชื่อว่า” สำนักสงฆ์พระเจ้าพรหมมหาราช” โดยมีท่านพระครูประดิษฐ์พรหมคุณ เป็นเจ้าสำนักสงฆ์รูปแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๓๔จนกระทั้งปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งระเรียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๑๔ ได้ประกาศให้เป็นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยให้ชื่อว่า “ วัดป่าไม้แดง” โดยมีท่านพระครูดวงคำ ฐานนิสฺสโร ในขณะนั้น หรือท่านพระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ องค์ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดงรูปแรก, และได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสมาตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 24 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2533
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
สถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดวัดป่าไม้แดง
พระราชาอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช
พระเจ้าพรหมมหาราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองไชยปราการหลังจากท่านได้กอบกู้เอกราชจากขอมแล้ว ท่านได้สร้างเมืองไชยปราการเป็นการเฉลิมฉลอง ตามตำนานกล่าวว่าท่านสวรรคต ณ ที่เมืองไชยปราการแห่งนี้ จากคำบอกกล่าวของหลวงพ่อบุญเย็นว่า ท่านได้สร้างวัดประจำพระองค์ ณ ที่บริเวณนี้ และพระศพก็ฝัง ณ ที่แห่งนี้อีกด้วย โดยฝังอยู่ที่บริเวณใกล้เสาหลักเมือง ดังนั้นท่านจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมของพระองค์ที่ได้สถาปนาบ้านเมืองยุคต้นของประเทศ
พระเจดีย์นวโลกุตตรสถิตศรีไชยปราการ ( พระธาตุจอมพรหม)
เป็นพระเจดีย์ทรงล้านนา ๙ ยอด หุ้มทองคำจังโก บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่หลวงพ่อพระครูประดิษฐพรหมคุณได้รับจากพระสังฆราชประเทศศรีลังกา ขณะที่ท่านได้รับเกียรติจากรัฐบาลและพระสงฆ์สยามนิกาย ประเทศศรีลังกา แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากวัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา บรรจุไว้ส่วนยอดขององค์พระเจดีย์และได้รับมอบจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกอีก ๙ องค์ได้มาบรรจุส่วนกลางขององค์พระเจดีย์ โดยพระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ ประธานพร้อมด้วย คุณวรวิทย์ คุณพัชรา วีรบวรพงศ์ และ ศรัทธาสาธุชนพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันสร้าง เสร็จเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๙ และได้ตั้งชื่อพระเจดีย์ว่า “ พระเจดีย์นวโลกุตตรสถิตศรีไชยปราการ ”
วิหารธรรมานุสสติปราสาทหอเย็น
เป็นสถานที่เก็บสลีระสังขารของพระครูประดิษฐพรหมคุณ(หลวงพ่อบุญเย็น ฐานธมฺโม)อดีตเจ้าอาวาส เพื่อเป็นสถานที่ระลึกถึงคุณความดีของท่าน และมรณะสถิตที่เป็นธรรมชาติ ของสภาพสิ่งที่ เกิดและดับไป ส่วนมากแล้วทุกคนยังมาขอพรอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านเพื่อประสบความสำเร็จในธุรกิจการงานอย่างไม่ขาดสาย
พระคุ้มหลักเมืองไชยปราการ (เสาหลักเมือง) เดิมมีซากอิฐโบราณลักษณะสถูปเจดีมีช่องว่างตรงกลาง อยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ประมาณ 10เมตร เป็นสถานที่หลวงพ่อบุญเย็นท่านทำพิธีบอกกล่าวเทพยา เวลาที่ท่านจะทำพิธีสำคัญ หรือจะทำการก่อสร้าง ถาวรวัตถุในสำนักสงฆ์ ซึ่งท่านได้อธิบายถึงสถานที่แห่งนี้ว่า เดิมเป็นเสาหลักเมือง คนโบราณเขาสร้างเพื่อเป็นสถานที่เริ่มต้นแห่งการลงหลักปักฐาน และยังเป็นสถานที่บวงสรวงและบอกกล่าวเทพยาฟ้าดิน เวลาออกสู้รบข้าศึกอีกด้วย ปัจจุบันเป็นสถานที่ ผู้ที่มีความเชื่อถือมาอธิฐานขอให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าและมั่นคงเหมือนดั่งเสาหลักเมืองแห่งนี้ จะเห็นได้ว่ามีคนมาขอพรมาก เมื่อประสบความสำเร็จก็จะมาแก้บนถวายของเป็นประจำ
ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555
พระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ ฐานิสฺสโร เจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดง
พระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ ฐานิสฺสโร
ปัจจุบันอายุ 60 ปี
บวชมาแล้ว 39 พรรษา
มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดง และยังดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอ
ประวัติด้านการศึกษาของพระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ ฐานิสฺสโร
พระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ ฐานิสฺสโร เจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดง
จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาโท จากสถานบันการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยเขตเชรยงใหม่ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2555
อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดง
พระครูประดิษฐพรหมคุณ |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ถึงปี พ.ศ.2533 |
พระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ถึงปัจจุบัน |
บรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติฯ (ประเพณี / พีธีกรรม) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดป่าไม้แดง
วันที่เริ่ม 7 เมษายน ของทุกปี เวลาเริ่ม 08.00 น.
วันที่สิ้นสุด 25 เมษายน ของทุกปี เวลาสิ้นสุด 15.00 น.
ทำบุญตานสลากภัตวัดป่าไม้แดง (ประเพณี / พีธีกรรม) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดป่าไม้แดง
วันที่เริ่ม กันยายน ของทุกปี เวลาเริ่ม 09.00 น. เวลาสิ้นสุด 15.00 น.
ประเพณีตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) (ประเพณี / พีธีกรรม) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดป่าไม้แดง
วันที่เริ่ม ธันวาคม ของทุกปี เวลาเริ่ม 08.00 น. เวลาสิ้นสุด 07.00 น.
นายขจรศักดิ์ วงศ์สุข (ศิลปิน) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดป่าไม้แดง
ที่อยู่: 279 ม.3 ต.หนองบัว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ 50320
ตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประเภทดนตรีพื้นเมือง ตำแหน่งอุปนายกสมาคมสืบสานตำนาน ปี ซอ จ.เชียงใหม่ ส่งเสริมเยาวชนให้ศึกษาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยอาศัยวัดเป็นศูนญ์กลางการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม
การฟ้อนเล็บ (ศิลปการแสดงและดนตรี) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดป่าไม้แดง
การทำเครื่องสืบชะตา (ภูมิปัญญาท้องถิ่น/ภูมิปัญญาชาวบ้าน) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดป่าไม้แดง
การจัดการศึกษาภายในวัดป่าไม้แดง
การจัดการศึกษาภายในวัดป่าไม้แดงนั้น จะประกอบไปด้วย
- จัดการศึกษาแผนกธรรม-บาลี
- ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
- ศูนย์อบรมประชาชนประจำตำบล
- โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา