ในตำนานจามเทวีฉบับแปลจากภาษาไทยยวน กล่าวว่า “พระยามหันตยศก็เลิกทราก ส่งสะการแม่แห่งตนเสียยังป่าไม้ยาง แล้วเอากระดูกช้อนแว่นหวีไปรวมกันก่อเป็นเจดีย์ไว้ชื่อว่า สุวรรณจังโกฏ หนใต้เวียงหริภุญชัยวันนั้นแล…” ส่วนในตำนานมูลศาสนากล่าวว่า ครั้นถวายพระเพลิงเสร็จก็แห่พระอัฐิเลียบมาหนวันออกเวียง แล้วก่อพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ของพระนางจามเทวีไว้รองรับพระอัฐิของพระนางจามเทวี ให้ชื่อว่า สุวรรณจังโกฏเจดีย์ นอกจากนั้น
ในตำนานจามเทวีหริภุญชัยเชียงใหม่ก็กล่าวพ้องต้องกันกับตำนานมูลศาสนา แต่บอกว่า สร้างเจดีย์ไว้หนใต้เวียงหริภุญชัย ภายหลังช้างพระที่นั่งล้มก็เอางาและกระดูกไปบรรจุไว้ใต้อัฐินั้น เจดีย์องค์นี้ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงเรียกว่า “เจดีย์จามเทวี” หรือ “เจดีย์กู่กุด”ต่อมาเจดีย์ได้ร้างไป จนกระทั่งปี พ.ศ.2469 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จประพาสภาคเหนือและทรงสำรวจโบราณสถานวัดกู่กุดแล้วทรงปรารภว่า พระนางจามเทวีทรงสร้างวัดนี้ขึ้นจึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดจามเทวี”
ในสมัยที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองลำพูน ได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จะเสด็จประพาสจังหวัดเชียงใหม่ทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสจังหวัดลำพูนเพื่อทอดพระเนตรโบราณสถานด้วย เจ้าจักรคำขจรศักดิ์จึงสั่งให้ช่วยกันแผ้วถางบริเวณวัดกู่กุดเป็นเวลาหลายวันจนโล่งเตียนมองเห็นซากโบราณสถานได้ชัดเจนขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จทอดพระเนตรแล้ววัดจามเทวีก็ยังเป็นวัดร้างอยู่ตามเดิม เพราะไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา จนกระทั่ง พ.ศ.2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์จึงได้อาราธนาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนามาช่วยก่อสร้างโบสถ์ วิหาร กุฏิ ตลอดจนบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานสำคัญ แล้วสถาปนาวัดจามเทวีขึ้นมาใหม่ มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา สำเร็จเรียบร้อยโดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2480 และประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2480 มีชื่อเรียกว่า “วัดจามเทวี” สืบมาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งที่มา https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/676132