ประวัติการสร้างวัด “เล่าขานประวัติวัดสวนดอก”
วัดสวนดอก ตั้งอยู่เลขที่ ๕๗ ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดมหานิกาย มีเนื้อที่ทั้งหมด ๒ ไร่ ๓๖ ๙/๑๐ ตารางวาและมีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง เนื้อที่ ๑๐๐ ตารางวา
ซึ่งประวัติแต่เดิมจากคำเล่าขานจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน และอ้างอิงในตำนานเมือง ได้กล่าวว่าแต่เดิมเป็นวัดอารามเก่าที่เป็นอารามร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ จึงไม่ได้รับการพัฒนาทำให้ทรุดโทรม ซึ่งศาสนสถานที่สำคัญแต่เดิมมีพระเจดีย์ซึ่งมีอายุนับพันปี ชำรุดมากมาย และภายในอารามประกอบด้วยสวนดอกไม้นานาพันธุ์ เป็นดอกไม้พื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๒ มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งไม่ปรากฏนามได้นำคณะศรัทธา ญาติโยม จากที่ต่าง ๆ มาทำการแผ้วถางปรับปรุงบริเวณวัดและทำการบูรณะ พระเจดีย์องค์นี้มีรูปทรงคล้ายเจดีย์ของล้านนาผสมพม่า โดยรักษารูปทรงแบบเดิมเอาไว้ทั้งหมด และได้ตั้งชื่อว่า “วัดบุปผาราม” ตามภาษาบาลีที่ใช้ในยุคนั้น โดยชาวบ้านมักจะเรียกว่า วัดสวนดอก ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสวนดอก” มากระทั่งจนปัจจุบัน
วัดสวนดอกเริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๒๘๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๘
โดยมีเสนาสนะประกอบไปโดย พระวิหาร ศาลาการเปรียญ หอพระไตรปิฎก กุฏิสงฆ์ ห้องน้ำ โรงฉัน ห้องครัว ห้องเก็บของ ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาปฏิบัตธรรม ศาลาบาตร
การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามมีดังนี้
รูปที่ ๑ ไม่ทราบนาม แต่เป็นพระสงฆ์ผู้เริ่มบูรณะวัด
รูปที่ ๒ ครูบาจากวัดศรีบุญเรือง ไม่ปรากฎชื่อ
รูปที่ ๓ ครูบาคำหมื่น
รูปที่ ๔ พระปลัดปัญญา
รูปที่ ๕ ครูบาสม อภิชโย
รูปที่ ๖ ครูบาศรีนวล สุกาโม
รูปปัจจุบัน พระครูโสภณจิตตาภิรักษ์( ท่านสมชาย สมจิตฺโต เข็มทอง )
ข้อสันนิษฐานถึงประวัติวัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม
๑. ระยะ การสร้างพระเจดีย์
ตามสภาพภูมิประเทศของหริภุญชัยซึ่งพระนางจามเทวีได้สร้างวัดวาอารามในเขตเมืองลำพูนไว้จำนวนมาก และวัดที่เป็นวัดประจำทิศ หรือที่เรียกว่า พระอารามประจำจตุรทิศ ไว้ ๔ พระอารามด้วยกันคือ
ประจำทิศตะวันออก ได้แก่ วัดอรัญญิกรัมนการาม หรือวัดดอนแก้ว
ประจำทิศตะวันใต้ ได้แก่ วัดมหาสัตตาราม หรือวัดประตูลี้
ประจำทิศตะวันตก ได้แก่ วัดมหาวนาราม หรือ วัดมหาวัน
ประจำทิศเหนือ ได้แก่ วัดอาพัทธาราม หรือวัดพระคงฤาษี
ซึ่งข้อสันนิษฐานการตั้งวัดสวนดอก ว่าทิศหนือจากวัดอาพัทธาราม หรือ วัดพระคงฤาษีนั้น ซึ่งห่างกันประมาณ ๒๐๐ เมตร อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นอุทยาน หรือสวนดอกไม้ ที่กษัตริย์ผู้ครองเมืองในยุคนั้น จะมาเก็บเพื่อไปบูชาพระพุทธรูป และพระฤาษี ที่ วัดอาพัทธาราม
และตามที่ปรากฏไว้ว่า พระเจดีย์อายุพันกว่าปีนั้น แต่เดิมบริเวณนี้ อาจเป็นอารามเดิม ที่ปรากฏแผนผังเมืองตามคณะกรรมการสืบค้นประวัติเมืองลำพูนว่า บริเวณในเขตเทศบาลในปัจจุบัน แต่เดิมในอดีตมีวัดวาอารามที่ยุคของพระนางจามเทวีและกษัตริย์ผู้ครองเมือง สร้างไว้ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าวัด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าวัดบุปผาราม หรือวัดสวนดอก อาจจะเป็นวัดหนึ่งก็เป็นไปได้
๒. ระยะการสร้างวัดสวนดอก ในพุทธศักราช ๒๒๘๒
ตามคำบออกเล่าของผู้สูงอายุของคนในชุมชน และประวัติที่ปรากฏในเล่าขานตำนานวัดสวนดอกนั้น หลังจากได้สร้างวัดในช่วงก่อตั้งเริ่มแรกแล้ว บริเวณวัดสวนดอกในปัจจุบันนั้นได้กลายเป็นวัดร้าง ไม่มีผู้สนใน ไม่มีใครดูแล แต่ยังคงเหลือเจดีย์ทั้งทรุดโทรม แทบจะพัง ผู้คนที่อยู่ในละแวกนั้นก็เอาเศษไม้ เศษขยะมาทิ้ง มาจนถึง พ.ศ. ๒๒๘๒ ได้มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งได้มาทำการบูรณะ และสร้างวัดขึ้นมาใหม่ โดยตั้งชื่อวัดว่าบุปผาราม แต่ชาวบ้านเรียกว่าวัดสวนดอก เพราะด้านหน้าพระเจดีย์จะเป็นสวนดอกไม้พื้นเมืองนานาพันธุ์ที่ชาวบ้านเก็บไปบูชาพระ แต่ด้านหลังจะเป็นพื้นที่รกร้างตามที่กล่าวไว้เบื้องต้น
การสันนิษฐานว่า ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๒๘๒ นั้นอยู่ระหว่างยุคสมัยที่พม่าได้ครองแผ่นดินล้านนาในช่วง พ.ศ. ๒๑๐๑ – ๒๓๑๗ พระพุทธศาสนาในล้านนาซึ่งมาศูนย์กลางอยู่นพบุรีศรีนครพิงค์ หรือเชียงใหม่ ได้เสื่อมโทรมพระสงฆ์ไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ครองเมืองซึ่งเป็นกษัตริย์ที่พม่าส่งมา จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระสงฆ์ที่มาจากพระสงฆ์นิกายวัดสวนดอก หรือนิกายลังกาวงศ์ ที่มีศูนย์กลางที่วัดบุปผาราม ที่นครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งหนีจากการกดขี่ข่มเหงของชาวพม่าได้หลบมาทางหริภุญชัย และมาบูรณะสร้างวัดสวนดอกที่หริภุญชัยนี้ขึ้นมา
และตามคำบอกเล่าของครูบาคำซาว อดีตเจ้าอาวาสวัดสันป่ายางหลวง ได้เล่าให้กับ ท่านพระครูปัญญาธรรมวัฒน์ (ครูบาอินทร) เจ้าอาวาสวัดสันป่ายางหลวงรูปปัจจุบัน และพระครูโสภณจิตตาภิรักษ์ (ท่านสมชาย) เจ้าอาวาสวัดสวนดอกรูปปัจจุบัน ในสมัยเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดสันป่ายางหลวง ซึ่งโรงเรียนตั้งอยู่ในวัดสันป่ายางหลวง ได้เล่าว่าบริเวณวัดสวนดอกในปัจจุบันแต่เดิมมีอาณาบริเวณวัดกว้างขวางมาก ภายในบริเวณวัดมีทั้งพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับจำนวนมาก
อย่างไรก็ข้อสันนิษฐานเป็นเพียงสิ่งที่โยงใยกับสภาพภูมิประเทศ และเหตุการณ์ในช่วงนั้นๆ ยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดแต่งอย่างใด อีกทั้งยังไม่มีการสืบค้นประวัติอย่างแท้จริงว่าวัดทั้งหมด ๒,๐๐๐ วัดมีจุดไหนบ้าง
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2528
• ได้รับอนุญาตให้สร้าง พ.ศ. 2282
๑. สืบสานภูมิปัญญาล้านนา
เริ่ม มีนาคม-เมษายน เวลาเริ่ม ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ น.
รายละเอียดกิจกรรม เป็นกิจกรรมสืบสานศิลปะต่างๆที่เป็นภูมิปัญญาล้านนา อาทิเช่น การตัดช่อตุง,การทำกรวยดอกไม้ ฯ,ฯ
๒.โครงการปฏิบัติธรรมข้ามปี
เริ่ม ๓๑ ธันวามคม เวลาเริ่ม ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไป
รายละเอียดกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าวัดในวันส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ทำบุญตักบาตรให้ตนเองในวันขึ้นปีใหม่ เพื่อสิ่งที่ดีในชีวิต
๓.โครงการสืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมือง
เริ่ม ๑๒ เมษายน
สิ้นสุุด ๑๗ เมษายน
รายละเอียดกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ทำเนื่องในวันสงกรานต์ โดยมีกิจกรรมย่อยคือ ขนทรายเข้าวัด ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัว ทำบุญทอดผ้าป่าความดี สืบชะตา สงเคราะห์ เป็นต้น
การเดินทาง
อยู่ห่างจากวัดพระธาตุหริภุญชัยมาทางทิศเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร มาตามถนนเชียงใหม่-ลำพูน (สายเก่า) ถ้ามาจากเชียงใหม่ผ่านหน้าโรงเรียนจักรคำคณาทรเข้าสู่เขตเมืองอยู่ทางขวามือ ประมาณ 1 กิโลเมตร