วัดศรีชุม เดิมชื่อ วัดผามวัว ตั้งอยู่เลขที่ ๙๖ บ้านผามวัว ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านศรีชุม หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๘๑ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือจดที่ดินเอกชน ทิศใต้จดที่ดินเอกชน ทิศตะวันออกจดที่ดินเอกชนและโรงเรียน ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน
วัดศรีชุม สร้างจากที่เดิมที่เป็นวัดร้าง และได้รับการยกขึ้นเป็นวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยในสมัยนั้นคณะศรัทธาวัดศรีชุม ได้ไปอาราธนาพระครูไชยาลังการ์ วัดเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งท่านได้ครองตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอแม่ทารูปแรกด้วย ท่านพระครูไชยลังการ์ท่านเป็นพระภิกษุที่มีชื่อเสียงในจังหวัดลำพูนขณะนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของวิปัสสนากรรมฐาน เนื่องจากท่านพระครูไชยลังการ์ท่านเป็นพระสายปฏิบัติที่มีความเคร่งครัด แม้แต่ครูบาสุรินทร์แห่งวัดศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง ที่ว่าโด่งดังยังต้องมาขอเรียนกรรมฐานกับท่าน การบริหารและการปกครองวัด มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ
รูปที่ ๑ พระครูไชยาลังการ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๒ – ๒๔๘๖ มรณภาพ
รูปที่ ๒ พระครูจิตรสารโสภิต ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๕๒๗ มรณภาพ
รูปที่ ๓ พระมหาสนิท ขนฺติธโร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ – ๒๕๓๖ ลาสิกขา
รูปที่ ๔ พระปลัดจารุตม์ อรุโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ ถึงปัจจุบัน
เสนาสนะที่เก่าแก่และสำคัญของวัด
๑. อุโบสถวัดศรีชุม
เป็นอุโบสถศิลปะล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ปีระกา โดยท่านพระครูไชยลังการ์ และได้รับการบูรณะครั้งแรกในสมัยท่านพระครูจิตสารโสภิตเป็นเจ้าอาวาส
๒. พระธาตุเจดีย์วัดศรีชุม
เป็นเจดีย์ศิลปะพม่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ปีจอ โดยท่านพระครูไชยลังการ์ ปัจจุบัน ณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ก็มีอายุได้ ๙๑ ปี ทางวัดจัดงานบุญประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์เป็นประจำ
ทุกปี ในวันพระ เดือน ๙ เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ
๓. กุฏิโบราณ
เป็นกุฏิศิลปะผสมผสานระหว่างล้านนากับยุโรป สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยท่านพระครูไชยลังการ์ ร่วมกับเจ้าตระกูลเจ้าลำพูนในขณะนั้น และได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ด้วยงบประมาณ ๒.๙๐ ล้านบาท
๔. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
หรือชาวบ้านเรียก “บ่อน้ำทิพย์” เป็นบ่อน้ำโบราณ ตั้งอยู่กลางวัด ไม่ปรากฏหลักฐานว่า
สร้างเมื่อไหร่ มีความเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำที่มีสายน้ำมาจากดอยขะม้อ(บ่อน้ำทิพย์) ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปภายในบริเวณบ่อน้ำ คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่าบ่อน้ำนี้มีปรากฏตั้งแต่
ยังเป็นวัดร้างก่อนที่ท่านพระครูไชยลังการ์จะมาสร้างวัดเสียอีก