ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดหนองเรือ
- ชื่อวัด: วัดหนองเรือ
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 1 รูป
- สามเณร: 5 รูป
- ที่ตั้ง: เลขที่ 1 หมู่ 7 บ้านหนองเรือ ตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน รหัสไปษณีย์ 51000
- เนื้อที่: 9 ไร่
ประวัติความเป็นมา
ประวัติวัดหนองเรือ
บ้านหนองเรือนี้แต่ก่อนเป็นไร่นาเดิม ที่มีบ้านอยู่สามหลังคาเรือนเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วล่วงเลยมาหนองเรือแห่งนี้มีตำนานเล่าว่าใต้แม่น้ำยังมีเรือนาวาลำใหญ่บรรทุกใส่เงินทองสมบัติมากมายเดิมอยู่ที่กลางหนองฝ่ายใต้ สมัยเมื่อม่านเงี้ยวมาเข่นฆ่าชาวล้านนาทำให้บ้านเมืองแตกแยก โกลาหน สมบัติต่าง ๆของชาวล้านนาก็ไม่สามารถเก็บไปด้วยได้ก็ต้องเก็บซ้อนไว้บ้างก็เอาฝากไว้ใต้พื้นปฐพี บอกกล่าวกับแม่ธรณีให้รักษาไว้ให้บ้างก็ฝากไว้ในใต้ฐานเจดีย์เก่า และที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ระหว่างทางหนีก็จะทำเครื่องหมายเอาไว้เมื่อรอดตายจากม่านเงี้ยวก็จะกลับมาเอาสมบัติไปใช้ต่อสมัยเมื่อม่านเงี้ยวมาตีนครเชียงใหม่ ในปีพุทธศักราช ๒๑๔๖ล้านนาไทยก็ตกเป็นข้าทาสร่วมสองร้อยกว่าคน นครลำพูนก็ต้องแตกวินาศผ่ายไปเงินทองและสมบัติต่าง ๆ เอาไปก็ไม่ได้ก็ต้องเอาเก็บซ่อนฝากฝังไว้ในที่ ๆ ปลอดภัย และก็จะเขียนเป็นปริศนาไว้เพื่อให้คนในรุ่นหลังได้มาอ่านและมาแปลปริศนานั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสมบัติหนองเรือก็เป็นเช่นเดียวกันนี้ สมัยก่อนมีพ่อค้าม่านเงี้ยวบรรทุกเงินทองสมบัติต่าง ๆ มากมายใส่เรือสำเภา มาขาย พอมาถึงที่น้ำวนซึ่งมีน้ำห้วยกอกอกและห้วยน้ำริน มาบรรจบกันเกิดเป็นน้ำวนเรือสำเภาของพ่อค้าม่านเงี้ยวก็มาล่มจมลง ณ ที่แห่งนี้ และในสมัยก่อนในเดือนดับเดือนเพ็ญ จะมีทองคำโผล่ขึ้นจากกลางน้ำพุ่งขึ้นสู่บนท้องฟ้าสูงประมาณต้นตาลแสงจะสว่างไสวไปทั่วหมู่บ้าน และเมื่อเรือสำเภาจม ก็มีปริศนาบอกไว้ว่าศาลาบนบกถ้าแก้ไม่ตกเอาที่สาวน้อย ท่อหูบถ้าแก้ไม่ถูกเอาที่น้ำลาดทรายมูล บัดนี้ศาลาก็สูญหายไป สาวน้อยก็คงไม่มีเหลือแล้ว เหลือหนองเรือคำแต่ชื่อ พอถึงประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๐๐ กว่า หมู่ก๋าวีละ ร่วมกับอยุธยา พระเจ้าตาก ไปรุกรานหมู่ม่านเงี้ยว จนชนะหมู่ม่านเงี้ยวทำให้หมู่ม่านเงี้ยวยอมแพ้และกลับคืนสู่หงส์ษา เมื่อถึงสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๔๕ นครเชียงใหม่และเมืองลำพูนยังไม่ค่อยเจริญรุ่งเรืองพอถึงปีพุทธศักราช ๒๓๕๗ เจ้าหลวงปัน เสด็จขึ้นครองนครลำพูน ประชาชนที่หนีจากภัยสงครามก็กลับคืนมาสู่เคหาบ้านเรือนของตนมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน และช่วยพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญรุ่งเรือง หนองเรือนั่นแต่เดิมมีบ้านอยู่สามหลังคาและต่อจากนั้นมาก็แผ่ขยายออกระหว่างบ้านห้วยกอกอกกับห้วยกอน้ำริน เพิ่มขึ้นมานับสิบหลังคาเศษ หมู่บ้านหนองเรือนี้ระหว่างกลางหมู่บ้านที่บรรจบกันระหว่างห้วยกอกอกและห้วยน้ำรินเป็นที่ฝังเรือสุวรรณะ ไว้ที่นี่ และเมื่อหลายสี่สิบปีก่อนนั้นล่วงเลยมาก็มีบ้านเพิ่มขึ้นอีกเป็นสามสิบหลังคาเท่านั้น เพราะว่าเกิดลูกออกมากันน้อยไม่เกิดมากเหมือนแต่ก่อนเพราะเกรงว่าจะไม่มีปัญญาเลี้ยงลูก พอมาถึงสมัยของพ่อขุนแป้น ซึ่งเป็นกำนัน หนองเรือสุวรรณะ มีบ้านเรือนอยู่ประมาณสามสิบหลังคากว่า ก็นับว่ามีเยอะในสมัยนั้นก็ตั้งให้เป็นหมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ ๓ ของตำบลบ้านแป้น มีพ่อน้อยคำ กองศรี เป็นผู้ใหญ่บ้านครองอาณาเขตบ้านได้หลายปี ผ่านห้วงเลยไปถึงปีพุทธศักราช ๒๔๑๕ ก็เกิดมหาสงครามอเมริกากับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้เข้ามาในไทยทำให้บ้านเมืองวุ่นวายอีก บ้านหนองเรือซึ่งเป็นบ้านน้อยไม่กว้างใหญ่มากก็ไปรวมตัวกับบ้านขว้างและมีการตั้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกับบ้านขว้าง เพื่อรักษาบ้านมาตลอด เมื่อหนองเรือไปตั้งบ้านกับบ้านขว้างก็จะไปทำบุญทำทานกันที่วัดบ้านขว้าง ในสมัยก่อนก็จะเดินทางไปวัดบ้านขว้างโดยเดินลัดทุ่ง ไป ก็ลำบากมาก และก็ไกลด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านหนองเรือ ก็มาปรึกษาหารือกันว่า การเดินทางไปทำบุญที่วัดบ้านขว้างนั้นยากลำบากเหลือเกิน เราควรที่จะสร้างอารามไว้ที่บ้านหนองเรือของเรา โดยที่ไม่ต้องเดินให้ลำบาก ผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านก็เห็นด้วย บางท่านก็ไม่เห็นด้วยท่านบอกว่ากลัวคนเขานินทาว่าบ้านเราอวดร่ำอวดรวยเป็นเศรษฐี ก็มีการพูดอย่างนี้กันมาหลาย ๆ วัน และหลายปีต่อมาก็มีบ้านเพิ่มขึ้นอีกเป็นหกสิบกว่าหลังคาเรือน ก็ยังที่ไม่หยุดคิดในเรื่องของการสร้างอารามพอดีท่านทรงฤทธิ์ วัดบ้านขว้าง ท่านก็มาปรึกษาผู้เฒ่าผู้แก่จะช่วยสร้างวัดสร้างวาให้ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เริ่มที่จะสร้างวัดสร้างอารามกันอย่างจริงจัง ก็มีแกนนำหลักสำคัญในการสร้างอารามในครั้งนี้คือ พ่อตา ปิ่นแก้วนาวา พ่อจันทร์ มูลนาวา พร้อมกับพ่ออุ้ยซาว จิตอารี ร่วมกันหาสถานที่ในการสร้างอารามใหม่ และทางพ่ออุ้ยตา ปิ่นแก้วนาวา มีที่นาอยู่ที่หนึ่งอยากจะให้สร้างเป็นอารามวัดใหม่ และในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ พ่อตา ปิ่นแก้วนาวา พ่อน้อยมูล ศรีสวัสด์ และพ่อหน่อ ธิประเสริฐ และพ่อบุญเป็ง วิรัตน์พฤกษ์ พ่ออุ้ยสิงห์ นันตาโจง พร้อมกับคณะศรัทธาบ้านหนองเรือ ก็ขึ้นไปวัดบ้านขว้างเพื่อขอนุญาติสร้างวัดสร้างอารามใหม่ ทางวัดบ้านขว้างก็ไม่ขัดข้อง คณะศรัทธาหนองเรือก็ดีอกดีใจที่จะได้ร่วมกันสร้างอารามวัดใหม่ และสำหรับที่นาของพ่ออุ้ยตา ปิ่นแก้วนาวา ซึ่งอยู่ที่สันกู่นั้นอยู่ไกลจากหมู่บ้านและหนทางไปลำบาก ต้องข้ามแม่น้ำไป ซึ่งลำบากมาก จึงร่วมกันปรึกษาหารือกันใหม่และได้เล็งเห็นสถานที่สร้างวัดปัจจุบันนี้เป็นที่เหมาะสมเป็นจุดศูนย์กลางของหมู่บ้านเหมาะแก่การสร้างอารามข่วงแก้ว เป็นที่ประเสริฐที่สุดแล้วเพราะติดกับถนนหนทางไม่ไกลมากคณะศรัทธาเดินทางไปมาสะดวก และก็ได้ไปปรึกษาถามกับทางแม่อุ้ยหน้อย เจ้าของนา ซึ่งของแม่อุ้ยหน้อยนั้นมีอยู่ ๔ ไร่ และของแม่อุ้ยปามีอีก ๖ ไร่กว่า รวมกันมีประมาณ ๑๐ ไร่กว่า ทางคณะศรัทธาจึงขอซื้อที่ตรงนี้เพื่อสร้างเป็นอารามใหม่ แม่อุ้ยปาและแม่อุ้ยหน้อย ก็ตกลงขายในราคา ๔๒,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ก็เป็นเงินจำนวนเยอะมาก คณะศรัทธาก็ไม่รู้จะไปหาเอาจากที่ไหน ก็ควักกระเป๋าช่วยกันร่วมทำบุญบริจาคซื้อที่ดิน และทางพ่อหนานหล้า นันตากาศ ก็ขอบริจาคที่ดินซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกติดกับที่ ๆ จะสร้างอารมาใหม่ อีกประมาณ ๓ งาน และคณะศรัทธาก็พากันไปพัฒนาสถานที่ ที่จะสร้างอารามใหม่ ช่วยกันคนละไม้ละมือ ในที่แห่งนี้ยังเป็นท้องนาโล่งกว้าง ช่วยกัน สร้างวิหารมุงคา สร้างโรงครัว โดยใช้ไม้รวก ไม้ใผ่ คณะศรัทธาหนองเรือก็สามัคคีกันทำ ตามที่ท่านทรงฤทธิ์ บอกกล่าว เพราะท่านมาริเริ่มสร้างอารามแห่งนี้ ก็ช่วยกันคนละหลายแผนก ร่วมไม้ร่วมมือเริ่มพัฒนาเมื่อวันที่ ๒๑ เดือน ธันวาคม ๒๕๑๕ สร้างอารามใหม่หนองเรือคำ บ้างก็ไปหาไม้มาสร้างเสนาสนะต่าง ๆ โดยไปหาไกลถึงบ้านปาง อำเภอลี้ นำโดยพ่อคำ นึกได้ ร่วมกับพ่อสม จิตอารี และ พ่อเสาร์ มูลนาวา พ่อซอน ปิ่นแก้วนาวา ก็พากันไปตัดไม้ในป่าที่บ้านปาง ไม่รู้ดีนักว่าที่แห่งนี้เป็นเขตป่าสงวน ทางพ่อหลวงปั๋น บ้านปาง ก็เขียนจดหมายให้ลูกบ้านนำมาส่งให้พวกตัดไม้ในป่าสงวนว่า พวกเรานี้เป็นชาวที่ไหน มาตัดไม้ทำลายป่าสงวน พวกที่ไปตัดไม้ก็มานั่งปรึกษาหารือกันว่าจะเอายังไงดี บ้างก็จะกลับมาบ้าน บ้างก็จะหนีขึ้นดอย ทีนี้มีพ่อสม จิตอารี พ่อเสาร์ มูลนาวา พ่อซอน ปิ่นแก้วนาวา ก็เข้าไปหาผู้ใหญ่บ้าน พ่อหลวงปั๋นก็สอบถามว่า ๓ คนนี้เหรอที่มาตัดไม้ในป่าสงวน พวกตัดไม้จึงตอบผู้ใหญ่ไปว่า หมู่พวกข้าก็ขอยกมือไหว้กล่าวเจียรจ๋าว่า ตู่ข้าจักเอาไปสร้างอารามวัดใหม่ มาเอาไม้รวกไม้ซางไม้บงไปสร้างกุฏิ สร้างโรงครัว หมู่ตู่ข้ามาจากบ้านหนองเรือ อยู่ทางเหนือบ้านบ่อโจง และ บ้านขว้าง ตอนนี้กำลังจะสร้างอารามขึ้นใหม่ ส่วนพ่อหลวงปั๋น ก็เห็นดีเห็นงามก็เลยบอกว่าถ้าจะนำไปสร้างวัดสร้างอารามก็ตัดเอาไปให้พอใช้ ถ้าไม่พอก็มาตัดเอาใหม่ได้ พวกที่ไปตัดไม้ไปหาไม้อยู่ทั้งหมด ๒ คืน ในกลางป่ากลางดอยตอนลางคืนก็จะหนาวเพราะเป็นเดือนธันวาคมกลางคืนเงียบสงัด มีแต่เสียงแมงใยแมงว้าร้องตามฝั่งข้าง บ้างก็อาลัยหาลูกหาเมีย บ้างก็สนุกสนาน ทำอาหารทำครัว ทำน้ำพริก กินกัน พอได้ไม้มาเต็มที่แล้ว ก็มาว่าจ้างรถของนายหวัน บ้านแป้น มาลากเอาไม้กลับไปสร้างกุฏิ สร้างโรงครัว สร้างรั้วล้อมอาราม ต่อไป พอถึงเดือน สามเหนือ แรมแปดค่ำ ซึ่งเป็นวันเสาร์ ท่านทรงฤทธิ์ ก็มาอำลาศรัทธาหนองเรือไป ทางคณะศรัทธาไม่รู้จะว่าอะไรก็เลยปล่อยท่านไป ทางคณะศรัทธาก็เลยมาปรึกษากันใหม่เพื่อหาพระภิกษุมาประจำอาราม เลยไปนิมนต์ท่านบุญเป็ง วัดบ้านรั้ว มาช่วยสร้างอารามสร้างวัด ท่านก็ยินดีมา ท่านก็มาเริ่มสร้างกุฏิหลังใหม่ โดยให้คณะศรัทธาช่วยกันร่วมทำบุญสร้างกุฏิในครั้ง โดยขอท่านพระครูเจ้าอินทร โกวิโท เจ้าอาวาสวัดบ้านรั้ว เป็นผู้ออกแบบแปลนกุฏิหลังใหม่ เอาไปเสนอเจ้าคณะอำเภอ( พระญาณมงคล ) ท่านก็บอกว่าใช้ได้ เหมาะสมพอที่จะให้พระและเณร เด็กวัด อยู่กันสบาย ก็นิมนต์ท่านเจ้าคณะอำเภอมาดูที่ ที่จะสร้าง เพราะเหตุว่าที่ดินอารามนั้นกว้างใหญ่เหลือหลาย ท่านก็เลยให้ก่อสร้างไว้ด้านทิศเหนือเขตอาวาส ตามท่านอนุญาต ก็มาหาฤกษ์หายามดี เป็นวันสิริจัยโชคกว้าง เป็นวันที่นายอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดเชตะวันมหาวิหาร วันนี้เป็นวันวิเศษสำหรับที่จะสร้างเขตห้องอาราม เป็นวันพระจันทร์เปล่งเรืองงาม ๑๕ ค่ำเดือน ๔ เหนือ ตรงกับวันอังคารที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๐ ก็ไปนิมนต์พระสงฆ์มาสี่รูป มี ครูบาคำจันทร์เจ้า วัดหนองซิว มาเป็นประธาน กับท่านตุ๊ลุงเจ้าแก้ว วัดหนองหนาม ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าคณะตำบลหนองหนาม นิมนต์ท่านมาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วท่านสองท่านคือ ครูบาคำจันทร์และตุ๊ลุงแก้ว ก็เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ตั้งแต่นั้นมา ท่านบุญเป็ง มาสร้างกุฏิสำเร็จแล้ว ท่านก็อยู่อีกไม่นานก็ขอกลับไปวัดบ้านรั้ว ทางคณะศรัทธาก็ไม่รู้จะว่ายังไง หลังจากท่านไปแล้ว ทางคณะศรัทธาก็ได้มาปรึกษาหารือกันใหม่ว่าจะหา พระภิกษุที่ไหนมาอยู่ประจำอาราม ก็พากันเข้าไปหา พระครูเจติยารักษ์ หรือ ตุ๊ลุงเจ๋ วัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอ ปัจจุบันท่านคือ พระเทพมหาเจติยาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ท่านก็ได้บอกให้ไปนิมนต์ท่านพระจำรัส ฐานวโร หรือ ตุ๊ลุงจู มาช่วยสร้างอาราม ท่านจำรัสก็ยินดีที่จะมาสร้างอารามหนองเรือให้เจริญรุ่งเรือง พอท่านมาอยู่ได้ไม่นานก็มาริเริ่มสร้าง ศาลาการเปรียญ โดยใช้ชื่อว่า ศาลาราษฎร์รังสรรค์ แล้วเสร็จและทำบุญฉลองในปี ๒๕๒๒ และท่านก็ริเริ่มสร้างอารามมาตลอดโดย สร้างหอระฆัง (โรงกลอง) สร้างบ่อบาดาร สร้างกำแพงด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้ เสร็จ เงินก็หมดท่านก็เลยเข้าไปหาท่านเจ้าอาวาสวัดป่าแพ่ง ท่านวัดป่าแพ่งก็รับเป็นเจ้าภาพสร้างกำแพงด้านทิศเหนือและประตู และคณะศรัทธาบ้านหนองเรือก็ร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างด้านทิศตะวันออกจนสำเร็จ โดยในสมัยนี้จะมี คุณแม่อุ้ยคำ คำวัง ซึ่งเป็นโยมมารดาของพระเทพมหาเจติยาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นคนบ้านหนองเรือ มาช่วยอุปถัมภ์สร้างอาราม หลังจากนั้นไม่นานกี่ปี ท่านก็มาสร้างวิหาร ขึ้น ๑ หลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๓๖ เมตร พอถึงในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ วิหารที่สร้างก็จะสำเร็จแล้ว ท่านจึงกำหนดทำบุญฉลอง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ แต่ก็ไม่ทันได้ทำบุญฉลอง ท่านก็มามรณภาพลงเสียก่อน สร้างความโศกเศร้าอาลัยแก่คณะศรัทธาบ้านหนองเรือเป็นอย่างยิ่ง ท่านมรณภาพ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทางคณะศรัทธาก็ได้นำสลีละร่างของท่านมาทำบุญตามประเพณี เก็บร่างท่านไว้ ๑ ปี และได้ทำการฉลอง วิหารในปี ๒๕๒๘ พอฉลองวิหารเสร็จได้อีก ๓ วันก็มีการทำบุญสลายร่าง ท่านพระอธิการจำรัส และทางคณะศรัทธาก็ได้ก่อกู่บรรจุอัฐิท่านไว้ หลังจากนั้นทางคณะศรัทธาบ้านหนองเรือก็มาปรึกษาหารือกันอีกว่าจะหาพระภิกษุรูปใดมาอยู่ประจำวัดวาอาราม ก็ได้เข้าไปหาท่านตุ๊ลุงเจ๋ อีกครั้งหนึ่ง ทางตุ๊ลุงก็แนะนำให้ไปขอ พระสุทัศน์ สุทสฺสโน วัดมหาวัน มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านสุทัศน์ ก็ยินดีที่จะมาพัฒนาวัดวาอารามหนองเรือให้เจริญ ท่านมาอยู่ได้ไม่นานก็เริ่มสร้างศาลาการเปรียญด้านทิศใต้วิหารขึ้นมาใหม่ ๑ หลัง สร้างศาลากลางน้ำ สร้างโรงครัว ตลอดถึงสร้างเวจกุฎี (ห้องน้ำ) และวัดหนองเรือก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ และไม่นานท่านก็ได้ก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ขึ้นมาใหม่อีก ๑ หลังทางด้านทิศเหนือวิหารและทำบุญฉลองในปี ๒๕๔๑ และหลังจากนั้นท่านก็ได้พัฒนาวัดวาอารามมาโดยตลอด ท่านใช้เวลาพัฒนาวัดหนองเรือแห่งนี้อยู่ ๑๘ ปี ท่านจึงขอกลับไปจำพรรษาที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ต่อมาทางคณะศรัทธาวัดหนองเรือก็เลยไปขอนิมนต์ ท่านพระครูเอนก อาสโภ วัดเหมืองจี้หลวง มาพัฒนาวัดหนองเรือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ท่านมาอยู่ท่านก็ได้บูรณะศาลาการเปรียญราษฎร์รังสรรค์ และทำบุญถวายทานในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ท่านมาพัฒนาวัดหนองเรืออยู่ ๖ ปี ท่านก็ขอลากลับไปอยู่ที่วัดเหมืองจี้หลวงเหมือนเดิมในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ และในตอนที่ท่านไปนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เข้าพรรษา ทางวัดหนองเรือก็ไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ทางท่านเจ้าคณะตำบลหนองหนาม ท่านพระครูปิยธรรมาภิรัต กลัววัดหมองไป จึงจัดให้พระภิกษุในตำบลหนองหนาม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมารับบิณฑบาตและแสดงธรรม ทุกวันพระ พอล่วงเวลาออกพรรษามาแล้ว ทางท่านพระครูปิยธรรมาภิรัต เจ้าคณะตำบลหนองหนาม และทาง ท่านพระครูประภัศร์ศีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง ก็มาประชุมปรึกษาหารือกับทางคณะศรัทธาวัดหนองเรือ ว่าจะหาพระภิกษุที่ไหนมาจำพรรษาอยู่ ทางผู้ใหญ่บ้าน พ่อหลวงบุญธรรม จิตอารี และคณะศรัทธาเล็งเห็นว่าทางวัดบ้านขว้างมีพระภิกษุอยู่ ๒ รูป อยากจะขอนิมนต์มาพัฒนาวัดหนองเรือ ๑ รูป ทางท่านพระครูประภัศร์ศีลาภรณ์ก็ไม่ติดใจอะไร ก็อยู่ที่เจ้าตัวว่าจะมาอยู่ไหม ทางผู้ใหญ่บ้านและคณะศรัทธาวัดหนองเรือ ก็จึงพากันไปขอ พระณัฏฐนันท์ คุณวีโร วัดบ้านขว้าง ทางพระณัฏฐนันท์ คุณวีโรเมื่อคิดดูแล้วก็อยากสร้างวัดสร้างวาก็จึงยินดีตกลงที่จะมาร่วมสร้างร่วมพัฒนาวัดหนองเรือ พระณัฏฐนันท์ คุณวีโร มารักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองเรือในวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ และในวันนี้ก็มีการจัดทำบุญต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อพระณัฏฐนันท์ ก็ได้ริเริ่มก่อสร้างพัฒนาวัดหนองเรือมาจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 23 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2539
สถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดวัดหนองเรือ
วัดหนองเรือ มีสิ่งมงคล ๙ อย่างเพื่อเป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป คือ
๑. พระพุทธรูปฝนแสนห่า เงินแสนล้าน
๒. พระพุทธรูปสมปราถนา
๓. พระสิวลี
๔. พระสังกัจจาย์
๕. พระอุปคุต
๖. พระเจ้า ๒๘ องค์
๗. พระเจ้าหายโศก
๘. พระประจำวันเกิด
๙. พระพิฆเณศ
นอกจากนี้วัดหนองเรือ ยังมี พระอุโบสถกลางน้ำ แห่งแรกของจังหวัดลำพูน ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าปี ๒๕๕๗ คงจะเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์
ความน่าสนใจภายในวัดหนองเรือ
ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555
พระใบฎีกาณัฏต์ฐนันท์ คุณวีโร เจ้าอาวาสวัดหนองเรือ
พระใบฎีกาณัฏต์ฐนันท์ คุณวีโร
ปัจจุบันอายุ 25 ปี
บวชมาแล้ว 6 พรรษา
มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น พระฐานานุกรม ที่ พระใบฎีกา
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดหนองเรือ และยังดำรงตำแหน่งเป็นครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
ประวัติด้านการศึกษาของพระใบฎีกาณัฏต์ฐนันท์ คุณวีโร
พระใบฎีกาณัฏต์ฐนันท์ คุณวีโร เจ้าอาวาสวัดหนองเรือ
จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถานบันการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2554
อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองเรือ
พระฤทธิ์ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระบุญเป็ง |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระอธิการจำรัส ฐานวโร |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระครูสังฆรักษ์สุทัศน์ สุทสฺสโน |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระครูเอนก อาสโภ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
การจัดการศึกษาภายในวัดหนองเรือ
การจัดการศึกษาภายในวัดหนองเรือนั้น จะประกอบไปด้วย
- ศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียน
- ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน แหล่งการเรียนรู้ศีลธรรมในวัด