ประวัติวัดทาหนองยางไคล
ตำบลทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
วัดทาหนองยางไคล ตั้งอยู่บ้านหนองยางไคล หมู่ที่ ๔ ตำบลทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน สังกัดมหานิกาย มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๓๙ วา เป็นโฉนดเลขที่ ๑๒๓ เขตทิศตะวันออกของหมู่บ้าน อาณาเขตทิศเหนือติดถนนสาธารณะหมู่บ้าน ทิศใต้จดถนนสาธารณะหมู่บ้าน ทิศตะวันออกจดถนนสาธารณะหมู่บ้านและเหมืองสาธารณะ
อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร พระธาตุเจดีย์ ศาลาการเปรียญ ศาลาเอนอกประสงค์ โรงครัว ศาลาบาตร อนุสาวรีย์ครูบาอาจารย์ ได้ก่อสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๑ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ห่างจากตัวอำเภอแม่ทาไปทางตะวันตก ๑๑ กิโลเมตร ถนนหมายเลข ๓๓๑๐ ครั้งนั้นได้มีพระเถาว์ คนธวํโส อายุ ๒๘ พรรษา ๘ เดิมอยู่วัดทาดอยแช่ ตำบลทากาศ ได้นำคณะศรัทธา จำนวน ๓๐ หลังคาเรือน มาก่อสร้างตั้งวัด มีหมู่บ้าน หนองยางไคล ผาขวาง ท้องฝาย
เหตุที่ได้ชื่อว่า หนองยางไคล มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตประมาณ ๑๐๐๐ กว่าปี สมัยร่วมเจ้าแม่จามเทวี มีพระธุดงค์รูปหนึ่งได้มาหยุดพักรักษาโรคไข้หวัด(ภาษาพื้นเมืองว่าพักยั้งไข้) ใกล้ๆบริเวณหนองน้ำ แห่งนี้ นับแต่นั้นมาหนองน้ำแห่งจึงเรียกขานกันว่าหนองยั้งไข้ ,หนองยังไคร ,หนองยางไคล ตามลำดับ บางท่านก็เล่าว่ามิใช้พระธุดงค์ แต่เป็นเจ้าแม่จามเทวี ที่เป็นเจ้าเมืองสมัยนั้นจะเดินทางไป เขลางนคร มาหยุดพระประชวรที่นี้ นี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณา แต่ด้วยเหตุใดก็ตามหนองยางไคล ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นที่พักรักษาไข้หวัด หรือยั้งไข้ อยู่ดี
การบริหารการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ รูปหนึ่ง พระอธิการเถาว์ คนธวํโส พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๙๘ รูปที่ ๒ พระอธิการเถาว์ อภิวํโส พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๒๔ รูปที่ ๓ พระอธิการถนอม จารุวณโณ พ.ศ. ๒๕๒๗ -๒๕๒๙ รูปที่ ๔ พระครูทร ปุญญกาโม พ.ศ.๒๕๓๐ -๒๕๔๑ รูปที่ ๕ พระครูพิศิษฎ์ศุภการ พ.ศ. ๒๕๔๒ -(ปัจจุบัน ๒๕๕๖) เป็นต้นมา
ประวัติหมู่ที่ ๔ บ้านหนองยางไคล
ตำบลทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
ภูมิประเทศ หมู่บ้านตั้งอยู่ในที่ราบ อยู่ในบริเวณที่ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลทาทุ่งหลวง ติดทางหลวง เลขที่ ๑๐๓๓ แม่ทา – ท่าจักร ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ทา มาทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑๑ กิโลเมตร
อาณาเขต ทิศเหนือ จดลำน้ำแม่ตู๊ด
ทิศใต้ จดลำน้ำแม่ทาและหมู่ที่ ๓ ท้องฝาย ตำบลทาทุ่งหลวง
ทิศตะวันออก จดเขตหมู่ที่ ๕ ตำบลทาทุ่งหลวง
ทิศตะวันตก จดเขตหมู่ที่ ๒ ตำบลทาทุ่งหลวง
ประวัติหมู่บ้าน หนองยางไคล มีดังนี้บ้านหนองยางไคล เดิมเรียกว่า บ้านหนองยั้งไข้ พระอธิการเถาว์ อภิวํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดทาหนองยางไคล องค์ที่ ๒ ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณกว่า ๑๐๐ ปี มาแล้วได้มีพระธุดงค์องค์หนึ่งเดินทางจาริกแสวงหาที่สงบได้มาล้มป่วย(อาพาธ)ลงที่บริเวณใกล้หนองน้ำแห่งนี้ด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ภาษาพื้นเมืองว่ายั้งไข้ และได้พักรักษาตัวอยู่ใกล้ๆหนองน้ำบริเวณนี้ ซึ่งบริเวณแห่งนี้ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ ชาวป่าที่ไปหาของป่าผ่านมาพบเข้าได้ช่วยกันพยาบาลและอุปัฏฐาก ตามสมควร ชาวบ้านจึงเรียกขานหนองน้ำนี้ว่า” หนองยั้งไข้ (พักไข้ ปัจจุบันหนองน้ำแห่งนี้อยู่กลางทุ่งนาและได้ตื้นเขินกลายเป็นทุ่งนาไปแล้ว) เมื่อวันเวลาผ่านไปปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ชาวบ้านในตำบลทากาศ เช่น ท้องฝาย หมู่ที่ ๑ ต.ทากาศ ทาทุ่งหลวง บ้านไร่(ดอยแช่) หมื่นข้าว และที่อื่นๆ ได้พากันมาถางป่าทำไร่ ทำสวน แล้วขยับขยายมาเป็นหมู่บ้าน ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้คนมาจากทุกสารทิศการพูดจากันจึงมีการผิดเพี้ยนไปจากเดิมคือ หนองยั้งไข้ มาเป็นหนองยังไค และกลายมาเป็นหนองยางไคล ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยอยู่ในหมู่ที่ ๗ ตำบลทากาศ ร่วมกับหมู่บ้านท้องฝาย หนองยางฟ้าโดยมีพ่อหลวงจู ตันหลวงกาศ เป็น ผญบ.คนแรก และได้เปลี่ยนมาเป็นหมู่ที่ ๔ ตำบลทาทุ่งหลวง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๔
โดยมีพ่อหลวงจู ตันหลวงกาศ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และโดยมีพ่อหลวงเฮื่อง ปะระดี เป็น ผญบ.คนแรก ในขณะที่เป็นตำบลทาทุ่งหลวง
ประวัติหมู่ที่ ๕ บ้านหนองยางฟ้า
ตำบลทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
ภูมิประเทศ หมู่บ้านตั้งอยู่ในที่ราบ อยู่ทางทิศตะวันออก ขององค์การบริหารส่วนตำบลทาทุ่งหลวง ติดทางหลวง เลขที่ ๑๐๓๓ แม่ทา – ท่าจักร ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ทา มาทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
อาณาเขต ทิศเหนือ จดลำน้ำแม่ตู๊ด
ทิศใต้ จดลำน้ำแม่ทา
ทิศตะวันออก จดเขตตำบลทาสบเส้า
ทิศตะวันตก จดเขตหมู่ที่ ๔ ตำบลทาทุ่งหลวง
ประวัติหมู่บ้าน หนองยางฟ้า มีดังนี้
บ้านหนองยางฟ้า เดิมเรียกว่า บ้านหนองยังผ้า (ตากผ้า) พระอธิการเถาว์ อภิวํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดทาหนองยางไคล องค์ที่ ๒ ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณกว่า ๑๐๐ ปี มาแล้วได้มีพระธุดงค์ องค์หนึ่งเดินจาริกแสวงหาที่สงบเพื่อบำเพ็ญสมณะธรรม เมื่อมาถึงบริเวณหนองน้ำแห่งนี้ ได้น้ำผ้าจีวรมาชักและตาก (ภาษาพื้นเมืองว่า ยังผ้า)และพระธุดงค์ได้พักบริเวณแห่งชั่วระยะหนึ่ง ชาวบ้านที่ไปหาของป่าได้มาพบเข้าจึงได้ชวนกันไปทำบุญใส่บาตร โดยถือเอาว่าตรงหนองน้ำที่มีผ้าตากเป็นเครื่องหมายว่าตรงนั้นมีพระอยู่ จนเรียกกันติดปากว่า “หนองยังผ้า” ซึ่งตอนนี้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นแค่สุสานของหมู่บ้านหนองยางไคล ส่วนหมู่บ้านเดิม ๆอยู่อีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำแม่ทา เรียกว่า “บ้านผาขวาง” ซึ่งห่างจากหมู่บ้านนี้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้อบพยบย้ายมาเมื่อประมาณ ๗๐ ปี โดยการนำของนายบุญทัย ศิลาศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ต.ทากาศ โดยได้เล็งเห็นว่าการปกครองเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะต้องข้ามลำน้ำแม่ทาไปสะพานก๊ไม่มี ผู้ใหญ่บ้านคนเดียวต้องปกครอง ๓ หมู่บ้าน คือบ้านผาขวาง บ้านหนองยางไคล บ้านท้องฝายดอยแช่ จึงได้ชักชวนลูกบ้านมาอยู่ใกล้ ๆคือหนองยังผ้า ซึ่งใกล้ต่อการปกครอง และสะดวกปลอดภัย และไปทางอำเภอและสถานีรถไฟหนองหล่ม ส่วนการที่ชื่อหมู่บ้านเพี้ยนไปจากเดิม จากคำว่ายังผ้ากับยังฟ้า ทั้งภาษาพูดและเขียนใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้ผู้คนเรียกขานเพี้ยนไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมาเป็น บ้านหนองยางฟ้า ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยเดิมอยู่ในหมู่ที่ ๗ ตำบลทากาศ ร่วมกับหมู่บ้านหนองยางไคลต่อมาเมื่อปี ๒๕๒๔ ได้แยกออกจากตำบลทากาศ เป็นตำบลทาทุ่งหลวง เป็นหมู่ที่ ๔ ตำบลทาทุ่งหลวง ต่อมาเมื่อปี ๒๕๓๗ ได้แยกออกจากบ้านหนองยางไคล เป็นบ้านหนองยางฟ้า เป็นหมู่ที่ ๕ ตำบลทาทุ่งหลวง มีนายเมืองคำ แสงกาศ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2551
สถานที่น่าชวนให้ไปชม ประกอบด้วย
๑.) เงาพระธาตุในวิหาร
๒.) รอยพระบาท ขนาด ๑ นิ้ว ในวิหาร
๓.) พระพุทธรูปไม้แกะสลักจากไม้อายุกว่า ๕๐๐ ปี ประมาณ ๑๐
กว่าองค์
๔.) รูปจำลอง เจ้าแม่จามเทวี ที่แกะด้วยไม้สัก อายุกว่า ๕๐๐ ปี