วัดลี้หลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่ตั้งขึ้นมานานแล้วโดยเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของเมืองโบราณที่เรียกว่า เวียงเก่า หรือเวียงเจดีย์ ดังนี้ เวียงเก่าหรือเวียงเจดีย์เป็นเมืองโบราณซึ่งร้างไปนาน แต่มีหลักฐานอันเป็นซากตัวเมืองร้างอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดลี้หลวง ห่างประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันมีกำแพงที่ก่อด้วยอิฐดินเผาแบบโบราณก้อนโตๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นซากของโบสถ์หรือวิหาร กองอิฐหรือซากอิฐโบราณเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่เป็น แห่งๆทั้งในและนอกกำแพงเมืองเก่า
หลักฐานซากสิ่งก่อสร้างที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองหรือวัดเหล่านี้ ไม่ปรากฏหลังฐานในทางประวัติศาสตร์ว่ามีความเป็นมาอย่างใด แต่สันนิษฐานจากซากสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏให้เห็นประมาณกาลเวลาได้ว่าคงเป็นเมืองโบราณ ที่สร้างหรือมีอยู่เมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้ว คืออาจจะก่อนประวัติคนไทยอพยพมาอยู่ในบริเวณนี้ ที่เชื่อและสันนิษฐานดังนี้ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมผุพังนั้นมีมูลดินทับถม และจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเล่าว่า ก่อนที่ ครูบาศรีวิชัยนักบุญชาวอำเภอลี้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า นักบุญแห่งล้านนาไทย
จะมาทำการบูรณะเจดีย์ที่เวียงเก่าหรือเมืองโบราณเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้น บริเวณนั้นมีต้นไม้ใหญ่ขนาด ๒ – ๓ คนโอบรอบ ขึ้นอยู่ทั่วไปเป็นป่าดงรกทึบ ปัจจุบันก็ยังมีปรากฏให้เห็นเป็นแห่งๆอยู่ สังเกตลักษณะและขนาดของต้นไม้ที่เกิดขึ้นหลังจากเมืองร้างไปแล้วนั้น ประมาณได้ว่าไม่น้อยกว่า พันปี นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเล่าสืบต่อๆ กันมาว่าเวียงเก่าหรือเมืองโบราณนี้ เป็นเมืองของพวกขอมหรือละว้า เรื่องราวที่เล่ากันมามีว่า ครั้งเมืองเก่ายังรุ่งเรืองอยู่นั้นมีสิ่งก่อสร้างอันเป็นที่อยู่อาศัย วัดวา อาราม โบสถ์ วิหาร เจดีย์ กำแพงเมือง คูเมืองมีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์คนไทยอพยพมาอยู่จึงได้มีการต่อสู้แย่งชิงที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ระหว่างคนไทยกับคนชาติอื่นที่อาศัยอยู่เดิม เมื่อเจ้าของถิ่นเดิมไม่อาจต่อสู้อยู่ได้ก็ถูกขับไล่หนีไป สิ่งก่อสร้างต่างๆ อันเป็นบ้านเป็นเมืองก็ถูกทำลายย่อยยับตามธรรมเนียมการสู้รบในสมัยโบราณ
ส่วนบริเวณอันเป็นที่ตั้งของวัดลี้หลวงนี้ เดิมก็เป็นซากวัดเก่าร่วมสมัยเดียวกับเวียงเก่า และได้มีการสร้างวัดนี้ขึ้น ณ ที่นี้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ภายหลังก็ร้างไปอีก เนื่องจากผู้อพยพมาอยู่ครั้งนั้นได้อพยพหนีต่อไปอีก จึงทิ้งบ้านเรือน วัดอารามให้ร้างอีกครั้งหนึ่ง จนมาสมัยที่มีการต่อสู้กันระหว่างคนไทยล้านนากับคนไทยศรีอยุธยา ผู้คนจึงอพยพจากเมืองเชียงใหม่ – ลำปาง หนีภัยการศึกการสู้รบมาอยู่ ณ ที่นี้ โดยที่เป็นที่หลบหนีภัย จึงได้เรียกชื่อแหล่งที่อยู่ใหม่นี้ว่าเมืองลี้ ตั้งชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านว่า แม่น้ำลี้ ต่อมาเมื่อมี พ.ร.บ. การปกครองท้องถิ่นใช้ปังคับ จึงได้ตั้งชื่อว่า แขวงแม่ลี้ และเป็นอำเภอลี้ ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อได้อพยพหลบภัยศึกมาตั้งหลักแหล่งอยู่ครั้งหลังสุดนี้ ผู้คนที่มาอยู่ซึ่งเป็นคนไทยพื้นเมืองจึงได้ปฏิสังขรณ์วัดเก่าแก่แห่งนี้ขึ้น โดยสร้างวิหารขึ้นครอบซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของเดิมที่มีอยู่ พร้อมกับพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ อันเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มนั้นมาแต่เดิม รวม ๓ องค์ก็คือพระพุทธรูปที่ปรากฏในปัจจุบันนี้เอง พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีค่ายิ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองลี้โดยทั่วกัน เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปโบราณได้มีคนร้ายเคยมาลักขโมยหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถนำไปได้ ครั้งล่าสุดเมื่อกลางปี ๒๕๑๘ ได้มีคนร้ายพยายามขโมยเอาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ไป แต่ก็ไม่สามารถยกหรือหามออกจากซุ้มไปได้ การพยายามของคนร้ายทำให้พระกรรณข้างขวาของพระพุทธรูปองค์หนึ่งบิ่นไป
เมื่อก่อนที่ครูบาศรีวิชัย จะได้มาทำการบูรณะที่เมืองเก่า ได้มีผู้ไปพบพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่งที่ซากวัดร้างกลางเมืองเก่า ความทราบถึงเจ้าอาวาสวัดลี้หลวง จึงได้นำคณะศรัทธาไปอันเชิญมาไว้ ณ วัดลี้หลวง ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นเป็นการถาวร จึงได้อันเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวเข้ามาประดิษฐานไว้ในอุโบสถ จนตราบเท่าทุกวันนี้ พระพุทธรูปนี้ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดลำพูน (พระราชสุตาคมมหาเถร)กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่งดงามมากที่สุดในจังหวัดลำพูน
อุโบสถของวัดลี้หลวง นั้นถือได้ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อย่างสูง เป็นสถานที่ที่ ครูบาอาจารย์ บูรพาจารย์หลายรูปหลายองค์ ตั้งแต่ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตลอดถึงพระเถรานุเถระ ได้เคยมาร่วมทำ
สังฆกรรม อุโบสถกรรม ในอุโบสถแห่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอุโบสถแรกของเมืองลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
วัดลี้หลวง ผูกพัทธสีมาตั้งแต่ปี ๒๔๕๙ เป็นที่ให้การอุปสมบทพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนา
เป็น สถานที่ซึ่ง พระเถระในอำเภอลี้ ในจังหวัดลำพูน ได้เข้าร่วมฟังปาฏิโมกข์ ในช่วงเข้าพรรษา
ตลอดจนทุกวันนี้ เป็นเวลานับร้อยปี
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2459