วัดแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้มีประวัติการก่อสร้างเมื่อ ปีพุทธศักราช ๒๓๑๙ แต่แจ้งทางการเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ มีการย้ายวัดหลายครั้ง จากคำบอกเล่าและหลักฐานทางสถานที่ เช่น วัดกลางบ้าน(บริเวณดงหอศาลพ่อบ้าน บ้านแม่ตืน) อารามสันผักแหละ สันป่าเหียงวัดน้อย ซึ่งเป็นหลักฐานว่ามีการสร้างวัดมาเป็นเวลาอันยาวนาน มีเจ้าอาวาสหลายรูปแต่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
หลักฐานแรกคือ ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ในประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย มีความตอนหนึ่งว่า ท่านได้มาสร้างพระธาตุ (เจดีย์) วัดแม่ตืน และสร้างกุฏิสงฆ์บริเวณหลังวัดเป็นกุฏิชั้นเดียวทำด้วยไม้สักทั้งหลัง ต่ำเพียงคนก้มลอดได้ มีอยู่ ๙ ห้อง (ปัจจุบันเป็นป่าต้นตาล) ซึ่งตามประวัติการก่อสร้างวัดและบูรณะวัดต่าง ๆ ของครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดแม่ตืนเป็นวัดระดับที่ ๑๓ ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ จึงสันนิษฐาน ได้ว่า วัดแม่ตืนได้สร้างมาแล้ว ๒๓๖ ปี
และอีกหลักฐานหนึ่งคือ ในประวัติครูบาอภิชัยขาวปี มีตอนหนึ่งเล่าว่า พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากที่ท่านครูบา หลังจากที่สร้างวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนที่แม่ระมาดเสร็จแล้ว ก็ได้เดินทางกลับมาเพื่อ จำพรรษาที่อำเภอลี้ แต่ถูกนายอำเภอกลั่นแกล้งขับให้ออกจากอำเภอลี้ โดยเดินทางจากแม่ระมาดเป็นระยะเวลา ๑๐ วัน ๑๐ คืน ก็เดินทางมาถึง อ.ลี้ พักอยู่ที่กลางทุ่งนาบ้านป่าหกได้ ๔ คืน นายอำเภอลี้ให้ตำรวจมาขับไล่ไม่ให้อยู่โดยไม่มีเหตุผล ท่านจึงมาพักอยู่ที่ กลางทุ่งนาวัดแม่ตืน ณ ที่แห่งนี้ ก็ถูกทางอำเภอ กลั่นแกล้งอีก โดยรายงานไปทางจังหวัดลำพูนว่า ปะขาวปี นำปืนมาจากแม่ระมาด ๑,๐๐๐ กระบอก หลังจากรับรายงาน จึงมีบัญชาให้นายร้อยตำรวจ ๒ นายกับพระครู ๒ รูป ขึ้นมาทำการตรวจค้นไต่สวน ตำรวจทั้ง ๒ นาย ได้ค้นสัมภาระก็ไม่พบแต่ประการใด และยังได้ไปค้นถึงในวัดแม่ตืน จนพระเณรแตกตื่นเป็นโกลาหล แต่ก็ไม่พบสิ่งใด
อีกตอนหนึ่ง หลังจากที่ท่านครูบาอภิชัยขาวปี ได้ไปร่วมฉลองวิหารวัดพระนอนแม่ปูคาเสร็จ ก็จะกลับมาจำพรรษาที่ วัดแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แต่นายอำเภอก็สั่งกำนันมาไล่ไม่ให้อยู่เป็นอันขาด ท่านจึงไปจำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ และสร้างวัดแห่งนี้ ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ นั่นเองจึงเป็นที่ยืนยันว่า วัดแม่ตืน ได้สร้างมานานแล้ว
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2461
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 เดือน กันยายน พ.ศ. 2497
• วัดพัฒนาตัวอย่าง ไม่ทราบวันเวลา
เป็นศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ที่มีในชุมชน เป็นต้นว่า ประเพณีปี๋ใหม่เมือง การรดน้ำ-ดำหัว-ขอพร พระสงฆ์และผู้สูงอายุในบ้านแม่ตืน ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ (เดือน ๙ เป็ง) ประเพณีตั้งธรรมหลวงมหาชาติ ประเพณีเดือนยี่เป็ง (ลอยกระทง) ประเพณีตานข้าวใหม่ (เดือน ๔ เป็ง) เป็นต้น ประเพณีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของศรัทธาประชาชนเพื่อศึกษาประเพณีและสืบสานประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและวัดแม่ตืนยังเป็นที่พบปะและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในส่วนของ โรงเรียน บ้าน และชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมช่วยสังคม กิจกรรมการให้บริการสังคม กิจกรรมนันทนาการของชุมชนด้วย