ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดช้างค้ำ
- ชื่อวัด: วัดช้างค้ำ
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 5 รูป
- สามเณร: 6 รูป
- ลูกศิษย์วัด: 2 คน
- ที่ตั้ง: เลขที่ 278 หมู่ 6 พระบาท ลำพูน - ลี้ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน รหัสไปษณีย์ 51120
- เนื้อที่: 13
- โทร: 0861875325
- แฟกซ์: 053572207
ประวัติความเป็นมา
ตำนานความเป็นมาของ วัดช้างค้ำ
ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐ ได้มีอุบาสกผู้ใคร่ในรสพระธรรมคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองท่านเป็นผู้เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ ประกอบด้วยจิตเมตตาปรารถนาจะให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุขทุกถ้วนหน้าเฝ้าปฏิบัติพระสงฆ์องค์เจ้าทุกเช้าค่ำเพื่อเอาบุญและช่วยค้ำชูอุดหนุนให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่เนืองนิตย์
อุบาสกทั้งสองที่กล่าวนี้ ท่านหนึ่งมีชื่อว่าหนานปัญญา คำปัญญา ตั้งนิวาสสถานอยู่บ้านบ่อหินและอีกท่านหนึ่งมีชื่อว่า หนานขา ริยะป่า อยู่บ้านป่าหมุ้น ทั้งสองอุบาสกนี้เป็นที่เคารพนับถือของปวงศรัทธาประชาชนทั่วไปในระแวกบ้านนั้น วันหนึ่งได้ชักชวนกันไปเที่ยวป่าเพื่อหาไม้มาทำห้างนา (กระท่อมปลายนา) ได้พากันเดินเข้าไปยังป่าไม้ไผ่อันหนาทึบ และรกรุงรังไปด้วยพงหญ้าคาอย่างชนิดที่ช้างลงไปไม่เห็นหลัง ขณะที่ทั้งสองกำลังจดๆจ้องมองหาไม้ไผ่ลำงามๆ เพื่อจะนำไปทำห้างนาอยู่นั้น จะเป็นด้วยเดชะบุญหรือเหตุใดก็เหลือจะเดา ทั้งสองอุบาสกได้พบเอาพระพุทธรูปองค์มหึมาเข้าองค์หนึ่ง ซึ่งซ่อนในดงไม้ไผ่และปกคลุมไปด้วยหญ้าคาอย่างหนาแน่น ด้วยความดีอกดีใจจึงได้ช่วยกันแผ้วถางหญ้า และไม้ที่รกรุงรังออกโดยรอบฐานพระประธานสังเกตเห็นองค์พระที่ปราศจากพระเศียร (หัว) และพระพาหา (แขน) ก็ขาดหายไปทั้งสองข้าง คงเหลือแต่ไส้โครงเป็นเหล็กทั้งสองข้าง ส่วนองค์พระก่อด้วยอิฐ ฉาบด้วยปูนขาว อยู่ในลักษณะนั่งขัดสมาธิ ทั้งสองจึงนั่งลงกราบไหว้ด้วยความเคารพต่างก็เข้าใจว่าที่นี่คงเป็นสถานที่วัดและอาจร้างมานาน เมื่อทั้งสองอุบาสกเดินสำรวจดูโดยรอบและชะโงกดูตามรูพระศอ ซึ่งกลวงลงไปถึงพระอุระ (หน้าอก) ต่างก็แลเห็นสิ่งประหลาดสิ่งหนึ่ง สีดำๆ อยู่ข้างในคล้ายๆ พระพุทธรูปองค์เล็กจึงได้ช่วยกันนำออกมาดูพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นเป็นพระพุทธรูปจริง กล่าวคือ เป็พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว ตอนฐานพระมีรูปหัวช้างอยู่โดยรอบนับได้ ๑๗ หัว อุบาสกทั้งสองท่านต่างก็แสดงความดีอกดีใจกันเป็นการใหญ่ ได้กระทำพิธีสักการบูชาพระประธาน และพระพุทธรูปองค์นั้นอีกครั้ง แล้วจึงอาราธนานำพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ไปยังวัดสันกำแพง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านทั้งสองเคยอุปฐากพระสงฆ์องค์เจ้ามาเป็นประจำ ได้นำความนี้เข้าไปกราบไหว้สาท่านพระครูธรรมวงศ์ ท่านเจ้าอาวาสวัดสันกำแพง อันวัดสันกำแพงนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านป่าหมุ้นไปอีกประมาณ ๑๕๐๐ เมตร ทั้งหนานปัญญาและหนานขา ต่างก้กราบไหว้เรียบเรียงเรื่องราวตามที่ตนได้ไปประสบพบพระพุทธรูปางช้างค้ำนี้ ให้ท่านพระครูธรรมวศ์ ท่านเจ้าอาวาสวัดสันกำแพงได้ทราบทุกประการ
นับจากวันที่ท่านทั้งสองอุบาสกได้ไปพบพระพุทธรูป และวัดร้างในกลางดงไผ่นั้นแล้ว ท่านพระครูธรรมวงค์หนานปัญญา และหนานขา ก็ช่วยกันป่าวประกาศศรัทธาประชาชนในระแวกบ้านนั้นไปช่วยกันแผ้วถางป่าดงพงไผ่และหญ้าคาที่หนาทึบนั้น ให้ราบเตียนดีงามแล้ว จึงได้พร้อมใจกันปฏิสังขรณ์สิ่งสลักหักพังต่างๆ ให้ดีงามขึ้นปรับปรุงให้เป็นสำนักสงฆ์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บรรดาศรัทธาประชาชนทั้งหลายที่อยู่ในระแวกนั้นต่างพากันไปกระทำการสักการะบูชาและร่วมทำบุญกันเป็นประจำทุกวันมา จนลุถึงฤดูกาลอยู่จำพรรษาท่านพระครูธรรมวงศ์จึงได้สั่งการให้หนานปัญญาและหนานขาที่เป็นผู้ค้นพบปูชนียสถานแห่งนี้ไปอาราธนาพระภิกษุปวน ญาวิละ แห่งสำนักวัดป่าแดด ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่พรรษาเป็นองค์แรกตั้งแต่นั้นมาสำนักสงฆ์แห่งนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นลำดับ จนกระทั่งตั้งเป็นอารามขึ้นมาจนตราบทุกวันนี้และเรียกชื่อตามนั้นว่า “วัดช้างค้ำ”
หลังจากที่ท่านครูบาบวน ญาวิโล ได้ถึงแก่กรรมมรณภาพลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ แล้ว รวม อายุ ๗๒ พรรษา จากนั้นภิกษุปั๋น ปณฺโญ รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส (ปัจจุบันสึกออกไปเป็นคฤหัสถ์อยู่บ้านป่าหมุ้น) เมื่อพระภิกษุปั๋นลาสิกขาบทออกไปแล้วก็ถึงสมัยของพระภิกษุศรีนวล อินฺทนนฺโท เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ หรือพระครูศิรินันทคุณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลมะกอกนับเป็นเวลาหลายปี แต่ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งเพราะประสบอุบัติเหตุขาพิการ
จากข้อสันนิษฐานของท่านเจ้าอาวาส ท่านพระครูศิรินันทคุณ ชี้ให้ดูหลักศิลาจารึกเป็นภาษาของของที่ฝังอยู่บนฐานเจดีย์ติดกับวิหาร ท่านสันนิษฐานว่าวัดช้างค้ำนี้คงสร้างมานานร่วม ๔๑๕ ปี ล่วงแล้ว เพราะมีข้อความตามหลักฐานศิลาจารึกตอนมีข้อความอ่านได้ว่า “จุลศักราช ๙๑๙ ปี ฯลฯ” ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๒๐๙๙ แต่ว่าจะร้างไปนานสักเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดจนกระทั่งมีผู้มาพบพระพุทธรูปปางช้างค้ำเข้า จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง ดังกล่าวแฃ้วและเจริญตามลำดับจนทุกวันนี้
ประวัติวัดช้างค้ำ
วัดช้างค้ำ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๗๘ บ้านพระบาท หมู่ที่ ๖ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๖๐ ตารางวา น.ส. เลขที่ ๑๓๖๑ อาณาเขตทิศเหนือประมาณ ๖๖ เมตรจดที่ดินสวนลำไยเอกชน ทิศใต้ประมาณ ๗๑ เมตร จดลำเหมืองและโรงเรียนวัดช้างค้ำ ทิศตะวันออก ๗๖ เมตร จดที่ดินเอกชน ทิศตะวันตกประมาณ ๗๕ เมตร จดที่ดินเอกชน มีธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒๐ ตารางวา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กู่หลวง” ด้านหลังที่ทำการ อบต.มะกอก อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยโรงอุโบสถ – วิหาร – ศาลาการเปรียญ – ศาลาเอนกประสงค์ ๙ ห้อง ศาลา อสมท. กุฎิสงฆ์ ศาลามหากัจจายานะ – หอฉันปูชนีย์วัตถุ มีพระพุทธรูป ก่ออิฐถือปูน พระพุทธรูปฝนแสนห่า – พระพุทธรูปทองเหลือง เจดีย์ทรงล้านนา แผ่นศิลาจารึกบนหลังเต่าปูนปั้นอักษรขอม
วัดช้างค้ำเริ่มก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๐ เดิมเป็นบริเวณป่าไม้ไผ่ได้มีศรัทธาชาวบ้านเข้ามาหาของป่าประเภทไม้ไผ่หน่อไม้ และของป่าเพื่อนำไปขายเลี้ยงชีพตลอดจนตัดไม้ไผ่ไปทำการสร้างที่อยู่อาศัย ชาวบ้านพบพระพุทธรูปศิลาแรงขนาดใหญ่ไม่มีเศียรองค์หนึ่งจึงได้เดินสำรวจบริเวณโดยรอบเห็นว่า เป็นอาณาเขตเหมาะสำหรับในการที่จะสร้างวัดจึงได้ไปกราบอาราธนาพระครูธรรมวงศ์เจ้าคณะอำเภอปากบ่องสมัยนั้นมาเป็นประธานในการก่อสร้างวัด และได้ชักชวนศรัทธาชาวบ้านระแวกนั้นช่วยกันแผ้วสร้างขึ้นเป็นอารามและพัฒนามาเป็นวัดให้ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองตามลำดับ โดยได้ประชุมปรึกษาตกลงกันไปกราบอาราธนาท่านครูบาปวน ญาณวีโล แห่งสำนักวัดป่าแดด มาเป็นเจ้าอาวาส และได้ร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์ ต่อพระเศียรพระพุทธรูปองค์ใหญ่ให้สมบูรณ์ถูกต้องตามสารูปพระพุทธเจ้า และได้เจาะลงไปพบพระพุทธรูปทองเหลืองสององค์ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้ว ปางมารวิชัยโมลีแหลมศิลปะสุโขทัย มีรูปช้างชูงวงรอบฐานพระฝีมือช่างโบราณหล่อหัวช้างชูงวง ๑๗ หัว จึงได้เอามาเป็นมังคละ หรือมงคลว่า “วัดช้างค้ำ” นับแต่นั้นมา พระพุทธรูปอีกองค์ สาธุชนร่วมกันถวายพระนามว่าพระพุทธรูปฝนแสนห่า ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ทองเหลืองเช่นเดียวกับปางมารวิชัยโมลีหักหายไปตามกาลสมัย
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2400
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 เดือน มกราคม พ.ศ. 2420
สถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดวัดช้างค้ำ
ชื่อกิจกรรม ปฏิบัติธรรม – ฟังเทศน์มหาชาติ – สืบชาตาหลวงล้านนานำพาชีวิตเป็นสุข วันที่เริ่ม ๒๘ ธ.ค. – ๑ ม.ค. เวลาเริ่ม ๑๖.๐๐ น.
วันที่สิ้นสุด ๑ ม.ค. เวลาสิ้นสุด ๑๕.๐๐ น.
ระยะทางจากจังหวัดลำพูน สู่วัดช้างค้ำ เป็นระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร ตามถนนป่าซาง – ลี้
รายละเอียดกิจกรรม จัดให้มีกิจกรรมปฏิบัติธรรมแนวปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ – ฟังเทศน์มหาชาติล้านนา – ตักบาตรพระ ๑๐๘ – อุทิศแก่คณะญาติ – และเสริมดวงชาตา (สืบชาตาหลวงล้านนาหริภุญชัย) เป็นประจำทุกปี
วัดช้างค้ำ ลำพูน โทรสาร. ๐๕๓ – ๕๗๒๒๐๗
มือถือ ๐๘ – ๐๘๕๖ – ๙๗๗๘ , ๐๘ – ๖๑๘๗ – ๕๓๒๕
ความน่าสนใจภายในวัดช้างค้ำ
วัดช้างค้ำ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นพุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์วัดหนึ่งในจังหวัดลำพูน เพราะว่าวัดดังกล่าวถือเอานามพระพุทธรูปที่มีเศียรช้าง ๑๗ เศียร รอบฐานพระพุทธรูปอันเป็นพระพุทธประจำวัดช้างค้ำ กล่าวถึงช้างนี้เป็นสัตว์มงคลชนิดหนึ่งใน ๔ ชนิด คือ ม้า ช้าง พญานาค และราชสิงห์ ช้างมีความสำคัญต่อวิถีชวิตของคนไทยเป็นต้นว่าเป็นช้างคู่พระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ ทั้งการรบการสืบสานวัฒนธรรมไทยจนได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ผูกพันรอบๆ ตัวเราท่านมาโดยตลอด มิได้เลือนรางจากชีวิตเราเลยดังนั้นวัดช้างค้ำทุกยุค ทุกสมัยต่างก็มีพระมหาเถระ อดีตเจ้าอาวาส ที่มีศีลสุตาธิคุณ เมตตาบารมีธรรมสูงส่งทางด้านต่างๆ เช่น ครูบาปวน เมตตา คงกระพันชาตรี พระครูบาศรีนวล อินทนันโท เมตตาบารมี แคล้วคลาด ซื้อง่าย ขายคล่อง นา นา ประการ วัดช้างค้ำได้สืบสานและอนุรักษ์และศึกษาวิชาอาคมอันทรงอิทธิพล ให้เกิดแก่ท่านที่มีความเคารพพุทธคุณของพระบูรพาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสและอาจารย์ที่มีเมตตาธรรมจึงได้จัดสร้างและปฏิบัติพิธีสืบชะตา เสริมอายุวัฒนมงคลแก่สาธุชนผู้มีความปรารถนาสรรพมงคลให้เกิดแก่ตัวท่านสาธุชนและครอบครัว สำนักงาน การงานในหน้าที่โดยทางวัดช้างค้ำได้จัด สร้างวัตถุมงคลและพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์บังสุกุลให้มีความสุขสบายตามประสงค์ตลอดจนสร้างเทียนค้าขาย อนุเคราะห์พิธีกรรมทางล้านนา ตามแบบโบราณ อาศัยการกระทำสิ่งอันเป็นมงคลสืบต่อจากครูบาอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสทุกๆ สมัย ดังโบราณว่า “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยมนต์คาถา” อันเป็นพุทธคุณสำหรับพิธีกรรมทางวัดช้างค้ำถือปฏิบัติหรือปฏิทินบุญของคณะผู้บริหารทางวัดปฏิบัติสืบกันมาคือ
๑. วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปีจะจัดให้มีพิธีสืบชะตาหลวงแบบล้านนา (เสริมดวงส่งปีเก่ารับปีใหม่)
๒. วันที่ ๒๕ มีนาคม – ๑๒ เมษายน ของทุกปี จัดกิจกรรมบรรพชาอุปสมบทเยาวชนภาคฤดูร้อน
๓. วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี จัดพิธีสืบชะตาหลวงเพื่อรับปีใหม่เมือง (สงกรานต์) เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข
๔. วันเดือน ๙ เหนือ (ล้านนา) ออก ๙ ค่ำ ของทุกปี จัดงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์และอัฐิของบูรพาอาจารย์ ของวัดช้างค้ำ
๕. วันที่ ๒๗ ธ.ค. – ๑ ม.ค. ของทุกปี จัดประเพณีฟังเทศน์มหาชาติแบบล้านนา (ตั้งธรรมหลวง) ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ – สืบชาตาหลวง รับ พ.ศ. ใหม่
นอกจากวัดช้างค้ำ โดยการนำของท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระมหาประสิทธิ์ ธมฺมาภินนฺโท ป.ธ.๘ ได้สืบสานอนุรักษ์ประเพณีพิธีกรรมแบบล้านนา จากอดีตเจ้าอาวาสวัดช้างค้ำ และครูบาอาจารยืหลายๆ สำนักมาปฏิบัติเพื่อความอนุเคราะห์ท่านผู้ใจบุญทุกท่านที่มีความไม่สบายใจ – กาย – จิตใจ โดยอาจจะมีสิ่งอันเป็นอัปมงคล บั่นทองชีวิตตลอดจนบรรดาอสุรกายอาจมาเบียดเบียนทำให้เสียขวัญและกำลังใจเชิญปรึกษาได้ที่วัดช้างค้ำ ตามจิตศรัทธาของผู้ปฏิบัติ
- พิธีสืบชะตา ปฏิบัติก่อนเวลาเที่ยงวัน ทุกวันที่พร้อม
- จัดทำเทียนชุดสะเดาะเคราะห์ – เสริมชะตาราศรี – เสริมลาภสักการะ – เสริมลาภเดินทางค้าขาย – เสริมมหา สิทธิโชคใหญ่ ดังคำโบราณกล่าวว่า “รู้ธรรมได้ด้วยการศึกษาธรรมะ อาราธนาพุทธคุณปกป้อง คุ้มครองได้ ด้วยการปฏิบัติพิธีธรรมแบบล้านนา
ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555
พระมหาประสิทธิ์ ธมฺมาภินนฺโท เจ้าอาวาสวัดช้างค้ำ
พระมหาประสิทธิ์ ธมฺมาภินนฺโท
ปัจจุบันอายุ 49 ปี
บวชมาแล้ว 16 พรรษา
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดช้างค้ำ และยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
ประวัติด้านการศึกษาของพระมหาประสิทธิ์ ธมฺมาภินนฺโท
พระมหาประสิทธิ์ ธมฺมาภินนฺโท เจ้าอาวาสวัดช้างค้ำ
จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถานบันการศึกษามหาลัยสุโขทัย เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2529
อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างค้ำ
พระครูบาปวน ญาณวีโร |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2420 ถึงปี พ.ศ.2482 |
พระบุญปั๋น ปัญญาวโร |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 ถึงปี พ.ศ.2484 |
พระครูศิรินันทคุณ (ครูบาศรีนวล อินฺทนนฺโท) |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 ถึงปี พ.ศ.2545 |
พระมหาประสิทธิ์ ธมฺมาภินนฺโท ป.ธ.๘ |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบัน |
การจัดการศึกษาภายในวัดช้างค้ำ
การจัดการศึกษาภายในวัดช้างค้ำนั้น จะประกอบไปด้วย
- ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
- จัดการศึกษาแผนกธรรม-บาลี
- ศูนย์อบรมประชาชนประจำตำบล
- สวนสมุนไพรในวัด
- โครงการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน
- ศูนย์บริการสุขภาพและสวัสดิการผู้สูงอายุ