วัดพระพุทธบาทตากผ้า
ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดพระพุทธบาทตากผ้า
- ชื่อวัด: วัดพระพุทธบาทตากผ้า
- ประเภทวัด: พระอารามหลวง
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 38 รูป
- สามเณร: 50 รูป
- ลูกศิษย์วัด: 12 คน
- ที่ตั้ง: เลขที่ 279 หมู่ 6 บ้านพระบาท ลำพูน - ลี้ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน รหัสไปษณีย์ 51120
- เนื้อที่: 175
- โทร: 053005200
- แฟกซ์: 053005200
- เว็บไซต์: www.phrabat.com
ประวัติความเป็นมา
ประวัติวัดพระพุทธบาทตากผ้า
วัดพระพุทธบาทตากผ้า เดิมเป็นวัดราษฎร์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม
พ.ศ. ๒๕๑๖ และได้รับการยกฐานะเป็นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม
พ.ศ.๒๕๒๑ ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ ๑๗๕ ไร่ ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ยๆ อยู่ใกล้ดอย (เขา) ๒ ลูกคือ ดอยช้างและดอยเครือ อยู่ห่างจากเมืองลำพูนประมาณ ๑๙ กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน หรือของภาคเหนือ
ปัจจุบัน วัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรม และบาลี ของพระภิกษุสามเณรในภาคเหนือ นอกจากนี้แล้ว ทางวัดได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการศึกษา ได้จัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้น เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และผู้สนใจทั่วไป
ตำนาน วัดพระพุทธบาทตากผ้า
ตำนาน วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้กล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้า ได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ ในสุวรรณภูมิประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน) พระองค์ได้เสด็จไปในที่ต่างๆ กระทั่งเสด็จถึงบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้าแห่งนี้ซึ่งเป็นผาลาด จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาทลง ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมวลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายและพระองค์ได้ตรัสให้พระอานนท์เอาจีวรไปตากบนผาลาด ใกล้บริเวณที่ประทับ ซึ่งปรากฏเป็นรอยเลือนลางอยู่ ดังนั้น วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดพระพุทธบาทตากผ้า” มาถึงทุกวันนี้
ประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ พระนางจามเทวี ราชบุตรีของพระเจ้ากรุงละโว้ (ลพบุรี) ได้เสด็จมาครองนคร
หริภุญชัย (ลำพูน) พระนางได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทเป็นพุทธบูชา
พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้รับอาราธนาจากคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน ซึ่งมีพระครูพุทธิวงศ์ธาดา วัดฉางข้าวน้อยเหนือ เจ้าคณะอำเภอปากบ่อง (ป่าซาง) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีหลวงวิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล)เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ได้ทำการก่อสร้างวิหารจัตุรมุขจนสำเร็จ
พ.ศ.๒๓๗๕ ครูบาอาจารย์หลายท่าน โดยมีครูบาป๋า ปารมี วัดสะปุ๋งหลวง เป็นประธาน พร้อมด้วยทายก ทายิกา ได้ก่อสร้างวิหารหลังใหญ่ค่อมมณฑปไว้อีกชั้นหนึ่ง
พ.ศ.๒๔๘๖ คณะสงฆ์ โดยมีพระญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน วัดพระยืน เป็นประธาน พร้อมด้วย
ข้าราชการ ประชาชน ได้อาราธนา ท่านครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก วัดป่าหนองเจดีย์ ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง มาเป็นประธานอำนวยการก่อสร้าง และดูแลกิจการของวัด โดยมีพระอธิการศรีนวล อินฺทนนฺโท วัดช้างค้ำ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
พ.ศ.๒๕๐๒ ท่านครูบาพรหมา ได้เริ่มการพัฒนาวัดอย่างเต็มที่ โดยการลงมือทั้งก่อสร้างและซ่อมแซมถาวรวัตถุที่ทรุดโทรม เช่น พระวิหารจตุรมุข ได้ต่อเติมยอดมณฑปขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ก่อสร้างพระอุโบสถทั้งหลังเก่าและหลังใหม่ ศาลาการเปรียญทั้งหลังเล็กและหลังใหญ่ กุฏิแถว โรงเรียนพระปริยัติธรรม กำแพงวัด และอื่นๆ เป็นที่ปรากฏอย่างที่เห็นใจปัจจุบัน
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• วัดพัฒนาตัวอย่าง พ.ศ. 2519
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 25 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2516
• วัดพัฒนาดีเด่น พ.ศ. 2547
สถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดวัดพระพุทธบาทตากผ้า
พระวิหารจตุรมุข
พระวิหารจตุรมุข เป็นสถานที่ที่สำคัญของวัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมาเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ในเขตสุวรรณภูมิ ซึ่งพระองค์ได้ประทับรอยพระบาทไว้เป็นจำนวน ๒ รอย คำว่า จตุรมุข มาจากคำว่า จตุร แปล ว่า ๔ กับคำว่า มุข แปลว่า ปาก หรือ หน้า ดังนั้นวิหารจตุรมุขจึงหมายถึง วิหารที่มี ๔ หน้า (ประตู) นั่นเอง
วิหารจตุรมุขหลังนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ จากการที่พระนางจามเทวี ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทเป็นพุทธบูชา จากนั้นปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านครูบาศรีวิชัย ได้รับอาราธนาจากคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน พร้อมด้วย หลวงวิโรจน์รัฐกิจ ทำการก่อสร้างวิหารจัตุรมุขจนสำเร็จ ต่อมา พ.ศ.๒๓๗๕ ครูบาอาจารย์หลายท่าน โดยมีครูบาป๋า ปารมี วัดสะปุ๋งหลวง เป็นประธาน พร้อมด้วยทายก ทายิกา ได้ก่อสร้างวิหารหลังใหญ่ค่อมมณฑปไว้อีกชั้นหนึ่ง และปี พ.ศ.๒๕๐๒ ท่านครูบาพรหมาได้ทำการการก่อสร้างและซ่อมแซมพระวิหารจตุรมุข และได้ต่อเติมยอดมณฑปขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ประวัติรอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาท เป็นรอยพระบาทที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทับไว้ มีจำนวน ๒ รอย มีลักษณะของพระพุทธบาทขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน รอยพระบาทรอยใหญ่ ขนาดกว้าง ๑.๒๒ เมตร ยาว ๒.๗๕ เมตร รอยพระพุทธบาทขนาดเล็ก ประดิษฐานถัดจาก รอยพระพุทธบาทรอยใหญ่ไปทางด้านหลังห่างกันเล็กน้อย มีขนาดกว้าง ๐.๙๖ เมตร ยาว ๑.๗๔ เมตร รอยพระพุทธบาททั้ง ๒ รอย ได้วางผินปลายนิ้วพระพุทธบาทไปทางทิศตะวันออก ประดิษฐานกลางพระวิหารจตุรมุข
ประวัติรอยตากผ้า
รอยตากผ้า เป็นรอยที่ปรากฏอยู่บนแผ่นศิลาแลงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีความกว้าง ๒.๙๗ เมตร ยาว ๔.๒๓ เมตร รอบรอยตากผ้าได้ทำฐานด้วยศิลาแลง ขนาด ๐.๓๐ x ๓.๓๐ เมตร มีความสูง ๐.๓๗ เมตร ตั้งใบเสมาที่ทำด้วยศิลาแลงไว้บนฐานโดยรอบจำนวน ๓๓ ใบ ตามตำนานกล่าวว่า ในครั้งอดีตกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดเวไนยสัตว์มายังดินแดนสุวรรณภูมิ จนกระทั่งเสด็จมายังดินแดนล้านนา ขณะที่พระองค์เสด็จผ่านแม่น้ำสองงสาย คือ แม่น้ำปิง และแม่น้ำกวง รับสั่งให้พระอานนท์นำจีวรไปซัก ในแม่น้ำ จากนั้นเสด็จมาจเรื่อยๆจนถึงบริเวณผาผาลาดแห่งนี้แล้วทรงหยุดรับสั่งให้พระอานนท์นำจีวรไปตากบนแผ่นศิลาแลงขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดรอยตารางขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าขึ้น ปรากฏถึงปัจจุบัน
วิหารพระพุทธเจ้า๕ พระองค์
วิหารพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นี้ คุณสิทธิ ศิลปวานิช พร้อมครอบครัวเป็นเจ้าภาพสร้างถวาย ทำพิธีเททองเหล่อ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ และวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ในการก่อสร้าง พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คุณอรุณี สิรินทะสมบัติ พร้อมครอบครัวญาติพี่น้อง เป็นเจ้าภาพใหญ่ ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปสุโขทัยทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ประดับอัญมณีมีค่า หน้าตักกว้าง ๑.๙๕ เมตร สูง ๒.๕๙ เมตร จำนวน ๕ องค์ พร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ และองค์รวมอีก ๑ องค์ ซึ่งมีพระพุทธลักษณะเช่นเดียวกัน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์มาบรรจุในองค์รวมนี้ด้วย
รอยเท้าครูบา
รอยเท้าท่านครูบา มีขนาดเท่ารอยเท้าจริงของท่านครูบา กว้างประมาณ ๙ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๙ เซนติเมตร ได้ปรากฏบนรอยบนศิลาแลง ซึ่งเป็นลานปฏิบัติธรรมประจำของท่านครูบา อยู่ภายในบริเวณหลังวัด มีมณฑปครอบไว้ด้านบนอีกชั้นหนึ่ง การปรากฏรอยเท้าท่านครูบานั้น เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่มิได้คาดคิดว่าจะได้มีสิ่งที่อนุสรณ์ถึงท่านครูบาเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
วัดพระพุทธบาตากผ้าเป็นวัดที่จัดให้มีกิจกรรมหลายอย่างในรอบปีหนึ่งๆ งานทำบุญวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดของท่านครูบา วันที่ ๓๐ สิงหาคมของทุกปี ก็เป็นงานบุญอย่างหนึ่งที่ญาติโยมคณะศิษยานุศิษย์ทุกรูปทุกคน ตั้งใจรอคอย เพราะว่าเป็นงานที่แสดงถึงความเคารพนับถือ ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อท่านครูบา
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ เมื่อก่อนที่จะถึงวันเกิดของท่านครูบา ญาติโยมและคณะศิษยานุศิษย์ได้มาประชุมพร้อมกัน เพื่อเตรียมการจัดงานทำบุญวันคล้ายวันเกิดของท่านครูบาเหมือนทุกปี ในที่ประชุมก็ปรารภว่า ปีนี้ขอจัดงาน ทำบุญวันคล้ายวันเกิดของท่านครูบาให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกๆปี จะนิมนต์พระสงฆ์จากที่ต่างๆให้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เมื่อปรึกษาหารือเป็นการยุติแล้ว จึงได้ไปกราบเรียนครูบาตามที่ได้ปรึกษาหารือกันไว้แล้วนั้น ท่านครูบาได้กล่าวเพียงว่า "ปีนี้ขอจัดงานวันเกิดเป็นกรณีพิเศษ" ทุกฝ่ายที่ได้รับฟังรู้สึกดีใจกันทุกรูปทุกคนว่า ท่านครูบาจะได้จัดงานทำบุญในปีนี้อย่างยิ่งใหญ่ จัดเป็นพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมาตามที่ได้กราบเรียนท่านไว้แล้ว แต่ท่านครูบาได้บอกว่า "ปีนี้ไม่ต้องจัดอะไรทั้งนั้น จะขอเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐาน ๗ วัน ขอสามเณรมาอุปัฏฐากดูแลก็พอแล้ว" เป็นอันว่าปีนี้ไม่ได้จัดงานอะไรที่เป็นการทำบุญเหมือนเช่นทุกปี เพียงแต่ท่านครูบาได้เข้าปฏิบิตกัมมัฏฐาน ๗ วันตามที่ได้ตั้งใจไว้ ส่วนญาติโยมและคณะศิษยานุศิษย์ ก็ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานในวันคล้ายวันเกิดถวายท่านครูบาเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
วิหารพระเจ้าทันใจ
วิหารพระเจ้าทันใจ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลาการเปรียญหลังใหญ่ เป็นวิหารที่เก่าแก่คู่กับวัดพระพุทธบาทตากผ้ามานมนาน เป็นวิหารทรงไทย ฝาผนังก่อด้วยศิลาแลง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ส่วนของหน้าบันเกาะสลักลวดลายสวยงามมาก ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย เรียกกันว่า "พระเจ้าทันใจ"
พระเจ้าทันใจนั้น สร้างด้วยปูนปั้น ช่างสกุลล้านนา ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน หน้าตักกว้าง ๑.๒๑ เมตร สูง ๑.๙๐ เมตร มีพุทธลักษณะสง่างาม เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปที่นิยมสร้างในวัดที่สำคัญในภาคเหนือ และต้องสร้างให้เสร็จภายใน ๑ วัน เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีพุทธานุภาพ สามารถให้เกิดโชคลาภ เกิดความสำเร็จแก่ผู้ขอพรได้ตามความปรารถนาอย่างทันอกทันใจ
การสร้างพระเจ้าทันใจ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเพราะจะต้องเตรียมการเพื่อสร้างให้เสร็จภายในวันเดียว คือ เริ่มทำพิธีสร้างองค์พระตั้งแต่ ๖ ทุ่มเป็นต้นไป และสร้างให้แล้วเสร็จก่อนตะวันตกดิน คือ ก่อน ๑๘ นาฬิกา จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เชื่อว่าเป็นเพราะพุทธานุภาพ เทวานุภาพที่บันดาล ให้ปราศจากอุปสรรค และความตั้งใจมั่นของผู้สร้างที่ได้พร้อมจิตพร้อมใจร่วมกันสร้าง แต่ถ้าการสร้างไม่เสร็จภายในวันเดียว จะเป็นพระพุทธรูปธรรมดาไป
กุฏิหุ่นขี้ผึ้งครูบา
กุฏิหุ่นขี้ผึ้งครูบา แต่เดิมนั้นเป็นกุฏิที่พักของท่านครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ประดิษฐาน หุ่นขี้ผึ้งของท่านครูบา และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงพระธาตุของพระสาวกของพระพุทธเจ้า
รูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งของท่านครูบา เป็นหุ่นที่ปั้นเท่าองค์จริง ประดิษฐานไว้กลางกุฏิไม้สักหลังใหม่ แต่เดิมเป็นอาคารที่คณะศิษย์ได้สร้างถวายท่านครูบาเพื่อใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส ท่านครูบาจะพักอยู่ห้องเล็กๆทางด้านหลัง และด้านหน้าเป็นที่รับแขกที่ไปขอเข้าพบ เมื่อท่านครูบาได้ถึงแก่มรณภาพลง คณะศิษย์จึงได้สร้างรูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งเท่าองค์จริงท่านครูบาตั้งไว้แทน ความคุ้นเคยที่พบเห็นเป็นประจำก็คือว่า ผู้ที่มุ่งมาสู่วัดพระพุทธบาทตากผ้านั้น มาเพื่อกราบนมัสการปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ขอเข้าปฏิบัติกรรมฐาน และเพื่อศึกษาเล่าเรียน สิ่งหนึ่งที่เป็นความตั้งใจก็คือ การได้มาพบและสนทนาธรรมกับท่านครูบา ปกติแล้วท่านครูบาจะมารับแขกที่ด้านหน้ากุฏิ บางครั้งท่านรับแขกตั้งแต่เช้าถึงเย็น จะขอโอกาสก็เฉพาะเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามกิจวัตรประจำวัน ก็คือการปฏิบัติธรรมด้านหน้ากุฏิใต้ต้นบุนนาค เวลาทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็น บางครั้งท่านครูบารับแขกตลอดวัน ญาติโยมมาขอเข้าพบติดๆกัน ท่านครูบาเกิดอาการเมื่อยล้าตามอายุสังขาร แต่ก็ต้องใช้ความอดทน เพราะท่านครูบาเห็นว่ากว่าญาติโยมจะมาถึงวัดพระพุทธบาทตากผ้าก็แสนลำบาก เมื่อตั้งใจมาแล้วก็สมควรจะได้พบและได้รับฟังโอวาทคำสอนเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมกัมมัฏฐาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เข้าพบ บางครั้งท่านครูบารับแขกถึงกับจะเป็นลมก็มี แต่ก็ต้องใช้ความอดทนเพื่อรักษาศรัทธาของผู้ที่พบเห็น ท่านครูบาเห็นว่าญาติโยมที่มาเยี่ยมวัดจะต้องจัดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อท่านครูบาได้ถึงแก่มรณภาพลงแล้ว ความคุ้นเคยที่ว่ากุฏิไม้สักแห่งนี้เป็นที่เคยรับแขกเป็นประจำของท่านครูบา แม้เมื่อท่านครูบาจากไปแล้ว คณะศิษย์และญาติโยมก็ยังเวียนไปที่กุฏิไม้สักนี้มิได้ขาด ทำเสมือนว่าท่านครูบายังมีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้คณะศิษย์จึงได้สร้างหุ่นขี้ผึ้งเท่าองค์จริงขึ้น เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ นำมาตั้งประดิษฐานไว้ด้านหน้ากุฏิตรงที่ท่านครูบาเคยนั่งรับแขกเป็นประจำ
หลวงพ่อตะเคียนทอง
หลวงพ่อตะเคียนทอง หรือ สมเด็จพระพุทธสิทธิเทพมุนีศรีบุญฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทองที่ทีอายุนับพันปี หน้าตักกว้าง ๑.๖๕ เมตร สูง ๑.๙๐ เมตร เป็นพระปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย สร้างเสร็จเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ หลวงพ่อตะเคียนทององค์นี้มีพุทธลักษณะที่พิเศษกว่าองค์อื่นๆ ที่สร้างจากไม้ตะเคียนทองต้นเดียวกัน คือ มีตาไม้ตรงกับพระเนตรทั้ง ๒ ข้างขององค์พระ เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง มีพุทธลักษณะสง่างาม ไม้ตะเคียนทองต้นนี้มีอายุนับพันปี ชาวบ้านเล่าว่า เคยถูกฟ้าผ่า และถูกไฟเผามาแล้ว ยืนต้นอยู่ที่ใกล้วัดน้ำอินทร์ อ.ลอง จ.แพร่ คราวหนึ่งได้มีพระธุดงค์ได้พบคุณสิทธิ ศิลปวานิช และได้เล่าเรื่องไม้ตะเคียนทองต้นนี้ให้ฟัง และแนะนำว่าควรที่จะนำมาแกะเป็นพระ ปกติคุณสิทธิเป็นผู้ที่สร้างพระที่หล่อด้วยทองเหลือง เพราะทำง่าย และใช้เวลาไม่นานนัก แต่พอได้รับคำแนะนำจากพระธุดงค์จึงมีความสนใจ และได้เดินทางไปดูต้นตะเคียนทองดังกล่าว ครั้งแรกได้ทำการบวงสรวงอธิษฐานขอให้ได้สำเร็จดังประสงค์ ได้บอกแก่ชาวบ้านว่า จะนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปไม้ตะเคียนทอง แต่การเจรจาไม่ตกลงกัน ครั้งที่ ๒ ได้ทำการบวงสรวงอีก และได้ไปเจรจากับชาวบ้าน เป็นอันตกลงว่าให้ทำบุญกับทางวัด เพื่อนำปัจจัยไปสร้างศาลา จึงจะสามารถนำไม้ตะเคียนทองไปได้ เป็นอันว่าได้ไม้ตะเคียนทองมาสมความปรารถนา ก่อนนำขึ้นรถเพื่อนำไปแกะสลักเป็นองค์พระที่จังหวัดลำพูน ก็ได้บวงสรวงอีกครั้งหนึ่ง การขนย้ายไม่ได้มีอุปสรรคแต่ประการใด
ประวัติพระธาตุเจดีย์ ๔ ครูบา
พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก) ได้เคยปรารภให้ศิษย์ฟังตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ว่า อยากจะสร้างพระธาตุเจดีย์สักองค์บนยอดดอยเครือ ซึ่งเป็นดอยที่ตั้งอยู่หลังวัดพระพุทธบาทตากผ้า และได้ปรารภอีกหลายครั้ง อันแสดงถึงความตั้งใจที่จะสร้างพระธาตุเจดีย์บนดอยเครือ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยท่านได้ให้แนวคิดว่า เมื่อมองแต่ไกลสามารถมองเห็นยอดเจดีย์ให้ตรงกับมณฑปมีบันไดทอดขึ้นไปสู่พระเจดีย์ก็จะเกิดความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง และครั้งสุดท้ายท่านก็ ปรารภที่จะสร้างและให้รีบดำเนินการขอเช่าดอยเครือจากกรมป่าไม้ให้เรียบร้อย ก่อนที่จะถึงมรณภาพเพียงสองวัน คือในวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ อันเป็นวันมรณภาพของท่านครูบา
คณะศิษย์โดยมี ท่านพระครูเวฬุวันพิทักษ์ (พระมหาเขื่อนคำ อตฺตสนฺโต) เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้สนองเจตนารมณ์ของท่านครูบา ท่านรับเป็นประธานในการก่อสร้าง ออกแบบแปลน และหาทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง โดยคำนึงถึงความสวยงาม และประโยชน์ใช้สอยอย่างสูงสุด รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระธาตุ ๔ ครูบา ได้นำแบบมาจากโบราณสถานซึ่งกอร์ปด้วยศิลปะอันทรงคุณค่าหลายแห่งเข้าด้วยกัน ดังนี้
๑.องค์พระเจดีย์ ได้นำรูปแบบมาจากพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน มีลักษณะเป็นรูปทรงระฆังแบบล้านนา ที่สวยงามห่อหุ้มทองแดง(ทองจั๋งโก๋) ก่อนปิดทองจริง
๒.ซุ้มใหญ่ภายใน ได้นำรูปแบบมาจากพระบรมธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และแบบพระเจ้าล้านทอง จังหวัดลำปาง
๓.ซุ้มประตูเข้าสู่ลานพระเจดีย์ ได้นำรูปแบบมาจากซุ้มประตูวัดพระธาตุลำปางหลวงจังหวัดลำปาง ประตูใช้ไม้ สักทอง แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม ส่วนยอดของพระเจดีย์ ได้บรรจุของมีค่า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในส่วน ทรงระฆัง ด้านบน ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนับหมื่นองค์
ส่วนฐานของเจดีย์ เป็นทรงระฆังใหญ่ มีประตูเข้าทั้ง ๔ ด้าน ข้างในเป็นโถงใหญ่ ตั้งมณฑปตรงกลางภายใน ได้ประดิษฐานรูปหล่อของ ๔ ครูบาไว้ ทิศละรูป พร้อมบรรจุอัฐิของแต่ละครูบาไว้ในองค์รูปหล่อเหมือนของแต่ละรูปด้วย อันเป็นที่มาของชื่อ “พระธาตุเจดีย์ ๔ ครูบา” ซึ่ง ๔ ครูบา ประกอบด้วย
ทิศตะวันออก ประดิษฐานรูปหล่อของ ครูบาพ่อเป็ง โพธิโก (บิดา) วัดนครเจดีย์ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ชาตะ พ.ศ. ๒๔๐๕ มรณภาพ พ.ศ. ๒๔๙๕ สิริอายุได้ ๙๐ ปี พรรษา ๒๘
ทิศใต้ ประดิษฐานรูปหล่อของ พระสุธรรมญาณเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) (พระพี่ชาย) วัดวนาราม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ชาตะ พ.ศ. ๒๕๓๙ มรณภาพ พ.ศ. ๒๕๒๑ สิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๒
ทิศเหนือ ประดิษฐานรูปหล่อของ พระสุพรหมญาณเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ชาตะ พ.ศ. ๒๔๔๑ มรณภาพ พ.ศ. ๒๕๒๗ สิริอายุได้ ๘๗ ปี พรรษา ๖๗
ทิศตะวันตก ประดิษฐานรูปหล่อของ พระครูสุนทรคัมภีรญาณ (ครูบาคัมภีระ) (พระน้องชาย)วัดดอยน้อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ชาตะ พ.ศ. ๒๔๔๓ มรณภาพ พ.ศ. ๒๕๐๓ สิริอายุได้ ๖๐ ปี พรรษา ๔๐
ความดำริของท่านครูบา ได้สำเร็จสมดังความปรารถนาทุกประการ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมายกยอดฉัตรพระเจดีย์ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมพาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลา ๙.๐๐ น.
มณฑปรอยเท้าพระอรหันต์ ๗ ขวบ
รอยเท้าพระอรหันต์ ๗ ขวบ เป็นรอยเท้าที่เท่าของจริง ปรากฏอยู่ใกล้วิหารจตุรมุข ด้านทิศตะวันออก เป็นรอยเท้าที่ปรากฏอยู่บนศิลาแลง มีขนาดยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๕ เซนติเมตร ทางวัดได้ลงรักปิดทองไว้อย่างสวยงาม มีฑปเล็กๆครอบไว้อีกทีหนึ่ง
ธรรมเนียมการเสด็จไปยังที่ต่างๆของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะมีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกก็จะตามเสด็จไปเป็นหมู่ใหญ่ สู่คามนิคมน้อยใหญ่เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ผู้สมควรได้รับรสแห่งพระธรรมคำสอน เว้นไว้แต่พระเถระบางรูปที่พระองค์มีพุทธะประสงค์ให้อยู่ต่อเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ อนุเคราะห์สงเคราะห์ ศรัทธาญาติโยมในถิ่นนั้น
การปรากฏรอยเท้าของเด็กเล็กๆ ซึ่งมีขนาดความยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ที่เรียกว่ารอยเท้าของพระอรหันต์ ๗ ขวบนั้น การที่จะปรากฏรอยเท้าเล็กๆ ขึ้นบนหินศิลาแลงได้นั้น ประการสำคัญต้องเป็นผู้ที่มีบุญบารมี หรือเป็นผู้ที่สามารถทิ้งโลกโลกีย์วิสัย กิเลสเครื่องเศร้าหมองต้องหมดไปจากสันดานเท่านั้น จึงสามารถอธิษฐานประทับรอยเท้าไว้ได้ เมื่อเป็นดังนี้ รอยเท้าเล็กๆ ที่ปรากฏอยู่ข้างวิหารจตุรมุขนั้น จึงเป็นรอยเท้าของพระอรหันต์ ที่มีอายุ ๗ ขวบนั่นเอง .
พระอุโบสถ
พระอุโบสถนั้น ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวิหารจตุรมุข เป็นอาคารทรงไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามีสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบทอง พื้นปูด้วยไม้ปาเก้ ฝาผนังเป็นศิลาแลงโบกด้วยปูน ประตูและหน้าต่างเป็นบานไม้ แกะสลักลายไทย ลงรักปิดทองอย่างสวยงาม หน้าต่างประตูพระอุโบสถมีทั้งหมด ๑๒ ช่อง บนซุ้มหน้าต่างประดับลวดลายด้วยรูป ๑๒ นักษัตร ฝีมือประณีตบรรจงมาก ด้านในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธชินราชมงคลบิตร ปางมารวิชัย สถิตอยู่ซุ้มเรือนแก้วอันงดงาม พุทธลักษณะสร้างเลียนแบบพระพุทธชินราช มีอัครสาวก คือ พระมหาโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ประนมมืออยู่เบื้อซ้ายและขวาของพระพุทธรูป
พระอุโบสถหลังใหม่นี้ บูรณะซ่อมแซมจากหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้ ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ กำหนดเขตกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาตัดลุกนิมิต ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสร วัดพระพุทธบาทตากผ้า เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙
ศาลาการเปรียญ
ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนของหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ พื้นเป็นคอนกรีตปูกระเบื้อง ส่วนของฝาผนังก่อด้วยศิลาแลง ฉาบทับด้วยปูน ศาลาการเปรียญ หลังใหญ่ นี้ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ของวัด ใช้เป็นที่ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ของพระภิกษุ-สามเณร อุบาสก-อุบาสิกา ภายในวัด รวมทั้งใช้เป็นที่ ฉันภัตตาหารเช้า เพล ของพระภิกษุ -สามเณรภายในวัดด้วย
ส่วนด้านหน้า ของศาลาการเปรียญ เรียกว่า ศาลาดาดฟ้า ใช้สำหรับฉันภัตตาหารของสามเณรภายในวัดเช่นกัน ด้านหน้าของศาลาดาดฟ้า เป็นที่บูชาวัตถุมงคลของวัด
ด้านหลังของศาลาการเปรียญ เรียกว่า ศาลากรรมฐาน ใช้สำหรับสอนกรรมฐานแก่พระภิกษุบวชใหม่ และใช้เจริญกรรมฐานของพระภิกษุ-สามเณร อุบาสก - อุบาสิกา และพุทธศาสนิกชนผู้เข้าปฏิบัติธรรมทั่วไป
ศาลาพระสังกัจจายน์
ศาลาพระสังกัจจายน์ หลังนี้ เป็นศาลาโล่งๆ ล้อมรอบด้วยไม้แกะสลัก ส่วนเสาของศาลานั้น เป็นลายปูนปั้นที่สวยงามมาก ส่วนของหลังคานั้นมุงด้วยกระเบื้องเคลือบ สร้างเสร็จเมื่อ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ส่วนขององค์พระนั้นเป็นหินแกะสลัก สร้างขึ้นโดยมีคุณพรหมวิชิต - คุณนงลักษณ์ สุจิรพงศ์สิน พร้อมครอบครัว เป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างถวายแก่วัด และมีพระครูพุทธิญาณโสภณ เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง พระพุทธรูปองค์นี้ มีชื่อว่า "พระสังกัจจายน์สิทธิมหาลาภ"
พระสังกัจจายน์นั้น มีพุทธลักษณะอ้วน พุงพลุ้ย มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ โชค ลาภ เป็นหนึ่งในพระสาวกผู้ใหญ่ จัดอยู่ในเอตทัคคะ ลักษณะของพระสังกัจจายน์ โดดเด่นมองเห็นก็รู้ว่า เป็นพุทธสาวกองค์ไหน มีวัดหลายวัดที่สร้างพระสังกัจจายน์ขึ้นโดยมีคติความเชื่อที่ว่า "ผู้ใดบูชาพระสังกัจจายน์ ย่อมเป็นมหามงคลอุดมด้วย ลาภ ยศ ความเจริญรุ่งเรืองดีนักแล"
หอสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ
หอสรงน้ำ ใช้สำหรับสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทางวัดจัดให้มีการสรงน้ำขึ้นเป็นประจำทุกปี ในงานพระเพณีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุประจำปี ซึ่งตรงกับ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ซึ่งอยู่ประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี
หอสรงน้ำนี้ เป็นทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมจัตตุรัส หลังคายอดมณฑปสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีแท่นสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาในงานประเพณีสรงน้ำ ในวันอัฐมีบูชา ของทุกปี หอสรงน้ำนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ภายหลังมีการสร้างอนุสาวรีย์ท่านครูบา เพื่อเป็นอนุสรณ์
ความน่าสนใจภายในวัดพระพุทธบาทตากผ้า
จดหมายเหตุสำคัญ
วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงนำเสด็จพระราชอาคันตุกะพระเจ้ากรุงเดนมาร์ก และพระราชินี เสด็จมานมัสการพระพุทธบาทตากผ้า แล้วเสด็จเยี่ยมประชาชนที่มารอเฝ้าชมพระบารมีอยู่รอบ ๆ บริเวณวิหารพระพุทธบาทโดยเสด็จออกจากประตูทิศใต้ ดำเนินไปถึงศาลาการเปรียญตะวันตก เสด็จเข้าไปพักผ่อนพระราชอิริยาบถและทรงเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ ที่นั้น พร้อมกับได้ทรงลงพระประปรมาภิไธยไว้บนแผ่นหินอ่อน แล้วเสด็จกลับตำหนัก ภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเดชพระคุณพระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก) ณ เมรุชั่วคราว บริเวณหน้าวัดพระพุทธบาทตากผ้า
วันที่เสาร์ที ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเป็นประธานในพิธียกช่อฟ้าเจดีย์สี่ครูบา บนดอยเครือ และปลูกต้นโพธิ์ บริเวณเมรุที่พระราชทานเพลิงศพ
วันที่ - เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จเป็นประธานทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
วัดพระพุทธบาทตากผ้า มีความสำคัญจึงเป็นที่เคารพนับถือสักการะ ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป นักปราชญ์ได้ผูกคำนมัสการ รอยพระพุทธบาทไว้ว่า “ ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิโน จะ ปาทัง ตัง ปาทะวะลัญชะนะมะหัง สิระสา นะมามิ ฯ แปลว่า รอยพระบาทใด ของพระมหามุนีบรมศาสดามีอยู่ ณ เมืองโยนก ข้าพเจ้าขอนมัสการ พระบาทและรอยพระบาทนั้นด้วยเศียรเกล้า ” ดังนี้
ข้อมูลทั่วไป
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ต่อมาได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ได้รับพระราชทาน เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ กำหนดเขตกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงตัดลูกนิมิตประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๙
พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้จัดตั้งเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี
พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้จัดตั้งเป็นสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน
พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับเลือกจากกรมการศาสนา ให้ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑
ปูชนียวัตถุที่สำคัญ
พระบรมสารีริกธาตุเละพระอรหันตธาตุ ประดิษฐานที่ กุฏิรูปเหมือนของครูบาฯ และพระธาตุสี่ครูบา
รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานที่ วิหารจตุรมุข
รอยตากผ้า ประดิษฐานที่ เขตพุทธาวาสด้านทิศตะวันตก
รอยเท้าพระอรหันต์ ๗ ขวบ ประดิษฐานที่ มณทปหน้าวิหาจตุรมุขด้านตะวันออก
รอยเท้าครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก ประดิษฐานที่ ด้านหลังวัดฝั่งตะวันตก ในเขตสังฆาวาส
พระธาตุเจดีย์สี่ครูบา ประดิษฐานที่ บนดอยเครือ
พระเจ้าทันใจ ประดิษฐานที่ วิหารพระเจ้าทันใจด้านตะวันตก
ศาลาการเปรียญหลังใหญ่
รูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก และพระธาตุ ประดิษฐานที่ กุฏิรูปเหมือนครูบา
ต้นบุนนาคที่ครูบาปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ประดิษฐานที่ หน้ากุฏิรูปเหมือนครูบา
ถ้ำฤาษี ประดิษฐานที่ บริเวณเลานวัดหน้าอาคารเรียน เขตพุทธาวาส
พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ประดิษฐานในวิหาร ใกล้อาคารเรียนด้านตะวันตก เขตพุทธาวาส
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้ดำเนินงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และได้รับการยอมรับและยกย่อง ดังนี้
- ได้รับการคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยว ประจำจังหวัดลำพูน
- ได้รับการคัดเลือกเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมตัวอย่างของกรมการศาสนา
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๖
- ได้รับการคัดเลือกเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานประจำจังหวัดลำพูน จากศูนย์วิปัสสนากรรมฐานแห่งประเทศไทย
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ของกระทรวงศึกษาธิการประจำจังหวัดลำพูน พ.ศ. ๒๕๔๕
- จัดตั้งเป็นศูนย์ผู้สูงอายุ ประจำจังหวัดลำพูน พ.ศ. ๒๕๔๓
- ได้รับการแต่งตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดลำพูนแห่งที่ ๑ ตามมติของ
มหาเถรสมาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดลำพูนภาคเหนือตอนบน สังกัดกรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการ ทหารสูงสุด พ.ศ. ๒๕๔๕
- ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เป็นวัดในโครงการนำร่องดีเด่นเรื่องการจัดการศึกษา และเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดในพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๖
- ได้รับรางวัลเกียรติบัตรวัดดีเด่น ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗
- ได้รับโล่ห์ในฐานะ วัดส่งเสริมสุขภาพ จากกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๔๘
การศึกษาและการสาธารณสงเคราะห์
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้มีการส่งเสริมพระพุทธศาสนาทั้งทางด้านปริยัติธรรมและปฏิบัติ ด้านปริยัติธรรม ได้จัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมทั้งแผนกบาลีและแผนกนักธรรม ซึ่งได้สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมเริ่มดำเนินการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นต้นมา และได้เปิดการสอนในแผนกสามัญเพิ่มขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ มีการเรียนการสอน ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
ด้านการปฏิบัติ ได้จัดให้มีการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีพระภิกษุและฆราวาส มารับการอบรมและประพฤติปฏิบัติเป็นจำนวนมาก ตลอดถึงได้จัดอบรมนักเรียน เยาวชน ตามโครงการพุทธบุตร โครงการครอบครัวอบอุ่นด้วยพระธรรม และอบรมข้าราชการในโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และยังได้จัดอบรมตามโครงการสามเณรภาคฤดูร้อน และอบรมตามโครงการอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ ในแต่ละปี
การบริหารและการปกครอง
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้จัดการบริหาร และการปกครองสืบต่อกันมาด้วยความเรียบร้อยตามกฏระเบียบคำสั่งคณะสงฆ์ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของสงฆ์ เป็นไปตามพระธรรมวินัยโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้บังคับบัญชาปกครองคณะสงฆ์ในวัด ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และคณะครูอาจารย์ภายในวัดร่วมในการปกครอง
ปัจจุบันมี พระครูพุทธิญาณโสภณ เป็น เจ้าอาวาส
พระครูสาทรธรรมพิเนต เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
พระครูกัลยาณปริยัติกิจ เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ลำดับเจ้าอาวาส
๑ พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก) พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๕๒๗
๒ พระครูเวฬุวันพิทักษ์ (พระมหาเขื่อนคำ อตฺตสนฺโต) พ.ศ.๒๕๒๘ - ๒๕๔๘
๓ พระครูพุทธิญาณโสภณ (พระมหาชวลิต จารุวณฺโณ) พ.ศ.๒๕๔๙ - ปัจจุบัน
พระครูพุทธิญาณโสภณ จารุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า
พระครูพุทธิญาณโสภณ จารุวณฺโณ ปัจจุบันอายุ 55 ปี บวชมาแล้ว 34 พรรษา มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสพระอารามหลวง (จล.)วัดพระพุทธบาทตากผ้า และยังดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอ
ประวัติด้านการศึกษาของพระครูพุทธิญาณโสภณ จารุวณฺโณ
พระครูพุทธิญาณโสภณ จารุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาโท จากสถานบันการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2552
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า
พระสุพรหมยานเถร | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 ถึงปี พ.ศ.2527 |
พระครูเวฬุวันพิทักษ์ | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ถึงปี พ.ศ.2548 |
พระครูพุทธิญาณโสภณ | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ถึงปัจจุบัน |
การจัดการศึกษาภายในวัดพระพุทธบาทตากผ้า
- จัดการศึกษาแผนกธรรม-บาลี
- โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
- สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
- ศูนย์บริการสุขภาพและสวัสดิการผู้สูงอายุ
- ศูนย์บริการผู้สุงอายุในวัด
- สถานที่อบรมธรรม
แผนที่ตำแหน่งที่ตั้งวัดพระพุทธบาทตากผ้าอ้างอิงจาก Google Map