วัดนางเกิ้ง ตั้งอยู่เลขที่ ๗๘ บ้านร่องห้า หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๖๑ ตารางวา น.ส. ๓ ก เลขที่ ๕๗๘ อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ ๕๓ วา ทิศใต้ประมาณ ๔๓ วา ทิศตะวันออกประมาณ ๔๐ วา ทิศตะวันตกประมาณ ๓๔ วา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๗๕ ตารางวา น.ส. ๓ ก เลขที่ ๕๗๘ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร กุฏิสงฆ์และศาลาอเนกประสงค์ ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูป เจดีย์
วัดนางเกิ้ง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ตามประวัติวัดแจ้งว่าเมื่อครั้งที่พระนางเจ้าจามเทวีได้ขึ้นครองนครลำพูน การคมนาคมในสมัยนั้นไม่ค่อยเจริญจะต้องเดินทางด้วยเท้า ล่องเรือล่องแพ และผ่านป่าดงซึ่งมีสัตว์ดุร้ายและอันตรายมากมาย พระนางประสงค์ที่จะทำการสร้างเมืองลำพูน และได้มาหยุดพักที่บ้านศรีชุม ได้หันพระพักตร์ และยกพระหัตถ์ขึ้นบ้อง (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่าเกิ้งหน้า) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้นเพื่อเป็นสักขีพยานว่า พระนางเจ้าจามเทวีได้เคยมาที่แห่งนี้แล้ว และให้เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนให้สืบพระศาสนาต่อไป แต่นั้นมาไม่นานวัดนี้ ได้ชื่อว่า วัดนางเกิ้ง ชาวบ้านเรียกว่าวัดร่องห้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ รูปที่ ๑ พระก๋อง กิตฺติญาโณ (รักษาการ) รูปที่ ๒ พระทองอินทร์ ปญญาธโร รูปที่ ๓ พระประเสริฐ กิตฺติญาโณ รูปที่ ๔ พระบุญชู สิริปญโญ รูปที่ ๕ พระอธิการบุญมี ปญฺญาธโร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา