ตั้งอยู่ บ้านลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร เดินทางออกจากตัวเมืองลำปางตามทางหลวงหมายเลข 1 (ลำปาง-เถิน) ถึงหลัก กม.586 เลี้ยวขวาเข้า อ.เกาะคา จากนั้นให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1034 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะเห็นวัดตั้งอยู่ทางซ้ายมือ
ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระเถระสามองค์ ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ “ลัวะอ้ายกอน”เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า “ลัมพกัปปะนคร” แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้นมอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมา ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงาม อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี พ.ศ. 2275 นครลำปางว่างจากผู้ครองนครและเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครอง อาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนคร อยู่ภายใต้การปกครองของ กษัตริย์พม่า ท้าวมหายศเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้นหนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) วีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้ว ทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนา ขึ้นเป็น “พระยาสุลวะลือไชยสงคราม” เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ น่าน
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วดอนเต้า” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ทุกปีจะมีงานประจำปีในวันเพ็ญเดือน 12 และ “พระธาตุลำปางหลวง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวลำปาง พระธาตุลำปางหลวงยังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาฝีมือช่างชั้นครู ทั้งแผนผังการตั้งวัดบนเขาขนาดย่อม
มีสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ได้แก่ บันได้นาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง ซึ่งเป็นวิหารขนาดใหญ่ เปิดโล่ง มีกู่บรรจุพระเจ้าล้านทอง เป็นพระประธาน หลังวิหารมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระเจดีย์มีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่ วิหารต้นแก้ว วิหารละโว้ หอพระพุทธบาท วิหารพระพุทธ เป็นอาคารปิดทึบ มีพระประธานแบบเชียงแสนองค์ใหญ่อยู่เต็มอาคาร หน้าบันของวิหารพระพุทธเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี และอุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน
นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กูฏิประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า กุฏิสงฆ์ และอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งรวบรวมศิลปวัตถุจากสถานที่ต่าง ๆ เช่น สังเค็ดธรรมาสนเทศน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในวัดยังร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่อายุนับร้อยปี เช่น ต้นจันทร์ โพ เป็นต้น
แหล่งข้อมูล : เว็บไซต์สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำปาง
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2019
• วัดพัฒนาตัวอย่าง พ.ศ. 2520
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม และมีความสําคัญทางด้านประวัติศาสตร์ วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลําปาง ตามตํานานกล่าวว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตัววัดตั้งอยู่บนเนิน มีบันไดนาคทอดขึ้นสู่ตัววัด
1.เป็นต้นกำเนิดของคำว่า “ลำปาง” จนมาเป็นจังหวัดลำปางในปัจจุบัน
2.เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ไทย เจ้าผู้ครองนครลำปางและภาคเหนือทั้งหมดเคยเสด็จและยกย่องว่าเป็นหลักของบ้านเมืองสืบมาทุกยุคทุกสมัย
3.ในตำนานระบุไว้ว่ามีพระบรมสารีริกธาตุของพระพทธเจ้าส่วนสำคัญบรรจุอยู่ในพระธาตุเจดีย์ ได้แก่พระเกศา พระอัฐิธาตุ พระนลาตข้างขวา
พระอัฐิธาตุพระสอด้านหน้าด้านหลัง ที่พระกุมาระกัสสะปะเถระเจ้าและพระเมฆิยะเถระเจ้าอัญเชิญมาประดิษฐานไว้
4.เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
5.มีอนุสรณ์การกอบกู้อิสรภาพของดินแดนล้านนาไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้น
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่ ต.ลําปางหลวง ห่างจากตัวเมืองลําปาง ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลําปาง-เถิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 586 เลี้ยวเข้าไปจนถึงที่ว่าการอําเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร
วัดพระธาตุลำปางหลวง มีพุทธสถานที่น่าสนใจได้แก่ วิหารหลวง ซึ่งเป็นวิหารขนาดใหญ่ เปิดโล่ง มีกู่บรรจุพระเจ้าล้านทอง เป็นประธานของพระวิหาร หลังพระวิหารมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่รั้วทองเหลือง รอบองค์พระเจดีย์มีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฎอยู่ ด้านขวาองค์เจดีย์เป็นวิหารน้ำแต้ม (แต้ม แปลว่าภาพเขียน) เป็นวิหารเปิดโล่ง ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก ด้านซ้ายของพระเจดีย์เป็นวิหารพระพุทธ เป็นอาคารปิดทึบ มีพระประธานแบบเชียงแสนองค์ใหญ่อยู่เต็มอาคาร หน้าบันของวิหารพระพุทธเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี และพิพิธภัณฑ์ของวัด ซึ่งรวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ดธรรมาสนเทศน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น
นอกจากนี้ วัดพระธาตุลำปางหลวง ยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต่า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลําปาง ทุกปีจะมีงานประจําปีในวันเพ็ญเดือน 12
การวางผังของวัดยึดคติตามความเชื่อในจักรวาลทางพุทธศาสนาซึ่งเชื่อว่าเขาพระสุเมรุเป็นหลักของจักรวาล มีสวรรค์และวิมานชั้นต่างๆ มีทวีปใหญ่4ทวีป โดยใช้ทรายแทนมหาสมุทร (การก่อกองทรายคือการเสริมมหาสมุทร) มีวิหารคดรูปสี่เหลี่ยมใช้สมมุติแทนกำแพงหินรอบจักรวาล มีประตูทางเข้า3ทาง ด้านทิศตะวันออกมีบันไดนาคเปรียบได้กับแม่น้ำคงคา มีนาคและสิงห์เฝ้าที่ต้นน้ำ ซุ้มประตูโขงคือประตูจักรวาลมีลวดลายคือพันธ์ไม้ สัตว์หิมพานต์และวิมานของทวยเทพลดหลั่นเป็นชั้นเชิง วิหารหลวงเปรียบได้กับเป็นชมพูทวีป ส่วนวิหารอื่นๆก็สมมุติแทนระบบจักรวาลตามความเชื่อโดยมีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นแกนค้ำชูจักรวาลได้