ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดศาลาหม้อ
- ชื่อวัด: วัดศาลาหม้อ
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 4 รูป
- สามเณร: 3 รูป
- ที่ตั้ง: เลขที่ 142/1 หมู่ 7 บ้านศาลาหม้อ ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง รหัสไปษณีย์ 52130
- เนื้อที่: 2 ไร่ 38 ตารางวา
- โทร: 089-5561584
- เว็บไซต์: https://www.facebook.com/watsalamor/
ประวัติความเป็นมา
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 เดือน มกราคม พ.ศ. 2537
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 1 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2469
ความน่าสนใจภายในวัดศาลาหม้อ
ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562
พระครูวิสิฐพัฒนวิมล เจ้าอาวาสวัดศาลาหม้อ
พระครูวิสิฐพัฒนวิมล
ปัจจุบันอายุ 53 ปี
บวชมาแล้ว 33 พรรษา
มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นเอก
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดศาลาหม้อ และยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบล (จต.)
ประวัติด้านการศึกษาของพระครูวิสิฐพัฒนวิมล
พระครูวิสิฐพัฒนวิมล เจ้าอาวาสวัดศาลาหม้อ
จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถานบันการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2557
อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาหม้อ
พระครูบาเจ้าพิมพิสาร |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2398 ถึงปี พ.ศ.2431 |
พระครูบาอภิวงศ์ อภิวํโส |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2433 ถึงปี พ.ศ.2452 |
พระครูจันทร์คำ คนฺธวํโส |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2452 ถึงปี พ.ศ.2487 |
พระเสาร์ โสภณธมฺโม |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2487 ถึงปี พ.ศ.2492 |
พระบุญมี ปุญฺญสีโล |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 ถึงปี พ.ศ.2497 |
พระอธิการศรีชัย ญาณวโร |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 ถึงปี พ.ศ.2531 |
พระครูวิสิฐพัฒนวิมล (ณรงค์ อิทฺธิญาโณ) |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ถึงปัจจุบัน |
สรงน้ำพระธาตุ (ประเพณี / พีธีกรรม) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดศาลาหม้อ
งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ของวัดศาลาหม้อจัดขึ้นทุกปี ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เหนือของทุกปี (ราวๆ เดือนพฤษภาคม) เรียกว่าประเพณี 8 เป็ง และใช้ชื่องานว่า "สืบสานป๋าเวณีแปดเป็งล้านนา นมัสการเจ๋ติยาธาตุเจ้า สุวรรณเจดีย์ศรีศาลาหม้อ" และจะตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี ในด้านกิจกรรมของงานคือช่วงเช้าจะประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง"ปุพพเปตพลี"จากนั้นสายๆ หน่อยก็จะมีพิธีถวายทานเครื่องไทยทาน เรียกว่าของกิ๋นของตาน อุทิศแด่ญาติผู้ล่วงลับของพี่น้องชาวบ้านทุกคน ส่วนในภาคบ่ายจะมีการแข่งขันบั้งไฟจรวดขนาด 6 หุน 20 เซนติเมตร เพื่อชิงรางวัลจากคณะกรรมการจัดงาน และในภาคเย็นจนดึกสงัด มีพิธีการแสดงพระธรรมเทศนา"พุทธาภิเษก"1 กัณฑ์แสดงธรรมโดยท่านพระครูพิสุทธิ์พัฒนพิธาน เจ้าคณะอำเภอเกาะคา เจ้าอาวาสวัดศาลาดงลาน และพิธีสวดเบิกล้านนาจำนวน 4 วารได้แก่วารที่ 1 คณะวัดศาลาหม้อชื่อวารว่า"เอโส" วารที่ 2 คณะวัดศาลาไชย ชื่อวารว่า"ตัสเย" วารที่ 3 คณะวัดศาลาหม้อ ชื่อวารว่า"อะถะโข"และวารที่ 4 คณะวัดน้ำผึ้งชาวไร่อ้อย ชื่อวารว่า"โสปฐมา"เสร็จพิธีสวดเบิกแล้วก็จะเป็นการสวดปิดงาน ซึ่งพระสงฆ์ประมาณ 10-12 รูปจะสวดมนต์สูตร"ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร"เป็นพุทธพิธีครั้งสุดท้ายของงาน
ประเพณีเดือน 4 เป็งและเดือน 12 เป็งล้านนา (ประเพณี / พีธีกรรม) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดศาลาหม้อ
ประเพณีเดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคมหรือปลายธันวาคม) ทุกปีจะมีการตานขันข้าวใหม่ และตักบาตรข้าวสุก ในพิธีถวายทานข้าวจี่ข้าวหลาม เป็นประเพณีหลังจากเสร็จจากการเก็บเกี่ยวของชาวนาแล้ว ต้องมีการถวายทานข้าวที่เก็บเกี่ยวเสร็จเป็นพุทธบูชาตามวัดต่างๆ ซึ่งปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานทั่วล้านนา และประเพณีเดือน 12 เป็งหรือเดือน 12 เหนือ (ประมาณเดือนกันยายน) ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นวันสวรรค์นรกเปิด จะมีการทำบุญอุทิศแด่ญาติผู้ล่วงลับเรียกว่า ประเพณีตานเปรตพลี"คือการนำข้าวของเครื่องเซ่นไหว้เป็นสำรับกับข้าวต่างๆ มาถวายทานในวันเดือน 12 เป็งนี้ทุกปี คล้ายๆ กับการจัดงานประเพณีตานก๋วยสลากภัต เพื่อให้เหล่าวิญญาณบรรพชนของพี่น้องชาวบ้านได้มารับของทานในวันนี้
วงปี่พาทย์ ส.เจริญศิลป์ศาลาหม้อ (ศิลปการแสดงและดนตรี) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดศาลาหม้อ
เป็นวงปี่พาทย์พื้นเมืองล้านนาของบ้านศาลาหม้อที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมี พ่ออาจารย์หนานปั๋น วงศ์ละกาเป็นหัวหน้าวง เป็นผู้บุกเบิกคณะแห่ของวงปี่พาทย์คณะ ส.เจริญศิลป์ศาลาหม้อ
กลองสะบัดชัย,กลองปู่เจ (ศิลปการแสดงและดนตรี) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดศาลาหม้อ
คณะเยาวชนบ้านศาลาหม้อ อันมีนายศิวดล แสงเมือง หัวหน้าเยาวชนบ้านศาลาหม้อ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกกลองสะบัดชัยและการแสดงตีกลองปู่เจล้านนาประจำวัดบ้านศาลาหม้อ ได้ทำการละเล่นตามงานต่างๆ ในพื้นที่ทั่วไปมาแล้วนับไม่ถ้วน การฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และยังเคยนำคณะลูกขุนเยาวชนไปแสดงในงานมหกรรมกลองปู่จา/กลองสะบัดชัย ที่ลานข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกาจังหวัดลำปางตามการเชื้อเชิญของผู้จัด การตีกลองสะบัดชัยงานต้อนรับพิธี งานบวงสรวงพิธี เป็นต้น นายศิวดล แสงเมือง ได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบ้านเกิดของตน ว่าจะรักษาขนบธรรมเนียมล้านนาเช่นนี้สืบไปตลอดชั่วชีวิต พร้อมทั้งสอนและฝึกให้กลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านได้มีส่วนร่วมในการสืบสานตามจารีตโบราณล้านนา ให้เป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าไว้ในชุมชน สังคมตลอดไป
พ่ออาจารย์สุคำ กันวี (ปราชญ์ชาวบ้าน) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดศาลาหม้อ
ท่านเป็นหมอชาวบ้านและยังเป็นมัคนายกผู้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นหลายสิบรุ่น ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่ผลงานของพ่อหนานสุคำกันวี ยังคงมีผู้สืบทอดหลายท่าน จนเป็นตำราตำนานปราชญ์ชาวบ้านอันน่าเลื่อมใส ท่านยังเคยเป็นมัคนายกหรืออาจารย์วัดประจำวัดศาลาหม้อ และยังเป็นเจ้าตำราการทำเทียน เช่น เทียนสะเดาะเคราะห์ รับโชค ต่อชะตาอายุ เคยทำเทียนให้ชาวบ้านในละแวกบูชาเป็นสิริมงคลกับตัวกับตน แต่ถึงแม้ท่านจะเสียชีวิตไปแล้ว ผู้สืบทอดตำราเทียนและการดูฤกษ์งามยามดี วันดีวันเสียล้านนา ยังตกไปสู่ลูกชายของคุณพ่ออาจารย์สุคำ กันวี นันคือ พระมนัส กันวี หรือท่านพระมนัส สุภทฺโท เลขานุการเจ้าคณะตำบลศาลา รองเจ้าอาวาสวัดศาลาหม้อ ผู้สืบทอดตำราของบิดา ปัจจุบันสังกัดอยู่ในวัดศาลาหม้อ บวชมาแล้ว 24 พรรษา
ภาษาคำเมืองลำปาง (ภาษา) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดศาลาหม้อ
การพูดของคนในชุมชน เป็นสำเนียงประจำคนเมืองเหนือลำปาง เหมือนกันทั่วไป เช่น เวลาเจอหน้ากันก็จะทัก"กิ๋นเข้าแล้วกา"/"ยะอะหยังกิ๋นกา"/"ม่ะแลงนี้แก๋งหยัง"..ส่วนมากจะทักเรื่องการกินหรือของกินตลอด การสนทนาเจรจาพูดคุยสนุกหู การต้อนรับแขกจากต่างหมู่บ้านหรือผู้มาเยี่ยมเยือน ชาวบ้านจะพูดเสนาะหูเสมอ ไม่ตะคอก ไม่ตะโกน ไม่พูดจาก้าวร้าวใส่แขกผู้มาเยือน มีน้ำใจไมตรี เป็นมิตรที่ดีต่อทุกท่าน
ความเป็นอยู่ (วิถีชีวิต) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดศาลาหม้อ
ชาวบ้านในชุมชนอาศัยในบ้านเรือนที่อบอุ่นทุกหลัง ชุมชนบ้านศาลาหม้อมีประมาณ 117 หลังคาเรือนน้อยกว่าบ้านศาลาทั้ง 6 ศาลา ถึงจะน้อยแต่ความสามัคคีของคนในชุมชนไม่ได้สูญหายไปไหน ทุกคนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจ พูดจาเสมือนเป็นพี่น้องญาติธรรมกัน เพราะชาวบ้านตั้งสัจจะไว้ว่า จะพัฒนาบ้านของตนเองด้วยความรักความสามัคคีต่อคนในชุมชนทุกคน ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณใดๆ ทั้งสิ้น ใช้แต่ความอดหนทนกลั้นเพื่อความอยู่รอด ดำเนินรอยตามองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คืออยู่อย่างพอดี มีอย่างพอใช้ ได้มาอย่างพอกิน ไม่จำเป็นต้องโปรโมทชุมชนให้น่าอยู่น่าท่องเที่ยวโดยใช้ทุนทรัพย์มากมายอะไร เท่านี้วิถีชีวิตของคนในชุมชนก็อยู่อย่างมีสุขแล้ว
นายปั๋น วงศ์ละกา (ปราชญ์ชาวบ้าน) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดศาลาหม้อ
ชาวบ้านเรียก"พ่อหนานปั๋น"เป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งในหมู่บ้านศาลาหม้อ เป็นมัคนายกของวัดศาลาหม้อ เป็นผู้สามารถประกอบพิธีกรรมของล้านนาต่างๆ ได้โดยชำนาญ อีกทั้งยังเป็นสล่าแห่ หรือหัวหน้าวงปี่พาทย์พื้นเมืองคณะบ้านศาลาหม้อและบ้านศาลาไชย เป็นผู้กระทำคุณประโยชน์ให้แก่ชุมชนมากมาย เคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านศาลาหม้อมาแล้วสมัยหนึ่ง คุณพ่ออาจารย์หนานปั๋น วงศ์ละกา ยังเป็นผู้อบรมสอนวิชาการตีกลองสะบัดชัยให้แก่เยาวชนในชุมชน ได้ดึงให้เยาวชนวัยรุ่นหันมาร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีล้านนาได้เป็นอย่างดี ด้วยความรักในประเพณีท้องถิ่น ด้วยความมีจิตสำนึกในบ้านเกิด