วัดแม่สุก ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง วัด แม่สุก ตั้งอยู่เลขที่ 166 หมู่ที่ 1 ตำบล แม่สุก อำเภอ แจ้ห่ม จังหวัด ลำปาง โทร. 054 214 096 มือถือ 086 182 7028 สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา ตามโฉนด เลขที่ 20664 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ – ทิศเหนือจด ทางสาธารณะประโยชน์ – ทิศใต้จด ทางสาธารณะประโยชน์ – ทิศตะวันออกจด ทางสาธารณะประโยชน์ – ทิศตะวันตกจด คลองส่งน้ำชลประทาน มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๓ แปลง ดังนี้ 1. โฉนด เลขที่ 20665 มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวา 2. โฉนด เลขที่ 19099 มีเนื้อที่ – ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา 3. โฉนด เลขที่ 19100 มีเนื้อที่ 2 ไร่ – งาน 03 ตารางวา รวมที่ดินวัดทั้งหมด 4 แปลง มีเนื้อที่ 10 ไร่ – งาน 65 ตารางวา ประวัติความเป็นมา ว้ดแม่สุก ตั้งอยู่ เลขที่ 166 บ้านแม่สุก หมู่ 1 ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ตามที่ปรากฏในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 8 วัดแม่สุกสร้างเมื่อ พ.ศ. 2360 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2482 เขตวิสุงคามสีมา ยาว 40 เมตร กว้าง 30 เมตร มีศรัทธาอุปถัมภ์ 3 หมู่บ้านประมาณ 450 หลังคา คือ บ้านแม่สุก หมู่ 1 และหมู่ 12 บ้านสบสุก หมู่ 9 หมู่บ้านแม่สุกมีวัดร้างอยู่ ๓ แห่ง วัดแห่งแรกตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านอยู่ติดกับลำน้ำแม่สอย ต่อมาถูกน้ำกัดเซาะจึงได้ย้ายไปอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ห่างจากที่เดิมประมาณ 500 เมตร แต่ประสบปัญหาเดิมคือแม่น้ำสอยย้ายทางเดินกัดเซาะเข้ามาเรื่อย ๆ จนมาถึงที่ตั้งวัดอีก และในฤดูฝนจะถูกน้ำท่วม จึงได้ย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านแต่ก็มีปัญหาที่คับแคบไม่สามารถขยายได้อีกเพราะติดที่ราษฎร จึงอยู่ได้ไม่นานก็ย้ายมาตั้งอยู่ที่ทางทิศตะออกซึ่งเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 300 เมตร คือที่ตั้งวัดแม่สุกในปัจจุบันเป็นแห่งที่ 4 และราษฎรได้ย้ายหนีน้ำท่วมตามมาอยู่บริเวณที่วัดตั้งกันทั้งหมด ที่ตั้งหมู่บ้านเดิมจึงกลายเป็นที่นา วัดร้างทั้ง 3 แห่งมีคนไปขุดค้นหาวัตถุโบราณ และมีหลักฐานที่เป็นวัตถุโบราณที่ขุดค้นได้ เช่น พระพุทธรูปสิงห์สาม ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน เนื้อสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตัก กว้าง 18 นิ้ว สูง 34 นิ้ว มีรอยตำหนิ รอยจอบที่ขุด ถูกพระนาสิก 2 รอย ที่ประดิษฐานอยู่ที่กุฏิปัจจุบันนี้ ก็ขุดได้จากวัดร้างแห่งที่ 2 เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2445 จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2510 ก็ยังมีการขุดกันอยู่บ้าง ปัจจุบันนี้เหลือแต่เศษอิฐเท่านั้น จากหลักฐานที่ปรากฏกลางทุ่งนาซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของหมู่บ้านนั้นมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มติดกับลำน้ำแม่สอย วัดร้างดังกล่าวสร้างมานานตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน เพราะไม่มีประวัติที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร วัดแม่สุกแห่งแรกไม่ทราบมีเจ้าอาวาสจำนวนกี่รูป มีพระด้วงเป็นเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายที่จำพรรษาอยู่ในวัดแห่งแรก เพราะมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าพระด้วงเป็นผู้มีวิชาอาคมมาก จนสุดท้ายกลายเป็นเสือสมิง จนไม่มีพระภิกษุ สามเณรอยู่ด้วย เมื่อพระด้วงได้มรณภาพ วัดจึงกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาศรัทธาประชาชนจึงได้สร้างวัดขึ้นที่แห่งใหม่ ไม่ได้กลับไปเอาสมบัติของใช้ที่วัดเดิม เพราะเป็นของที่พระด้วง ที่เล่าว่าเป็นเสือสมิงได้ใช้แล้วกลัววัดแห่งใหม่จะมีเสือสมิงเหมือนวัดแห่งแรก ตามปรากฏหลักฐานในคัมภีร์ใบลานที่สำรวจพบในหีบธรรมวัดแม่สุก คัมภีร์ใบลานที่จาร ณ วัดแม่สุกริมแม่น้ำสอย คัมภีร์ที่เก่าแก่ที่พบ จารในปี จ.ศ1095 พ.ศ 2276 มีพระสาระภิกขุ เป็นผู้จาร (คงหมายถึงวัดแห่งที่ 2 เพราะจารท้ายคัมภีร์ว่าวัดแม่สุกริมน้ำสอย หรือวัดสบแม่สุกริมน้ำสอย ซึ่งวัดแห่งที่ 2 อยู่ใกล้กับแม่น้ำแม่สุกที่มาสบกับแม่น้ำสอย) จากหลักฐานคัมภีร์ใบลานพบว่า วัดแม่สุกที่ตั้งในปัจจุบันสันนิษฐานว่าสร้างหลังปี พ.ศ 2386 เนื่องจากพบคัมภีร์ ที่จาร ณ วัดแม่สุกริมน้ำสอย จารตั้งแต่ปี พ.ศ 2276 ถึงปี พ.ศ 2386 จากคำบอกเล่าของเจ้าอธิการทิพย์ กญฺชโย อดีตเจ้าอาวาสได้เล่าว่า ครูบาเจ้าสุปินะได้เล่าให้ท่านฟังว่า ครูบาเจ้าสุปินะตอนบรรพชาเป็นสามเณร ก็ได้บรรพชาวัดที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ หลังจากนั้นวัดขาดภิกษุจำพรรษาท่านซึ่งเป็นสามเณรพรรษามากจำต้องอยู่ดูแลวัดจนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเป็นเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ พ.ศ. 2415 – 2471 หลังจากครูบาเจ้าสุปินะมรณภาพ พระครูประทวนเสาร์ สุริโย หรือ ที่ชาวบ้านเรียกท่านว่าตุ๊เจ้าสุริยา เป็นพระที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลแม่สุก ได้ชักชวนชาวบ้านพัฒนาวัดสร้างศาลาบาตร กำแพงรอบวัด โบสถ์ หอฉัน กุฏิสงฆ์ และสร้างพระวิหารหลังใหม่แทนวิหารหลังเดิมที่ชำรุดการสร้างวิหารในครั้ง นั้นเป็นที่ประทับใจและอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านบ้านแม่สุกเสมอมาเนื่องจากเป็นวิหารขนาดใหญ่เสาพระวิหารเป็นเสาไม้ขนาดใหญ่มีความลำบากในการชักลากและในการก่อสร้างดังนั้นจึงเป็นที่เลื่องลือในเชิงช่างของท่าน ทางด้านการศึกษาปริยัติธรรมท่านได้สนับสนุนให้พระลูกวัดศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้นักธรรมจำนวนมาก และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นประทวนที่พระครูเสาร์ สุริโย ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อ เดือน กันยายน พ.ศ. 2506 เจ้าอธิการทิพย์ กญฺชโย ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่สุก และเจ้าคณะตำบลแม่สุก จนถึง พ.ศ. 2512 ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาส เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ คือดวงตาท่านมองไม่เห็นทั้งสองข้าง และได้มรณภาพเมื่อ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 81 ปี พรรษา 61 พระอธิการน้อง คนฺธวํโส ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2512 จนถึง พ.ศ. 2540 ก็ได้มรณภาพลง รวมอายุได้ 89 พรรษา 65 ซึ่งในระหว่างที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสนั้น อาคารเสนาสนะต่าง ๆ ได้สร้างมานานแล้วเริ่มพุพังตามกาลเวลา ท่านจึงได้ปรึกษาพระขันแก้ว กลฺยาณธโร ซึ่งเป็นพระลูกวัด ถึงการก่อสร้าง และบูรณะปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมอาคารเสนาสนะ โดยพระขันแก้ว เป็นผู้ดำเนินการหาทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง และบูรณ ปฏิสังขรณ์ พระขันแก้ว กลฺยาณธโร ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลแม่สุก เมื่อ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526, ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ 29 มกราคม พ.ศ. 2539, ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่สุก เมื่อวันที่ 15 พฤศภาคม พ.ศ. 2541, เป็นผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โรงเรียนแม่สุกศึกษา วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544, เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดแม่สุก วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2542, ท่านได้สร้างกำแพงรอบวัดเมื่อ พ.ศ. 2518, สร้างศาลาราย พ.ศ. 2520 เสร็จ พ.ศ. 2524, สร้างอุโบสถ พ.ศ. 2528 เสร็จ 2529, ซ่อมแซมวิหาร พ.ศ. 2530 เสร็จ พ.ศ. 2533, สร้างหอระฆัง พ.ศ. 2533, เดือนมีนาคม 2534 สร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เสร็จ พ.ศ. 2535, เดือน กรกฎาคม 2534 สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างเสร็จ พ.ศ. 2536, พ.ศ. 2535 ได้ก่อตั้งโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่วัดแม่สุก พ.ศ. 2541 ได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ได้สร้างห้องสมุค พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สัญญาบัตรพัดยศ เจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูวิจิตรสารการ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 และสร้างอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม หลังที่ เสร็จ พ.ศ. 2551 และพระครูวิจิตรสารการก็ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 รวมสิริอายุได้ 58 ปี พรรษา 36 ปกครองโดย เจ้าอธิการบุญเปลี่ยน กิตฺติสาโร เจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ถึงปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2360
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 22 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2486