วัดดงนั่งคีรีชัย ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
วัดดงนั่งคีรี ตั้งอยู่เลขที่ ๑ / ๑๔ หมู่ที่ ๙ ตำบล วิเชตนคร อำเภอ แจ้ห่ม จังหวัด ลำปาง
หมายเลขโทรศัพท์ ๐๕๔–๒๗๑๕๔๙ มือถือ ๐๘๔ – ๘๐๗ ๗๒๖๖ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย
ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๐ งาน ๙๘ ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ ๒๓๔๒๐ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือจด ลำห้วยแล้ง ทิศใต้จด คลองส่งน้ำชลประทานฝายแม่มอน
ทิศตะวันออกจด ทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันตกจด ทางสาธารณประโยชน์
มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๑ แปลง ดังนี้
๑. โฉนด เลขที่ ๒๓๔๒๑ มีเนื้อที่ ๐ ไร่ ๓ งาน ๖๓ ตารางวา
ประวัติความเป็นมา วัดดงนั่งคีรีชัย ตั้งอยู่ในเขตบ้าน ปงคอบ ต.วิเชตนคร อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ห่างจากหมู่บ้าน ๕๐๐ เมตร มองเห็นแต่ไกล เพราะวัดตั้งอยู่บนเขาสูงประมาณ ๓๐ เมตร
อ้างถึงคำภีร์พุทธจารีต คำภีร์เทวตาสูตร และตำนานพระเจ้าเลียบโลก ( จารย์ด้วยตังอักษร
ล้านนา ลงในใบลาน มีอยู่หลายวัด ในภาคเหนือ ตอนบน ) กล่าวไว้ว่า เมื่อสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันตสาวก ได้เสด็จจาริกมาเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน ในแค้วนล้านนานี้ เสด็จมาถึงเขต เมืองลัวะ และเมืองอาราวี ได้มีสองตายายชาวเมืองลัวะ และฤาษีตนหนึ่งชื่อ สิทธะสี คอยติดตามอุปถาก กาลครั้งนั้นพระพุทธได้พาพระอรหันต์ ขึ้นมาประทับนั่งพักผ่อนพระอิริยาบถ บนเขาแห่งหนึ่งทางทิศเหนือเมืองลัวะ แล้วทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า เมื่ออดีตชาติ ตถาคต เคยจุติมาเกิดเป็น เต่าคำชาติหนึ่ง และจุติมาเป็น นกกระทาป่า สองชาติเพื่อมาบำเพ็ญบารมีบนเขาแห่งนี้ และทรงทำนายว่า กาลข้างหน้าสถานที่แห่งนี้จะเจริญไปด้วยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา และทรงรับสั่งต่อไปว่า หากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ให้นำเอาพระอัฐิธาตุส่วนที่เป็นข้อมือข้างซ้ายมาบรรจุบนเขาแห่งนี้ เพื่อให้มนุษย์และเทวดาได้สักการะบูชา พระอานนท์ได้กราบทูลขอพระเกษาธาตุ พระองค์ก็ทรงอธิษฐานเอาพระเกษาธาตุมอบให้พระอานนท์ จำนวน ๘ เส้น จากนั้นพระอานนท์ พระสารีบุตร พระโสภิตะ พญาอาราวี และพญาลัวะ พร้อมด้วยพระอรหันต์และประชาชนผู้ติดตามมาเฝ้าอุปถาก ได้พากันนำเอาพระเกษาธาตุทั้ง ๘ เส้น บรรจุไว้บนเขาลูกนี้ ( ที่ตั้งวัดดงนั่งคีรีชัย ) ครั้งนั้น สิทธะสีฤาษีได้ขอพรต่อพระพุทธองค์ว่า ขอพระองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้สักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นพุทธานุสติ เหล่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลายจะได้ กราบไหว้บูชา สักกระ พระพุทธองค์ได้ทรงประทับพระบาทลงบนผ้าขาวผืนหนึ่ง แล้วทรงมอบให้สิทธะสีฤาษี และโอกาสนั้นสิทธะสี ได้ขอตามเสด็จ เพื่อไปอุปถากพระพุทธองค์ ทรงรับสั่งว่า หากท่านฤาษีได้อยู่สักการะบูชารอยพระบาทนี้ ก็เหมือนดั่งได้อุปถาก ตถาคตเหมือนกัน ดันนั้นสิทธะสีฤาษีจึงได้นำเอารอยพระพุทธบาทขึ้นไปประดิษฐานไว้บนยอดเขา ทางทิศตะวันตกของเมืองลัวะ และได้อยู่บำเพ็ญตบะ สักการะบูชารอยพระพุทธบาทจนสำเร็จ ฌานสมาบัติชั้นสูง ณ บนเขาแห่งนี้ ดังนั้นคนทั่วไปจึงเรียกเขาแห่งนี้ว่า ดอยพระบาท จากนั้นพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ผู้ติดตาม ได้ออกจาริกเผยแผ่พระพุทธสาสนา ในที่อื่น ๆ ต่อไป.
ต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ล่วงไปได้ ๔ พระอานนท์
ผู้เป็นพุทธอุปถาก และเป็นผู้จำพุทธบัญชาของพระพุทธเจ้าได้ จึงขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนจากกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระมหากัสสปะ พระโสภิตะและพระอรหันต์อีกหลายรูป ไดอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในที่ต่าง ๆ ตามที่พระองค์ได้ทรงรับสั่ง จนมาถึงเขาที่บรรจุพระเกษาธาตุ คณะของพระอรหันต์จึงให้อุบาสกท่านหนึ่ง ไปกราบทูลพญาอาราวีและพญาลัวะให้ทราบความ เจ้าเมืองทั้งสองจึงได้นำศรัทธาประชาชนมาสักการะบูชา ได้อาราธนาเอาพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ใน ผอบแก้วผอบทองคำและผอบเงินตามลำดับ แล้วบรรจุลงในไหใบหนึ่ง ขุดหลุมลึกลงไปใต้ดิน ๘ ศอก กว้าง ๘ ศอก กับ ๑ คืบ นำแผ่นแก้วผลึกลงปูชั้นแรก นำแผ่นเงินลงปูเป็นชั้นที่สอง แล้วนำแก้วแหวนเงินทอง ของมีค่าต่างๆ ที่ชาวเมืองนำมาบูชา บรรจุลงในไหที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีคาเท่ากับ ๑,๘๐๕,๐๐๐ ( ในตำนานไม่ได้ระบุว่าเป็นบาทหรือตำลึง ) เสร็จแล้วก่ออิฐเป็นวงกลม ๒ ชั้นทำเป็นประตู ๔ ทิศถมเสร็จแล้วก่ออิฐสูงขึ้นมาบนดิน ๑๔ ศอก เมื่อทุกอย่างบริบูรณ์พระอรหันต์สาวกได้แสดงพระธรรมเทศนา สั่งสอนให้ชาวเมืองทั้งหลายตั้งอยู่ใน พระธรรมคำสั่งสอน มีหิริ โอตัปปะ เกรงกลัวต่อบาปกรรม มีศีลมีธรรมอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป
จากนั้นคณะของพระอรหันต์พร้อมด้วยผู้ติดตาม ได้จาริกไปนำเอาพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในที่สำคัญต่าง ๆตามพุทธบันชา แล้วกลับไปยังวัดป่า เชตวันอารามในชมภูทวีป ประเทศอินเดีย เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า …
เมื่อกาลเวลาได้ผ่านไป นับเป็นพันปี บ้านเมืองแถวนี้ถูกข้าศึกรุกราน ได้พากันอพยพหนีไปอยู่ที่อื่นชาวไทยลัวะยังมีอยู่กระจัดกระจายทั่วภาคเหนือ เหลือแต่ซากคูเมืองเก่า กว้างประมาณ ๖ เมตร ส่วนลึกประมาณ ๓ – ๔ เมตร อยู่ห่างจากวัดดงนั่งไปทางทิศใต้ ๑ ก.ม. และสถูปบนเขาแห่งนี้ก็ได้ชำรุดไปตามอายุกาลเหลือโผล่ขึ้นมาบนดินประมาณ ๑ เมตร ชาวบ้านแถวนี้เรียกว่า ม่อนกู่ดงนั่ง และยังมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขาพระบาท ทางทิศตะวันตกของวัดดงนั่ง ที่บนเขานั้นยังมีบ่อน้ำทิพย์ และที่บำเพ็ญตะบะของสิทธสีฤาษี ชาวบ้านเรียกว่า ผาตูบ กันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้ชาวอำเภอแจ้ห่ม และอำเภอเมืองปาน ยังขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท บนเขาซึ่งตรงกับเดือน ๙ เหนือแรม ๘ ค่ำเป็นประจำทุกปี
พุทธศาสนายุกาลล่วงเลยมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๖ มาถึงต้นคิมหันตฤดู ครูบาเจ้าศรีวิไชย นักบุญแห่งล้านนา จากบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้นำพุทธศาสนิกชนจากที่ต่างๆ จาริกมาสร้าง เจดีย์ตามสถานที่ สำคัญ ๆ หลายแห่งตามบัตถา ( ลายแทง ) ที่ออกในตำนานพระเจ้าเลียบโลก มาถึงม่อนกู่ดงนั่งท่านให้ชาวบ้านช่วยกันขุดดินลงไปประมาณ ๑ เมตร เพื่อปรับพื้นที่ให้เรียบและกว้างขึ้น ชาวบ้านได้ขุดพบวัตถุโบราณ หลายอย่าง เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือขุดเจาะและอาวุธโบราณ ลูกแก้ว ลูกปัด ของประดับ หลายชิ้น เมื่อขุดดินได้ที่แล้วท่านครูบาก็ได้สร้างเจดีย์ครอบสถูป ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้กราบไหว้บูชาสักกระ ต่อไป.
ล่วงมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านครูบาก็ได้สร้างวิหาร ขึ้นอีกหลังหนึ่ง โดยให้ พระกัณชนะภิกขุ เป็นช่างติดตามครูบามา ได้นำชาวบ้านปงคอบ สมัยนั้น นายคำ กล้าแข็ง เป็นผู้ใหญ่บ้านได้ร่วมกันสร้างวิหารขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๔ เมตร หลังคาเทคอนกรีตเสริมเหล็ก และได้สร้างศาลา กุฏิ เสนาสนะต่าง ๆ ได้ตั้งขึ้นเป็นวัด โดยให้ชื่อว่า วัดพระธาตุดงนั่ง โดยให้พระกัณชนะภิกขุ อยู่เป็นเจ้าอาวาส องค์แรก ขึ้นทะเบียนเป็นวัด ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พระครูโถมณียคุณ เจ้าคณะอำเภอ ได้เห็นว่า วัดตั้งอยู่บนภูเขา จึงเปลี่ยนชื่อว่า วัดดงนั่งคีรีชัย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เจ้าอาวาสและผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ได้นำชาวบ้าน พัฒนาและก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน.
พระธาตุวัดดงนั่งคีรีชัย ได้รับการบูรณะเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เพราะปูนขาวหมดอายุ และยอดฉัตรชำรุด โดยรักษารูปแบบเดิมไว้ เป็นศิลปะ แบบล้านนา
โดยมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ดงนั่ง ตรงกับเดือน ๗ เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ ของทุกปี ผู้ใดได้กราบไห้วบูชา จะเจริญไปด้วย สุข ลาภ ยศ สรรเสริญ อายุหมั่นขวัญยืน ทำมาค้าขึ้น ปิดประตูอบาย เปิดประตูสู่สวรรค์ ( คำอวยพรของครูบาเจ้าศรีวิไชย นักบุญแห่งล้านนาไทย )
วัดมีปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุที่สำคัญ ดังนี้ ๑ หลัง ๒. ศาลาพระยืน ๑ หลัง
๓. เจดีย์ ๑ องค์ ๔. พระประธาน ในอุโบสถ ปางมารวิชัย เนื้อปูนปั้น ๑ องค์
๕. พระพุทธชินราช ทองเหลือง ในอุโบสถ ๑ องค์ ๖. พระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อทองเหลือง ในอุโบสถ ๔ องค์
๗. พระพุทธรูปยืน เนื้อทองเหลือง สูง ๑.๘๐ เมตร ในอุโบสถ ๓ องค์
๘. พระพุทธรูปยืน เนื้อทองเหลือง สูง ๗.๕๐ เมตร ณ ศาลาพระยืน ๑ องค์
๙. พระปางมารวิชัย เนื้อสัมฤทธิ์ ศิลปะเชียงแสนรุ่น ๓ หน้าตัก ๔ นิ้ว ๑ องค์
๑๐. พระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อทองเหลือง ศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ๑ องค์
ปกครองโดยพระครูวินิตวรการ เจ้าอาวาส นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 1 เดือน มกราคม พ.ศ. 2467
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 เดือน มกราคม พ.ศ. 2538