ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดพระเกิด
- ชื่อวัด: วัดพระเกิด
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 8 รูป
- สามเณร: 1 รูป
- ลูกศิษย์วัด: 2 คน
- ที่ตั้ง: เลขที่ 60 หมู่ 8 แม่เลียบ ตำบลทุ่งฮั้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง รหัสไปษณีย์ 52140
- เนื้อที่: 15 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา
- โทร: 085-7151855
ประวัติความเป็นมา
สมัยสองพันกว่าปีมาแล้ว เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ยังมีนายพานิช 2 คน ได้เดินทางจากดินแดนสุวรรณภูมิง (เมืองวัง) ไปค้าขายยังดินแดนประเทศอินเดีย ได้มีโอกาสเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเกิดความเลื่อมใสองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงตรัสถามนายพานิชทั้งสองคนถึงที่อยู่ของนายพานิช นายพานิชก็ได้ทูลตามความจริง องค์สมเด็กพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศา (เส้นผม) ของพระองค์ให้แก่นายพานิชทั้งสองคน ๆ ละ 4 เส้น พระพุทธองค์ได้ตรัสให้นายพานิชทั้งสองคนนำพระเกศาบรรจุไว้ที่ดอยสังกุตตะระ ในเมืองที่พ่อค้าอยู่ เพราะว่าดอยสังกุตตะระแห่งนี้เป็นที่บรรจุพระสารีริกธาตุ เส้นพระเกศา (เส้นผม) ของพระพุทธเจ้ามาแล้ว 3 พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าว่า สถานที่นั้นเป็นที่เกิดของแม่กาขาวและกำเนิดพระโพธิสัตว์ทั้ง 5 พระองค์ พระพุทธองค์ยังได้ประทานเล่าเรื่องให้แก่นายพานิช 2 คนได้รู้ดังนี้
ย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ปฐมกัปป์ คือกัปป์แรกของโลก ยังมีแม่กาขาวทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อใกล้กับแม่น้ำ ต่อมาแม่กาขาวได้ออกไข่ 5 ฟอง แม่กาก็รักและทะนุถนอมไข่ทั้ง 5 ฟอง ไม่ให้ได้รับอันตรายจากศัตรูหรือสัตว์อื่นที่จะมาทำร้ายไข่ทั้ง 5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่งแม่กาขาวก็ไปเที่ยวแสวงหาอาหาร ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารหลายอย่าง เผอิญวันนั้นได้มีพายุและฝนพัดกิ่งไม้ล้มระเนระนาดอากาศมืดครึ้มทำให้แม่กาจำทิศทางไม่ได้ เพราะดูเหมือนกันหมด แม่กาขาวก็หลง สถานที่แม่กาขาวไปหลงเดี๋ยวนี้เรียกว่าเวียงกาหลง ซึ่งอยู่ในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เมื่อสิ้นพายุและฝนแล้วอากาศแจ่มใส แม่กาก็หาทางบินกลับที่อยู่ คือ ต้นมะเดื่อใกล้กับแม่น้ำ กลับมาหาลูกที่เป็นไข่ทั้ง 5 ฟอง ไม่เจอ แม่กาก็เลียบไปทางด้านทิศตะวันตก เดี๋ยวนี้เรียกว่าหมู่บ้านแม่เลียบ ก็ไม่เจอ แม่กาก็ตามหาตามน้ำบริเวณนั้นก็ไม่เจอ เขาก็เรียกว่าวังแม่กา เมื่อแม่กาตามหาลูกไม่เจอแม่กาขาวก็ร้องไห้ เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าหมู่บ้านฮ่องไฮ แม่กาก็ตามหาลูกบินวนไปมาเดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าหมู่บ้านวังมน เมื่อแม่กาบินวนไปมาไม่เจอลูกก็เกิดความเศร้า ในเดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าหมู่บ้านทัพป่าเส้า แม่กาตามหาลูกเป็นเวลา 7 ปี ก็เกิดความท้อใจไม่อยากกินอาหารจนร่างกายซูบผม แต่ด้วยเหตุที่แม่กาเคยเป็นพรหมมาก่อน แม่กาก็ได้ทำใจให้สงบแล้วแม่กาก็สิ้นใจ สถานที่แม่กาสิ้นใจก็คือวัดอักโขชัยคีรี อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เมื่อแม่กาสิ้นใจแล้ว ก็ไปเกิดเป็นมฏิกามหาพรหม อยู่ชั้นสุทธาวาส
จะกล่าวถึงไข่ทั้ง 5 ฟองของแม่กาขาว วันที่แม่กาขาวไปหาอาหารวันนั้น ก็ได้เกิดพายุและฝนเหมือนกัน พายุได้พัดกิ่งไม้และรังไข่ของแม่กาขาวตกลงมาสู่แม่น้ำ ไข่ทั้ง 5 ฟองก็ลอยไปตามกระแสน้ำ ไข่ฟองที่ 1 ลอยไปมีแม่ไก่เห็นแล้วก็เก็บเอามาเลี้ยงไว้ ไข่ฟองที่ 2 ลอยไปมีแม่นาคเห็นแล้วก็เก็บเอามาเลี้ยงไว้ ไข่ฟองที่ 3 ก็ลอยไปมีแม่เต่าเห็นก็ได้เก็บเอามาเลี้ยงไว้ ไข่ฟองที่ 4 ลอยไปก็มีแม่วัวเก็บมาเลี้ยงไว้ ไข่ฟองที่ 5 มีแม่ราชสีห์ (สิง) เห็นแล้วก็เก็บเอามาเลี้ยงไว้ ต่อมาไม่นานไข่ทั้ง 5 ฟอง ก็แตกออกมา แทนที่จะเป็นอย่างอื่นกลับเป็นคนซึ่งเหมือนกันหมดทั้ง 5 แม่เลี้ยงก็เกิดความยินดีรักเหมือนกับลูกของตัวเอง แม่เลี้ยงทั้ง 5 ก็ได้เลี้ยงไว้เหมือนแม่ที่แท้จริงของกุมาร เวลาผ่านไปเมื่อกุมารทั้ง 5 เป็นหนุ่ม ได้ถามแม่เลี้ยงของแต่ละคนว่า แม่ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน แม่เลี้ยงก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ เพราะว่าลูกได้ลอยมาตามกระแสน้ำ แม่เลยเก็บเอามาเลี้ยงไว้ กุมารทั้ง 5 คิดถึงแม่ที่แท้จริงก็อยากจะตามหาแม่ ได้กราบลาแม่เลี้ยง ส่วนแม่เลี้ยงทั้ง 5 ก็มีความอาลัยหาลูกแต่ถ้าเป็นความต้องการของลูกก็อนุญาต แต่แม่ขออะไรสักอย่าง คือ ถ้าลูกได้เจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ขอฝากชื่อแม่เลี้ยงไว้
ถัดจากนั้นมากุมารทั้ง 5 ก็ได้เข้าป่าบำเพ็ญเป็นฤาษี จนได้ฌาณ มีวันหนึ่งฤาบีทั้ง 5 ได้มาเจอกันโดยบังเอิญโดยลักษณะหน้าตาก็คลายกัน อายุก็เท่ากัน ฤาษีทั้ง 5 ได้พร้อมใจกันตั้งสัจจะอธิษฐานกันว่าด้วยแรงบุญแรงกุศล แรงอธิษฐานบารมีของลูกทั้ง 5 นี้ ขอได้พบเจอแม่ที่แท้จริง ด้วยแรงอธิษฐานของฤาษีทั้ง 5 ซึ่งมีพลังอันยิ่งใหญ่และเป็นอธิษฐานที่ลูกส่งถึงแม่ด้วยความบริสุทธิ์ แรงอธิษฐานนั้นไปถึงฆฏิกามหาพรหม ซึ่งเดิมทีเป็นแม่กาก็ได้ลงมาในสภาพของแม่กา ได้มาให้ฤาษีทั้ง 5 ได้มารู้และเห็น และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ลูกทั้ง 5 ฟัง ตั้งแต่ต้นจนจบสิ้น ชีวิตมีความรักของแม่ยากที่จะทดแทนบุญคุณของแม่ที่มีต่อลูก ฆฏิกามหาพรหมในสภาพของแม่กาขาว ได้แนะนำลูกทั้ง 5 ที่เป็นฤาษีว่า ให้ลูกนำดินมาทำประทีป และนำฝ้ายมาทำเป็นรูปตีนซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนแม่กาขาว เมื่อแม่กาขาวได้แนะนำฤาษีทั้ง 5 แล้วก็ได้ขึ้นไปสู่ที่อยู่ คือ พรหมโลก วันที่แม่กามาพบฤาษีทั้ง 5 นั้น ตรงกับวันเพ็ญ เดือน12 เพ็ญหรือวันเดือนยี่เป็ง ของชาวล้านนาไทย นิยมจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือก (ขาว) ตลอดมา ก็มาจากเรื่องของแม่กาขาวพระเจ้า 5 พระองค์ซึ่งวันนี้เป็นวันตรงกับวันลอยกระทงเมื่อแม่กาขาวไปสู่พรหมโลกแล้ว ฤาษีทั้ง 5 องค์ ก็ได้ทำตามคำที่แม่แนะนำคือการจุดประทีปนำฝ้ายมาเป็นตีนกา แล้วหาน้ำมันมาใส่จุดบูชาทุกวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ แล้วฤาษีทั้ง 5 องค์ได้บำเพ็ญเพียรจนสิ้นอายุขัยของแต่ละองค์ ต่อมาฤาษีทั้ง 5 องค์ก็ได้มาเกิดในเมืองมนุษย์บำเพ็ญเพียรบารมีอีกหลายชาติ หลายกัปป์ จนมาถึงยุคภัทกัปป์นี้ซึ่งกัปป์ที่โชคดีที่สุดมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก 5 พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ (สิทธัตถะ) องค์ปัจจุบัน
และจะอุบัติขึ้นในอนาคต คือ พระศรีอารยเมตไตรย ซึ่งก็เป็นองค์สุดท้ายในภัทกัปป์นี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์นี้ แต่ก่อนก็เป็นลูกของแม่กาขาวและที่ได้ชื่อต่าง ๆ ก็ได้เอาชื่อแม่เลี้ยงตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับแม่เลี้ยง เมื่อพระพุทธเจ้าได้เล่าเรื่องของแม่กาขาว พระเจ้า 5 พระองค์แล้ว นายพานิชทั้งสองคนได้กราบลาพระพุทธเจ้าแล้วเดินทางมาที่บ้านเกิด คือ ดินแดนสุวรรณภูมิง แล้วนำพระเกศาทั้ง 8 เส้น บรรจุไว้ ณ ดินแดนดอยสังกุตตะระ คือ พระเจดีย์วัดพระเกิด ตราบเท่าทุกวันนี้
ตามคัมภีร์มูลศาสนาญาณคัมภีร์ ฉบับล้านนาไทย ในปีพุทธศักราช 1995 ว่ามีพระเถระผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง ท่านชื่อว่าพระญาณคัมภีร์ เดิมท่านบวชอยู่ที่วัดนันทราม จังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้เดินทางไปสุโขทัย อยุธยา และไปที่ประเทศลังกา แล้วไปทิโรหณชนบทแล้วท่านได้ไปเลื่อมใสพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า พระมหาสุทัสสนะ พระญาณคัมภีร์ก็ได้บวชใหม่ที่นั้นได้อยู่กับอุปัชฌาย์ 5 ปี ได้ลาอุปัชฌาย์กลับเมืองไทย แล้วท่านพระญาณคัมภีร์ก็เป็นที่เคารพ และนับถือจากกษัตริย์ เช่น สุโขทัย อยุธยา และมีกุลบุตรมาบวชมากมาย ท่านได้เดินทางมาเชียงใหม่ และได้เผยแพร่พระศาสนาไปแพร่หลายถึงเชียงแสน เชียงตุง ต่อมาในลำปางมีเหตุคือคนไม่สบาย คือ โรคภัยไข้เจ็บ ได้นิมนต์ท่านมาโปรด ท่านได้เดินทางมาโปรดที่เมืองลำปาง ในช่วงเวลานั้นพระธาตุแจ้ห่ม พระธาตุเมืองวัง สถาปนาขึ้นมาท่านก็ได้รับนิมนต์แล้วในพรรษาสุดท้าย ท่านก็ได้จำพรรษาพระธาตุเมืองวัง (วัดพระเกิด) เพราะได้หลักฐานจากการเล่าสืบกันมาว่า วัดพระเกิดเคยมีพระจำนวนร้อย เณรจำนวนพัน สะบัดผ้าจีวรพร้อมกันจะดังเหมือนฟ้าร้อง เข้าใจว่าคงจะเป็นยุคที่ท่านพระญาณคัมภีร์มาอยู่จำพรรษาที่วัดพระเกิด เพราะว่ามีกุลบุตรจากที่ต่าง ๆ มาบวชกัน เพราะท่านเป็นพระที่นำศาสนาคำสอนมาจากประเทศลังกา และตอนนั้นเมืองวังมีความเป็นอยู่ที่ดี มีศิลปะถ้วยเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ ส่งออกขายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ และเจ้าเมืองก็ได้อุปภัมภ์พระภิกษุ-สามเณรจำนวนร้อยจำนวนพัน ได้ต่อจากนั้นมาท่านพระญาณคัมภีร์ก็ได้เดินทางไปเชียงใหม่ตามคำนิมนต์ของเจ้าเมือง แต่ท่านเดินทางไปไม่ถึงเชียงใหม่ก็ได้มรณภาพระหว่างทาง พุทธศาสนิกชนได้ทำพระเจดีย์เป็นอนุสรณ์แก่ท่านพระญาณคัมภีร์ ผู้นำพุทธศาสนามาสู่ล้านนาไทย
ปีพุทธศักราช 2469
ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทย เดิมท่านบวชอยู่ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพนับถือของพระภิกษุ สามเณร พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทั่วแคว้นล้านนาไทย ยกย่องท่านครูบาศรีวิชัยว่าครูบาศีลธรรม ท่านมีความเสียสละประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พระศาสนาตลอดสาธารณประโยชน์ทั่วไป ท่านได้มาเห็นสภาพเจดีย์วัดพระเกิดมีสภาพทรุดโทรม แทบจะไม่มีสภาพของเจดีย์ มีหญ้าปกคลุมอยู่พระเจดีย์คงจะขาดการเอาใจใส่ดูแลมานาน บางสมัยก็อาจจะเกิดศึกสงครามทำให้วัดพระเกิดต้องได้รับผลกระทบด้วย ท่านครูบาศรีวิชัยพร้อมด้วยภิกษุ-สามเณร ตลอดจนญาติโยมที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาในเขตอำเภอวังเหนือ เวียงป่าเป้า แจ้ห่ม และทางลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่-เชียงแสน ในแคว้นล้านนาไทยช่วยกันบริจาคทรัพย์สินเงินทองตลอดการปั้นอิฐ การใช้แรงงานต่างๆ เท่าที่ผู้มีศรัทธาจะทำได้ ท่านครูบาศรีวิชัยได้วางผังของพระเจดีย์ตั้งแต่ใต้ดินจนจะเสร็จการทำพระเจดีย์ที่โบราณเขากล่าวว่า การวางผังเริ่มแรกจะยากมากเสมือนทำเจดีย์สององค์คือใต้ดินก็มีรูปเป็นเจดีย์ ผู้เฒ่าผู้แก่เขาเล่าว่า ท่านครูบาศรีวิชัย ท่านมีความตั้งใจทำพระเจดีย์พระเกิดให้ถูกต้องที่สุดตามพิธีโบราณ เช่น มีเรือเงิน เรือทอง เป็นต้น ท่านบูรณะพระเจดีย์ได้ประมาณจนจะเสร็จ ก็ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ญาติโยมที่อื่นก็ได้นิมนต์ท่านครูบาศรีวิชัยไปเป็นประธาน ท่านก็รับนิมนต์แล้วก็เดินทางไป ท่านครูบาศรีวิชัยคิดว่าเมื่อสร้างที่นิมนต์แล้วจะกลับมาบูรณะเจดีย์วัดพระเกิดต่อ ในระยะนั้นจังหวัดลำปางมีพระผู้มีชื่อเสียง เป็ฯที่เคารพนับถือของชาวลำปาง คือ ครูบานันดา แห่งวัดทุ่งม่านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ญาติโยมเลยนิมมนต์ครูบานันดา บูรณะพระเจดีย์วัดพระเกิด ต่อจากครูบาศรีวิชัยจนเสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช 2472 ได้ทำการฉลองเรียกว่างานปอยหลวงของภาคเหนือล้านนาไทย นับตั้งแต่นั้นมาวัดพระเกิดก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ เป็นอนิจจังไม่แน่นอน บางคราวก็มีพระมาอยู่ 1 พรรษา 2 พรรษา และไปอยู่ที่อื่น บางคราวก็เป็นวัดร้าง มีพระขาวแก้วซึ่งเป็นที่นับถือของคนทั่วไปอยู่บ้าง มีพระจากที่อื่นเช่น หลวงพ่อบุญชู มาจากแม่สาย เป็นพระหมอรักษาคนที่ไม่สบาย ท่านก็อยู่ไม่นานได้เดินทางไปอยู่ที่แม่สาย จนมาถึงสมัยของพระอธิการดวงติ๊บ อสโม ซึ่งท่านก็เป็นคนแม่เลียบได้มาบวชภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเกิด
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 18 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2536
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2536
ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558
พระมงคล มงฺคโล เจ้าอาวาสวัดพระเกิด
พระมงคล มงฺคโล
ปัจจุบันอายุ 41 ปี
บวชมาแล้ว 12 พรรษา
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเกิด
ประวัติด้านการศึกษาของพระมงคล มงฺคโล
พระมงคล มงฺคโล เจ้าอาวาสวัดพระเกิด
จบการศึกษาศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเกิด
พระจันทรา |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2435 ถึงปัจจุบัน |
พระอ้อม |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระขัน |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระหมื่น |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระแก้ว |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระตา |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระศุกร์ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระอ๋อ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระสม |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระพิมพ์ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระเฮือน |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระสอน |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระมืด |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระวงศ์ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระโน |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระขาวแก้ว |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระปั๋น |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระเหมือน |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พ่อเณรหล้า |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระทองอิน |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระดวงติ๊บ อุสโม |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ถึงปี พ.ศ.2536 |
พระบุญธรรม รัตณวังโส |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ถึงปี พ.ศ.2539 |
พระบุญชู สุทธจิตโต |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ถึงปี พ.ศ.2543 |
พระอธิการสงวน สปภาโส |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ถึงปี พ.ศ.2555 |
พระมงคล มงฺคโล |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ถึงปัจจุบัน |