การบริหารการปกครองมีเจ้าอาวาส ๑๖ รูป ดังนี้.-
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ครูบาหลวงสวาธุเจ้าชินะ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่รูปแรก ท่านจำพรรษาอยู่นานเท่าใด จะมรณภาพหรือลาสิกขาก็ไม่ปรากฏ หลักฐานยืนยัน ว่า พ.ศ.ใด
เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ครูบาพุทธิมา คณะนั้นศรัทธาชาวบ้านใหม่มี ๒๐ ครอบครัว ท่านนำพระภิกษุ-สามเณร และศรัทธาญาติโยมซ้อมแซมกุฏิวิหารที่ชำรุดให้มีสภาพใช้การต่อไปได้ ครูบาท่านนี้มาจากไหน จำพรรษาที่วัดนี้นานเท่าใด ลาสิกขาหรือมรณภาพก็ไม่ปรากฏเช่นกัน
เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ครูบาปัญญา ท่านเป็นคนบ้านใหม่นี้เอง คณะนั้นศรัทธาชาวบ้านมี ๒๕ ครอบครัวเรือน ท่านได้นำพระเณร และญาติโยมก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติม มีการพัฒนาด้านอื่นๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ท่านก็ดำรงสมณะเพศอยู่ได้ไม่นานนักเพราะตัดรักตัดหลงในสงสารยังไม่ขาด จึงอำลาอาวาสสึกไปเสียอาศัยคุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมเมื่อเป็นพระ ท่านลาสึกขาออกไปทางเจ้าหลวง จึงตั้งนามฐานันดรศักดิ์ให้เป็น“แสนปัญญา” มีหน้าที่ช่วยปกครองหมู่บ้านในโอกาสต่อมา
เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๑๑ ครูบาขัติ อภิชโย แห่งวัดทุ่งม่านเหนือ ลำปาง ได้อพยพติดตามญาติโยมขึ้นมาอยู่ที่วัดบ้านใหม่ คณะนั้นมีภิกษุ ๗ รูป สามเณร ๑๖ รูป ศรัทธาชาวบ้านใหม่มี ๔๕ ครอบครัวเรือน ครูบาได้นำพระเณรและญาติโยมทำการพัฒนาถาวรวัตถุของวัด เริ่มด้วยการสร้างศาลาบาตร (ศาลาราย) ๑ หลังด้านเหนือวิหารจนเสร็จเรียบร้อย
พ.ศ. ๒๔๑๓ ครูบา และสล่าเจ้าหนานเทพ (นายช่าง) บ้านทุ่งม่านเหนือ พร้อมด้วยพระเณร และญาติโยมทำการรื้อวิหารไม้ไผ่ที่ครูบาชินสร้าง แล้วก่อสร้างวิหารด้วยอิฐถือปูนถาวร หลังคาชด (ชั้น) เป็นศิลป์การก่อสร้างที่งดงามมากในยุคนั้น เสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. ๒๔๒๑
พ.ศ. ๒๔๒๒ ครูบา นำศรัทธาญาติโยม รอมรั้ววัดทั้ง ๔ ด้าน ด้วยไม้เนื้อแข็งจนสำเร็จเรียบร้อย
พ.ศ. ๒๔๓๔ ทำการรื้อกุฏิไม้ไผ่ แล้วสร้างกุฏิขึ้นใหม่ด้วยไม้เนื้อแข็งทำเป็นหลังคา ๓ หลังติดกัน มุงด้วยไม้เกร็ดใหญ่และงดงามมากจนสำเร็จ
พ.ศ. ๒๔๓๗ สร้างศาลาบาตรรอบวิหารด้านทิศใต้ ยาว ๑๕ ห้อง จนสำเร็จเรียบร้อย
พ.ศ. ๒๔๔๔ สร้างธรรมมาสน์รูปปราสาท ๕ ยอด ไว้ในวิหาร ๑ หลัง อันเป็นศิลปะที่สง่างามอีกชิ้นหนึ่งที่ครูบาขัติ ได้ทำไว้
ครูบาขัติ อภิชโย ท่านเป็นช่างก่อสร้าง สร้างแกะสลัก ช่างออกแบบ ทำได้และทำเป็นแทบทุกอย่าง วัดบ้านใหม่ในสมัยของครูบาเจริญมาก และช่วงที่ครูบายังอยู่นั้น คณะศรัทธาญาติโยมบ้านทุ่งม่านเหนือ ได้อพยพติดตามอีกเลื่อยๆ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๔ บ้านใหม่มีถึง ๑๐๐ ครอบครัวเรือน แต่อนิจตาสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน ครูบาท่านได้บำเพ็ญศาสนกิจเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่นานถึง ๓๓ พรรษา ท่านก็ถึงแก่มรณภาพ ณ วัดบ้านใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้นเอง
อนึ่ง ในช่วงที่ครูบาขัติเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่อยู่นั้น (ไม่ทราบ พ.ศ) ครูบาธิ วัดบ้านแคร่ ลำปาง พร้อมกับพระภิกษุสามเณร อีก ๘ รูป และศรัทธาญาติโยมหลายครอบครัว ใช้วัวต่างคัมภีร์ธรรมใบลาน ๒ หีบ และขออื่นๆอีก พากันอพยพเดินมาเป็นเวลา ๑๕ วัน เมื่อมาถึงวัดบ้านใหม่ครูบาขัติก็ได้นิมนต์ให้มาอยู่ร่วมกันในวัดแต่ครูบาธิท่านพรรษาแก่กว่าจึงไม่รับนิมนต์ เพราะจะเป็นการมาชิงอารามผิดวินัย จึงได้สร้างอารามขึ้นใหม่ ติดกันทิศเหนือวัด โดยปลูกต้นโพธิ์ไว้ตรงกลางระหว่างวัดเหนือวัดใต้ โดยคิดว่าวันหลังจะสร้างวัด ๒ วัดติดกันให้ชื่อว่า “วัดบ้านใหม่สิงห์ชัยด้านเหนือ-ด้านใต้” พอดีครูบาธิท่านได้มรณภาพเสียก่อน ศิษย์ยานุศิษย์ จึงพากันรื้ออารามมาอยู่รวมกันในวัดส่วนคัมภีร์ธรรมนำกลับไปวัดเดิม ๑ หีบ เก็บไว้ที่วัดบ้านใหม่นี้ ๑ หีบ ส่วนของอื่นๆแบบกันตามส่วน
เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ พระใบฎีกาก๋า (ครูบาก๋า) ไม่ปรากฏว่าท่านก่อสร้างอะไรไว้ เพราะถาวรวัตถุแทบทุกอย่าง ครูบาขัติท่านได้สร้างไว้ให้หมดแล้ว ท่านจึงได้แต่ดูแลรักษาให้คงอยู่เท่านั้น ท่านเป็นเจ้าอาวาสได้ ๓ พรรษา ก็ลาสิกขา
เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๔๖ ครูบามณีวรรณ ศรัทธานิมนต์มาจากวัดปงวังตำบลวังใต้ ครูบาท่านนี้ไม่ได้ก่อสร้างอะไรเพียงแต่ดูแลรักษาของเดิมไว้ ช่วงนี้การพัฒนาวัดชะงักงัน พระภิกษุสามเณรและญาติโยมแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน พากันลาสิกขาไปมาก ครูบามณีวรรณ จึงไม่สบายใจลากลับวัดเดิม
เจ้าอาวาสรูปที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๔๗ ครูบามี (พระบุญมี อภิวํโส) ขณะนั้นศรัทธาชาวบ้านใหม่มี ๑๓๔ ครอบครัวเรือน ครูบาท่านนำพระเณร และญาติโยมก่อแท่นแก้วพระประธานในวิหาร แกะสลักพระพุทธรูปไม้ประดู่ปางต่างๆ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๑ องค์ และองค์เล็กๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจานั้นท่านยังได้สร้างตู้คัมภีร์ธรรมใบลาน ตู้เก็บของอื่นๆ อีกมากมาย
พ.ศ. ๒๔๔๙ รื้อรั้วไม้รอบวัดทั้งหมดออก แล้วก่อกำแพงด้วยอิฐถือปูนจนสำเร็จ พร้อมกับปั้นรูปสิงห์ไว้ที่ประตู่วิหาร ๑ คู่ เสร็จแล้วฉลองพร้อมกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ พ.ศ.๒๔๕๑
พ.ศ. ๒๔๕๖ ทางกระทรวงได้ประกาศให้มีเจ้าคณะปกครองคณะสงฆ์ คือ ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง(อำเภอ) และเจ้าคณะหมวด(ตำบล) ครูบามี อภิวงศ์ ถูกเลือกให้เป็นเจ้าคณะหมวดเมืองวัง(วังเหนือ) แต่ท่านปฏิเสธ ตำแหน่งจึงตกไปอยู่ที่ครูบาอินต๊ะ วัดแม่เฮียวเหนือ ครูบามีรับเป็นผู้ช่วย วัดบ้านใหม่มีการพัฒนาขึ้นอีกมากในช่วงขอครูบามี เพราะท่านเป็นสารพัดช่าง และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสได้ ๙ พรรษา ก็ลาสิกขา
เจ้าอาวาสรูปที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๕๖ ครูบาชุมพู เป็นเจ้าอาวาสได้ ๑ พรรษาก็ลาสิกขาไป
เจ้าอาวาสรูปที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๕๗ ครูบาแก้ว ขณะนั้นมีพระภิกษุ ๖ รูป สามเณร ๑๖ รูป ศรัทธาชาวบ้านใหม่มี ๑๕๙ ครอบครัวเรือน ท่านได้นำพระเณรและญาติโยมสร้างหอธรรม ๑ หลัง ทำเป็นรูปปราสาท ๔ มุข อันเป็นศิลปะที่สวยงามสะดุดตาอีกชิ้นหนึ่งของวัดบ้านใหม่ สร้างไว้ที่ตั้งอุโบสถปัจจุบัน ครูบาแก้วนอกจากจะเป็นช่างก่อสร้างแล้ว ท่านยังเป็นช่างทำบ้องไฟเก่งอีกด้วย และเป็นผู้คงกระพัน ไม่นานนักท่านก็ลาสิกขา
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๕๘ ครูบาอินสม ท่านเป็นเจ้าอาวาสเพียงพรรษาเดียวก็ลาสิกขาไป
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๕๙ ครูบาปั๋น อินฺทปญโญ (อินทะปัญญา)ขณะนั้นมีพระภิกษุ ๗ รูป สามเณร ๑๖ รูป ศรัทธา ๑๗๐ ครอบครัว ครูบาท่านได้บูรณะซ่อมแซมถาวรวัตถุที่ชำรุดชุดโทรมให้คงสภาพใช้การได้ ท่านเป็นเจ้าอาวาสได้ ๕ พรรษา ก็ลาสิกขาไป
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๔๖๓ ครูบาปัน ปินตา ติดชัย มีพระภิกษุ ๙ รูป สามเณร ๒๑ รูป ศรัทธาวัดบ้านใหม่ ๑๙๓ ครอบครัวเรือน ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รื้อกุฏิหลังที่ครูบาขัติได้สร้างซึ่งชำรุด แล้วสร้างกุฏิหลังใหม่ขึ้นมาแทน จนสำเร็จเรียบร้อย พ.ศ. ๒๔๖๕ ครูบาปันได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวดอีกตำแหน่งหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านก็ลาสิกขา
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๗ ครูบาอินสอน หรือครูบาขัติยะ เป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ เดือน เศษก็ลาสิกขา
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๔ พ.ศ.๒๔๖๗ ครูบามูล หรือครูบาจันทะรังษี มีพระภิกษุ ๔ รูป สามเณร ๑๙ รูป ท่านได้ปรึกษาคณะศรัทธาว่าจะรื้อวิหารหลังที่ครูบาขัติสร้างไว้ซึ่งทรุดโทรมมาก จึงได้ร่วมกับศรัทธาทำการเลื่อยไม้เตรียมไว้เพื่อสร้างวิหารหลังใหม่ แต่พอออกพรรษา ท่านก็ลาสิกขาไปเสียก่อน
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๖๘ ครูบาผัด หรือครูบาอุตตะมะวงศ์ มีพระภิกษุ ๔ รูป สามเณร ๒๖ รูป ศรัทธาบ้านใหม่มี ๑๙๘ ครอบครัวเรือนท่านได้นำพระเณร และญาติโยม ทำการรื้อวิหารในวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้วางศิลาฤกษ์ วิหารหลังใหม่ (หลังที่ ๒) โดยมีครูบานันตา วัดทุ่งม่านใต้ ลำปาง มาเป็นประธาน การก่อสร้าง ดำเนินการมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ ครูบาผัด ได้ลาสิขาไปเสีย
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๗๑ พระครูนิเวศรรมารักษ์ (อินทร์ อินฺโท (นามสกุล ลาภใหญ่)) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่สืบต่อมา มีพระภิกษุ ๓ รูป สามเณร ๒๐ รูป คณะศรัทธาบ้านใหม่ ๒๑๕ ครอบครัวเรือน ได้ดำเนินการสร้างวิหารที่คั่งค้างต่อไป โดยมีครูบานันตา วัดทุ่งม่านใต้ พระคำ ปินตา วัดทุ่งม่านเหนือ และพระหน่อดี วัดแม่ก๋ง อำเภอเมืองลำปาง มาช่วยก่อสร้าง พร้อมกับก่อพระประธานในวิหาร (องค์ใหญ่) จนสำเร็จ พ.ศ. ๒๔๗๓
พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ว่าจ้างสล่าน้อยยอด จากจังหวัดลำพูน มาก่อพระพุทธรูปองค์ขวาพระประธานในวิหาร (ด้านใต้) จนสำเร็จเรียบร้อย ต่อจานั้นหลวงพ่อเจ้าอาวาส ได้นำพระเณร และญาติโยม ทำการรื้อกำแพงที่ครูบามี อภิวงศ์สร้าง ซึ่งมีสภาพทรุดโทรม แล้วทำการก่อกำแพงขึ้นใหม่ทั้ง ๔ ด้าน ต่อจากนั้นได้สร้างศาลารายยาวตามกำแพงทิศตะวันออกอ้อมไปทางเหนือไปจดกำแพงทิศตะวันตก รวม ๓๖ ห้อง จนสำเร็จเรียบร้อย พ.ศ. ๒๔๗๓
พ.ศ. ๒๔๗๙ (แรม ๒ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ) เริ่มก่อเจดีย์ไว้ที่หลังวิหาร ๑ องค์ โดยมี ครูบานันตาเป็นประธานก่อสร้าง ทำพิธียกฉัตรและฉลองเจดีย์ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ปี นี้วัดบ้านใหม่มีพระ ๓ รูป สามเณรมี ๒๔ รูป
พ.ศ.๒๔๘๐ ได้ทำการเปิดสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมขึ้นที่วัดบ้านใหม่ ซึ่งเป็นแห่งแรกในอำเภอวังเหนือ โดยมีหลวงพ่ออินทร์ เป็นเจ้าสำนักเรียน และเป็นครูสอนเอง ขณะเดียวกันนี้ หลวงพ่ออินทร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด (ตำบล) วังเหนือ อีกตำแหน่งหนึ่ง
พ.ศ.๒๔๘๕ หลวงพ่อเจ้าอธิการอินทร์ อินฺโท ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอวังเหนือ
จังหวัดลำปาง
พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นต้นมา แม่กองธรรมสนามหลวง ได้กำหนดให้วัดบ้านใหม่เป็นสถานที่สอบธรรมสนามหลวง ประจำอำเภอวังเหนือ
พ.ศ.๒๔๘๖ สร้างศาลาเอนกประสงค์ และขุดบ่อน้ำไว้นอกวัดด้านทิศเหนือจนสำเร็จ
ต่อจากนั้นได้ก่อพระพุทธรูปองค์ซ้ายพระประธานในวิหาร (ด้านเหนือ)โดยมีหนานหน่อดี เป็นผู้ช่วยจนสำเร็จเรียบร้อย
พ.ศ.๒๔๘๙ จ้าอธิการอินทร์ ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ที่ “พระครูนิเวศน์ธรรมารักษ์” เลื่อนเป็นชั้นเอก พ.ศ.๒๔๙๕
พ.ศ.๒๔๙๑ สร้างศาลาเอนกประสงค์ไว้ที่นอกวัดทิศตะวันออกอีกหนึ่งหลัง
พ.ศ.๒๔๙๒ รื้อกุฏิหลังที่ครูบาปัน ปินตา ก่อสร้างไว้เพราะชำรุดมากแล้วก่อสร้างกุฏิขึ้นใหม่ ทรงไทยล้านนาครึ่งตึกครึ่งไม้มุงด้วยกระเบื้อง โดยจ้างสล่า(ช่าง) มาจากแม่ขะจานมาควบคุมการสร้าง แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังจึงไปติดต่อว่าจ้างสล่าหนานหวัน เมืองมา มาจากจังหวัดพะเยา มาดำเนินการสร้างต่อจนสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ปีนี้วัดบ้านใหม่มีพระ ๗ รูป เณร ๒๐ รูป ศรัทธา ๓๐๙ ครอบครัว
พ.ศ.๒๔๙๖ (๓ เมษายน แรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ) ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ พร้อมกัน ๗ วัด คือ ๑.วัดบ้านใหม่ ๒.วัดขันหอม ๓.วัดทุ่งฮั้ว ๔.วัดป่าแหน่ง ๕.วัดทุ่งฮี ๖.วัดบ้านก่อ ๗.วัดร่องเคาะ โดยมีเจ้าคณะจังหวัดลำปาง (พระเทพวิสุทธิโสภณ) วัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมกับพระสงฆ์ ๘๖ รูป หมายเหตุ ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับพระราชทาน ๖ กรกฎาคม ๒๔๙๒ เพราะอยู่ในช่วงภาวะสงคราม
พ.ศ.๒๔๙๗ (๑ ก.ค. ๙๗) วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอุโบสถถาวร ทรงไทยสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๖.๖๕ เมตร ยาว ๑๒.๗๐ เมตร โดยมีพระ ๕ รูป สามเณร ๑๒ รูป ศรัทธา ๓๑๙ ครอบครัว ช่วยกัน และปี พ.ศ.๒๔๙๙ หลวงพ่อ ได้ก่อพระประธานไว้ในพระอุโบสถ ๑ องค์ จนสำเร็จบริบูรณ์ ทำการฉลอง พ.ศ.๒๕๐๐
พ.ศ.๒๕๐๓ รื้อกำแพงที่สร้าง พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมแล้วก่อสร้างใหม่ ทั้ง ๔ ด้าน พร้อมกันนั้นก็สร้างศาลารายติดกำแพงตั้งแต่ประตูหน้าถึงประตูเหนือ และสร้างศาลาโรงกลองด้านใต้ประตูหน้า อนึ่ง ได้ขุดบ่อน้ำมุมวิหารด้านเหนือ ๑ บ่อ
พ.ศ.๒๕๐๕ ได้นิมนต์พระครูอภิวงศ์วิวัฒน์ วัดศรีหลวง แจ้ห่มมาปั้นสิงห์ ๒ ตัวไว้ที่ประตูหน้าวัด พร้อมนั้นหลวงพ่อก็ได้ปั้นนาค ๒ ตัวต่อจากสิงห์ลงไปข้างล่าง จนสำเร็จการฉลองพร้อมกันในวันที่ ๘-๑๓ มีนาคม ๒๕๐๖
พ.ศ.๒๕๐๖ หลวงพ่อ ได้แกะสลักพระพุทธรูปประจำวันทั้ง ๗ และโต๊ะหมู่บูชาชุดใหญ่ ๒ ชุดจนสำเร็จเรียบร้อย
พ.ศ.๒๕๐๗ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เดินสายไฟเข้าหมู่บ้านใหม่ และวักเป็นครั้งแรก และได้เปลี่ยนเป็นไฟฟ้าแรงสูงเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕
พ.ศ.๒๕๒๘ หลวงพ่อได้สร้างธรรมาสน์เท้าสิงห์ ๑ หลัง จนสำเร็จเรียบร้อย
พ.ศ.๒๕๐๙ (๑ ม.ค. ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เหนือ) วางศิลาฤกษ์อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมนิเวศน์ธรรมานุสรณ์ สร้างด้วยไม้ ๒ ชั้น มุงกระเบื้อง กว้าง ๘.๕๕ เมตร ยาว ๒๓.๓๐ เมตร ติดกำแพงด้านเหนือวิหาร เปิดป้าย พ.ศ.๒๕๑๐ (พ.ศ.๒๕๓๓ รื้อถอนเพื่อย้ายไปสร้างนอกวัด และบริเวณนี้ได้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์นิเวศน์ธรรมารักษ์ขึ้นแทน ใน พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๔)
พ.ศ.๒๕๑๑ สร้างหอระฆัง ๑ หลัง แล้วสร้างโรงครัว-หอฉัน ติดมุมกำแพงด้านตะวันตกเฉียงใต้ ๑ หลัง สร้างด้วยไม้มุงด้วยกระเบื้อง กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร
พ.ศ.๒๕๑๒ ได้ร่วมกับอนามัยอำเภอวังเหนือ สร้างแทงค์น้ำประปาสำหรับใช้ภายในวัด
พ.ศ. ๒๕๑๘ สร้างกุฏิไม้ ๒ ชั้น ๘ ห้อง กว้าง ๕.๕๐ เมตร ยาว ๑๒.๕๐ เมตรมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ติดกำแพงด้านทิศตะวันตก ๑ หลัง
พ.ศ. ๒๕๑๙ (แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ) รื้อวิหารที่ชำทรุดโทรมากโดยขอถรยกของ รพช. มายกพระพุทธรูปองค์ซ้าย-ขวา พระประธาน ให้เข้ามาชิดกับพระประธาน จากนั้นวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ (วิสาขบูชา) ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างวิหารหลังใหม่ ลักษณะทรงไทยสูงโปร่ง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ กว้าง ๑๓.๕๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร โดยจ้างช่างมาจากจังหวัดลำพูนร่วมกับหลวงพ่อฯ และพระเณรญาติโยมช่วยกันก่อสร้าง วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๔ ได้เรียน ฯพณฯรองประธานสภาผู้แทนราชฎร ดร.สอาด ปิยวรรณ สส.ลำปาง มาเป็นประธานยกช่อฟ้า ก่อก่อสร้างดำเนินไปจนสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังจากนั้นมา พ.ศ.๒๕๒๙ ได้จ้างช่างมาจากเชียงใหม่ ให้วาดภาพจิตกรฝาผนังวิหารจนสำเร็จบริบูรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ รวมค้าก่อสร้างทั้งสิ้น ๓ ล้านกว่าบาท
พ.ศ. ๒๕๒๑ ในช่วงสร้างวิหารอยู่นั้น ลมได้พัดยอดเจดีย์หักลงมาหลวงพ่อ จึงทำการซ่อมแซม และยกฉัตรขึ้นใหม่ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ
พ.ศ.๒๕๒๓ กรมการศาสนา ได้ประกาศยกวัดบ้านใหม่เป็นวัดพัฒนาตังอย่างระดับประเทศ
พ.ศ.๒๕๒๔ สร้างศาลาเอนกประสงค์ตรงหน้าวิหารอ้อมไปทางเหนือวิหารถึงประตูเหนือ (แทนศาลาราย) ๑ หลัง กว้าง ๘.๘ๆ เมตร ยาว ๓๗ เมตร พร้อมทั้งขยายกำแพงด้านหน้าออกไปอีก ๔ เมตร พ.ศ.๒๕๒๕ รื้อศาลาโรงกลองสร้างขึ้นใหม่ พร้อมทั้งขยายกำแพงออกไปอีก ๔ เมตร รวมค่าก่อสร้างศาลาทั้งสองหลัง สองแสนกว่าบาททำการฉลองพร้อม ๆ กัน ทั้งวิหาร ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาโรงกลอง ในวันที่ ๒๖ ก.พ. ๒๕๒๖
พ.ศ.๒๕๒๖ สร้างกุฏิเจ้าอาวาส ๑ หลัง ทรงไทยล้านนาชั้นเดียว กว้าง ๑๐.๘๐ เมตร ยาว ๑๓.๗๐ เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ สำเร็จปี พ.ศ.๒๕๒๘
พ.ศ.๒๕๒๘ สร้างกุฏิสำหรับพระภิกษุสามเณรอีก ๑หลัง ทรงไทยล้านนาต่อจากกุฏิเจ้าอาวาสไปทางตะวันตก กว้าง ๑๓.๗๐ ยาว ๑๗ เมตร ๘ ห้องนอน สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ สำเร็จ พ.ศ.๒๕๒๙ และทำการฉลองพร้อมกันทั้ง ๒ หลังพร้อมกับรูปภาพในวิหารด้วย
พ.ศ.๒๕๒๙ หลวงพ่อพระครูนิเวศธรรมารักษ์ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอวังเหนือ เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง ทางเจ้าคณะภาค ๖ จึงยกให้เป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมาศักดิ์ และได้แต่งตั้งให้ พระมหาสุทัศน์ สีลวฑฺโฒ ปธ.๔ น.ธ.เอก บี.เอ. รองเจ้าคณะอำเภอวังเหนือ เป็นเจ้าคณะอำเภอวังเหนือ โดยมีพระครูวิริยวรคุณ (ประเสริฐ อุฏฺฐาโน) เป็นรองเจ้าคณะอำเภอ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๔ พระครูคัมภีร์ชลาภิรักษ์ (พระมหาสุทัศน์) ได้เลื่อนเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดลำปาง พระครูวิริยวรคุณ เลื่อนเป็นเจ้าคณะอำเภอวังเหนือ มีพระครูวรธรรมานุสิฐ (สมบูรณ์ ธมฺมวโร) เป็นรองเจ้าคณะอำเภอวังเหนือต่อมา
พ.ศ.๒๕๓๐ สร้างที่อ่านหนังสือวัดบ้านใหม่ ๑ หลัง ทรงไทย มุงด้วยสังกะสี กว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร
พ.ศ.๒๕๓๐ มีพระภิกษุ ๗ รูป สามเณร ๓๗ รูป ศรัทธาชาวบ้านใหม่ หมู่ที่ ๖ มี ๕๒๗ ครอบครัว บ้านใหม่หล่ายท่า หมู่ที่ ๒ ต.วังซ้าย มี ๙๓ ครอบครัว
พ.ศ.๒๕๓๓ สร้างพิพิธภัณฑ์ “นิเวศธรรมารักษ์” ไว้วัดบ้านใหม่ทรงไทยล้านนา กว้าง ๖ เมตร ยาว ๙ เมตร ซึ่งเก็บคัมภีร์ใบลาน จำนวน ๙๐๐ ผูก (ฉบับ) เครื่องดินเผา ของเตาเผาเมืองวัง
พ.ศ.๒๕๓๔ สร้างอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำอำเภอวังเหนือ ณ บริเวณหน้าวัด สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่จนสำเร็จเรียบร้อย รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑,๔๕๐,๗๕๙.๐๐ บาท ทำบุญฉลองวันที่ ๑๐-๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ พิธีเปิดป้ายวันจันทร์ ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ วันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ เวลา ๐๗.๔๕ น. หลวงพ่อพระครูนิเวศน์ธรรมารักษ์ ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลลานนา จังหวัดเชียงใหม่ รวมชนมายุได้ ๘๘ ปี ๖๘ พรรษา
เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๓๙-ปัจจุบัน พระครูวรธรรมานุสิฐ
(สมบูณร์ ธมฺมวโรนามสกุลเชื้อเขียว)
งานเริ่มแรกในการรับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่ ตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ
จังหวัดลำปาง ของพระครูวรธรรมานุสิฐ ซึ่งมีการพัฒนาด้านงาน
สาธารณูปการและบูรณปฏิสังขรณ์ อาคารเสนาสนะ ดังนี้.-
(๑. ) งานก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด
พ.ศ. ๒๕๓๙ ดำเนินการหาทุนทรัพย์สร้างกำแพงวัดทิศใต้ ก่ออิฐถือปูน หนา ๑๑ นิ้ว
สูง ๒.๓๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๐ ดำเนินการหาทุนทรัพย์เทถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเข้าสู่ประตูวัด ทางทิศตะวันออก หนา ๖ นิ้ว กว้าง ๔ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๑ ดำเนินการหาทุนทรัพย์เทถนนคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณลานวัดเป็นเนื้อที่
กว้าง ๑,๐๐๐ ตารางเมตร หนา ๕ นิ้ว
พ.ศ. ๒๕๔๒ ดำเนินการหาทุนทรัพย์สร้างห้องน้ำ ๑ หลัง จำนวน ๑๐ ห้อง สร้างด้วยอิฐถือปูนโครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ กว้าง ๘ เมตรยาว ๑๖ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๓ ดำเนินการสร้างสำนักงานเจ้าคณะอำเภอ จำนวน ๑ หลัง สร้างด้วยอิฐถือปูน โครงสร้างหลังคาคอนกรีต กว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๓.๕ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๔ ดำเนินการหาทุนทรัพย์สร้างวิหารประดิษฐาน รูปเหมือนหลวงพ่อ
พระครูนิเวศน์ธรรมารักษ์ (อดตีเจ้าอาวาส) ลักษณะลักษณะทรงไทย ฐานดอกบัวสร้างด้วยอิฐถือปูน พื้นปูด้วยหินแกรนิต ช่วงต่อจากฐานดอกบัวสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง เสาไม้สักทองแกะสลักลวดลายแบบล้านนา หลังคามุ่งด้วยไม้บานเกร็ด สูง ๑๓ เมตร กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๕ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๖ ดำเนินการหาทุนทรัพย์สร้างกุฏิรับรองลักษณะ ๒ ชั้น เป็นทรงไทยโดยชั้นร่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบทสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง ขนาดความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สูง ๑๕ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๗ ดำเนินการหาทุนทรัพย์สร้างซุ้มประตูลักษณะเป็นทรงไทย กว้าง ๘ เมตร
สูง ๑๕ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๘ ดำเนินการหาทุนทรัพย์สร้างกุฏิสงฆ์ ลักษณะสองชั้น ก่ออิฐถือปูน โครงสร้างหลังคาทำด้วยเหล็ก มุ่งด้วยกระเบื้องลอนคู่ ขนาดความกว้าง ๓.๕ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สูง ๖ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๙ ดำเนินการสร้างโรงครัว ๑ หลัง ขนาดความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร
พ.ศ. ๒๕๕๐ ดำเนินการสร้างหอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ลักษณะ ๒ ชั้น
ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สูง ๖เมตร ทำการฉลองวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓
พ.ศ. ๒๕๕๒ ดำเนินการสร้างการก่อสร้างกุฏิรับรองอาคันตุกะลักษณะทรงไทยประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สูง ๔ เมตร
(๒) งานบูรณปฏิสังขรณ์
พ.ศ. ๒๕๔๐ ดำเนินการบูรณะวิหาร โดยการเฉพาะผนังด้านนอก ฉาบและทาสีรอบวิหาร
พร้อมซ้อมแซมภาพวาดกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๓๐ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๒ ดำเนินการบูรณะอุโบสถ โดยการปูกระเบื้องพื้นอุโบสถกว้าง ๖ เมตร
ยาว ๑๓ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๓ ดำเนินการบูรณะกุฏิสงฆ์ โดยการเปลี่ยนกระเบื้องเดิมออกแล้วมุงด้วยกระเบื้อง
ลอนคู่ และทาสีกุฏิทั้งหลัง กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๘ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๔ ดำเนินการบูรณะกุฏิเจ้าอาวาส โดยการปูกระเบื้อง ต่อเติมห้องรับแขก
กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร
พ.ศ. ๒๕๔๗ ดำเนินการบูรณะพระธาตุ ความกว้างของฐานเจดีย์ กว้าง ๑๐x๑๐ เมตร
ความสูง ๒๔เมตร แบบย่อมุมสิบสอง ปิดทองคำเปลว ครึ่งองค์ พร้อมซ้อมแซมฉตัรใหม่
พ.ศ. ๒๕๕๐ ดำเนินการบูรณะหลังคาศาลาโลงกองโดยนำสังกะสีที่ชำรุดออกแล้วมุ่งด้วย
กระเบื้องโปราณ ความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒ เมตร