วัดธรรมาธิปไตย เดิมชื่อวัด “ท่าทราย” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน (ท่าอิฐล่าง) หรือบ้านบางโพเหนือ เนื่องจากน้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงที่ตั้ง วัดจึงย้ายหนีน้ำขึ้นมาห่างจากที่เดิมประมาณสองกิโลเมตรเศษ จากสภาพทำเลที่ตั้งวัดใหม่มีต้นไม้ร่มรื่นมากมาย โดยเฉพาะต้นมะขามขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณวัด จึงได้ให้ชื่อว่า “วัดต้นมะขาม” ในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ต่อมาเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ส่งพระสุธรรมเมธี (พระมหาบันลือ ธมฺมธโช) ป.ธ. ๘ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดต้นมะขาม เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ พระสุธรรมเมธีฟังชื่อวัดแล้วเหมือนอยู่ในและต้นมะขามไม่มีปรากฏแล้ว จึงได้ดำเนินการขออนุญาตเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดธรรมาธิปไตย” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาที่ดินเฉพาะบริเวณที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ ๑๙ ไร่ ๒๔ ตารางวา ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบตั้งอยู่ใจกลางชุมชนพระมีพุทธรูปที่สำคัญในอุโบสถหรือในตึกธรรมสภาคือ “หลวงพ่อเชียงแสน” ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๘ นิ้ว สูง ๖๗ นิ้ว และมีบานประตูวิหารวัดพระฝาง บานประตูทำด้วยไม้ปรุ มีขนาดบาน กว้าง ๒.๒๐ เมตร สูง ๕.๓๐ เมตร หนา ๐.๑๖ เมตร แกะสลักโดยช่างสมัยอยุธยาเป็นลายกนกก้านขด ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานละ ๗ พุ่ม แต่ละพุ่มงดงามอ่อนช้อนมาก ระหว่างพุ่มข้าวบิณฑ์มีกนกใบเทศขนาบทั้งสองข้าง บานทางขวามือมีอกเลาประตูอยู่ตรงกลาง แกะสลักเป็นเทพพนมตอนบนอกเลา ๔ องค์ ตอนล่างอกเลา ๔ องค์ ซึ่งนำมาจากวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถมาเก็บไว้ที่วัดธรรมาธิปไตยนี้
แหลงที่มา:เว็บไซต์สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์