วัดห้วยเลิศ ตั้งอยู่ ณ บ้านสามร้อยเมตร เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลท่าปลา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค ๕
วัดห้วยเลิศ สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๐ มีเนื้อที่ทั้งหมด จำนวน ๖ ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๘๔ วา ติดต่อกับถนนในหมู่บ้าน ทิศใต้ยาว ๘๔ วา ติดต่อกับที่ตั้งโรงเรียน ทิศตะวันออกยาว ๓๙ วา ติดต่อกับถนนในหมู่บ้าน ทิศตะวันตกยาว ๓๙ วา ติดต่อกับถนนในหมู่บ้าน
วัดห้วยเลิศ เดิมทีตั้งอยู่ที่บ้านห้วยเลิศ หมู่ที่๔ ตำบลท่าแฝก อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ได้ย้ายมาจัดสร้างขึ้นใหม่ ณ ที่ปัจจุบัน เนื่องจากที่ตั้งวัดเดิมอยู่ในเขตน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ การย้ายวัดได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นต้นมา โดยย้ายมาจัดสร้างที่บ้านสามร้อยเมตร หมู่ที่๒ ตำบลท่าปลา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านท่าแฝก หมู่ที่๖ และหมู่ที่๗ ตำบลท่าแฝก อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เหตุที่ใช้ชื่อวัดว่า“ห้วยเลิศ”นั้น เพราะว่าวัดท่าแฝกซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านในช่วงก่อนการสร้างเขื่อนสิริกิติ์นั้น ได้ไปจัดตั้งขึ้นใหม่ ณ บ้านท่าวังโปร่ง หมู่ที่๒ ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้ผู้นำในสมัยนั้นต้องหาชื่อวัดที่ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่มาจัดตั้งแทนเพื่อความสะดวกในการขอจัดสร้างวัด
วัดห้วยเลิศ เฉพาะที่ตั้งปัจจุบันนี้ มีเจ้าอาวาสรูปแรกและรูปเดียวคือ หลวงพ่อศรีนวล อนงฺคโณ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๓๘ ซึ่งเดิมทีเป็นท่านเจ้าอาวาสวัดท่าแฝกมาก่อน เมื่อมีการย้ายวัดและหมู่บ้าน หลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ หลวงพ่อศรีนวล อนงฺคโณ จึงได้ย้ายมาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยเลิศ ซึ่งใน ขณะนั้นยังได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่าแฝกอีกตำแหน่งด้วย ต่อมาท่านได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี ที่ “พระครูสิริขันตยาภิรม”
หลวงพ่อศรีนวล อนงฺคโณ มรณภาพลง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ สิริอายุได้ ๕๔ ปี พรรษา ๓๓ หลังจากนั้นได้มีพระภิกษุสงฆ์หลายรูป ทำหน้าที่ดูแลวัดและรักษาการเจ้าอาวาส มาโดยตลอด
วัดห้วยเลิศ มีคณะศรัทธาให้การอุปถัมธ์วัด จำนวน ๒ หมู่บ้าน คือบ้านสามร้อยเมตร หมู่ที่๒ และบ้านสามร้อยเมตร หมู่ที่๑๒ ตำบลท่าปลา รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๒๕๐ คน เหตุที่เรียกว่าบ้านสามร้อยเมตรนั้น เนื่องจากมีป้ายบอกทางว่า “อีก ๓๐๐ เมตร ถึงด่านตรวจ” คือด่านตรวจของเขื่อนดินช่องเขาขาด จึงได้มีการใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสามร้อยเมตร” แต่ยังคงมีประชาชนบางส่วน เรียกชื่อว่า บ้านท่าแฝก หรือ บ้านแฝก มาจนถึงปัจจุบัน