ประวัติความเป็นมาของวัดน้ำสิงห์เหนือ
วัดน้ำสิงเหนือ สร้างขึ้นประมาณ ๔๕ ปี ในอดีต หมู่บ้านน้ำสิงห์ใต้ บ้านน้ำคอม บ้านน้ำสิงห์เหนือ ขึ้นอยู่ในเขตปกครองหมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำหมัน มีวัดเพียงแห่งเดียวคือ วัดน้ำสิงห์(น้ำสิงใต้) ต่อมาประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ ชาวบ้านเห็นว่าการเดินทางไปทำบุญไกลเป็นการไม่สะดวกกับผู้สูงอายุ ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันสร้าง สถานที่ทำบุญของหมู่บ้านขึ้น โดยนายผัด อุตทะจันทร์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ให้ใช้ที่ดินของตนเอง เป็นสถานที่ก่อสร้างฯ (ปัจจุบันอยู่บริเวณด้านหลังบ้านของ นางปัน หิรัญพฤกษ์) มีนายอยู่ อินต๊ะนนท์ นายนวล สารสิริ ผู้ใหญ่นวล เตชะภู นายผัด อุทะจันทร์ นายเถิน นายเปลี่ยน คำทอง นายปัน กิติสัตย์ นายอยู่ ทิอินทร์ นายสี วันมณี เป็นแกนนำในการก่อสร้าง ร่วมกับชาวบ้านน้ำสิงห์เหนือ ซึ่งในขณะนั้นมีประชากรอยู่ ๓๐ หลังคาเรือน ได้บริจาคไม้ หญ้าคา บางคนก็ไปตัดไม้บนเขามาบริจาค และร่วมแรงกันสร้างสถานที่ทำบุญเสร็จ เรียกชื่อว่าวัดน้ำสิงห์เหนือ แต่ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา เนื่องจากในสมัยนั้นพระภิกษุหายาก และนิมนต์พระจากวัดใกล้เคียงมาโปรดเป็นประจำ ชาวบ้านต่างปลาบปลื้มใจที่มีวัดในหมู่บ้าน และมีพระมาโปรดต่างก็พากันมาทำบุญกันไม่ขาด แต่ด้วยสถานที่วัดเดิมอยู่ติดคลองสิงห์ พอถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็ท่วม ไม่สะดวกต่อการทำบุญ จึงปรารภกันเรื่องย้ายสถานที่ตั้งวัดใหม่
ต่อมาประมาณ พ.ศ.๒๕๐๕ แม่น้อยไหม วันมณี ได้ถวายที่ดินซึ่งเป็นที่ดินทำกินของตนให้สร้างเป็นวัด มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ กว่าไร่ ชาวบ้านดีใจกันมากต่างช่วยกันสร้างวัดแห่งใหม่ขึ้น บางคนนำไม้ของตนมาถวายให้ทั้งต้น บางคนก็พากันไปตัดไม้จากในป่า (ซึ่งขณะนั้นยังหาได้ง่าย) และมาช่วยกันเลื่อยเป็นเสา เป็นไม้กระดานกันภายในวัด ซึ่งเบื้องต้นได้สร้างกุฏิไม้ขึ้นหลังเล็กๆหลังหนึ่ง มีเสาหกต้น มีพระพุทธรูปไม้องค์เล็กๆเป็นพระประธานของวัด(ในตอนท้ายจะได้เล่าถึงอภินิหารของหลวงพ่อพระพุทธรูปไม้ให้ท่านได้ทราบ) แต่ขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา เมื่อถึงวันพระหรือมีงานบุญ ก็นิมนต์พระมาโปรดญาติโยมเป็นคราวๆไป
กระทั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ชาวบ้านได้ไปนิมนต์หลวงพ่อเสงี่ยมจากบ้านหัวดง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งการเดินทางไปนิมนต์นั้นลำบากมาก ไม่มีรถยนต์เช่นปัจจุบัน ต้องเดินเท้าจากบ้านผ่านไปทางบ้านหนองป่าไร่ อำเภอเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ แวะพักค้างคืนที่นั่นก่อน จนรุ่งเช้าจึงเดินทางต่อ ซึ่งหลวงพ่อเสงี่ยมก็ไม่ขัดข้อง ยินดีมาเป็นประธานสงรูปแรก ของวัดน้ำสิงห์เหนือ สร้างความปลื้มปีติให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก พากันมาทำบุญกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากนั้นประมาณ ๑ ปี คือ พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงพ่อเสงี่ยม ท่านได้ขอลายาติโยมบ้านน้ำสิงห์เหนือ ออกเดินธุดงค์ กลับไปบ้านที่ลับแล (ข่าวว่าท่านได้ละสังขารที่บ้านเกิดของท่าน) ขณะนั้นเริ่มมีการสร้างเขื่อนสิริกิติติ์ และมีคำสั่งย้ายราษฎร ออกจากพื้นที่น้ำท่วม ประมาณ ๓,๐๐๐ ครอบครัว ชาวอำเภอท่าปลาที่อยู่ในเขตน้ำท่วม ได้ทยอยย้าย ออกจากเหนือเขื่อนทีละตำบล มาอยู่ในที่นิคมฯจัดสรรให้ บางคนได้ค่าโยกย้ายจากทางราชการมา ก็มาชื้อที่ดิน (ซึ่งในขณะนั้นไร่ละไม่กี่บาท) บ้านน้ำสิงเหนือก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหลายหลังคาเรือน ในปีนั้นหลวงพ่ออินทร์ ซึ่งเป็นคนบ้านทุ่งท่าปลา(อยู่เหนือเขื่อน)ได้มาอยู่จำพรรษาเป็นประธานสงฆ์วัดน้ำสิงห์เหนือ พ.ศ. ๒๕๑๔ ทางนิคมฯ ก็ตัดถนนสาธารณะผ่านทางบริเวณด้านทางทิศตะวันออกของวัด เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา ซึ่งเป็นทางตรง จากตัวอำเภอเข้าในผังของนิคมฯทำให้ที่ดินของวัดปัจจุบันเหลือเพียง ๘ ไร่ ๑ งาน ๕๑ ตารางวา ดังเช่นปัจจุบัน และในปีนั้น พ่อมงคล และอาจารย์ทวีศิลป์ อินทะจักร ได้ไปอันเชิญพระพุทธรูปปูนปั้น มาจากวัดจริม (ที่ถูกน้ำท่วม) เป็นพระพุทธรูปศีลปะล้านนา ขนาดหน้าตักกวาง ๒๗ นิ้ว ไม่ทราบอายุที่สร้างที่แน่นอน คราดว่าอายุคงจะเกิน ๑๐๐ ปี ขึ้นไป (เนื่องจากพบพระพุทธรูปลักษณะนี้ ที่ วัดน้ำพร้า และวัดห้วยต้าเหนือ ตำบลนางพญา ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนไม่ถูกน้ำท่วม สอบถามเจ้าอาวาส ผู้เฒ่าผู้แก่ อายุ ๘๐-๙๐ ปี ท่านบอกว่า อายุเป็นร้อยๆปี เพราะพ่อแม่ของท่านเกิดมาก็เห็นพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว) ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะเหมือนกำลังยิ้มอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่ได้มากราบไหว้ รู้ลึกปรอดโปร่ง และชื่นใจ ทุกครั้งที่ได้บูชากราบไหว้ (พ่อขาอยู่ ทิอินทร์ มัคนายกคนแรกของวัดฯ ท่านจะชอบมานั่งดูพระพุทธรูปองค์นี้และก็จะนั่งยิ้มอย่างมีความสุข และท่านได้บอกลูกหลานไว้ว่า ลูกหลานอย่าพูดติเตียนพระพุทธรูปนะ มันจะเป็นกรรมติดตัวเรา ถ้ามีพระพุทธรูปงามมาอยู่ที่วัด ก็จะทำให้คนในบ้านงามไหด้วย)
พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๘ หลวงพ่อพวง อินสิงห์ (คนบ้านน้ำสิงห์ใต้ ต่อมาหลังจากลาสิกขาก็กลับมาเป็นสมาชิกของบ้านน้ำสิงห์เหนือ) ได้มาอยู่จำพรรษาชาวบ้านได้สร้างกุฏิสงฆ์หลังใหญ่ขึ้นอีก ๑ หลัง ทางด้านทิศใต้ และระหว่างนั้นประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๗ ท่านได้เป็นประธานสงฆ์ นำชาวบ้านสร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง ทางด้านทิศใต้ ในระหว่างนั้นประมาณ พ.ศ. ๑๕๑๗ ท่านได้เป็นประธานสงฆ์ นำชาวบ้านสร้างศาลาการเปรียญ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านที่ต่างก็มาช่วยกันสร้างศาลาการเปรียญอย่างเต็มที่ มาตั้งแต่เช้ากลับเย็นทุกวัน ในการสร้างศาลา มีนายใส (คนบ้านม่อนดินแดง) เป็นนายช่างก่อสร้าง เนื่องจากชาวบ้านยังไม่มีความชำนาญในการวางโครงสร้าง ชาวบ้านได้ไปช่วยกันตัดไม่ในป่า แล้วมีนายชั้ว เขียวแก้ว นำช้างชักลากลงมาจากบนเขาด้วยความยากลำบาก พอมาถึงตีนเขาก็ได้รถของนายชู บรรทุกไม้มาที่วัด ในการสร้างศาลาการเปรียญนี้ ใช้เวลาสร้างประมาณ ๒ เดือน (ไม่ทราบเวลาแน่ชัด) จึงเสร็จเรียบร้อย
พ.ศ. ๒๕๒๒ พระอธิการคำมูล สมาหิโต (ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก) ได้ปรึกษาและนำญาติโยมสร้างกุฏิเจ้าอาวาส (หลังปัจจุบันขึ้น โดยพระเทียม (คนนครสวรรค์)ได้บวชเข้ามาจำพรรษาและอาสาไปขอบริจาคสังกะสี จากผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ (นับว่าเป็นคนกล้ามากในขณะนั้น) ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์สังกะสี มาตามความต้องการจนกุฏิหลังดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย และได้พัฒนาวัดจนเจริญขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั้ง พ.ศ. ๒๕๓๖ พระอธิการคำมูล ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์ที่ พระครูสถิตสันติธรรม (จร.ชท.) เป็นพระครูสัญญาบัตรรูปแรกของวัดน้ำสิงห์เหนือ นำมาซึ่งความยินดีต่อคณะศรัทธาญาติโยมเป็นอย่างมาก แต่ในปีเดียวกัน ท่านพระครูฯได้รับเสนอแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ไปดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอบ้านโคก ท่านต้องจากญาติโยมไปรับตำแหน่งที่อำเภอบ้านโคก ญาติโยมต่างก็เสียใจเดินทางไปส่งท่านด้วยความจำใจ