วัดน้ำสิงห์ใต้ เดิมทีชาวบ้านมักเรียกกันสั้นๆว่า”วัดน้ำสิงห์”มีนามตามชื่อของหมู่บ้าน
มีคลองชื่อว่าคลองสิงห์ไหลผ่าน จึงเรียกชื่อว่า บ้านน้ำสิงห์ อำเภอท่าปลา และได้มีการสร้างวัดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๐ แต่เดิมวัดนี้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดน่าน ต่อมาได้โอนมาขึ้นอยู่กับหมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ และครั้นต่อมาทางราชการได้ก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ขึ้นและทางราชการได้ย้ายอำเภอท่าปลาออกจากเขตน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ มาตั้งอำเภอใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน วัดน้ำสิงห์จึงถูกผนวกเข้ากับตำบลท่าปลา เป็นเลขที่ ๑ หมู่ที่๕ ตำบลท่าปลา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดน้ำสิงห์สร้างขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๔๕ วา ติดต่อกับที่ดินนางสา และนายจีน ทิศใต้ยาว ๖๐ วา ติดต่อกับที่ดินของนายสิน เขียววงค์ และนายมา มีคำ ด้านหน้า ทิศตะวันออกยาว ๔๗ วา ติดต่อกับที่ดินนายหนู ทิอินทร์ นายสังข์ อินต๊ะนนท์และนายเจริญ ขันแก้ว ทิศตะวันตก ๕๔ วา ติดต่อกับเหมืองและทุ่งนา ซึ่งที่ดินสร้างวัดผืนนี้เดิมเป็นป่าดงชาวบ้านช่วยกันแผ้วถางสร้างเป็นวัดขึ้น ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๐ โดย กำนันมืด นายสิงห์ ทิอินทร์ พร้อมทั้งชาวบ้านไม่กี่หลังคาเรือนได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างเสนาสนะต่าง ๆ มาโดยลำดับ จนกระทั่งมีการประกาศสร้างและตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ ต่อมาได้มี นายงก พรวนอินทร์ ท่านได้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บริจาคที่ดินเพิ่มเติมอีกจำนวน ๒ ไร่ รวมเป็นประมาณ ๘ ไร่ พัฒนาวัดน้ำสิงห์เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรและประชาชนทั้งหลายได้ใช้ทำสังฆกรรมหรือกิจกรรมต่างๆที่สมควร ต่อมาเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูโอภาสศาสนานุกูล ได้ซื้อที่ดินด้านหน้าวัดจนติดถนนภายในหมู่บ้านเพิ่มอีก ๒ ไร่ รวมเป็น ๑๐ ไร่แต่ยังเป็นสิทธิ์ของ นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ยังไม่มีโฉนด ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๒ นายนิรันดร์ วันคำ ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินต่อทางราชการ