ประวัติความเป็นมาวัดหาดลั้ง
*********
วัดหาดลั้งเดิม ตั้งอยู่เขตพื้นที่ตำบลท่าแฝก สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยการนำของครูบาศรีนวล ลูกศิษย์ของ ครูบาศรีวิชัยนักบุญล้านนา และชาวบ้านในเขตนั้นประมาณ ๓๐ กว่าหลังคาเรือนได้ช่วยกันสร้างขึ้น เหตุที่ชื่อวัดหาดลั้ง เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำน่านมีน้ำไหลเชี่ยว เวลาจะข้ามแต่ละครั้งต้องคอยฉุดรั้งเอาไว้แม้แต่เรือก็ยังต้องฉุดรั้งไว้ด้วยเชือกและไม้ไผ่ เพื่อช่วยให้ข้ามไปยังอีกฝั่งได้และขึ้นหาดอย่างปลอดภัย ด้วยเหตุนี่จึงได้ชื่อว่าหาดลั้ง มีคำบอกเล่าว่าก่อนจะเริ่มสร้างวัดหาดลั้งขึ้นก็มีคำเตือนจากครูบาบุญหลงลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ครูบาบุญหลงหรือเจ้าบุญหลงท่านนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างหรือบูรณะวัดเช่นเดียวกับครูบาศรีนวล ว่าทำไมถึงสร้างวัดวันนี้เหตุเพราะว่าวันนี้เป็นวันไม่ดีไม่เหมาะสำหรับการปลูกสร้างวัดหรือบ้านเรือนก็ตาม แต่ครูบาศรีนวลก็ไม่ฟังคำเตือนของครูบาบุญหลง จึงทำการปลูกสร้างวัดต่อไป เริ่มตั้งแต่กุฏิ ศาลา จนไปถึงพระธาตุ จนเวลาผ่านไปหลายเดือนหลายปีก็ไม่มีวี่แววของพระภิกษุที่จะมาอยู่จำพรรษาวัดนี้เลย เวลาญาติโยมจะทำบุญแต่ละทีต้องไปนิมนต์พระวัดอื่นมาเพื่อตักบาตรทำบุญ พอนานเข้าวัดหาดลั้งก็กลายเป็นวัดร้างตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาเมื่อทางการเล็งเห็นพื้นที่ตำบลท่าแฝกนี้เหมาะสำหรับการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ อยู่ในเขต อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ การก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า ผาซ่อมห่างจากอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๖๕ กิโลเมตร นับเป็นเขื่องขนาดใหญ่ เป็นที่สองรองจากเขื่องภูมิพลที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ในสมัยนั้นยังไม่ได้พระราชทานชื่อเขื่อนจึงเรียกตามลักษณะของพื้นที่ว่าเขื่อนผาซ่อม
ความหมาย ที่ได้ชื่อว่าเขื่อนผาซ่อมนั้น เพราะว่าบริเวณนั้น เป็นหน้าผาช่องแคบๆ คนในพื้นที่เรียกว่า เขื่อนผาจ้อม หรือผาซ่อม ทางราชการคงเล็งเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้แหละเหมาะสำหรับปิดกั้นน้ำจึงกำหนดสร้างเขื่อนขึ้น
เขื่อนสิริกิติ์ ก่อนหน้านั้นได้ดำเนินการก่อสร้างมาเป็นเวลาหลายปีจนมาถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ หน่วยงานศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย ซึ่งมีเขตควบคุมดูแลโบราณสถานใน ๘ จังหวัดคือ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก และพิจิตร ได้ทราบว่าทางเขื่อนสิริกิติ์จะดำเนินการปิดกั้นกระแสน้ำในประมาณกลางปี พุทธศักราช ๒๕๑๔ ทำให้น้ำท้วมวัด โบราณสถานและหมู่บ้านในเขตตำบลท่าแฝกที่มีอยู่เหนือเขื่อน และ วัดหาดลั้ง ก็เป็นหนึ่งในหลายวัดที่จะต้องถูกน้ำท้วม ราษฎรจึงทำการเริ่มอพยพออกจากเขตน้ำท่วม
เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๔ มาตั้งหลักปักฐานอยู่กันหลายที่หลายตำบล ส่วนคณะศรัทธาวัดหาดลั้งก็อพยพกันมาอยู่ ผัง ๕๕ ในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่หลายตำบล ของอำเภอท่าปลา เช่นหมู่ ๒ ตำบลร่วมจิต หมู่ ๓ ตำบลหาดล้า หมู่ที่ ๑๐ ตำบลท่าปลา และหมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าปลาเป็นต้น ตามที่ราชการได้จัดสรรไว้ให้ก็ทำการปลูกสร้างและเมื่อเป็นหลักมั่นคงแล้วก็ได้ช่วยกันสร้างที่พักสงฆ์ขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านที่อพยพมาจากเขตน้ำท่วมและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เดิมและหมู่บ้านใกล้เคียงก็ร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมาใหม่เรียกชื่อตามชื่อหมู่บ้านว่า ที่พักสงฆ์ปางผึ้ง
ความหมาย ที่เรียกว่า ปางผึ้ง นั้นเพราะคนในสมัยก่อนนั้นมักตั้งชื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ เหตุเพราะว่าบริเวณหน้าวัดนั้นมีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่งเรียกชื่อว่า ไม้เรียง มีผึ้งมาทำรังกันเป็นจำนวนหลายรังคนในสมัยนั้นจึงให้ ชื่อว่า ปางผึ้ง และให้ตรงกับชื่อของหมู่บ้านจึงเรียกว่า ที่พักสงฆ์ปางผึ้ง วัดปางผึ้งบ้าง
ไม่นานชาวบ้านก็สร้างที่พักสงฆ์เสร็จในสมัยนั้นมีเพียงศาลาเอาไว้เป็นที่ทำบุญและกุฏิหลังเล็กๆเท่านั้นแต่ไม่มีพระที่จะบวชไปจำพรรษาแต่อย่างใดจากการบอกเล่าของผู้สูงอายุบอกว่าแม้แต่พระภิกษุจากที่อื่นก็ไม่มีเป็นวัดร้างมาประมาณ ๒ ปี
เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๗ จึงมีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบวชมาเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ในที่พักสงฆ์ปางผึ้งแห่งนี้เป็นคนในพื้นที่นั้นเองมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนานับว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่บวชมาจำพรรษาในสำนักสงฆ์ปางผึ้งและก็ถือว่าเป็นผู้ดูแลสำนักสงฆ์รูปแรกต่อมาก็มีพระและสามเณรบวชกันมาเป็นรุ่นๆผลัดเปลี่ยนกันดูแลเป็นผู้นำสงฆ์มิได้ขาดดังมีรายนามผู้ดูแลที่พักสงฆ์และเจ้าอาวาสตั่งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ จนถึงปัจจุบัน