ประวัติความเป็นมาของวัดหาดไก่ต้อย
วัดหาดไก่ต้อย มีศรัทธาประชาชนช่วยกันก่อสร้างขึ้นเป็นวัดประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๘ เดิมตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๒ ตำบลท่าปลา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้ย้ายมาอยู่ที่ บ้านหาดไก่ต้อย ปัจจุบัน เลขที่ ๑๖ หมู่ ๓ ตำบลหาดล้า อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
เมื่อครั้งที่หมู่บ้านยังไม่มีวัด ชาวบ้านไดปรึกษากันหาที่ดินเพื่อสร้างเป็นวัดประจำหมู่บ้าน จึงได้พากันเดินไปที่ลำห้วยแห่งหนึ่ง ในช่วงนั้นเป็นฤดูฝน เกิดฝนตกทั้งวันน้ำท่วมเจิ่งนอนทั้งสองฝั่ง บริเวณหาดทรายริมครองนั้น ชาวบ้านได้เห็นแม่ไก่พาลูกตัวเล็กๆ ออกหากิน แล้วบังเอิญมีลูกไก่ตัวหนึ่ง ถูกกระแสน้ำพัดลอยมาติดฝั่งบริเวณหาดทราย ชาวบ้านเห็นเป็นเหตุอัศจรรย์ ประจวบเหมาะจึงลงมติ เลือกบริเวณนั้นเป็นที่สร้างวัด พร้อมกับได้นำเอาลูกไก่ไปเลี้ยงไว้ด้วย แล้วได้ขนานนามวัด ว่า วัดหาดไก่ต้อย(ไก่ตัวเล็กๆที่นำมาเลี้ยงไว้) และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง บริเวณใต้น้ำริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านหน้าวัดนั้น มีผลึกหินชนิดหนึ่งเป็นหินใสเหมือนแก้ว (ลักษณะคล้ายหินเขี้ยวหนุมาน) เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ชาวบ้านเรียก (แก้วท่าปลา) ท่าน้ำบริเวณนั้นจึงเรียก (ท่าบ่อแก้ว) เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก ใครมีไว้ในครอบครองจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระดับน้ำในแม่น้ำน่านจะลดลงมากจนสามารถมองเห็นแก้วท่าปลาได้ชัดเจน ชาวบ้านที่มีร่างกายแข็งแรง หรือผู้มีวิชาอาคม จะทำพิธีขอขมา แล้วดำลงไปกะเทาะ เอาแก้วท่าปลาเพื่อนำไว้ติดตัวและแจกญาติพี่น้อง ซึ่งต้องใช้คนที่ชำนาญดำน้ำถือสิ่งต่อด้วยด้ามยาว โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ให้คนที่อยู่เหนือน้ำใช้ค้อนตอกที่ด้ามสิ่ว ซึ่งต้องใช้กำลังมากเพราะแก้วท่าปลา มีความแข็งมาก แก้วท่าปลาจึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์และหายาก (ในปัจจุบันบ่อแก้วท่าปลาจมอยู่ในทะเลสาบสุริยันจันทรา เหนือเขื่อนสิริกิติ์)
วัดหาดไก่ต้อย มีอาณาเขต ทิศเหนือ เขตติดต่อกับบ้านปากร้อง ทิศใต้เป็นเนินเขา เขตติดต่อกับบ้านท่าปลา ทิศตะวันออก เขตติดต่อที่ว่าการอำเภอท่าปลา (เดิม) ทิศตะวันตก เขตติดต่อท่าบ่อแก้วท่าปลา บ้านหาดไก่ต้อยกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอยู่ติดกับท่าแม่น้ำน่านและใกล้ตัวอำเภอท่าปลา ทั้งวัดวาอารามก็ก่อสร้างมั่นคง มีศาสนสถานและศาสนวัตถุสวยงาม เช่นวิหารไม้สัก(ซึ่งได้จำลองเป็นวิหารขนาดเล็ก) แท่นบูชาพระ กลองเพลขนาดใหญ่ สร้างจากไม้ทั้งต้น เป็นต้น ข้าวปลา นา น้ำ อุดมสมบูรณ์ ประชาชนดำรงชีวิตด้วยความสงบสุข
เหตุที่ย้ายมาจากบ้านหาดไก่ต้อยเดิม เพราะมีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์กั้นแม่น้ำน่านบริเวณช่องผาช่อม โดยทางราชการให้ประชาชนย้ายออกมาจากที่อาอาศัยเพื่ออกจากเขตน้ำท่วม พ.ศ. ๒๕๑๒ ชาวบ้านต้องจำใจจากลาบ้านเกิดเมืองนอนด้วยความอาลัยยิ่ง พากันร้องไห้และช่วยกันเก็บของรื้อถอนบ้านเรือน รวมถึงวัดวาอาราม เดินทางออกจากบ้านเกิดตลอดเส้นทางอพยพ มีแต่เสียงร้องไห้และรำพึงรำพันต่างๆ เมื่อย้ายออกมาแล้วต้องจับสลากเลือกที่ดิน ที่ทางราชการจัดสรรให้ ญาติพี่น้องต้องพลัดพรากไปกันคนละทิศละทาง ที่ทำกินที่ทางราชการจัดสรรไว้ให้ เป็นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ก็เป็นเนินเขาแห้งแล้ง ปลูกพืชพันธุ์ก็ไม่ค่อยเจริญเติบโต น้ำอุปโภคบริโภคก็หาได้ลำบาก จากการอพยพครั้งนี้ ชาวบ้านหาดไก่ต้อยส่วนใหญ่ มาตั้งอยู่บริเวณนิคมฯ ผังที่ ๑๙ จึงเรียกชื่อว่าบ้านผัง๑๙ แต่ชาวบ้านชอบเรียกชื่อบ้านหาดไก่ต้อยตามชื่อบ้านเดิม วัดต่างๆได้มีผู้นำชื่อไปสร้างเป็นวัดใหม่ทั้งหมด ยังเหลือแต่วัดหาดไก่ต้อยเท่านั้นที่ยังไม่มีใครนำชื่อไปตั้งเป็นวัด นายสูง พรมมี นายนิตย์ กล่ำฟอง นายผล เขียวแก้ว (หัวหน้าเขตนิคมฯ) ได้เป็นแกนนำชาวบ้านขออนุญาตจากราชการนำชื่อวัดหาดไก่ต้อย มาก่อสร้างเป็นวัดใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยสถานที่สร้างวัดในปัจจุบัน นิคมฯ จัดสรรให้ เดิมเป็นฌาปนสถานของบ้านน้ำสิงห์ใต้ หมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำหมัน ซึ่งมีเตาเผาศพทันสมัยที่สุดของตำบลน้ำหมัน (ในยุคนั้น) และได้ความร่วมมือจากชาวบ้าน ช่วยกันสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ อุโบสถกลางน้ำ และเสนาสนะต่างๆ ทำให้วัดหาดไก่ต้อยมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม ๓๕ ปี โดยมีพระภิกษุหมุนเวียนกันเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสเรื่อยมา ปัจจุบันมี พระอธิการเหรียญ ปิยธมฺโม (ภิรมย์แก้ว) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเป็นรูปแรก มีพระภิกษุจำพรรษาประมาณ ปีละ ๔ รูป และมีนายผล เขียวแก้ว เป็นไวยาวัจกร(๑) และ นายถินอำนวยคณะ เป็นไวยาวัจกร(๒)