ประวัติความเป็นมา วัดห้วยอ้อย (อดีต)
วัดห้วยอ้อย เดิมตั้งอยู่ หมู่ที่๑ บ้านห้วยอ้อย ตำบลหาดล้า อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นเป็นวัดสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ ปีพ.ศ. ๒๓๙๓ เป็นวัดที่อยู่บนเนินเขาซึ่งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน โดยมีครูบายารังกา เป็นผู้ดูแลวัดในขณะนั้น และมีนายอภิยะเป็นช่างและหัวหน้าในการก่อสร้าง มีเสนาสนะต่างๆ เช่น กุฏิ, วิหาร พระธาตุเจดีย์ หอสวดมนต์ และศาลาบาตร เป็นต้นฯ
เหตุที่ได้ชื่อว่าวัดห้วยอ้อย
เรียกชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้าน สืบเนื่องจากปากทางเข้าหมู่บ้านห้วยอ้อยอยู่ใกล้ลำห้วย มีต้นอ้อยขึ้นตามลำห้วยทางเข้าหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก จึงได้ตั้งชื่อแบบนั้นตามความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ผู้ในขณะนั้น
ประวัติความเป็นมา วัดห้วยอ้อย (ปัจจุบัน)
หลังจากหน่วยงานส่วนราชการได้ประกาศให้มีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ได้ทำการก่อสร้างและ ทำการปิดกั้นแม่น้ำน่าน ทำให้เกิดน้ำท่วมอำเภอท่าปลาและหมู่บ้านต่างๆ วัดห้วยอ้อยก็เป็นวัดหนึ่งที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ทางหน่วยงานราชการจึงประกาศสั่งให้ย้ายหมู่บ้านและวัดต่าง ๆ เพื่อให้พ้นจากพื้นที่น้ำท่วม ปีพ.ศ.๒๕๑๔ การปิดกั้นแม่น้ำน่านทำให้ระดับน้ำท่วมขึ้นสูงมากจนเกือบถึงวัด
เจ้าอธิการตุ้ย รํสิโย จึงได้ให้คณะศรัทธาญาติโยมเก็บข้าวของที่เป็นสมบัติวัดที่มีค่าและนำพระภิกษุและสามเณรอพยพย้ายวัด ครั้งแรกได้มาอาศัยจำวัดที่วัดน้ำคอม ต.ท่าปลา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ และได้พาภิกษุสามเณรจำพรรษา ณ.วัดแห่งนี้ ๒ พรรษา
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๖ นิคมลำน้ำน่านสร้างตนเองลำน้ำน่าน ได้จัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านแห่งใหม่ และได้ย้ายมาก่อสร้างหมู่บ้านโดยใช่ชื่อว่า บ้านเนินสูง เพราะมีสภาพพื้นที่อยู่บนเนินเขามีป่าไม้ล้อมรอบ พระอธิการตุ้ย รํสิโย พร้อมกับคณะศรัทธาและชาวบ้านมาสร้างวัดขึ้นใหม่ ที่ผัง ๓๗ หมู่ที่ ๕ ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ โดยใช้ชื่อวัดเดิมว่า วัดห้วยอ้อย
วัดห้วยอ้อย เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๓ หมู่ที่๕. ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ก่อตั้งวัดประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๖ มีพระภิกษุและสามเณร จำพรรษามาโดยตลอด มีราษฎร์ที่มาบำเพ็ญบุญในกิจกรรมของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ๒๒๓ ครัวเรือน ประชากร ๙๖๙ คน
อาณาเขต เนื้อที่ดิน ๑๖ ไร่ ดังนี้
ทิศเหนือยาว ๔ เส้น ติดกับถนนนิคม
ทิศใต้ยาว ๔ เส้น ติดกับที่ดินนายคำ จาติ้ง และนางทองวัน ทองพา
ทิศตะวันออก ยาว ๔ เส้น ติดถนนซอย
ทิศตะวันตก ยาว ๔ เส้น ติดกับที่ดินนายสม นันใจ
การตั้งวัด ๑. กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศย้ายวัดเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๙
๒. ที่ดินบริเวณที่ตั้งวัด ๑๖ ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์เป็นของนิคมลำน้ำน่านสร้างตนเองฯ
๓. ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๑
สักษณะพื้นที่ พื้นที่วัดมีลักษณะเป็นที่เนินสูงมีป่าไม้ล้อมรอบ มีสระน้ำหน้าวัด
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 11 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2529
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2531
ประวัติอดีตเจ้าอาวาส
ชื่อ พระครูรังษีธรรมคุณ (หลวงพ่อตุ้ย รังสิโย ) นามเดิมชื่อ ตุ้ย ใจคู่
เกิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. พ.ศ.2464 ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา ที่บ้านห้วยอ้อย หมู่ที่1 ตำบลหาดล้า อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นบุตร นายการะ ใจคู่ นางสวน ใจคู่ เกิด มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน 4คน เป็นชาย2หญิง2 คนที่1 ชื่อนางจันทร์ ศรีเขื่อนแก้ว คนที่2เสียชีวิตเมื่อยังเด็ก คนที่3 ชื่อนายตุ้ย ใจคู่(พระครูรังษีธรรมคุณ) คนที่4 ชื่อนายเป็ง ใจคู่ ปัจจุบันเสียชีวิต เมื่อท่านอายุได้ 7 ปี บิดาได้ถึงแก่กรรมลง ภาระที่จะต้องเลี้ยงดูครอบครัวจึงตกเป็นของมารดา และมารดาได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อท่านอายุได้ 27 ปี ชีวิตในการเป็นฆราวาส ไม่เคยผ่านชีวิตการครองเรือนไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสียเกี่ยวกับชู้สาว ต่อมาอายุของท่านได้27 ปีจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 1พรรษา จึง
อุปสมบท เมื่อวันที่ 24 เดือนพฤษภาคม 2492 โดยมีพระครูนิกรธรรมรักษ์ (หลวงพ่อไซ้ร)วัดช่องลม(วัดหนองเฮี้ย)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเนียม วัดหาดงิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตต์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.2496 สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. 2496 ได้รับตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดห้วยอ้อย
พ.ศ.2497 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลหาดล้า พ.ศ.2508 ลาออกจากเจ้าคณะตำบลหาดล้า ดำลงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดห้วยอ้อย ตำบลหาดล้า อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาพ.ศ.2514 ทางราชการได้สร้างเขื่อนสิริกิติ์ วัดห้วยอ้อยตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วม ท่านได้นำภิกษุและสามเณรที่อยู่ในวัดอพยพมาอาศัยวัดน้ำคอม หมู่ที่7 ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์(หมู่ที่3 ตำบลท่าปลาปัจจุบัน) ต่อมา เมื่อปีพ.ศ.2518 ชาวบ้านห้วยเลิศ และชาวบ้านห้วยอ้อย ที่อพยพอยู่ในที่จัดสรรชองนิคมฯลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ กรมประชาสงเคราะห์ อยู่ในผัง 36,37,38 (หมู่ที่5ตำบลจริมในปัจจุบัน)ได้ร่วมกันนำวัดห้วยอ้อยเดิม มาก่อสร้างขึ้นใหม่ คณะครัทธาวัดนี้จึงได้อาราธนานิมนต์ หลวงพ่อตุ้ย จากวัดน้ำคอมมาอยู่ที่วัดห้วยอ้อย พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ในเขตตำบลจริม พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูรังสีธรรมคุณ และได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบลจริม เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์เริ่มเจ็บป่วยเรื่อยมา จนถึงวันที่ 26 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2540 ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยโลกหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ท่ามกลางแรงอาลัยและศรัทธาจากบรรดาญาติโยมลูกศิษย์ ที่ต่างนำท่านไปรักษาในที่ต่างๆจนสุดความสามารถ ในระหว่างท่านมีชีวิตอยู่ในกาสาวพัสตร์ ท่านเป็นผู้นำด้านพุทธศาสนาที่เผยแผ่ สั่งสอน และก่อสร้างถาวรวัตถุ เพื่อจรรโลงศาสนา เช่น โบสถ์ ศาลาการเปรียญ เมรุ หอกลองปู่จา เป็นต้นฯท่านเคร่งครัดในระเบียบวินัยสงฆ์มาโดยตลอด ซึ่งศรัทธาญาติโยมตลอดจนลูกศิษย์ ต่างให้ความเคารพยกย่องท่าน จึงได้ร่วมกันจัดงานพระราชทานเพลิงศพ เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญูกตเวทีต่อท่านดังกล่าว ในวันที่2 พฤษภาคม พ.ศ.2541 นับอายุจนถึงวันมรณภาพ 75 ปี 11 เดือน 11 วัน พรรษา 47 พรรษา