ความเป็นมาของวัดปากลี(เก่า)
วัดปากลี เดิมตั้งอยู่ที่บ้านปากลี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าแฝก อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2460 เป็นอีกวัดหนึ่ง ในตอนเหนือของอำเภอท่าปลา และเป็นที่ตั้งอยู่เหนือสุดของจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดปากลี ได้ตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จะสังเกตได้ว่าวัดปากลี ได้ตั้งมาเป็นเวลานานสังเกตได้จากวัด เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนริมแม่น้ำน่าน ฝั่งซ้าย มีวัดร้างอยู่สามแห่ง วัดที่พอจะมองเห็นสิ่งหักพังอยู่ในปัจจุบันนี้คือ วัดน้อย พอถึงช่วงสงกรานต์ชาวบ้านพากันไปสรงน้ำที่บริเวณตั้งวัดเก่าอยู่เสมอ
วัดมีที่ดินที่ตั้งวัดประมาณ 3 ไร่ วัดปากลี มีที่ตั้งอยู่บนเนินเขาติดริมแม่น้ำน่าน สาเหตุที่ชื่อวัดปากลีเพราะ ที่ตั้งวัดนั้นอยู่ติดปากแม่น้ำลีนั่นเอง วัดปากลี เดิมทีมีวิหารจำลอง 1 หลัง มุงด้วยหญ้าคา ฝาผนังใช้ไม้ไผ่ทำเป็นไม้ฟากนำมากั้นเป็นฝา และมีกุฏิสงฆ์อาศัยอยู่ แต่ไม่มีพระอยู่จำพรรษา มีแต่สามเณรเท่านั้น ไม่มีเจ้าอาวาส เวลาจะทำบุญก็นิมนต์วัดใกล้เคียงไปรับสังฆทาน
ประวัติวัดปากลี มาตั้งใหม่
หลังจากส่วนราชการได้ประกาศและทำการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ปิดกั้นแม่น้ำน่าน ทำให้เกิดน้ำท่วมตัวอำเภอท่าปลาและหมู่บ้านต่างๆใน ตำบลจริม ตำบลหาดล้า ตำบลท่าปลา ตำบลท่าแฝก บ้านปากลี ก็เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ในเขตการก่อสร้างและถูกน้ำท่วม ทางหน่วยงานราชการสั่งให้ย้ายหมู่บ้านและวัดปากลี ออกมาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบันคือ บ้านท่าใหม่ หมู่ที่ 13 ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ สาเหตุที่ได้ชื่อว่าวัดปากลี ก็จะให้สอดคล้องกับหมู่บ้านที่ตั้งใหม่ วัดปากลี นี้อยู่ในเขตการจัดสรร ของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ได้อพยพมาจากเขตนำท่วม จากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ จึงได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่จัดสรรเมื่อปี 2514 แต่เดิมนั้น ทางนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จัดเป็นผัง พื้นที่วัดปากลีอยู่นี้นั้นเป็นผังที่ ๓๙ ประกอบด้วยประชากรที่อพยพแยกมาจากตำบลท่าแฝก บางส่วน และอพยพมาจากตำบลหาดล้าอีกบางส่วน มาอยู่รวมในผังที่ 39 ที่ทางนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านจัดให้ การปกครองในสมัยแรกยังไม่มีหมู่บ้านเนื่องจากหมู่บ้านเดิมได้ถูกยุบไป จึงได้มีการแต่งตั้งหัวหน้าเขต เพื่อให้มีหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างประชาชนในพื้นกับทางนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน มี นายเอี่ยม นันชม เป็นหัวหน้าเขต จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2516 ทางการได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นเป็น บ้านท่าช้าง หมู่ที่ 6 ตำบลจริม มี นายสะอาด เตจ๊ะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากนายสะอาด เตจ๊ะ เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านเดิมมาก่อนที่ได้ดำเนินการก่อสร้างวัดใหม่ขึ้น โดยปัจจุบันตั้งอยู่ ณ เลขที่ 39 ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน เป็นวัดที่ถูกต้อง แต่ยังไม่เป็นวัดที่สมบูรณ์ คือยังไม่มีวิสุงคามสีมา ศาสนสมบัติที่ศรัทธาได้นำมาเก็บไว้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา ได้แก่ วิหารจำลอง พระพุทธรูปไม้แกะสลักมีองค์เล็ก องค์ใหญ่ กลองปู๋จา และแผ่นศิลาจารึก บางส่วน
สถานที่ตั้งวัดปากลีในปัจจุบัน
ปัจจุบันพื้นที่วัดเป็นที่ตั้งราบสูง รอบด้วยที่ทำกินของราษฎร ที่ไม่คอยจะสมบูรณ์สักเท่าได ทิศเหนือยาว 95 วา ติดต่อกับที่ดินของนิคม ทิศใต้ ยาว 95 วา ติดต่อกับที่โรงเรียน ทิศตะวันออกยาว 40 วา ติดต่อกับที่ดินของสมาชิกนิคม ทิศตะวันตกยาว 40 วา ติดต่อกับที่ดินสมาชิกนิคม สังกัด มหานิกาย เป็นวัดราษฎร์ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศย้ายวัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2529 ก็ได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม
การตั้งวัด
1. กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศย้ายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2529
2. ที่ดินเฉพาะบริเวณที่ตั้งวัด มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน
3. กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ นิคมฯ ลำน้ำน่าน
ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบ เป็นที่ราบสูง
อาคารเสนาสนะต่างๆ
กุฏิสงฆ์ จำนวน 2 หลัง
หลังที่ 1 เป็นอาคารไม้ กว้าง 9 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2528
หลังที่ 2 เป็นอาคาร 2 ชั้น กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2551
โรงเรียนพระปริยัติธรรม กว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536
ศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2541
เมรุ (เก่า) กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2547
เมรุ (ใหม่) กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2560
ศาลาการเอนกประสงค์ กว้าง 4 เมตร ยาว 28 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2553
ปูชนียสถานและโบราณวัตถุ
พระประธาน 4 องค์ โดยผู้มีจิตศรัทธาถวาย
พระไม้แกะสลักอายุประมาณ 100 ปี จำนวน 7 องค์ ที่นำมาจากวัดเดิม
พระวิหารจำลอง 1 หลัง สร้างเมื่อประมาณ 100 ปี นำมาจากวัดเดิม
กลองปู่จา จำนวน 4 ลูก นำมาจากวัดเดิม
แผ่นศิลาแกะสลัก 1 แผ่น นำมาจากวัดเดิม
การศึกษา
1. โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2516
2. โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษา เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2536
3. ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2550
ด้านการเผยแผ่
1. เป็นศูนย์การศึกษาแผนกธรรม ประจำตำบลจริม
2. เป็นศูนย์การศึกษาแผนกธรรมศึกษา ประจำตำบลจริม
3. เป็นศูนย์จัดกิจกรรมของคณะสงฆ์ตำบลจริม
4. เป็นศูนย์การศึกษาศีลธรรมของโรงเรียนท่าแฝกอนุสรณ์ 4 สอนศีลธรรมประจำตั้งแต่ ป. 4 ถึง ป.6 ทุกวันจันทร์ , อังคาร เวลา 09.00-10.00 น.
5. เป็นศูนย์การศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้านของชุมชน
6. เป็นสถานที่อำนวยความสะดวกทุกหน่วยงานที่มาขอใช้สถานที่
รายนามเจ้าอาวาส ตั้งแต่ย้ายวัดมาตั้ง ณ ที่ปัจจุบัน จำนวน 6 รูป
1. พระอธิการศรีนวล อนงฺคโณ รักษาการ พ.ศ. 2514 - 2517
2. พระสุทิน ปญฺญากโร รักษาการตั้งแต่ พ.ศ. 2517 - 2521
3. พระครูวิบูลกิตติญาโณ เจ้าอาวาส พ.ศ. 2521 - 2541
4. พระพิทักษ์พงษ์ ตปสีโล รักษาการ พ.ศ. 2541 - 2542
5. พระไพทูรย์ ญาณธมฺโม รักษาการ พ.ศ. 2542 - 2542
6. พระครูจารุวรรณวรนาท เจ้าอาวาส พ.ศ. 2542 - จนถึงปัจจุบัน
ด้านวัฒนธรรมประเพณี
ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในชุมชนวัดปากลี มีอิทธิพลต่อความคิดมาจากบรรพบุรุษ คือความศรัทธา ความเชื่อ ในเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ รวมพลังสามัคคีของคนในชุมชน ประเพณีที่สำคัญในชุมชน ได้แก่ ประเพณีสรงน้ำพระ จะทำกันในเดือนเมษายน ของทุกปี เพื่อเป็นการขอขมา ประเพณีส่งเคราะห์บ้าน จะทำกันเป็นประจำทุกปี ในวันสงกรานต์ ประเพณีรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ ประเพณีทานข้าวสลากภัตต์ เป็นประเพณีที่ทำกันทุกปี จะทำกันในราวเดือน พฤษภาคม เป็นช่วงที่ผลไม้ในชุมชนกำลังออก เพื่อทำการอุทิศส่วนกุศลให้ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา ที่จากไป ประเพณีทานข้าวสลากชลอม เป็นอีกประเพณีหนึ่ง จะเป็นประเพณีพิเศษ คือ จะมีกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่น การประกวดตี๋ก๋องปู่จา การประกวดสลากชลอม การแต่งตัวสุภาพ เพื่อสมโภชน์งาน จะมีวัดต่างๆ มาร่วมกิจกรรมหลายวัดในเขตตำบล และตำบลอื่นก็มาร่วม จึงทำให้ประเพณีตานข้าวสลากชลอมเป็นที่รู้จักกันมาก จะจัดกันในช่วงก่อนออกพรรษา 7 วัน
จุดเด่นของวัดปากลี
ประเพณีที่ยึดถือสืบต่อๆ กันมา คือ ประเพณีตานก๋วยสลาก รดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ ประเพณีเทศน์มหาชาติ เปิดสอนธรรมศึกษา
ข้อมูลทางสังคม
ประชาชนที่ร่วมทำบุญ
หมู่ที่ 13 บ้านท่าใหม่ ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 117 ครัวเรือน มีประชากร จำนวน 821 คน เป็นชาย 420 คน เป็นหญิง 401 คน ราษฎรในชุมชนทั้งหมด นับถือ ศาสนาพุทธ ปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้าน คือ ผู้ใหญ่กิ่ง ชุ่มขัน ดูแลและปกครองราษฎรอยู่
หมู่ที่ 6 บ้านท่าช้าง ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 81 ครัวเรือน มีประชากร จำนวน 405 คน เป็นชาย 200 คน เป็นหญิง 204 คน ราษฎรในชุมชนทั้งหมด นับถือ ศาสนาพุทธ ปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้าน คือ ผู้ใหญ่บุญส่ง วันอาจ ดูแลและปกครองราษฎรอยู่
ด้านการศึกษา
เป็นที่ตั้งของโรงเรียนท่าแฝกอนุสรณ์ 4 เป็นแหล่งให้การศึกษาแก่ลูกหลาน ของหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 13 ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดการสอนเมื่อ พ.ศ. 2515 จัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึง ชั้นประถมปีที่ 6
ปัจจุบันการก่อสร้าง
ปัจจุบัน วัดปากลี การก่อสร้าง ถาวรวัตถุยังไม่ครบสมบูรณ์ ยังขาด อุโบสถ วิหาร เพราะเป็นวัดอยู่รอบนอก จึงทำให้การก่อสร้างต้องอาศัย ศรัทธาในชุ่มชน ไม่มีเจ้าภาพอุปถัมภ์ และตอนนี้ทางวัดปากลี ร่วมกับ พุทธศาสนิกชน มีความเห็นว่าจะทำการก่อสร้างวิหารทรงล้านนาขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ บำเพ็ญบุญของพุทธศาสนิกชน โดยการก่อสร้างวิหารใช้งบประมาณ 6,000,000 บาท (หกล้านบาท) โดยเริ่มก่อสร้าง เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2556 หลังจากการทอดผ้าป่าสามัคคี ในเดือน เมษายน 2556 การก่อสร้างครั้งนี้ก็อาศัยแรงศรัทธาผู้ใจบุญทั้งหลาย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างและคงใช้ระยะเวลา หลายปี ในการก่อสร้างครั้งนี้ ทางวัดจึงขอบอกบุญมายังผู้มีจิตศรัทธา ผู้ใจบุญในพระพุทธศาสนา ร่วมบุญกับทางวัดปากลี ตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 21 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2529