ความเป็นมาเดิม
วัดแสนขัน เดิมชื่อวัดลั่นทม สร้างขึ้นเป็นวัดประมาณ พ.ศ. 2402 แต่ก่อนเคยมีต้นลั่นทมขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่ภายในวัด ชาวบ้านเลยตั้งชื่อตามต้นลั่นทมนั้น ไม่ทราบชื่อนั้นใช้อยู่ได้กี่ปี และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดแสนขัน ไม่ทราบแน่ชัดว่าประมาณ ปี พ.ศ.เท่าไร เหตุที่เปลี่ยนคงเป็นเพราะว่า แต่ก่อนเคยมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆกันมา ว่าบ้านแสนขันเดิมชื่อหมู่บ้านทุ่งนามอญ เพราะเคยมีคนมอญไม่ทราบว่าอพยพมาจากไหน (ปัจจุบันเป็นบ้านแสนขันหมู่ที่ ๑ บริเวณห้วยเพนียด) ได้มาตั้งหมู่บ้านทำนากันอยู่ไม่ทราบอยู่กันกี่ปี และต่อมาได้เกิดโรคระบาด จึงได้พากันอพยพหนีลงไปทางใต้ตามลุ่มแม่น้ำตรอน แม่น้ำน่าน สู่เจ้าพระยา
ต่อมาหลายปีมีคนลาวเวียงจันทร์ คนจังหวัดเลย ได้อพยพมาหาที่ทำกินมาเจอที่บริเวณนั้น เป็นที่ราบติดแม่น้ำตรอน ถูกใจเลยพากันตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่ที่นี่ คงเป็นชนกลุ่มนี้ที่ได้ทำการสร้างวัดขึ้นมา บางที่ต้นลั่นทมใหญ่คงจะมีอยู่ก่อนแล้วจึงได้สร้างวัดบริเวณนั้น แล้วตั้งชื่อว่า “วัดลั่นทม” ต่อมามีผู้เล่าว่า มีพรานล่าช้างชาวจังหวัดสุรินทร์ ได้ตามล่าช้างจากจังหวัดแพร่มาถึงเมืองทุ่งยั้งเจอช้างกำลังหักใบไม้กิ่งไม้ถมอะไรอยู่สักอย่าง พอช้างหนีไปนายพรานก็เข้าไปดู พบรอยพระพุทธบาท ด้วยความดีใจจึงหยุดตามช้าง ได้ชักชวนบริวารกลับไปบ้านจังหวัดสุรินทร์ ประกาศชักชวนชาวบ้านบริจาคข้าวของเงินทองจะเอามาสร้างมณฑป ครอบรอยพระพุทธบาท ตำนานกล่าวว่าได้ทองมาแสนขัน (คงเป็นหลายอย่าง เช่น ทองคำ ทองเหลือง ทองสำริด ฯลฯ) และได้พาบริวารกลับมายังรอยพระพุทธบาทผ่านมายังบ้านทุ่งนามอญ และพักค้างคืนที่นั่น ออกจากบ้านทุ่งนามอญได้ประมาณ 2 กิโลเมตร ก็เจอคนกลุ่มหนึ่งเดินสวนทางกันคงถามกันว่าท่านไปไหนมา ท่านจะไปไหน คนที่เดินสวนทางตอบว่า ข้าไปงานฉลองมณฑปรอยพระพุทธบาท ที่เมืองทุ่งยั้งมา พระยาลิไท กรุงสุโขเป็นผู้สร้าง (กว่าพรานช้างจะไปและกลับคงใช้เวลาหลายเดือน) พอพรานช้างได้ยินก็เสียใจ เราไปไม่ทันเสียแล้ว จึงสั่งให้ขุดหลุมฝังทองไว้ และได้เชือดคอตัวเองตายอยู่ในหลุมทองนั้น บริวารฝังศพเสร็จแล้วพากันกลับ คงผ่านบ้านทุ่งนามอญเล่าเรื่องต่างๆให้ฟังเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพรานช้างและทองซึ่งพรานช้างได้เคยแวะพักถึงสองเที่ยว ชาวบ้านเลยเปลี่ยนชื่อบ้านใหม่เป็น บ้านทองแสนขัน นานมาทองหายไปคงเหลือแต่ บ้านแสนขัน สำหรับชื่อวัดคงเปลี่ยนตามชื่อของหมู่บ้าน (ส่วนที่ฝังนายพรานและทอง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อบ่อทอง มีผู้คนนับถือในถิ่นนั้น อยู่ในพื้นที่ บ้านบ่อทอง ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดแสนขันไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างเมื่อไร ทราบเพียงว่าได้รับอนุญาตสร้างวัดในปี พ.ศ.2402 และได้รับวิสุงคามสีมาอุโบสถหลังแรกเมื่อปี พ.ศ. 2412
ที่ตั้งวัดในปัจจุบัน
วัดบ้านแสนขัน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ที่ดินเฉพาะบริเวณที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา โดยมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็น โฉนด เลขที่ 9610 กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัด
มีอาณาเขตดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ยาว 163 เมตร จด ถนนเทศบาล
ทิศใต้ ยาว 71 เมตร จด ที่ดินประชาชน
ทิศตะวันออก ยาว 118 เมตร จด ถนนเทศบาล
ทิศตะวันตก ยาว 90 เมตร จด คลองตรอน
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2412
อาคารเสนาสนะต่างๆ
อุโบสถ กว้าง 8 เมตร ยาว 26.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2553
ศาลาการเปรียญ กว้าง 24 เมตร ยาว 63 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2532
กุฏิเล็ก กว้าง 3 เมตร ยาว 8 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2555
กุฏิใหญ่ กว้าง 11 เมตร ยาว 22 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2550
โรงลิเก กว้าง 10.50 เมตร ยาว 16.30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2552
ห้องสุขา กว้าง 5 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539
ศาลาธรรมสังเวช กว้าง 46 เมตร ยาว 70 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539
เมรุ กว้าง 11 เมตร ยาว 15.30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536
หอระฆัง กว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2550
ปูชนียะวัตถุและโบราณวัตถุ
1. พระพุทธรูปโลหะ ทองเหลืองผสมทองสำริด ขันรองหิน ฯลฯ ซึ่งโลหะต่างๆชาวบ้านได้นำมา
ให้ทางวัดหล่อผสมเป็นพระพุทธรูปปางเชียงแสน หน้าตักกว้าง 89 เซนติเมตร สูง 109
เซนติเมตร สร้างโดยวัดและชาวบ้านหล่อขึ้นที่วัดแสนขัน เมื่อปี พ.ศ. 2508
2. ตู้เก็บพระธรรมใบลานเก่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2480
การศึกษา
1. โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2535 ถึงปัจจุบัน (ใช้ศาลาการเปรียญ)