ความเป็นมาเดิม
วัดราชคีรีวิเศษเริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยการนำของ นายมาขมหวาน และกลุ่มบุคคลคณะแรกที่มาตั้งรกรากอยู่แห่งนี้ชาวบ้านยังนิยมเรียกว่า “วัดบ้านแพะ” ต่อมาภายหลังจึงเรียกว่า “วัดราชคีรีวิเศษ”
จากประวัติกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ คำว่า “วัดราชคีรีวิเศษ” เดิมมาจากคำว่า “ลาดคีรี” อันมีความหมายถึง วัดแห่งนี้อยู่ห่างที่ลาดเนินเขาประมาณ 300 เมตรแต่อาจารย์โถกมล สะอาดผู้ให้ข้อมูลแย้งว่าสมัยนั้นจำได้ว่า “คณะหมวดแซม” (เป็นเจ้าคณะตำบลน้ำอ่างสมัยนั้น) ได้ถามชาวบ้านเมื่อคราวนำคณะมาเยี่ยมวัดว่า เหตุใดจึงชื่อว่า “วัดราชคีรีวิเศษ” ก็ได้รับคำตอบว่า “ราช” มาจากคำว่า “มาก” หรือ “ใหญ่” คำว่า “คีรี” มาจากการที่อยู่ใกล้ภูเขา (เขากาสา) ส่วนคำว่า “วิเศษ” เนื่องจากบนภูเขากาสา มีน้ำอยู่บ่อหนึ่ง น้ำจะไม่แห้งและมีรสเปรี้ยวฝาด เรียกว่าน้ำบ่อส้ม ชาวบ้านร่ำลือกันว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์จึงตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดราชคีรีวิเศษ” แต่นั้นมาลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบ พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ลาดเอียงเล็กน้อย มีต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นและร่มเย็นจำนวนมาก มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ๑ ต้น ต้นจามจุรีขนาดใหญ่ ๑ ต้น ต้นกระท้อนขนาดใหญ่ ๒ ต้น ต้นไทรย้อยหลายต้น ต้นไม้อื่น ๆ ที่ปลูกภายหลังอีกจำนวนมาก มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีประตูเข้า ออก ๒ ด้านคือด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
ที่ตั้งวัดในปัจจุบัน
วัด ราชคีรีวิเศษ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย เลขที่ ๑๓๓ ถนนสี่แยกบ้านแพะ-เนินชัย บ้านแพะ หมู่ที่ ๗ ตำบล บ่อทอง อำเภอ ทองแสนขัน จังหวัด อุตรดิตถ์
มีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน ๓๙ ตารางวา โดยมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ ๑๓๗๙๑
มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ยาว ๘๘ วา ๑ ศอก ติดต่อที่ตั้งโรงเรียนบ้านแพะ(เดิม)
ทิศใต้ ยาว ๙๗ วา ๓ ศอก ติดต่อบ้านเรือนประชาชน
ทิศตะวันออก ยาว ๔๙ วา ๓ ศอก ติดต่อบ้านเรือนประชาชนและทางหลวง
ทิศตะวันตก ยาว ๕๒ วา ๑ ศอก ติดต่อทางสาธารณะ
อาคารเสนาสนะ
-อุโบสถที่สร้างใหม่กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕เป็นอาคาร ที่ก่อด้วยอิฐผสมปูน
-ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๖เมตร ยาว ๓๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นอาคาร ไม้ทั้งหลัง มุงหลังคา
ด้วยสังกะสี
-กุฏิสงฆ์ จำนวน ๓ หลัง เป็นอาคาร ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๑ หลัง และ ตึกเดี่ยวชั้นเดียว ๑ หลัง สร้างเมื่อ
พ.ศ. ๒๕๕๐และ หลังไม้สูงชั้นเดียว
-หอระฆังไม้สัก กว้าง ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร สูง ๑๕ เมตรสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓
-ซุ้มประตู ปูนผสมไม้ แต่งด้วยไม้ฉลุใส่กาแล จำนวน ๒ ซุ้ม สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ และ พ.ศ.๒๕๕๗
-ห้องน้ำ สำหรับพระสงฆ์และฆราวาส ๑ แถว จำนวน ๑๕ ห้อง
ปูชนียะวัตถุและโบราณวัตถุ
-พระประธานองค์ขาว ชาวบ้านเรียกกันว่า“หลวงพ่อขาว”มี ๒องค์ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะสีขาว
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖
-พระพุทธชินวัตร องค์ใหญ่ เป็นพระพุทธรูปลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗
-พระประธานองค์ใหญ่ ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปลักษณะทองเหลืองสร้างเมื่อ พ.ศ. .๒๕๕๕
-ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ปลูกโดยพ่อใหญ่น้อย แม่ใหญ่มอญ ชมเชย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ อายุ ๗๖ ปี
การศึกษา
วัดราชคีรีวิเศษ ไม่ได้มีการเปิดสอนหนังสืออย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นแผนกปริยัติธรรม ปริยัติสามัญ โรงเรียน หรือศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา หากแต่การสอนหนังสือเท่าที่ผ่านมาอยู่ที่เจ้าอาวาสเป็นผู้จัดการเรียนการสอนกันเอง โดยสอนเป็นพระปริยัติธรรมแผนกธรรมคือ นักธรรมชั้นตรี โท เอก เท่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการจดบันทึกสถิติที่เป็นรายละเอียดเอาไว้
วัดราชคีรีวิเศษ เป็นศูนย์ถ่ายทอดธรรมะ โดยการเทศน์มหาชาติ เรียกว่า “เดือนยี่เป็ง” โดยพระภิกษุ สามเณรที่แสดงธรรมในวันพระทุกวัน ๑๕ ค่ำ ถ่ายทอดธรรมะโดย “ต้นไม้พูดได้”นอกจากนี้ วัดยังเป็นสถานที่อบรมคุณธรรม จริยธรรม เป็นสถานที่ฝึกอบรมหลักสูตรของหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น หน่วยงานทางทหาร หน่วยงานพัฒนาและปกครองของอำเภอทองแสนขัน องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน คณะครูโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่ใช้เป็นสถานที่ฝึกลูกเสือชาวบ้าน คณะครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่นำเด็กมาสวดมนต์ไหว้พระถวายสังฆทาน เป็นที่ทำการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นที่ประชุมประจำเดือนของกำนันตำบลบ่อทองทุกวันที่ ๕ ของเดือน เพราะศาลาการเปรียญหลังใหญ่และบริเวณวัดกว้างขวางร่มรื่น วัดราชคีรีวิเศษจึงเป็นศูนย์เรียนรู้ทั้งธรรมะและทางโลกไปพร้อม ๆ กัน