ความเป็นมาเดิม
วัดคีรีวงกฎ ๒ หรือวัดวังปรากฏ หรือวัดน้อยหมู่ ๒ ซึ่งได้จัดตั้งอยู่ที่เขตบ้านกลางป่าแดงใกล้ลำคลอง
ตรอนอยู่ในเขตบ้านวังปรากฏหมู่ ๒ หลังจากน้ำท่วมบ้านปี พ.ศ. ๒๔๘๕ แล้วชาวบ้านวังปรากฏหมู่ ๒ ซึ่งได้ถูกน้ำท่วมใหญ่ข้าวของเสียหาย บ้านเรือนชาวบ้านพังทลายจึงได้อพยพขึ้นไปตั้งบ้านหนีน้ำที่บริเวณป่าแดงเลี้ยงควาย ซึ่งเป็นโคกเนินสูงน้ำไม่สามารถ ท่วมถึงได้ชาวบ้านจึงจับจองปลูกบ้านเรือนจนมั่นคงอยู่แล้วการเดินทางไปมาที่จะไปทำบุญให้ทานที่วัดใหญ่ ซึ่งอยู่คนล่ะฝั่งคลองตรอนนั้นไปมาลำบาก ชาวบ้านจึงขอแยกตั้งสำนักสงฆ์อีกเพื่อสะดวกในการทำบุญให้ทานในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๗ มีทายกพลอย วงษา ทายกวง สุภาใจ นายน้อยปัญญา บุญอุ่น ลุงแก้วป้าฮอง พวงจันทร์ ฝ่ายพระสงฆ์มี พระอาจารย์สอน ปาสาทิโก ซึ่งท่านเดินธุดงค์ มาปักกลดอยู่ที่บริเวณที่ตั้งวัดจึงได้เป็นหมอพิธีในการยกกุฏิสงฆ์ครั้งแรกนี้ โดยเอาเสาเรือนเก่าชาวบ้านถวายวัดมายกเป็นกุฏิสองห้องนอนพื้นไม้ฟากฝาฟากมุงหญ้าคาหันหน้าขึ้นทิศเหนือ ในปีต่อมาก็ได้สร้างเพิ่มอีกทั้งหมดเป็นกุฏิสงฆ์สามหลังพื้นไม้ฟาก ฝาฟากมุงหญ้าคาเหมือนเดิม ต่อมาได้มีพระหลวงตาชื่น (ฉายาจำไม่ได้) นามสกุลวงษา มาอยู่จำพรรษาเฝ้ารักษาวัดน้อยแห่งนี้มา ประมาณสัก ๑๐ กว่าปีเห็นจะได้ หลังสงครามญี่ปุ่นได้เลิกแล้วทางการเห็นว่าวัดน้อยนี้ไม่มีพระสงฆ์อยู่เฝ้ารักษาพร้อมกับในระยะนั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุมทางการจึงสั่งยุบรื้อถอนไม่ให้ทำการก่อสร้างอีกจึงได้ทิ้งร้างไว้หลายปี
ครั้นอยู่ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีพระอาจารย์สนม (ฉายาจำไม่ได้) นามสกุลทองฉอ้อน ได้เดินธุดงค์มาปักกลดโปรดญาติโยมพักอยู่นานจึงทำให้ญาติโยมบ้านวังปรากฏเกิดศรัทธา จึงได้นิมนต์ท่านให้ช่วยดำเนินการจัดตั้งวัดแห่งนี้ให้อีกใหม่ด้วยท่านก็รับนิมนต์และได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่นั้นมา อีกใหม่จนมาอยู่ถึงปัจจุบันนี้ และได้ตั้งชื่อขนานนามใหม่ให้เหมาะสมว่า “ วัดวังปรากฏ “ แล้วท่านก็จึงได้นำพายกกุฏิสงฆ์ขึ้นอีกหนึ่งหลัง ยาว๓ วาเศษ กว้างประมาณ ๘ ศอกเศษ มีสามห้องนอนเสาไม้เต็งรัง ไม้แดง พี้นกระดานฝากระดานมุงสังกะสีพร้อมมีนอกชานมุง เพื่อใช้ทำบุญตักบาตรในที่นั้นพร้อมได้อีกด้วย
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๑ ชาวบ้านกลางป่าแดงจึงพร้อมใจกันเอาตาเฟื่องมาบวชเป็นพระเพื่อจะเอามาไว้ดูแลรักษาวัดมาอยู่จำพรรษาเฝ้าวัดวังปรากฏ ชื่อพระหลวงลุงเฟื่อง อภิชาโต (นามสกุลจำไม่ได้) ได้อยู่เฝ้าวัดและรักษาการแทนเจ้าอาวาสจนมาถึงวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ หลวงลุงเฟื่อง อภิชาโต ก็จึงล้มป่วยและได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ชาวบ้านจึง บรรจุศพไว้เมื่อมาถึงระหว่างเดือน ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ก็จึงทำพิธีประชุมเพลิงศพ หลวงลุงเฟื่อง อภิชาโต จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังนั้นวัดวังปรากฏก็จึงได้ขาดพระเฝ้ารักษาวัด ตอนนั้น ทายกวัดวังปรากฏแห่งนี้คือ นายพิน อินจุ้ย เห็นว่าไม่มีพระเฝ้าดูแลวัดก็จึงลาภรรยามาบวชเพื่อมาเฝ้าดูแลรักษาวัดในเวลานั้น พระหลวงตาพิน พลญาโณ บวชเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ตรงกับขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๘ ก็จึงมาอยู่จำพรรษา เมื่อมาพ้นพรรษามาถึงระยะเดือน ๔ พ.ศ. ๒๕๓๒ พระหลวงตาพิน พลญาโณ ก็จึงได้ลาสิกขาออกมา วัดวังปรากฏจึงขาดพระเฝ้าดูแลรักษาวัดอีกครั้ง พอดีในระยะนั้นได้มีพระเดินธุดงค์มา พักที่วัดวังปรากฏญาติโยมก็ได้นิมนต์ให้ท่านอยู่เฝ้ารักษาวัดให้สักระยะก่อน ท่านก็จึงได้รับและอยู่เฝ้าวัดวังปรากฏแห่งนี้มาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ คือพระต้อ (ฉายาไม่รู้)
ครั้นต่อมาใน พ.ศ. นั้นเองคือ พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้มีผู้ศรัทธาได้สละบวชเข้ามาอีกท่านผู้นี้ เมื่อสมัยท่านยังเป็นฆารวาสอยู่ท่านเคยมาทำไร่ทำสวนปลูกพืชผลทางการเกษตรอยู่ที่บริเวณป่าหนองสะแกเขตหมู่ ๒ นี้เองเมื่อบวชมาแล้วก็ได้เข้ามาอยู่เฝ้ารักษาวัดวังปรากฏคือ พระหลวงลุงดัด สิริภัทโธ นามสกุล ยอดธูป รักษาการแทนเจ้าอาวาส ได้นำพาญาติโยมพัฒนาวัดเมื่อมาถึงในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๓๘ วัดวังปรากฏจึงได้ทำการก่อสร้างเมรุ สำหรับเผาศพขึ้นและนำพาญาติโยมสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่จนแล้วเสร็จ และท่านได้ล้มป่วยลงในปี พ.ศ.๒๕๔๕ และมรณภาพลงหลังออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ หลังจากนั้นก็ได้มีพระภิกษุสงฆ์
มาจำพรรษาอีกหลายรูป จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๘เจ้าคณะตำบลได้แต่งตั้ง พระอาวุธ อาวุธโรรักษาการแทนเจ้าอาวาสขึ้นและได้แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.๒๕๕๓ได้นำพาญาติโยมดำเนินการก่อสร้างเสนาสนะให้วัดวังปรากฏมีความเจริญทางถาวรวัตถุอย่างมากหลายประการอาทิเช่น ศาลาเอนกประสงค์ กุฎิ ห้องสุขา กำแพงวัดพร้อมกับปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัดวังปรากฏจนมาถึงในยุคปัจจุบัน
ที่ตั้งวัดในปัจจุบัน
วัดวังปรากฏเป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ บ้านวังปรากฏ ตำบลป่าคาย อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ ๖ ไร่ – งาน ๑๒ ตารางวา มีอาณาเขต ดังนี้ คือ
ทิศเหนือ จรดทุ่งนา นายวิกทิใจ
ทิศใต้ จรดทุ่งนา นางสุครีบ กองโต
ทิศตะวันออก จรดถนนหลวง
ทิศตะวันตก จรดทุ่งนา นายวิกทิใจและ นางสุครีบ กองโต
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2487
เสนาสนะถาวรวัตถุ
๑. ศาลาการเปรียญ
ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีลักษณะทรงไทยประยุกต์ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ พื้นปูนชั้นเดียวยกสูง ขนาดความกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๑ เมตร พ.ศ.๒๕๕๑ได้ดำเนินการต่อเติม ห้องครัวพร้อมห้องเก็บของและกันสาดด้านหน้า
๒. กุฎิ
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นอาคารปูนชั้นเดียวยกพื้นสูง ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๗ เมตรหลังคามุงสังกะสีจำนวน ๑ หลังแล้วเสร็จในปีเดียวกัน พ.ศ.๒๕๕๒ ได้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก ขนาด กว้าง ๓.๕๐ เมตร ยาว ๖ เมตรทรงไทยประยุกต์ จำนวน ๒ หลัง และขนาด กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕เมตรพร้อมระเบียงอีก ๑ หลังแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๓
๓. ศาลาอเนกประสงค์บำเพ็ญกุศลศพ
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔เป็นทรงไทยประยุกต์ชั้นเดียวยกพื้นสูง โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อใช้ในงานพิธีสำคัญขนาดกว้าง ๑๖.๕๐ เมตร ยาว ๒๗.๕๐ เมตร พร้อมห้องครัวอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้าง
๔. ฌาปนสถาน
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๔๐ เป็นลักษณะทรงไทยประยุกต์ ชั้นเดียวยกสูงโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๓.๕๐ เมตร ยาว ๗ เมตร วัตถุประสงค์ในการสร้างก็เพื่อทดแทนฌาปนสถานเก่าที่ทรุดโทรมและอยู่ห่างไกลเวลาหน้าฝนเพื่อพุทธศาสนิกชนได้นำผู้เสียชีวิตมาบำเพ็ญกุศลศพมาจนถึงทุกวันนี้
๕. ห้องสุขา
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ สร้างแทนห้องน้ำหลังเก่าที่ชำรุด ขนาดกว้าง ๓.๕๐ ยาว ๖ เมตรโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
๖. กำแพงวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก