ที่ตั้งวัดช้างเผือก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับ ถนนมหายศ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากตัวจังหวัด (ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดน่าน) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 23.09 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 18410 เล่มที่ 185 หน้าที่ 10 วัดช้างเผือกมีพื้นที่ราบสูง น้ำท่วมไม่ถึง มีถนนมหายศตัดผ่านหน้าวัด ประวัติเดิม วัดช้างเผือกเดิมเป็นสำนักสงฆ์ ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่เดิมพงศาวดารว่าสร้างเมื่อ จุลศักราช 1110 หรือ พ.ศ. 2291 ในสมัยเจ้าผู้ครองนครน่าน (คือเมื่อ 243 ปีมาแล้ว) ซึ่งขณะนั้นตัวจังหวัดได้ตั้งติดกับวัดนี้ ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตำบลในเวียง (เดิมเป็นตำบลเวียงใต้) คือที่ตั้งตัวจังหวัดน่านขณะนี้ แล้วเรียกชื่อที่ตั้งของตัวจังหวัดเดิมว่า ตำบลเวียงเหนือ (ปัจจุบันทั้ง 2 ตำบลรวมกันเรียกว่า ตำบลในเวียง) บริเวณที่ตั้งวัดช้างเผือกสมัยก่อนเป็นป่าทึบ เรียกกันในสมัยนั้นว่าดงเพนียด คือเป็นสถานที่เลี้ยงช้าง หรือฝึกช้างของเจ้าผู้ครองนครน่าน ในขณะที่ก่อสร้างวัดอยู่นั้น ได้มีช้างพัง (ตัวเมีย) เชือกหนึ่งได้คลอดลูกออกมาเป็นช้างเผือกสีขาวทั้งตัว จึงได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดช้างเผือก มาจนถึงปัจจุบัน
การบูรณปฏิสังขรณ์มากี่ครั้งและใครเป็นผู้บูรณะไม่ทราบได้ จนถึงจุลศักราช 1270 (พ.ศ.2451) แม่เจ้ายอดมโนรา ณ.น่าน ธิดาของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านในสมัยนั้น ได้จ้างช่างมาก่อพระประธานในวิหาร 1 องค์ ก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ สูง 4 ศอก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 210 บาท และในปีเดียวกัน พ.ศ. 2458 พระใบฎีกาพรหม ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระสมุห์พรหม และพระครูพรหมศิริธาดา ดำรงตำแหน่งทางปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าคณะอำเภอปัว และเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างเผือก ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุต่างๆ โดยทำการรื้อหลังคาวิหารแล้วต่อเติมสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้น โดยยกวิหารให้สูงขึ้นจากเดิม 1 ศอก ขยายตัววิหารออกทั้ง 4 ด้าน เปลี่ยนหลังคาวิหารจากเดิมมุงด้วยกระเบื้องไม้ (แป้นเกล็ด) มาเป็นกระเบื้องดินเผา (ดินขอ) และยังได้สร้างหอพระไตรปิฎก (หอธรรม) ขึ้นอีก 1 หลัง สร้างเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ชั้นบนเป็นเรือนไม้ใช้เก็บพระไตรปิฎก (คัมภีร์ใบลาน) ชั้นล่างเปิดเป็นห้องเรียน สำหรับพระภิกษุ สามเณรใช้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม โดยมีท่านพระครูพรหมศิริธาดาเจ้าคณะอำเภอปัว เจ้าอาวาสวัดช้างเผือกเป็นผู้สอน ซึ่งนับเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดน่าน มีชื่อว่า โรงเรียนอุปราชนฤมิตร ต่อมาโรงเรียนอุปราชนฤมิตรนี้ ได้ย้ายไปตั้งที่วัด พระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เรียกชื่อเสียใหม่ว่า โรงเรียนสุริยานุเคราะห์ ความเป็นมาของวัดช้างเผือกเคยเป็นวัดที่พระสังฆราชการ (เจ้าผู้ครองนครน่านที่บรรพชาอุปสมบท) จำพรรษาอยู่เป็นประจำ ในสมัยนั้นวัดช้างเผือกเจริญรุ่งเรืองมาก ในเมื่อตัวเมืองย้ายไปตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตำบลเวียงเหนือ ปัจจุบันวัดนี้ก็เสื่อมลง เพราะบรรดาข้าราชการ เจ้านาย ซึ่งคอยทำนุบำรุงวัดนี้ส่วนมากได้ย้ายไปอยู่ในตัวเมือง ในสมัยที่โรงเรียนประจำจังหวัดคือ โรงเรียนอุปราชนฤมิตร ตั้งขึ้นในวัดนี้จึงมีความเจริญรุ่งเรือง พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ได้อาศัยวัดนี้เป็นที่พักเรียนหนังสือ ประกอบกับสมัยนั้น ท่านพระครูพรหมสิริธาดา เป็นเจ้าอาวาสวัดช้างเผือกและเป็นครูสอนตลอดและเอาใจใส่ด้านการศึกษาอย่างจริงจัง
ต่อมาในสมัยสงครามโลก (ไม่ชัดเจนว่าครั้งที่ 1 หรือครั้งที่ 2) โรงเรียนประจำจังหวัดคือ โรงเรียนอุปราชนฤมิตร ได้รับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร เข้าเรียนวิชาสามัญร่วมกับนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์ วัดนี้จึงเจริญขึ้นอีก เพราะมีพระภิกษุ สามเณรได้มาอยู่อาศัยจำพรรษาในวัดนี้มากขึ้น เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัด ในกาลต่อมาทางโรงเรียนหรือฝ่ายบ้านเมือง ได้มีนโยบายเลิกรับพระภิกษุ สามเณร เข้าเรียนวิชาสามัญร่วมกับนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์ พระภิกษุ สามเณร ไม่มีที่เรียนจึงได้ย้ายไปอยู่วัดอื่น หรือกลับภูมิลำเนาเดิมของตนเอง จึงทำให้วัดช้างเผือกซบเซาลงเกือบไม่มีพระภิกษุ สามเณร อาศัยอยู่
• ได้รับอนุญาตให้สร้าง พ.ศ. 2291
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2522