วัดบุญยืน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ ตามตำนานกล่าวว่า เป็นวัดที่สร้างคู่กับการสร้างเมือง “เวียงป้อ” (เวียงพ้อ) ซึ่งเมืองเวียงป้อสร้างขึ้นโดย “พระยาป้อ” จึงเรียกชื่อเมืองตามนามผู้สร้างเมือง แต่มีชื่อนิยมเรียกกันอีกว่า “เวียงสา” หรือ “เมืองสา” เดิมพระยาป้อ ได้สร้างวัดเป็นเพียงสำนักสงฆ์ เล็ก ๆ ให้นามว่า “วัดบุญนะ” ส่วนระยะเวลาในการก่อสร้างไม่ปรากฏชัด บริเวณที่ตั้งเดิมนั้น ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดบุญยืนปัจจุบันนี้ (ที่ตั้งอาคารตลาดสดและอาคารพาณิชย์ของวัดปัจจุบัน)
ต่อมาเมื่อผู้ครองนครน่านนามว่า เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เสด็จประพาสเวียงป้อ ทรงเห็นว่า วัดบุญนะคับแคบไม่อาจขยายให้กว้างขวางได้ ประกอบกับเจ้าอาวาสขณะนั้น คือ พระอธิการนาย (ครูบานาย) และราษฎรได้เห็นพ้องต้องกันอีกด้วย ดังนั้น เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ จึงให้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ ห่างจากวัดเดิมประมาณ ๓ เส้น (๑๒๐ เมตร) ทางด้านทิศเหนือบนฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๒๙ บริเวณที่ตั้งมีป่าไม้สักที่สมบูรณ์ จึงใช้ไม้สักสร้างพระวิหาร กุฏิสงฆ์และศาสนวัตถุอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดป่าสักงาม”
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ หมื่นสรรพช่าง ก่อสร้างพระวิหารกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร และสร้างพระพุทธรูปยืน ปางประทับยืน (ปางโปรดสัตว์หรือปางเมตตาการุณก็เรียก) พระประธานในพระวิหาร หันพระพักตร์ไปทางด้านทิศเหนือ ขนาดสูง ๘ ศอก ดังนั้น จึงเรียกชื่อ วัดป่าสักงาม เป็น “วัดบุญยืน” ตามลักษณะพระพุทธรูปประทับยืน ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าราชวงศ์เชียงของ เป็นผู้แกะสลักบานประตูใหญ่พระวิหาร พระพุทธรูปไม้สักรูปจำลองเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ และศาสนวัตถุอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. ๒๓๔๕ ให้ก่อสร้างพระเจดีย์ทรงพระปรางค์ (โอคว่ำ) แบบลังกาติดกับพระวิหารทางด้านทิศใต้ และพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๗ ต่อมาพระอธิการอภิชัย (ครูบาอภิชัย) เจ้าอาวาส ได้ขออนุญาตเจ้าหลวงสา ผู้ปกครองเมืองสาเพื่อก่อสร้างพระวิหารขึ้นอีกหลังหนึ่ง (ปัจจุบันคือศาลาสามพี่น้อง) มีความกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒.๕๐ เมตร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระวิหารหลังเดิม ระยะก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๓๖๐ จึงแล้วเสร็จ
ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๑ เมืองสาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเมืองสาหรือเวียงสา และ พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ และเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นอำเภอบุญยืน ตามนามของพระประธานวัดบุญยืน และระยะนี้ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระวิหาร เช่น ซ่อมแซมหลังคา ช่อฟ้า ใบระกา เป็นต้น โดยพ่อเลี้ยงวงศ์ บ้านป่ากล้วย เป็นนายช่างบูรณะซ่อมแซมดังกล่าว และแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๐ เกิดฝนตกหนักเป็นเหตุให้พระเจดีย์ทรุดและพังลงมา มีคณะศรัทธานำโดย เจ้าราชบุตร ณ น่าน ได้บริจาคทรัพย์บูรณะพระเจดีย์ มีช่างหมื่นจีนหลมเป็นช่างก่อสร้าง และซ่อมแซมบูรณะแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ และปีนี้เองได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งโดยเปลี่ยนเป็นอำเภอสา ตามชื่อเดิมที่ก่อสร้างเมืองสา พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้มีการซ่อมแซมบูรณะพระวิหาร
พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี ในปีถัดมา กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดบุญยืนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ ตอน ๖๕ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ครั้น พ.ศ. ๒๔๙๙ คณะศรัทธาโดยการนำของพระครูสาราธิคุณ เจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอเวียงสา ขณะนั้นเห็นว่าตลิ่งลำน้ำสาบริเวณหน้าวัด ได้พังทลายลงอันเกิดจากน้ำเซาะจะเป็นอันตรายต่อพระวิหาร จึงร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานราชการอื่น ๆ ได้ขุดคลองเปลี่ยนกระแสน้ำเพื่อมิให้น้ำเซาะตลิ่งเหมือนเดิม และพระครูสาราธิคุณเห็นว่า พระอุโบสถคับแคบไม่เหมาะสมในการประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ โดยย้ายพัทธสีมาเดิมไปผูกเข้ากับพระวิหารเพื่อให้กว้างขวางขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ (ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน 6 เหนือ) เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ดังนั้น วิหารหลังเดิมจึงกลายสภาพเป็นพระอุโบสถเพื่อใช้ประกอบสังฆกรรมมาจนถึงปัจจุบัน
วัดบุญยืน ในอดีตเป็นวัดประจำอำเภอเวียงสาที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของจังหวัดน่าน ตั้งแต่สมัยเจ้าผู้ครองนครน่าน คือ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เป็นต้นมา เช่น เมื่อเกิดความไม่สงบหรือเกิดอุทกภัยขึ้นในเมืองน่านคราใด เจ้าผู้ครองนครน่าน และประชาชนจะประกอบพิธีบวงสรวงสักการบูชาพระเจดีย์วัดบุญยืน ซึ่งก่อให้เกิดความสันติสุขต่อประชาชนด้วยดี สมัยนั้น ยังมีการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้นในพระวิหาร (พระอุโบสถปัจจุบัน) บริเวณหน้าพระพุทธปฏิมา พระประธานตลอดมา
• วัดพัฒนาตัวอย่าง พ.ศ. 2511
• วัดพัฒนาดีเด่น พ.ศ. 2532
• วัดพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 22 เดือน เมษายน พ.ศ. 2539
• วัดอุทยานการศึกษา พ.ศ. 2542
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 6 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329
วัดบุญยืน ถือเป็นพระอารามหลวงวัดแรกและวัดเดียวในอำเภอเวียงสา เป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของประชาชนชาวอำเภอเวียงสามาช้านาน เพราะเป็นวัดที่เจ้าผู้ครองนครน่านในอดีตได้ทรงสร้างไว้ จึงเป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายยุคหลายสมัย ผสมผสานกับสมัยสุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง อาณาจักรน่านเจ้าในอดีต จุดเด่นที่ดึงดูดศรัทธาและเป็นที่น่าสนใจสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าที่มากราบไหว้และศึกษาเรียนรู้ คือ
พระอุโบสถ โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้สัก ทรงล้านนา ที่มีลักษณะงดงาม กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2343 และบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2528 และ พ.ศ. 2556 มีหลังคาลดหลั่นเหมือนม้าต่างแพร ต่างไหม ด้านหน้ามี 4 ชั้นซึ่งหาดูได้ยาก ด้านหลังมี 3 ชั้นลดหลั่นกัน น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากล้านช้างหลวงพระบาง
พระประธานในพระอุโบสถ ลักษณะพระพุทธรูปเป็นปางประทับยืน (ปางโปรดสัตว์หรือปางเมตตาการุณก็เรียก) สร้างด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทอง สูง 8 ศอก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2343 ประดิษฐานในพระอุโบสถ ทรงประทับยืนบนฐานชุกชี เป็นพระพุทธปฏิมาองค์ยืนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน และนับว่าเป็นพระคู่บ้าน
คู่เมืองเวียงสามาช้านาน ถือเป็นสัญลักษณ์ของชื่อวัดบุญยืน
บานประตูใหญ่ ทั้ง 2 บาน ของพระอุโบสถ เจ้าราชวงศ์เชียงของเป็นผู้แกะสลัก เมื่อ พ.ศ. 2343 มีรูปเทวดา พระหัตถ์ถือตาลปัตร
ประทับบนดอกบัว ลักษณะย้ายพระบาท ทางขวาเป็นรูปเทวดา พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ ประทับบนช้างเจ็ดเศียร มีลวดลายรอบ ๆ เทวดา ทั้ง ๒ องค์
มีความวิจิตรพิสดารและงดงามมาก ลักษณะพิเศษคือ แกะสลักถึง 3 ชั้น ใช้เวลาแกะสลัก 3 เดือน เล่ากันว่า เมื่อแกะสลักแล้วเสร็จช่างได้นำเครื่องมือทิ้งลงในแม่น้ำน่านทั้งหมด
ธรรมาสน์เอก (บุษบก) สร้างด้วยอิฐถือปูน มีขนาดกว้างและยาว 2.5 เมตร สูง 5.5 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2343 ตั้งอยู่ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐ์ลวดลายฐานลายก้นหอย เสาและหลังคาประดิษฐ์เป็นรูปเกล็ดงูและหัวพญานาครอบทั้งสี่ทิศ ทุกส่วนมีลวดลายกนกวิจิตรงดงาม
พระธาตุเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2345 สร้างด้วยอิฐถือปูน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทหรือทรงเรือนธาตุ ศิลปะล้านนา ขนาดกว้าง 8 เมตร สูง 15 เมตร เดิมเป็นเจดีย์ทรงพระปรางค์แบบลังกา (ทรงโอคว่ำ) เมื่อปี พ.ศ. 2480 ได้เกิดฝนตกหนักเป็นเหตุให้ฐานเจดีย์ทรุดและพังลงมา จึงทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่
วัดบุญยืน ถือเป็นพระอารามหลวงวัดแรกและวัดเดียวในอำเภอเวียงสา เป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของประชาชนชาวอำเภอเวียงสามาช้านาน เพราะเป็นวัดที่เจ้าผู้ครองนครน่านในอดีตได้ทรงสร้างไว้ จึงเป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายยุคหลายสมัย ผสมผสานกับสมัยสุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง อาณาจักรน่านเจ้าในอดีต จุดเด่นที่ดึงดูดศรัทธาและส่งเสริมการท่องเที่ยว คือ พระอุโบสถที่มีลักษณะงดงาม มีหลังคาลดหลั่นเหมือนม้าต่างแพร ต่างไหม ด้านหน้ามี ๔ ชั้นซึ่งหาดูได้ยาก ด้านหลังมี ๓ ชั้นลดหลั่นกัน ได้รับอิทธิพลมาจากล้านช้างหลวงพระบาง พระพุทธรูปปางประทับยืนองค์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน ประดิษฐานในพระอุโบสถถือเป็นสัญลักษณ์ของชื่อวัดบุญยืน เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าที่มากราบไหว้
ในส่วนของการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ประเพณีใส่บาตรเทียนในวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๘ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บันทึกไว้เป็นแหล่งข้อมูลด้านท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และอีกประเพณีหนึ่ง ที่เป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนเป็นอย่างมากคือ
ประเพณีตานก๋วยสลากแข่งเรือเทศกาลวันออกพรรษา ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไปในกรอบงาน ประเพณี/พิธีกรรม