วัดทุ่งโป่ง ตั้งอยู่เลขที่ 55 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 โดยมีเจ้าฟ้าโกหล่าน เป็นประธาน ลุงจองหร่อย และลุงหนานเก่ตุ๊ พ่อเฒ่าพะก่าส่าง ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ที่เดินทางค้าขายวัวต่างมาจาก เมืองปั่น เมืองนาย รัฐฉานประเทศพม่าแล้วเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านทุ่งโป่งโดยได้ไปขออนุญาตต่อพระครูบาออ เจ้าคณะอำเภอปายในสมัยนั้นพระครูบาออได้เล็งเห็นเจตนาอันดีงามของชาวบ้านที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสืบต่อไป จึงได้อนุญาตให้ดำเนินการสร้างได้ ในที่ดินสาธารณะโดยการปลูกสร้างแบบศิลปะไทยใหญ่ สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหมด หลังคามุงด้วยตองตึง เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระครูบาออได้ส่งพระปั่นติ๊กต๊ะ(เจ้าส่าหัวสั่น) จากวัดหลวงมาเป็นเจ้าอาวาสพร้อมด้วยสามเณรอีก 2 องค์ ต่อมาประมาณปีพ.ศ2435 พระปั่นติ๊กต๊ะได้ลาสิกขา คณะศรัทธาจึงได้ไปนิมนต์พระยง(พระครูบายง) จากวัดหลวงมาเป็นเจ้าอาวาส ถึง พ.ศ 2444 พระครูบายงได้กลับไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหลวงตามเดิมทำให้วัดทุ่งโป่งว่างเจ้าอาวาสลงทางคณะศรัทธาจึงได้ไปอาราธนาพระสุจิ่งต่า(อูสุจิ่งต่า) ซึ่งเดินธุดงค์มาจากเมืองเชียงตอง ประเทศพม่า มาพักอยู่วัดกลางมาเป็นเจ้าอาวาส โดยการนำของนายส่วย เติกทอน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งนับว่าเป็นสมัยที่การศึกษาของพระภิกษุสามเณรวัดทุ่งโป่งเจริญขึ้นมามาก เพราะมีพระภิกษุสามเณรมาบวชเรียนกันมาก ทั้งนี้เพราะพระสุจิ่งต่าเป็นพระที่มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยและมีความชำนาญในเวทมนต์คาถาอาคมเป็นหมอยาสมุน ไพรพื้นบ้าน เป็นที่พึ่งของชาวบ้านในสมัยนั้น ทั้งยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัยจึงเป็นที่เลื่อมใสต่อคณะศรัทธาทั้งหลาย จนถึงพ.ศ. 2478 พระสุจิ่งต่าจึงได้เดินธุดงค์กลับเมืองเชียงตองตามเดิมยังความอาลัยต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก จนถึง พ.ศ.2478ทางเจ้าคณะอำเภอปายจึงได้แต่งตั้งพระอาจารย์แดง อินทปญฺโญ(อูอิ่งต๊ะ) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระสุจิ่งต่า ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสในสมัยพระอาจารย์แดงเป็นเจ้าอาวาสนั้นเป็นสมัยที่การศึกษาของพระเณรได้รุ่งเรืองมาก เพราะพระอาจารย์แดงเป็นพระที่มีความรู้ความสามารถในการสั่งสอนพระเณร การเทศนาแบบปฎิภาณโวหารสั่งสอนญาติโยมให้เข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีทั้งนี้เพราะท่านได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมมาจาก วัดป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของการศึกษาแบบพม่า-ไทยใหญ่นับว่าเป็นสถานศึกษาที่เจริญที่สุดในสมัยนั้น ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสนั้นได้มีคณะศรัทธาคหบดีจากในตัวอำเภอปายที่เลื่อมใสศรัทธาท่านมาทำบุญกับท่านมากมาย มีชาวบ้านนำลูกหลานมาจากที่ต่างๆมาบวชเป็นลูกศิษย์ท่านมากมาย ในปีนั้นทางราชการได้ขยายเขตการศึกษาเข้ามาสู่หมู่บ้านโดยได้มาขออาศัยศาลาวัดเป็นโรงเรียนชั่วคราวด้วย แต่น่าเสียดายที่การศึกษาการเรียนการสอนยังไม่เจริญเท่าที่ควรท่านก็ได้มามรณภาพไปเสียก่อนด้วยโรคลมปัจจุบันด้วยวัยที่อายุยังน้อย แค่30 ปี 10 พรรษา พศ 2488 พระอาจารย์แดง อินทปญฺโญ มรณภาพลงทางเจ้าคณะอำเภอปายจึงได้ส่งพระเต่ยะจากวัดป่าขามมาเป็นเจ้าอาวาส ในสมัยนี้ไม่มีการพัฒนาวัดเพราะสงครามโลกครั้งที่2เพิ่งสงบลง พระเต่ยะมาเป็นเจ้าอาวาสได้ 6 พรรษาก็ได้ลาสิกขา ถึง พ.ศ 2494 ทางเจ้าคณะอำเภอปายจึงได้ส่งพระต๋าคำ(พระครูบาต๋าคำ นนฺทิโย) จากวัดป่าขาม มาเป็นเจ้าอาวาสจนถึง พ.ศ. 2498 พระต๋าคำก็กลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าขามตามเดิม จนถึง พ.ศ. 2500 ทางคณะศรัทธาได้ไปนิมนต์พระกุตตะระ(หวุนจางเมี๊ยะตี่) ที่เดินทางมาจากแม่สอดมาพักอยู่วัดกลางมาเป็นเจ้าอาวาส ปีพศ 2513 พระกุตตะระก็เดินทางกลับแม่สอดด้วยตั้งใจว่าจะกลับมาอีกครั้งแต่ท่านได้ไปมรณะภาพที่แม่สอดเสียก่อน ทางคณะศรัทธาจึงได้ไปนิมนต์หลวงพ่อคำ กตปุญโญ จากวัดหลวงมาเป็นเจ้าอาวาสในสมัยหลวงพ่อคำ นี้เป็นสมัยที่วัดทุ่งโป่งได้รับการพัฒนาขยายเขตวัดวาอารามโดยการขนดินจากด้านหลังวัดมาถมทางหน้าวัดจนเรียบเสมอกัน ทั้งยังปลูกต้นไม้ให้ร่มทำให้วัดทุ่งโป่งสมัยนั้นร่มรื่น สัปปายะอย่างดีจึงนับว่าหลวงพ่อคำเป็นผู้มีคุณูปการต่อวัดทุ่งโป่งอย่างมาก ถึงพ.ศ 2524 หลวงพ่อคำ กตปุญโญ ก็กลับไปวัดหลวง ทางคณะศรัทธาได้ไปนิมนต์พระก่าหวิ่ง กาวิโรจากวัดกลางมาเป็นเจ้าอาวาส จนถึงพศ 2529 พระก่าหวิ่งก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ทางคณะศรัทธาได้ไปนิมนต์พระสม สํวโร ซึ่งท่านเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาสแต่ท่านอยู่ไม่นานก็กลับไปอยู่เชียงใหม่ตามเดิม พศ2530 ทางคณะศรัทธาได้ไปนิมนต์หลวงพ่อสาม ชิตมาโร จากวัดศรีดอนชัยมาเป็นเจ้าอาวาส จนถึงพ.ศ 2541 หลวงพ่อสาม ชิตมาโร ก็มรณภาพทางคณะศรัทธาจึงได้ไปอาราธนาหลวงพ่ออินทร์จันทร์ อินทวีโร จากวัดพิงคาราม อ.ดอยเต่า มาเป็นเจ้าอาวาส จนถึง พ.ศ2546 หลวงพ่ออินทร์จันทร์ อินทวีโรก็กลับไปวัดพิงคารามตามเดิม พ.ศ 2546 ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระอัษฎาวุธ อินทวณฺโณ ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส สืบมาจนถึงปัจจุบัน
วัดทุ่งโป่งเดิมนั้นมีศรัทธาญาติโยมที่มาทำบุญเป็นจำนวนหลายหมู่บ้าน มีบ้านทุ่งโป่ง บ้านใหม่ บ้านกุงแกง บ้านแพมกลาง บ้านแพมบก ซึ่งต่อมาได้แยกไปตั้งวัดประจำหมู่บ้านหมดแล้ววัดทุ่งโป่งมีเนื้อที่วัดทั้งหมดจำนวน 2 ไร่3งาน30 ตารางวา ทิศตะวันตก ติดที่นาของเอกชน ทิศเหนือกับทิศตะวันออกติดถนนสาธารณะ ทิศใต้ติดโรงเรียนทุ่งโป่งมิตรภาพที่78
วัดทุ่งโป่งในอดีตนั้นคงจะมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่มากดังจะสังเกตเห็นได้ว่าวัดทุ่งโป่งมีอุโบสถน้ำ(สิ่มน้ำ) สร้างแบบศิลปะไทยใหญ่อยู่ด้านทิศตะวันตกของวัด ปัจจุบันอยู่ในที่นาของชาวบ้านซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงเสาโบสถ์เพียงเสาเดียวเท่านั้น ดังได้ยินมาจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันมาว่า สมัยเมื่อพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนาไทยได้มานั่งหนักเป็นประธานสร้างพระธาตุเจดีย์วัดพระธาตุจอมแจ้งเมื่อปี พ.ศ.2472 นั้นพระครูบาเจ้าศรีวิชัยยังได้เดินทางมาร่วมลงอุโบสถฟังพระปาฎิโมกข์ที่โบสถ์น้ำแห่งนี้ด้วยหลายครั้ง นอกจากนั้นวัดทุ่งโป่งยังมีบ่อน้ำโบราณที่สร้างขึ้นพร้อมกับวัดโดยช่างชาวพม่า ชื่อหม่องพูลู และนางมิ สร้างถวายเป็นทานไว้กับวัดโดยได้ปั้นรูปต่างๆตามมหาทักษาไว้ตามทิศต่างๆของบ่อน้ำอันแสดงถึงความเป็นปราชญ์ทางโหราศาสตร์พม่า(มหาปุ๊กแต่ง)ได้อย่างดี ซึ่งปัจจุบันนี้รูปสัตว์เหล่านั้นได้แตกหักไปตามกาลเวลาเหลือให้เห็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2419