วัดแม่ปาง ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ปาง เลขที่ 88 หมู่ที่ 1 ต.สันคิรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านแม่ปางมีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่สองหย่อมบ้าน ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงสะกอเรียกกันว่ากะเหรี่ยงพัฒนาแล้ว คือมีทะเบียนบ้าน โรงเรียน อนามัย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. พื้นฐานของหมู่บ้านเป็นภูเขา ป่าไม้ ห้วย ลำธาร มีที่ราบน้อยมากในสองหมู่บ้านนั้น หมู่บ้านตอนบนเรียกว่า “บ้านเหนือ” หมู่บ้านตอนล่างเรียกว่า “บ้านใต้” ทางราชการโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้ตัดถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งแต่ปากทางแยกถนนสาย 108 แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ มีระยะทางยาวไปถึงบ้านเหนือ 4 กิโลเมตรเศษ ทางเข้าออกสะดวกแต่ทาง รพช.เรียกหมู่บ้านเหนือว่า “บ้านแม่ปางใน” เรียกบ้านใต้ว่า “บ้านแม่ปางนอก” ชาวบ้านเหนือมี 33 หลังคาเรือน มีประชากร 149 คน ชาวบ้านใต้มี 76 หลังคาเรือน มีประชากร 449 คน สถานที่ราชการคือ โรงเรียนประถมศึกษาและอนามัยประจำตำบลทั้งสอง ตั้งอยู่มี่บ้านใต้ ในหมู่บ้านทั้งสองนอกจากกะเหรี่ยงแล้ว ก็ยังมีคนไทย คนเหนือ(เมือง)ปะปนอยู่ด้วย แต่ประเพณีวัฒนธรรม ภาษายังพูดเป็นกะเหรี่ยง
เมื่อปี พ.ศ.2530 พระครูวิมล ธรรมกิจ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อบัวเกตุ” ได้ธุดงค์ไปที่แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน และได้พักปฏิบัติธรรมอยู่ที่หลังบ้านป่าหมาก ใกล้ อ.แม่ลาน้อย ชาวบ้านแม่ปางทราบบเยี่ยมวิมาน พร้อมด้วย จ.ส.ต.ปี่ จ่อยพิรัตน์ อดีตตำรวจแม่ฮ่องสอน ได้มาพักอยู่ด้วยเพื่อฟังธรรมและทำบุญ ต่อมาได้นิมนต์ไปธุดงค์ที่บ้านแม่ปาง โดยพักอยู่ที่ป่าช้าของบ้านใกล้อาศรมธรรม จาริกอยู่ 3 วัน ชาวบ้านพากันมาธรรมบุญตักบาตรและฟังธรรมกันพอสมควร
ต่อมาชาวบ้านพร้อมกันอาราธนาพระครูวิบูลธรรมกิจ อยู่ที่อาศรมธรรมจาริกบ้านแม่ปางนี้ ท่านบอกชาวบ้านว่า ใกล้หมู่บ้านไปไม่วิเวก ชาวบ้านจึงให้ท่านเลือกหาสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสมกับการปฏิบัติธรรม เมื่อชอบที่ตรงไหนจะให้ชาวบ้านจัดทำที่พักสงฆ์ชั่วคราวให้ ในที่สุดก็ได้ที่ระหว่างหมู่บ้านทั้งสองเป็นสถานที่สัปปายะ ร่มเย็น ห้วยลำธารมีน้ำตลอด ทำให้ป่าร่มเย็น ไม่ใกล้ไม่ไกลหมู่บ้านนัก สงบเงียบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านทั้งสองไปมาสะดวก เป็นที่ว่างมิใช่ที่ทำกินของชาวบ้าน แต่อยู่ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม ครั้งแรกคิดอยู่เพียงเพื่อหาที่สงบปฏิบัติธรรมเท่านั้น อีก 4 วันต่อมา ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2530 ชาวบ้านแม่ปางเหนือ-ใต้ ประมาณ 40 คน ได้มาจัดสำนักปฏิบัติธรรมให้ พอถึงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2530 พระครูวิบูลธรรมกิจก็ได้เข้ามาพักที่สำนักวัดนี้แล้วตั้งชื่อว่า สำนักสงฆ์ “ป่าริมธาราวาส” แล้วแจ้งให้เจ้าคณะอำเภอ ท่านพระครูญาณภิรัตธรรมยุต วัดป่าเจริญธรรม ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ทราบ แล้วแจ้งให้ทางราชการทราบเช่นกันคือ นายอำเอแม่ลาน้อย ผู้กำกับตำรวจภูธรแม่ลาน้อย ป่าไม้อำเภอแม่ลาน้อย ศึกษาธิการอำเภอแม่ลาน้อย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สภาตำบล (ตอนนั้นยังไม่มีองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.)
พระครูวิบูลธรรมกิจ ได้เข้ามาพักปฏิบัติธรรมอยู่ประมาณครึ่งเดือนจึงได้ทราบว่าในหมู่บ้านนี้มีปัญหา พอสรุปได้ดังนี้
- ชาวบ้านกำลังหวาดกลัวผู้ก่อการร้ายหรือคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ติดอาวุธอยู่ในป่า
- ศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโปรแตสแตนต์ และคาทอลิก กำลังมาแรงเผยแพร่ชักจูงผู้คนให้เข้าคริสต์ศาสนาด้วยอุบายต่างๆ
- ความเข้าใจ ไม่มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาของชาวบ้านเพราไม่มีวัดและพระสงฆ์
- พื้นฐานของชาวบ้านนับถือผี มีการประกอบพิธีเลี้ยงผีด้วยวิธีการต่างๆ
- ขณะนั้นสันติอโศกก็เข้ามาเผยแพร่ลัทธิของตนด้วย
ปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้นถูกมองจากทางราชการว่าเป็นอบายมุขของ ผกค. มาปลุกระดมชาวบ้าน และถูกมองจาก ผคก. ว่าเป็นสายของทางราชการทหารบ้าง ตำรวจบ้าง ตำรวจตระเวนชายแดน(ต.ช.ด.)บ้าง พระครูวิบูลธรรมกิจ ได้ต่อสู้กับปัญหาต่างๆเหล่านี้ด้วยความอดทน และชี้แจงทำให้กระจ่าง เป็นความรอบคอบที่ได้แจ้งต่อเจ้าคณะและทางการไว้ให้ทราบก่อน ปัญหาต่างๆ ทางราชการจึงไม่รุนแรงนัก ถึงกระนั้น ต.ช.ด.หนึ่งกองร้อย ได้เข้ามาคุมอยู่หลายวัน จะเดินทางไปไหน ต.ช.ด.ก็ถือปืนติดตาม 3-4 นาย ประมาณสัก 4 วัน ต่อมา พวกเขาคงดูกิริยาปฏิปทาออก กลับไปให้ความช่วยเหลือและถอยกำลังออกไป ตอนนั้นพระครูวิบูลธรรมกิจปฏิบัติธรรมอยู่รูปเดียว ทางศาสนาคริสต์ได้คอยทับถม และพูดยุแหย่ให้ชาวบ้านหวาดกลัวพระพุทธศาสนา เช่น บอกว่า “วัดสร้างขึ้นที่ไหน ก็มีการเบียดเบียนเกิดขึ้นที่นั่น” ดังนี้เป็นต้น พระสงฆ์ตามวัดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนมากจะอยู่กันแต่ในหมู่บ้านที่เจริญ ในป่าเขาไม่มีพระสายไหนอยู่ ตอนนั้นไม่มีใครเข้าไปอยู่เพรากันดาร อดอยาก และมีภัยรอบด้าน ทางเจ้าหน้าที่ราชการเห็นมีแต่ครูดอยเท่านั้นที่พอมีอยู่บ้าง พระพุทธศาสนาในป่าจึงถูกปรามาส ดูแคลนจากการสอนของศาสนาอื่น เพราะไม่มีพระสงฆ์ที่คอยโต้แย้ง ทำให้พวกชาวเขาชาวดอยบางส่วนเกลียดพระพุทธศาสนา และพระภิกษุสามเณร
พระครูวิมลธรรมกิจเห็นว่า ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาอ่อนเหลือเกิน ทำให้ศาสนาอื่นดูหมิ่นและแทรกได้ง่าย ด้วยความรักและนับถือพระพุทธศาสนามาแต่กำเนิด จึงคิดว่าถ้าเราอยู่เพียงชั่วคราวแล้วจากไป ถึงจะเทศนาสอนไว้ดีอย่างไร เมื่อไปแล้วต้องถูกสาสนากลบเกลื่อนลบล้างหมด ประกอบกับพิจารณาเห็นว่าวัดในอำเภอแม่ลาน้อยทั้งอำเภอมีเพียงสองวัดเท่านั้น คือวัดแม่ลาหลวงและวัดแม่ลาน้อย ถึงจะมีอาศรมธรรมจาริกหรือสำนักสงฆ์อยู่บ้าง ก็หาพระไปอยู่ยากมาก ไม่มีอะไรมั่นคง มีแต่ข่าวอัปมงคล พระดีหายากเหลือเกิน จนมีชาวบ้านพูดกันว่า พระสงฆ์ต้องปฏิบัติอย่างไร? สอนอย่างไร? จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องและเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ในป่าขณะนั้นพระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่มีการเผยแพร่ที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงแคบลง ลดความน่าเชื่อถือลง ส่วนศาสนาคริสต์ในอำเภอแม่ลาน้อยขณะนั้นมีวัดอยู่ถึง 44 แห่ง ข้อมูลเหล่านี้ครูดอยที่อยู่ในป่า นายอำเภอ หน่วยงานประชาสงค์เคราะห์ในปี พ.ศ.2530 ทราบดีที่เป้ฯเช่นนี้เพราะมีวัดไม่เพียงพอ ขาดพระสงฆ์ที่ดีมีคุณภาพ
พระครูวิมลธรรมกิจคิดจึงว่า ถ้าเราอยู่ที่นี่ได้ ควรสร้างวัดจริงๆ สร้างวัดขึ้นเพื่อมิได้จะหวังเป็นเจ้าอาวาสหรือตำแหน่งใดๆ สร้างเพื่อเป็นที่อยู่ปฏิบัติธรรม ให้ผู้คนได้พบเห็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มิได้หวังไปต่อสู้กับศาสนาใด เมื่อมีวัดต้องมีพระสงฆ์ที่ดีที่สามารถอยู่ช่วยกันเพื่อเผยแพร่พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เจริญรุ่งเรืองและกว้างขวางออกไป ในที่สุดก็ได้ปรึกษาชาวบ้านแล้วเสนอต่อทางคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ธรรมยุต และทางราชการทุกฝ่ายเห็นดีด้วยพร้อมทั้งสนับสนุน เบื้องต้นมีนายอุทัย ดวงใจเอก สจ.แม่ลาน้อย เป็นผู้ประสานงานทางราชการของอำเภอแม่ลาน้อย ป่าไม้เขต ศึกษาอำเภอ นายอำเภอ ตลอดจนคณะสงฆ์ธรรมยุตเรียบร้อยแล้ว ได้ส่งเอกสารเข้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีพันเอกนิพนธ์ ภารัณนิตย์(ยศขณะนั้น) ช่วยประสานงานทางจังหวัด ได้รับอนุมัติแล้วส่งกรมศาสนา โดยมีพลโทคณิต เพิ่มทรัพย์(ยศขณะนั้น) ราชองครักษ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายสัญจร วัฒนมงคล เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ แผนกการศาสนาได้ช่วยประสานงานจนเป็นที่เรียบร้อย ในที่สุดกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้สร้างวัดบนเนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2537 ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลขึ้นหนึ่งหลัง กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สำหรับเป็นที่ไหว้พระสวดมนต์บำเพ็ญกุศลทุกวันธรรมสวนะ ต่อมาได้จัดสร้างเสนาสนะ อุโบสถ และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ดังแนบรายละเอียดมากับหนังสือนี้ เมื่อเสนาสนะสมบูรณ์ขึ้น จึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2543 ขณะนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว เมื่อ 2 ตุลาคม พ.ศ.2543 เมื่อพรรษาที่ผ่านมามีพระสงฆ์จำนวน 17 รูป สามเณร 2 องค์ นอกจากบ้านแม่ปางแล้วยังมีหมู่บ้านใกล้เคียงในเขต ต.สันติคีรีบ้าง เขตอื่นๆบ้าง มาขอเป็นชาวพุทธ แสดงตนเป็นพุทธมามกะเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2543 ทางกรมป่าไม้ได้มอบพื้นที่ป่าสงวนซึ่งมีพื้นที่ติดกับวัดอีก 555 ไร่ เพื่อร่วมกันรักษาป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ของวัดจึงขยายออกไปอีก ขณะนี้ทางวัดได้ปักเสาเขตพื้นที่ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว
หมายเหตุข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2543 ปัจจุบันข้อมูลบางส่วนมีการเปลี่ยนแปลงไป
ข้อมูลเพิ่มเติม ปัจจุบันมีพระครูประสิทธิคณารักษ์ (ถนอม ญาณปาโล) เป็นเจ้าอาวาส
ความดีเด่นของวัด
1. เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ มีความเหมาะสมแก่การปฏิธรรม
2.มีพื้นที่บริเวณกว้างขวาง น้ำไหลตลอด ปี
3.มีสิ่งก่อสร้าง อาคารเสนาสนะ เครื่องอุปโภค พอเพียงต่อผู้มารับบริการ
4.ห่างไกลจากชุมชน เงียบ สงบ สะอาด
5.เป็นสถานที่ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ขององค์การบริหารส่วนตำบลสันติคีรี
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 30 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2537
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 31 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2543
เป็นวัดป่า คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต มีพระอุโบสถ และพระเจดีย์ เด่นอยู่กลางป่า ที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน